ยาสูบเล็งลงทุนร่วม จีน-ญี่ปุ่น ผลิตบุหรี่ส่งออกนอก

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 3782 ครั้ง

ยาสูบเล็งลงทุนร่วม จีน-ญี่ปุ่น ผลิตบุหรี่ส่งออกนอก

ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเผยหาก พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย บังคับใช้ โรงงานยาสูบมีสถานะเป็นนิติบุคคลจะเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น ระบุขณะนี้ได้มีนักลงทุนญี่ปุ่นและจีนสนใจร่วมทุนตั้งบริษัทลูกร่วมกับโรงงานยาสูบผลิตบุหรี่คุณภาพบุกตลาดโลก โดยมีเงื่อนไขผลิตสำหรับจำหน่ายต่างประเทศเท่านั้น แต่ใช้ฐานการผลิตในโรงงานของไทยและใช้ใบยาของไทยอย่างน้อย 70% เพื่อให้โรงงานผลิตยังเป็นของไทย ที่มาภาพประกอบ: sipa (CC0)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาว่านางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเปิดเผยว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ…. บังคับใช้ โรงงานยาสูบมีสถานะเป็นนิติบุคคล จะทำให้เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น รับจ้างผลิตและบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ ขณะนี้ได้มีเอกชนต่างชาติหลายติดต่อโรงงานยาสูบเพื่อจ้างผลิตและบรรจุภัณฑ์ ขณะนี้ได้มีนักลงทุน ญี่ปุ่น และจีน สนใจร่วมทุนตั้งบริษัทลูกร่วมกับโรงงานยาสูบผลิตบุหรี่คุณภาพบุกตลาดโลก โดยมีเงื่อนไขผลิตสำหรับจำหน่ายต่างประเทศเท่านั้น แต่ใช้ฐานการผลิตในโรงงานของไทย และใช้ใบยาของไทยอย่างน้อยร้อยละ 70 เพื่อให้โรงงานผลิตยังเป็นของไทย

ขณะนี้เป็นการเจรจาในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G/G) เนื่องจากไทยมีระบบโลจิสติกส์พร้อม และมีวัตถุดิบใบยาสูบรองรับการผลิตได้ โรงงานยาสูบเร่ิมทำแผนบุกตลาดต่างประเทศ ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ เตรียมเปิดศูนย์กระจายสินค้า ณ​ สปป.ลาว เพื่อจำหน่ยในต่างประเทศโดยตรงจากเดิมจำหน่ายเฉพาะดิวตี้ฟรี หลังจากนั้น ทะยอยเปิดในประทเศฟิลิปปินส์ เช่น เมียนมาร์ จีน สิงคโปร์ เพิ่มเติมในอนาคต ตั้งเป้าจะเปิดอย่างน้อยปีละ 1 ประเทศ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการจำหน่ายบุหรี่ในไทยเป็นตลาดหลัก มูลค่าโครงการลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท

หลังจาก ครม.เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทยพ.ศ…. เปิดทางให้เป็นรัฐวิสาหกิจ มีสถานะเป็นนิติบุคคล เปลี่ยนชื่อเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย(ยสท.) อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขในรายละเอียด จึงได้กำหนดดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 – 2564 โรงงานยาสูบ ต้องเร่งผลักดัน การปรับสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล, ด้านที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้เจรจาตกลงกับกรมธนารักษ์เพื่อโอนที่ดินให้โรงงานยาสูบหลังจากเปลี่ยนสภาพเป็นนิติบุคคล และด้านสิทธิประโยชน์ การปรับเพิ่มเงินเดือน ค่าจ้างพนักงาน และค่าวิชาชีพงานหลักขององค์กร ขณะเดียวกันยังเร่งรัดการย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ บริเวณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา จากเดิมมีศักยภาพการผลิต 2.89 หมื่นล้านมวนต่อปี เมื่อโรงงานแห่งใหม่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เปิดดำเนินการจะมีกำลังการผลิต 3-3.5 หมื่นล้านมวนต่อปี หลังจากเร่ิมเปิดดำเนินการในปี 2562

นางสาวดาวน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับผลดำเนินการในปี 2559 มีกำไรสุทธิ 8,861 ล้านบาท นำส่งรายได้เข้ารัฐ 7,063 ล้านบาท จึงทำให้ผลประเมินตัวชี้วัดการทำงาน (KPI) ของ สคร.ได้คะแนน 4.538 และสามารถจ่ายโบนัสพนักงาน 7 เดือน สูงสุดตั้งแต่ก่อโรงงานยาสูบ แม้ยอดขายบุหรี่ลดลงจากปีก่อนแต่กลับมีผลกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารต้นทุนวัตถุดิบด้วยการสนุนสนุนเกษตรปลูกใบยาคุณภาพลดการนำข้าจากต่างประเทศ การบริหารจัดการและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านในการผลิตบุหรี่ เช่น ซอง ก้นกรอง และสารปรุง ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต การบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงภาระต้นทุนอาจเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายจัดเก็บภาษีท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจเริ่มประกาศใช้ในปี 2560 จัดเก็บประมาณร้อยละ 10 เป็นเงินภาษีต้องรับภาระประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี จากเดิมได้นำส่งในระดับกระทรวงประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ครั้งนี้จัดเก็บให้กับ อปท. หลังจากที่ผ่านมาแบกรับภาระภาษีสรรพสามติ 50,000 ล้านบาท ขณะที่แนวทางการดำเนินงานของโรงงานยาสูบ ปี 2560 จะเน้นใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีความสะดวก รวดเร็ว สนับสนุนการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัว มากขึ้นให้เกิดเป็นองค์กรดิจิตัล และเน้นการพัฒนาระบบการผลิตตั้งแต่การจัดซื้อ ติดตั้งเครื่องจักร พร้อมให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ พัฒนาคุณภาพบุหรี่ และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: