‘เข้าพรรษา’ ตอบโจทย์ธรรมวินัย หรือสังคม-การเมืองไทย ?

เจษฎา บัวบาล นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ : 4 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4784 ครั้ง

ในยุคที่เหตุผลของการ ‘เข้าพรรษา’ ไม่ใช่การป้องกันพระเหยียบย่ำข้าวของชาวบ้าน แต่สังคมไทยได้ทำให้การเข้าพรรษากลายเป็นวันหยุดราชการซึ่งชาวพุทธให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แท้จริงแล้วการเข้าพรรษาในปัจจุบันตอบโจทย์ ‘ธรรมวินัย’ หรือตอบโจทย์ ‘สังคม-การเมืองไทย’ กันแน่ ? ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

หากวัตถุประสงค์ของการเข้าพรรษาคือการป้องกันมิให้พระเหยียบย่ำข้าวของชาวบ้าน ไฉนปัจจุบันพระสงฆ์ยังต้องรักษาวินัยข้อนี้ด้วยคำอธิบายชุดเดิมอยู่เล่า ในเมื่อตนสามารถโดยสารรถเรือและเครื่องบินได้โดยสะดวก? และการเข้าพรรษาถูกออกแบบมาเพื่อพระสงฆ์เท่านั้นเช่นเดียวกับการปลงอาบัติ แต่สังคมไทยได้ทำให้การเข้าพรรษากลายเป็นวันหยุดราชการซึ่งชาวพุทธควรให้ความสำคัญ แท้จริงแล้วการเข้าพรรษาตอบโจทย์ธรรมวินัยหรือตอบโจทย์สังคมการเมืองของไทยกันแน่?

การเข้าพรรษาทำได้ 2 ครั้งคือ วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 และ วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 แต่สังคมไทยนิยมเฉพาวาระแรก พระสุธี นักศึกษาปริญญาเอกสาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวว่า “น่าตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมไทยไม่นิยมการเข้าพรรษาหลัง และชาวบ้านทั่วไปอาจไม่เคยรับทราบเรื่องนี้เลย หรือการเข้าพรรษาจะถูกปรับให้รับกับประเพณีท้องถิ่นซึ่งเชื่อมโยงกับการที่พุทธศาสนาถูกทำให้เป็นแบบแผนในฐานะเป็นศาสนาของรัฐ นั่นหมายความว่า การเข้าพรรษาเป็นจารีตที่ตอบสนองอย่างอื่นมากกว่าการตอบสนองวัตถุประสงค์เดิมของวินัยใช่หรือไม่”

ปรากฏการณ์ 5 อย่างนี้ ช่วยตอบคำถามว่า เพราะเหตุใดสังคมไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการเข้าพรรษามากกว่าประเทศเถรวาทอื่นๆ ที่นับถือพุทธศาสนาด้วยกัน

1. เข้าพรรษาสร้างอัตลักษณ์ให้คนไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากไม่มีการเข้าพรรษา ประเพณีแห่เทียนของจังหวัดอุบลราชธานีจะหายไป (ยังไม่ต้องกล่าวถึงจำนวนเงินที่มากับการท่องเที่ยว) ทำนองเดียวกับการรณรงค์กิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งองค์กรทางศาสนาทำงานร่วมกับ สสส. ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งในปีต่อมาประกาศมิให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร

หลายวัดในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดจะมีโครงการเชิญชวนปฏิบัติธรรมช่วงวันเข้าพรรษา กิจกรรมถวายเทียนพรรษา 9 วัดทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็เกิดขึ้นทุกปี โดยไม่ต้องตั้งคำถามกับความจำเป็นในการใช้เทียนพรรษาอีกหรือไม่ในโลกปัจจุบัน

สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างอัตลักษณ์ของการเป็นชาวพุทธที่ดีและถูกเปลี่ยนจากสังฆกรรมซึ่งเป็นเรื่องของพระให้กลายเป็นเทศกาลของชาติ (national festival) ที่ทุกคนมีส่วน ซึ่งสะท้อนชัดว่าพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในสังคมไทย เพราะแนวคิดทางศาสนาสามารถดำเนินไปในรูปแบบของประเพณีและตอบสนองนโยบายรัฐได้ในเวลาเดียวกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงโอกาสพิเศษนี้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้เลิกอบายมุขหรือศึกษาปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น

2. เข้าพรรษาเป็นเครื่องมือในการดึงคนมาบวช สังคมไทยจะสอนให้เชื่อเรื่องการบวชระยะสั้น อย่างน้อยก็เข้าพรรษา 3 เดือนเพื่อตอบแทนคุณพ่อแม่ รามูซัก บาบาร่า (Ramusack Barbara: 1999) นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและสตรีนิยมกล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรับคนบวชระยะสั้นโดยใช้แม่เป็นเครื่องมือดึงคนเข้าสู่ศาสนาเป็นประเพณีของอาเซียนมาแต่โบราณ

ตรงข้ามกับศรีลังกาแม้จะเป็นประเทศเถรวาท แต่เพราะเชื่อว่าการบวชเป็นสิ่งที่ควรสมาทานไปตลอดชีวิต หากสึกออกมาจะถูกสังคมมองในแง่ลบ ศรีลังกาจึงไม่มีการรณรงค์ให้กุลบุตรต้องออกบวช 7 วัน 9 วัน หรือ 1 พรรษา ด้วยเหตุนี้ (และเหตุผลข้ออื่นๆ) จึงทำให้การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ศรีลังกาดำเนินไปอย่างเรียบง่าย พระสงฆ์อธิษฐานเข้าพรรษากันเองโดยมิต้องจัดกิจกรรมแบบไทย และเมื่อพระสงฆ์เดินทางไปไหนก็จะไม่มีผู้สอบถามเรื่องการจำพรรษา เพราะถือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล

การเข้าพรรษาในแต่ละปี จึงเตือนชาวพุทธไทยให้นึกถึงศาสนา ก่อนเข้าพรรษามีงานบวชเกิดขึ้นทุกพื้นที่ ลูกชายจะถูกคาดหวังให้ต้องสละเวลาบวชเพื่อพ่อแม่ ขณะที่พ่อแม่เองก็ใช้เวลากับวัดมากขึ้นเมื่อลูกของตนบวชเป็นภิกษุ ระยะเวลา 3 เดือนอาจเพียงพอสำหรับการกล่อมเกลาจริยธรรมและเตรียมทางสู่การสร้างอุบาสกที่ดีผู้ให้การสนับสนุนวัดเมื่อคนเหล่านี้สึกออกไป

เพราะความเชื่อว่าการบวชเข้าพรรษาจะนำมาซึ่งอานิสงส์มหาศาล การละเมิดหรือแหกกฎของการเข้าพรรษาจึงเป็นบาปมหันต์เช่นกัน การบวชเข้าพรรษาสร้างความตึงเครียดไม่น้อยแก่พระใหม่ที่จีวรร้อน เพราถูกขู่ว่า “หากต้องสึกไปในช่วงเวลานั้นถือเป็นการ “แหกพรรษา” จะทำให้พ่อแม่พลอยรับบาปไปด้วยและหลายคนที่สึกไปสุดท้ายต้องตายโหง เสียสติหรือทำมาค้าขายไม่ขึ้น” หลวงพ่อทรงฤทธิ์ วัดเสนาราม นครศรีธรรมราช กล่าวเพื่อสะท้อนค่านิยมที่ผิดอันเกิดจากการใช้พรรษาเป็นเครื่องมือดึงคนเข้าสู่ศาสนา

กล่าวโดยสรุปคือ การเข้าพรรษาถูกเน้นย้ำเพราะเชื่อมโยงอยู่กับการสอนเรื่องบวชระยะสั้นเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณของสังคมไทย ศาสนาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเชื่อมสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ขณะเดียวกัน ศาสนาก็ได้ประโยชน์จากการที่มีคนสลับหมุนเวียนเข้ามาช่วยจำพรรษาในแต่ละปี

3. เข้าพรรษาสร้างยอดเงินมหาศาลในวันทอดกฐิน เป็นที่ทราบกันว่า กฐินเป็นกิจกรรมที่สร้างเงินบริจาคมหาศาลให้วัดในแต่ละปี สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการสอนเรื่อง “กาลทาน” หรือ ทานที่อิงอยู่กับช่วงฤดูกาล ที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้พร่ำเพรื่อ แต่เป็นปีละครั้งเท่านั้น ชาวพุทธทั่วไปเชื่อว่าบุญกฐินจะก่อให้เกิดอานิสงส์อย่างมาก หลายวัดในต่างจังหวัดอยู่รอดเพราะเงินกฐินนี้ ซึ่งปีหนึ่งอาจได้รับประมาณ 500,000 บาท ขณะที่วัดใหญ่ในเมืองหรือวัดที่เจ้าอาวาสมีชื่อเสียง เช่น วัดพระธรรมกาย อาจได้ปีหนึ่งถึง 300 ล้านบาท

กฐินจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ ทั้งนี้การทอดกฐินของศรีลังกาก็แตกต่างไปจากไทย ฆราวาสจะไปวัดเพื่อถวายภัตตาหารและผ้ากฐินเพื่อทำเป็นจีวรเท่านั้น มิได้เรี่ยไรเงินถวายวัดแบบที่สังคมเถรวาทในอาเซียน สิ่งสำคัญคือ ศรีลังกาและพม่าใช้คัมภีร์อรรถกถาสมันตปาสาทิกา มาอธิบายเพื่อยืนยันว่า “แม้จะมีภิกษุเพียงรูปเดียวก็รับกฐินได้ เพราะกฐินหมายถึง ผ้าเพื่อจะทำจีวร” ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาพระมาจำพรรษาให้ครบห้ารูปแบบที่สังคมไทยเป็น

สังคมไทยหันมาเน้นเรื่องต้องมีพระจำพรรษา 4-5 รูป และการรับกฐินของพระรูปเดียวต้องถูกตำหนิ เพราะกฐินในสังคมไทยสื่อถึงเงินเรี่ยไรมากกว่าจีวรผืนเดียว หากการเข้าพรรษาครบ 3 เดือนของพระ 4-5 รูป ไม่มาพร้อมกับเงินบริจาคจำนวนมาก สังคมไทยคงให้ความสำคัญกับการเข้าพรรษาน้อยลง

4. เข้าพรรษาช่วยเลื่อนสถานะทางสังคมของพระสงฆ์ พระวินัยกำหนดให้พระสงฆ์เคารพกันตามพรรษาเพื่อปฏิเสธสถานะทางชนชั้นของสังคมอินเดียโบราณ แน่นอนว่าอุบายนี้อาจมีส่วนช่วยลดมานะของคนแก่หรือผู้มีฐานะทางสังคมได้เมื่อตนต้องเคารพพระอายุน้อยกว่า ในขณะเดียวกัน พรรษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพระสงฆ์จะยกสถานะของท่านให้เป็นที่เคารพในสังคมพุทธมากขึ้นด้วย

การไม่ยอมเข้าพรรษามีโทษทางวินัยน้อยมากคือ อาบัติทุกกฏ ซึ่งการฉันอาหารในตอนกลางคืนยังเป็นอาบัติที่สูงกว่าคือ ปาจิตตีย์ แต่ดูเหมือนสังคมไทยจะให้ความสำคัญกับการเข้าพรรษาอย่างมาก หลวงพี่ธีรพงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เล่าว่า “สมัยเป็นเณร ผมถูกสอนว่า พระที่ขาดพรรษาในปีนั้นๆ จะถือว่าไม่ได้พรรษา เช่น หากปีที่แล้วครบ 5 พรรษาแต่ปีนี้ต้องขาดพรรษา ก็จะยังมีพรรษา 5 เท่าเดิม ขณะที่พระพรรษา 4 ขยับเลื่อนมาเสมอกับท่านและพระพรรษา 5 ก็ขยับขึ้นไปเหนือท่าน”

ทั้งที่ความจริงแล้วการนับพรรษาคือการนับจำนวนปีในการบวช ซึ่งจะดำเนินไปเรื่อย หากแต่การขาดพรรษาต้องอาบัติทุกกฏเท่านั้นและแก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติ ความเชื่อที่ผิดพลาดเช่นนี้ หลวงพี่ธีรพงศ์เชื่อว่า ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้พระสงฆ์ต้องเคร่งครัดกับการเข้าพรรษา

อีกมิติหนึ่ง ระยะเวลา 3 เดือนช่วงเข้าพรรษา จะมีการจัดการเรียนนักธรรม ซึ่งนอกจากพระสงฆ์จะได้ศึกษาธรรมะ พุทธประวัติและวินัยสงฆ์ตามหลักสูตรและการตีความของคณะสงฆ์ไทยแล้ว การสอบได้ชั้นนักธรรมจะเป็นเงื่อนไขแรกของการเข้ารับตำแหน่งพระสังฆาธิการนับตั้งแต่ เจ้าอาวาส เป็นต้นไป เพราะผู้จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสควรจะจบนักธรรมชั้นตรีเพื่อจะรับประกันว่ามีความสามารถในการเทศน์สอนญาติโยมตามหลักการของพุทธศาสนาที่ถูกออกแบบโดยรัฐ

ยิ่งกว่านั้น การมีลูกศิษย์สอบได้ชั้นนักธรรมจำนวนมากและการที่เจ้าอาวาสเองส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนนักธรรมภายในวัด จะเป็นผลงานชิ้นสำคัญอันหนึ่งในการเลื่อนตำแหน่งทางคณะสงฆ์ได้ กล่าวคือ ช่วงเวลาอันสำคัญนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พระสงฆ์เติบโตในพุทธศาสนาทั้งในแง่ความรู้ทางธรรมและการสะสมผลงานเพื่อเลื่อนขั้นสมณศักดิ์อีกด้วย

5. เข้าพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้มีบารมีแสดงตัวตน ทราบกันโดยทั่วไปว่า งานบุญแต่ละงานมักมีเจ้าภาพรายใหญ่แสดงตนเพื่อให้การสนับสนุนหลัก ตำแหน่งนี้นอกจากจะนำมาซึ่งบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ดังที่สังคมไทยมักยก นางวิสาขาและอนาถปิณฑิกะเศรษฐีเป็นโมเดลแล้ว แพทริค จอรี่ (Patrick Jory: 2002) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยเสนอว่า สังคมสยามนับแต่อดีตจะสร้างสถานะผู้นำที่มีบารมีผ่านการสนับสนุนกิจการทางศาสนา

ดังตัวอย่างของการจัดงานเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก ความชอบธรรมทางศาสนาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลคนนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ตนเป็นคนใจบุญและพร้อมจะทุ่มเทเพื่อสาธารณประโยชน์ได้แบบที่พระเวสสันดรทำ ขณะเดียวกัน สถานะที่มั่งคั่งของเขาก็สะท้อนถึงการเป็นผู้มีบารมีกลับชาติมาเกิดซึ่งสังคมควรให้การเคารพและเอาเป็นแบบอย่าง

นอกจากจะมีเจ้าภาพสนับสนุนโครงการบวชเข้าพรรษาของพระภิกษุสามเณร และมีกำหนดการกฐินพระราชทานสำหรับวัดหลวงแล้ว ระหว่างพรรษายังมีเศรษฐีหรือครอบครัวผู้มีฐานะ เจ้าของธุรกิจ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐออกหาวัดเพื่อจองเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แม้ตำแหน่งเจ้าภาพกฐินของหลายวัดจะไม่กำหนดยอดเงินที่ควรหามาให้ได้ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าภาพใหม่ควรจะหาเงินมาให้ได้มากกว่าหรือไล่เลี่ยกับเจ้าภาพเมื่อปีที่แล้ว

เจ้าภาพกฐินจะถูกเชิดชูอย่างมากตั้งแต่การจัดพิมพ์ชื่อในซองฎีกา การจัดให้นั่งแถวหน้าในพิธี เป็นประธานจุดธูปเทียนตลอดจนกล่าวนำถวายผ้ากฐิน ผู้ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพกฐินของวัดใหญ่ๆ จะต้องใช้เวลาจองล่วงหน้า เช่น กรณีของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จะต้องรอคิวยาวถึง 450 ปีเพื่อจะเป็นเจ้าภาพเอก การต้องใช้พิธีกรรมใหญ่อันจะช่วยยกสถานะทางสังคมของฆราวาสเช่นนี้ จึงเรียกร้องการต้องหาพระสงฆ์มาจำพรรษาและทำพิธีทอดกฐินให้สมเกียรติ ซึ่งการถวายผ้าจีวรผืนเดียวแบบศรีลังกาจึงไม่เพียงพอเพราะเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้

 

พระสงฆ์ปัจจุบันปรับตัวอย่างไร ?

พระชาย วรธมฺโม พระนักคิดนักเขียนด้านเพศสภาพ แฟ้มภาพ TCIJ

เมื่อชีวิตของพระสงฆ์ในปัจจุบันต้องเดินทางไกลมากขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไปศึกษาเล่าเรียน รักษาพยาบาล และฉลองศรัทธานิมนต์ของญาติโยมในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ การลาพรรษาด้วยกิจจำเป็นที่เรียกว่า “สัตตาหะกรณียะ” จึงถูกนำมาใช้ พระวินัยอนุญาตให้พระภิกษุที่มีกิจจำเป็นสามารถลาพรรษาได้ หากแต่ต้องกลับมาภายใน 7 วัน การเดินทางที่รวดเร็วในปัจจุบันจึงทำให้การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางอีกต่อไป

หลวงพี่ชาย วรธมฺโม พระนักคิดนักเขียนด้านเพศสภาพ กล่าวว่า “การเข้าพรรษาในปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องไร้สาระหากจะยังอธิบายด้วยเหตุผลเดิม และหากมองว่ากำหนดขึ้นเพื่อให้พระได้ศึกษาธรรม ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนให้พระใหม่ที่ต้องเรียนนักธรรมเท่านั้นจำพรรษา แต่ต่อให้ไม่ยกเลิกกฎนี้ พระสงฆ์ในปัจจุบันก็มิได้ลำบากอีกต่อไป เพราะจะหาทางเลี่ยงด้วยการสัตตาหะ ผมสังเกตว่าปัจจุบันพระไทยสัตตาหะกันกระจุยเลย”

ปัจจุบันมีการยืมตัวพระภิกษุมาช่วยเข้าพรรษาในหลายที่ กล่าวคือ วัดที่มีพระเป็นจำนวนมากจะถูกขอร้องให้ส่งพระไปช่วยจำพรรษาวัดที่มีพระน้อยให้ครบ 5 รูปเพื่อจะสามารถทอดกฐินได้ ทั้งนี้ พระที่ถูกยืมตัวจะอยู่วัดที่ตนจะรับกฐินเพียงคืนเดียวเท่านั้นในหนึ่งสัปดาห์ คือ คืนก่อนวันพระ เมื่อฉลองศรัทธาญาติโยมในวันรุ่งขึ้น เสร็จแล้วท่านก็จะสัตตาหะกลับไปอยู่วัดเดิม จะมาวัดนั้นอีกครั้งก็ก่อนวันพรถัดไปเพื่อทำการต่อพรรษาหรือสัตตาหะไม่ให้พรรษาขาด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นลักษณะของพุทธศาสนาแบบไทยว่า สามารถปรับตัวยืดหยุ่นไปได้เรื่อยๆ โดยที่ท่านยังไม่ปฏิเสธการต้องรักษาวินัยและขนบแบบเดิม

จะเห็นว่า การเข้าพรรษาถูกเน้นย้ำในสังคมไทยด้วยเหตุผลอื่นๆ มากกว่าจะเป็นผลจากการอ้างอิงพระไตรปิฎกบาลีแบบเถรวาททั่วไปเท่านั้น การเข้าพรรษาถูกปรับให้กลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่ตอบสนองสังคมไทยของคนหลายกลุ่มทั้งพระสงฆ์และฆราวาส จึงไม่ควรมองว่าพิธีกรรมทางศาสนาดำรงอยู่อย่างบริสุทธิ์และปลอดจากสังคมการเมือง

ศาสนาที่บริสุทธิ์จริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้มีอยู่จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพิธีกรรมเพราะจะถูกตีความและปรับเพื่อตอบสนองสภาพท้องถิ่นนั้นๆ การเข้าพรรษาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่า พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยมีความยืดหยุ่น ปรับตัว และแตกต่างจากพุทธในประเทศอื่นตามบริบททางสังคม เช่น ศรีลังกา อันประเทศซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นต้นกำเนิดของพุทธแท้เช่นเดียวกัน

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ‘อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา’ ปี 2560 คาดเม็ดเงินสะพัด 6,222 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: