เล็งพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2781 ครั้ง

เล็งพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าตามแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยเจรจาให้ผลประโยชน์กับเจ้าของที่ดินอย่างเหมาะสม ในขณะที่เตรียมโครงการผลิตผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำขนาด 10 เมกะวัตต์ ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเร็ว ๆ นี้ ที่มาภาพประกอบ: ucsusa.org

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2560 ว่านายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมศึกษาแนวทางการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้าตามแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ และเป็นการใช้พื้นที่ใต้แนวสายส่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากกฟผ.มีพื้นที่ใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่มีการรอนสิทธิ์ทั้งหมดกว่า 3 หมื่นกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม การลงทุนจะพิจารณาเฉพาะพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินการ และเจรจากับเจ้าของที่ดิน ที่ กฟผ.ได้รอนสิทธิ์ไว้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เหมาะสมกับเจ้าของที่ดินเพิ่มเติม นอกเหนือจากการจ่ายค่าใช้พื้นที่ในการตั้งแนวสายไฟฟ้าด้วย สำหรับพื้นที่ป่า หรือพื้นที่ที่มีแนวภูเขาบัแสงอาทิตย์ หรือพื้นที่ชุมชน จะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เสนอแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ให้กระทรวงพลังงานพิจารณา ซึ่งเพิ่มจากแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ 500 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้นจะผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลและโซล่าร์เซลล์เป็นหลัก นอกจากนั้นจะมาจากก๊าซชีวภาพ ลม และขยะ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์นั้น นอกจากจะผลิตติดตั้งตามแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว กฟผ.ยังมีแผนการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณเขื่อนของ กฟผ.โดยเบื้องต้นจะเริ่มนำร่องประมาณ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะขยายปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

โดย กฟผ.จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรที่จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการด้านพลังงานทดแทนขึ้นมารับผิดชอบแผนด้านการลงทุนเรื่องพลังงานทดแทน โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะมีการขยายหรือยุบรวมบางหน่วยงานและลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานต่อไป ซึ่งคาดว่าแผนปรับองค์กรทั้งหมดจะเสร็จภายในสิ้นปี 2560 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: