ศาลพิพากษาปรับเงินสหภาพแรงงาน GM ประท้วงเมื่อปี 2556 โทษจำคุกรอลงอาญา

พัชณีย์ คำหนัก 5 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 12032 ครั้ง

ศาลพิพากษาปรับเงินสหภาพแรงงาน GM ประท้วงเมื่อปี 2556 โทษจำคุกรอลงอาญา

ศาลฎีกา จ.ระยอง พิพากษาให้ ประธาน กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์สประเทศไทย จำนวน 9 คน มีความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ของบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จากการประท้วงเมื่อปี 2556 โทษจำคุกรอลงอาญา ปรับคนละ 5,000 บาท

ศาลฎีกา จ.ระยอง ได้พิพากษาให้ ประธาน กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์สประเทศไทย จำนวน 9 คน มีความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ของบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 และ 83 จำคุกจำเลย (กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานฯ) เป็นเวลา 2 เดือนและปรับคนละ 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลฎีการอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี (ยืนตามศาลอุทธรณ์) ทั้งนี้คนงานได้เข้าฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา

เรื่องราวการต่อสู้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างของสหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์สประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2556 ซึ่งได้เป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง หากจะสรุปที่มาที่ไปของคดีนี้ เริ่มจากการที่บริษัทยื่นข้อเรียกร้องสวน ที่สหภาพแรงงานไม่สามารถยอมรับได้คือ การเพิ่มวันทำงานวันเสาร์ 1 วัน จากเดิมทำงานถึงวันศุกร์และหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ สหภาพแรงงานจึงแจ้งข้อพิพาทแรงงาน และไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนำไปสู่การนัดหยุดงานและชุมนุมหน้าบริษัท ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 และบริษัทตอบโต้ด้วยการใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสภาพแรงงาน มาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าอำนาจของรัฐไม่เข้ามาแทรกแซงสิทธิการปิดงานของนายจ้างที่ไม่มีกำหนด และปล่อยให้เป็นการต่อสู้กันตามลำพังระหว่างนายจ้างกับคนงาน ในขณะที่นายจ้างได้เปรียบหลายประการ

ตามสำเนาเอกสารคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว บริษัท เจนเนอรัล พาวเวอร์เทรน บริษัทในเครือของ บ.เจนเนอรัลมอเตอร์สประเทศไทย จำกัด ปิดงานตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 เพื่อป้องกันไม่ให้สภาพแรงงานเข้าไปชุมนุมในที่ดินหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่กรรมการและสมาชิกสหภาพราว 200 คน ก็เข้าไปชุมนุมบนสนามหญ้าหน้าสำนักงาน บริษัทจึงฟ้องร้องจำเลย คือ กรรมการและสมาชิกบางคน และขอให้ศาลแรงงาน ภาค 2 คุ้มครองชั่วคราว ให้บริษัทไล่สมาชิกสหภาพแรงงานออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งศาลแรงงานมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2556  อย่างไรก็ตาม สมาชิกยังคงชุมนุมกันต่อ แม้จะรื้อถอนเต็นท์ เคลื่อนย้ายรถ เครื่องเสียง โดยสหภาพแรงงานแย้งว่า เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และไม่มีเจตนาบุกรุกแต่อย่างใด เพราะเคยชุมนุมนัดหยุดงานลักษณะนี้มาแล้วเมื่อปี 2552 ซึ่งบริษัทไม่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้ง การชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือบุคคลใด ๆ ของบริษัท ไม่เป็นการปิดกั้นทางเข้าออกโรงงานและยังคงมีการผลิตตามปกติ

อย่างไรก็ตาม บริษัทแยังว่าการชุมนุมเมื่อปี 2552 นั้น นายจ้างได้ฟ้องร้องขับไล่คนงานออกไปจากพื้นที่ ทว่าสามารถเจรจาตกลงข้อเรียกร้องกันได้ บริษัทจึงไม่เอาผิดกับลูกจ้างที่นัดหยุดงานเพราะเป็นผลมาจากข้อตกลง ความผิดจึงยอมความกันได้

ทั้งนี้ศาลฎีกาจึงพิจารณาว่า เมื่อโจทก์ไม่ต้องการให้จำเลยชุมนุมหน้าโรงงาน ถือว่าจำเลยละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดิน จึงเป็นความผิดร่วมกันบุกรุก และการชุมนุมสามารถหลีกเลี่ยงไปที่อื่นได้ แต่ศาลไม่ลงโทษสถานหนักตามที่โจทก์ฎีกา เพราะสาเหตุของการกระทำผิดคดีนี้มาจากการเรียกร้อง ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การชุมนุมจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อลูกจ้างทั้งปวง และการชุมนุมไม่เป็นการร้ายแรง ไม่มีการประทุษร้าย จึงลงโทษเพียงจำคุก 2 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาทและรอการลงโทษไว้ 2 ปี

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2560 ระบุว่าไม่เพียงแต่คดีอาญาที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องร้องคณะกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานบางคนเท่านั้น ยังมีอีกคดีในลักษณะเดียวกันที่บริษัทฟ้องร้องสมาชิกอีก 123 คน ซึ่งกำลังรอคำพิพากษาจากศาลฎีกา แม้จะมีการยกฟ้องโดยศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็กลับคำพิพากษาและศาลฎีกาก็คงมีทิศทางเดียวกันนี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นฟ้องร้องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงาน คือ การปิดงานโดยมิชอบของนายจ้าง โดยสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายจ้าง  การปิดงานหมายถึงการไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน แต่ความสัมพันธ์ทางกฎหมายยังคงมีอยู่ ทว่านายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน ไม่หักเงินเข้าประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิประโยชน์มากมาย

บุญยืนยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยว พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ว่ามาตรา 99 เมื่อสหภาพแรงงานปฏิบัติการดังต่อไปนี้ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกอัน มิใช่เป็นกิจการเกี่ยวกับการเมือง ให้ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน กรรมการ อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่ง ได้แก่ (1) เข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับนายจ้าง สมาคมนายจ้าง ลูกจ้างสหภาพแรงงานอื่น สหพันธ์นายจ้าง หรือสหพันธ์แรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ที่สมาชิกสมควรได้รับ (2) นัดหยุดงานหรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกนัดหยุดงาน (3) ชี้แจงหรือโฆษณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน (4) จัดให้มีการชุมนุนหรือเข้าร่วมโดยสงบในการนัดหยุดงาน

ทั้งนี้จะเว้นแต่เป็นความผิดทางอาญาในลักษณะความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตราย ต่อประชาชน เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงเกี่ยวกับทรัพย์และความผิดในทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดทางอาญาในลักษณะดังกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: