ติดโซลาร์เซลล์มหาวิทยาลัย-โรงพยาบาล 3 จังหวัดชายแดนใต้ 1,500 กิโลวัตต์ ลดค่าไฟ 8.32 ล้านบาทต่อปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2383 ครั้ง

ติดโซลาร์เซลล์มหาวิทยาลัย-โรงพยาบาล 3 จังหวัดชายแดนใต้ 1,500 กิโลวัตต์ ลดค่าไฟ 8.32 ล้านบาทต่อปี

เดินหน้าติดตั้งโซลาร์เซลล์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 1,500 กิโลวัตต์ ลดค่าไฟ 8.32 ล้านบาทต่อปี และใช้เป็นระบบผลิตไฟฟ้าสำรองในกรณีเหตุความไม่สงบในพื้นที่ ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่านายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเล็งเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีปัญหาเหตุความไม่สงบในพื้นที่ มีการทำลายระบบสายส่งไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภค ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ อาทิ การดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลและการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกระทรวงพลังงานจึงให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ขนาดรวม 1,500 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ในหน่วยงานภายใต้ “โครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้งานในโรงพยาบาล วิทยาลัยเทคนิค และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปีงบประมาณ 2561

สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในพื้นที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายใต้กำกับ ประกอบด้วย ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ และพื้นที่ว่างเปล่าใน ม.นราธิวาสราชนครินทร์ (ส่วนกลาง) ขนาด 1,000 กิโลวัตต์ 1 ระบบ และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ความจุพลังงานไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง 2 ระบบ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 300 กิโลวัตต์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ วิทยาเขตวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 200 กิโลวัตต์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ วิทยาเขตวิทยาลัยเกษตรนราธิวาส โดยจะเริ่มดำเนินการติดตั้งประมาณต้นปี 2561

“การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ดังกล่าวจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในหน่วยงานได้ 2,006,314 หน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 8,326,202 บาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์1,183 ตันต่อปี และสามารถใช้เป็นระบบผลิตไฟฟ้าสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ สาธิตและเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรอื่น ๆ และประชาชนทั่วไปในอนาคต” นายทวารัฐ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: