เปิดแผน ก.พลังงาน ใช้ 'Demand Response' ลดพีคไฟฟ้าปี 2560

ทีมข่าว TCIJ : 5 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7455 ครั้ง

เมื่อพีคการใช้ไฟฟ้าไทยสูงขึ้นทุกปี และก่อน ก.พลังงาน คิกออฟรณรงค์ใช้ Demand Response ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ ‘เงิน’ ตอบแทน หวังลดพีคไฟฟ้าไม่ให้เกิน 31,000 เมกะวัตต์ ในฤดูร้อนปี 2560 TCIJ ชวนทำความรู้จักมาตรการนี้ พบที่ผ่านมาอัตราเงินชดเชยไม่จูงใจให้ลดการใช้ไฟฟ้ามากเท่าที่ควร ที่มาภาพประกอบ: Ken Kistler (CC0)

ทุกครั้งที่สังคมไทยมีความขัดแย้งด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก เช่น นิวเคลียร์ และถ่านหิน ฯ นั้น กลุ่มต่อต้านก็มักจะยกเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังทางเลือกอย่าง พลังแสงอาทิตย์ และพลังลม ฯลฯ ขึ้นมาเสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหลักและพลังงานทางเลือกต่างก็มี ‘ข้อดี’ และมี ‘ปัญหา’ กันคนละแบบ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบัน โรงไฟฟ้าพลังงานหลักและพลังงานทางเลือกยังไม่มีแบบไหนที่ให้ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เสถียรภาพ ความปลอดภัย เป็นมิตรต่อชุมชน และราคาไฟฟ้าที่ไม่แพงจนเกินไป

นอกจากนี้ ยังพบว่าเรื่อง ‘การประหยัดไฟฟ้า’ มักจะไม่ได้รับการพูดถึงในช่วงที่มีประเด็นร้อนเท่าไรนัก เพราะอาจมีมุมมองว่าการประหยัดไฟเป็นเรื่องของจิตสำนึก วินัย และความเสียสละเฉพาะบุคคล ซึ่งแต่ละบุคคลหรือแต่ละองค์กรก็มักจะแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้ยาก ดังนั้นการใช้มาตรการทางการเงิน การอุดหนุน หรือให้สิทธิประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ มากระตุ้นให้มีการประหยัดไฟฟ้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่หลายประเทศในโลกที่พัฒนาแล้วนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบ้านเราก็มีการนำมาใช้แบบเงียบ ๆ บ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น ค่าไฟฟ้าอัตรา TOU (อ่านเพิ่มเติม: ค่าไฟฟ้าอัตรา TOU ลดวิกฤตช่วงพีคได้ ทำไมการไฟฟ้าฯ ซ่อนไว้ใต้พรม ?) เป็นต้น และวันนี้ TCIJ ขอนำไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งมาตรการ นั่นก็คือ ‘Demand Response’ ที่หน่วยงานด้านพลังงานของไทยจะนำมาใช้เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ ‘พีค’ ในช่วงฤดูร้อนถึงกลางปีนี้

พีคการใช้ไฟฟ้าของไทยสูงขึ้นทุกปี

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ เดือน ธ.ค. 2559 ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบอยู่ที่ 41,556.25 เมกะวัตต์ ทั้งนี้พบว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา การใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี (ยกเว้นปี 2554 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย) โดยในปี 2552 มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 22,044.9 เมกะวัตต์ (24 เม.ย. 2552) ปี 2553 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 24,009.9 เมกะวัตต์ (10 พ.ค. 2553) ปี 2554 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 23,900.2 เมกะวัตต์ (24 พ.ค.2554) ปี 2555 มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 26,121.1 เมกะวัตต์ (26 เม.ย. 2555) ปี 2556 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 26,598.1 เมกะวัตต์ (16 พ.ค. 2556) ปี 2557 มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 26,942.1 เมกะวัตต์ (23 เม.ย. 2557) ปี 2558 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 27,345.8 เมกะวัตต์ (11 มิ.ย. 2558) และปี 2559 มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ (11 พ.ค. 2559)มีการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 30,972.73 เมกะวัตต์ (หมายเหตุ: กฟผ. ได้เปลี่ยนตัวเลขพีค ในปี 2559 จาก 29,618.8 เมกะวัตต์ มาเป็น 30,972.73 เมกะวัตต์ จากข้อมูลเมื่อเดือน พ.ค. 2560 [1] TCIJ จึงได้อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค. 2560)

Demand Response คืออะไร ?

Demand Response หรือ DR คือรูปแบบการตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีการควบคุมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดระดับความต้องการให้อยู่ในระดับที่ตกลงกันไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Peak Cut) ในเวลาที่ระบบต้องการ โดยมีข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างกัน ประโยชน์ของ Demand Response นั้นจะช่วยให้ภาระการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak Period ลดลง ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตและสำรองไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นลงได้ ผลประโยชน์ที่ได้รับจะช่วยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถวางแผนใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะได้รับเงินชดเชยสำหรับการควบคุม รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่มีต้นทุนลดลงอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ Demand Response จะช่วยให้สามารถบริหารการผลิตและจ่ายไฟฟ้าในภาวะฉุกเฉินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีพิบัติภัย แหล่งจ่ายพลังงานหลักขัดข้อง ภัยแล้ง แหล่งพลังงานหมุนเวียนขัดข้อง เป็นต้น ซึ่งมาตรการ Demand Response นี้ ถือเป็นกลไกจัดสรรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วในประเทศโลกตะวันตกและเอเชียบางประเทศ

จากรายงาน 'มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) และอัตรา Demand Response' ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ได้ระบุถึงรูปแบบของมาตรการ Demand Response ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย มีทั้งหมด 3 แบบได้แก่ (1) Emergency Demand Response Program (EDRP) เป็นมาตรการที่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจเข้าร่วมมาตรการที่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาวิกฤตได้ แต่ไม่มีการลงโทษผู้เข้าร่วมที่ไม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ การร้องขอความร่วมมือในมาตรการนี้จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในระยะสั้น เช่น 1 วัน หรือ 1 ชั่วโมงล่วงหน้า (2) Critical Peak Pricing (CPP) เป็นมาตรการที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) ให้สูงกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ มาก โดยประโยชน์ของมาตรการนี้คือ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถวางแผนการใช้ไฟฟ้าในระหว่างที่ดำเนินมาตรการได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ค่าไฟฟ้าในเดือนนั้น ๆ ลดลงจากปกติโดยไม่มีการกำหนดค่าปรับ แต่ผู้เข้าร่วมจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นมากหากมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤต และ (3) Interruptible Load Program (ILP) เป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีการกำหนดเงินชดเชยหรือค่าไฟฟ้าในอัตราพิเศษ แต่มีข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนครั้งและปริมาณที่จะเรียกใช้งาน มักใช้สำหรับการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤต เนื่องจากการร้องขอจะแจ้งให้ทราบโดยกระชั้นชิดจากสัญญาที่กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่สามารถงดจ่ายได้ไว้ล่วงหน้า ผู้เข้าร่วมมาตรการนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ได้มีการเปิดเผนตัวเลขของการประเมินพีคไฟฟ้าของปี 2560 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยระบุว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 หรืออยู่ที่ระดับ 31,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และจะมีการนำมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้า Demand Response นี้มาใช้ลดพีคไฟฟ้าไม่ให้เกินที่ระดับ 31,000 เมกะวัตต์ โดยที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินตามที่ภาครัฐกำหนดไว้

กำหนดการแรกของปี 2560 ที่จะนำมาตรการ Demand Response แบบ Emergency Demand Response Program หรือ EDRP มาใช้คือในช่วงระหว่างวันที่ 27-31 มี.ค. 2560 เพื่อรองรับการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกของประเทศ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายกิจการขนาดใหญ่ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ บริเวณสถานีไฟฟ้าพระนครใต้ เทพารักษ์ ธนบุรีใต้ บางพลี จำนวน 200 เมกะวัตต์ และพื้นที่ภาคกลางใน จ.ราชบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร อีก 200 เมกะวัตต์ รวม 400 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราค่าชดเชย 3 บาทต่อหน่วย (เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วง เวลา 9.00-22.00 น.) ทั้งนี้ ที่ต้องนำมาตรการนี้มาใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานาของพม่าหยุดผลิต เพราะต้องทำงานเชื่อมต่อแท่นผลิตใหม่ เป็นเวลา 9 วัน คือระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย. 2560 โดยการหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งยาดานาดังกล่าว จะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากพม่าหายไปจากระบบรวมประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะมีผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลงประมาณ 6,400 เมกะวัตต์

รู้หรือไม่ - ประเทศไทยเคยนำ Demand Response มาใช้แล้วหลายครั้ง?

ข้อมูลจาก กกพ. ระบุว่าประเทศไทยเคยนำร่องนำมาตรการ Demand Response มาใช้แล้วหลายครั้ง โดยจากการเก็บข้อมูลการใช้มาตรการนี้ 4 ครั้งในปี 2557-2558 พบว่าสามารถลดปริมาณไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 561 เมกะวัตต์ จากผู้เข้าร่วม 851 มิเตอร์ จ่ายเงินชดเชยไป 21.96 ล้านบาท (จากครั้งที่ 3 ในการใช้ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 10,17,18,20 เม.ย. 2558) ทั้งนี้ การใช้มาตรการ Demand Response จะมีประสิทธิภาพและลดปริมาณไฟฟ้าได้มากกว่านี้หากมีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง รวมทั้งการให้งบประมาณในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น

โดย กกพ. ได้ระบุปัญหาและอุปสรรคไว้ว่า (1) รูปแบบการดำเนินมาตรการเป็นแบบสมัครใจ (voluntary)โดยกำหนดอัตราชดเชยและวัน เวลาดำเนินมาตรการแบบคงที่และต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลานาน ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อความต้องการของระบบในแต่ละช่วงเวลาซึ่งมีความไม่แน่นอน (2) อัตราเงินชดเชยไม่จูงใจให้ลดการใช้กำลังไฟฟ้า (3) วิธีการคำนวณ baseline ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบางประเภท (4) การไฟฟ้ามีข้อจำกัดด้านการประชาสัมพันธ์ที่ต้องใช้บุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจและงบประมาณ (5) ผู้เข้าร่วมโครงการบางรายเกิดปัญหามิเตอร์ขัดข้อง และ (6) ข้อจากัดด้านข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผล เช่น ข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงในส่วนที่เกินจากการเดินเครื่องขั้นต่ำ (minimum generation) ฯลฯ ส่งผลให้ไม่สามารถประเมินผลการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเพื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายเงินชดเชยที่เกิดขึ้นได้

การใช้ Demand Response ในภาคใต้ไม่บรรลุผล

Demand Response ถูกนำมาใช้ที่ภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติ JDA-A18 ซึ่งได้ส่งผลต่อกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ลดลง ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย

เรื่องที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้ในวงกว้างนัก ก็คือในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มีการใช้มาตรการ Demand Response ที่ภาคใต้อยู่บ่อยครั้งเนื่องจากมีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ซึ่งส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ลดลง แต่จากข้อมูลพบว่าเมื่อนำไปใช้เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ก็ดูเหมือนว่าจะได้ผลล้มเหลวเสมอ โดยในปี 2557 ตั้งเป้าลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าไว้ 250 เมกกะวัตต์ แต่ลดได้จริง 48 เมกกะวัตต์ ปี 2558 ตั้งเป้าลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าไว้ 100 เมกกะวัตต์ แต่ลดได้จริง 25.47 เมกกะวัตต์ ส่วนการดำเนินการในระดับประเทศดูจะได้ผลสำเร็จมากกว่า โดยในปี 2557 ตั้งเป้าลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าไว้ 200 เมกกะวัตต์ ลดได้จริง 70.70 เมกกะวัตต์ และปี 2558 ตั้งเป้าลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าไว้ 500 เมกกะวัตต์ ลดได้จริงถึง 561 เมกกะวัตต์

เมื่อพิจารณาถึงความล้มเหลวในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปี 2557 มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเรื่องช่วงเวลาขอความร่วมมือใช้มาตรการ Demand Response ในช่วงเวลา 18.00-22.00 น ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการหยุดเดินเครื่องผลิตอยู่แล้ว เท่ากับว่าไม่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้อีกเพราะปกติภาคอุตสาหกรรมจะเดินเครื่องผลิตกลางวันเป็นหลักอยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแรงจูงใจที่มากพอ โดยเฉพาะการกำหนดอัตราเงินชดเชยสำหรับผู้ลดใช้ไฟฟ้าในช่วงที่กำหนดไว้ที่ 4 บาท/หน่วย ซึ่งในขณะนั้นกลุ่มผู้ประกอบการยื่นเสนออัตราที่ 6-8 บาท/หน่วย (เป็นอัตราที่เท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากมาเลเซียที่ 8 บาท/หน่วย ที่มีการรับซื้อเข้ามาเสริมความมั่นคงในระบบในช่วงนั้น) ซึ่งในครั้งนั้นมีการประเมินว่า หากเปลี่ยนมาเป็นเพิ่มเงินชดเชยผู้ประกอบการที่ 8 บาท/หน่วย โครงการนี้อาจไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
รายละเอียดมาตรการและอัตรา Demand Response

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: สำนักข่าวไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: