เผยสนามบินขอนแก่นไร้ 'ระบบนำร่อน' วอนทหารอนุมัติพื้นที่ติดตั้งระบบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 4381 ครั้ง

เผยสนามบินขอนแก่นไร้ 'ระบบนำร่อน' วอนทหารอนุมัติพื้นที่ติดตั้งระบบ

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอนแก่นเผยสนามบินในภาคอีสานเหลือเพียง 2 แห่งที่ยังไม่มี 'ระบบนำร่อน' (ILS-Instrument Landing System) คือ สนามบินขอนแก่นและสนามบินเลย ระบุจริง ๆ แล้วเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สนามบินทุกแห่งควรจะมี แต่ในกรณีของสนามบินขอนแก่นอยู่ในพื้นที่ราบทำให้ไม่มีเมฆหมอกมาก อุปสรรคไม่เยอะ ถ้าบินมาแล้วลงไม่ได้ก็วนก่อนแล้วค่อยกลับมาลงใหม่ ชี้หากมีแล้วจะช่วยให้นักบินสามารถบินลงด้วยความแม่นยำมากขึ้น แต่ยังขาดพื้นที่ติดตั้งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อขอใช้พื้นที่จากกองทัพภาคที่ 2 ที่มาภาพประกอบ: intelligent-aerospace.com

เว็บไซต์ isaanbiz.com รายงานเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า ว่าที่ ร.ต.อัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอนแก่น เปิดเผยว่า ตามข้อมูลปี 2559 – 2560 สนามบินขอนแก่นมีผู้มาใช้บริการกว่า 1.4 ล้านคน / ปี โดยเฉลี่ยจะมีผู้โดยสารมากถึง 4,000 คน / วัน มีเที่ยวบินขอนแก่น – สุวรรณภูมิ จำนวน 8 เที่ยว / วัน เที่ยวบินขอนแก่น – ดอนเมือง 7 เที่ยว / วัน เที่ยวบินไปหาดใหญ่ 1 เที่ยว/วัน และเที่ยวบินไปเชียงใหม่ 2 เที่ยว / วัน รวมทั้งหมด 18 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้เป็นการเชื่อมการเดินทางระหว่างขอนแก่นกับเมืองหลวงและเมืองในภูมิภาค โดยมีสายการบินไทยสมายล์ สายการบินนกแอร์ สายการบินแอร์เอเชีย และสายการบินกานต์แอร์ ให้บริการอยู่ในขณะนี้ และ หากแอร์เอเชียเพิ่มเส้นทางขอนแก่น – ภูเก็ต และ ขอนแก่น – คุนหมิง สนามบินขอนแก่นจะมีเที่ยวบินต่อวันทั้งหมด 20 เที่ยว

นอกจากนี้สายการบินไลอ้อนแอร์ ก็ได้ให้ความสนใจจะมาเปิดเส้นทางบินที่สนามบินขอนแก่นโดยได้เปิดรับสมัครพนักงานประจำภาคพื้นดิน เพื่อมาประจำการที่สนามบินขอนแก่นแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้ามาดำเนินการเมื่อใด นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินเช่าเหมาลำมาลงที่สนามบินขอนแก่นเป็นระยะด้วย

“สิ่งเหล่านี้เป็นสถิติที่ชี้ชัดว่า สนามบินขอนแก่นมีอัตราผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสที่จะมีผู้โดยสารมากถึง 2 ล้านคนต่อปี เราจึงได้ดำเนินการปรับปรุงสนามบินโดยโครงการของงบประมาณปี 59 ที่กำลังดำเนินอยู่ เป็นการก่อสร้างแท็กซี่เวย์เส้น D และเสริมไหล่รันเวย์เพิ่มเติมภายหลังจากงบประมาณปี 58 ที่เป็นการปรับผิวรันเวย์ซึ่งตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2560” ว่าที่ ร.ต.อัธยากล่าวและว่า

สำหรับโครงการติดตั้งระบบปรับอากาศและสะพานเทียบเครื่องบินหรือ งวงช้าง แล้วเสร็จและเปิดให้ใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้มีโครงการติดตั้งลิฟท์ 2 ตัวบันไดเลื่อนจำนวน 4 ตัวระบบสายพานลำเรียงกระเป๋า 1 ชุด ภายหลังที่ใช้งานมานานนับ 10 ปี ซึ่งเน้นเรื่องอำนวยความสะดวกเป็นหลักพร้อมกับมีการติดตั้งระบบเตือนภัย กล้องวงจรปิด เพื่อช่วยในเรื่องรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม

ว่าที่ ร.ต.อัธยากล่าวอีกว่า สำหรับโครงการอนาคตปี 2561 – 2563 กรมท่าอากาศยาน เตรียมที่จะเสนอโครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารด้วยงบประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยอาคารเดิมที่ใช้งานปัจจุบันมีพื้นที่ใช้สอย 14,500 ตร.ม ส่วนอาคารใหม่มีพื้นที่ 25,000 ตร.ม หากสร้างเสร็จอาคารผู้โดยสนามบินขอนแก่นจะมีพื้นที่ทั้งหมดใช้สอย 40,000 ตร.ม และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 4 ล้านคน/ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงรูปแบบอาคารให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2560 และเมื่อรูปแบบอาคารเสร็จ เอกสารพร้อม ตนก็จะดำเนินการยืนของบประมาณถึงกรมท่าอากาศยานต่อไป

ว่าที่ ร.ต. อัธยา กล่าวว่าสำหรับเรื่องระบบนำร่อน เป็นระบบช่วยเดินอากาศ หรือ เรียกว่าระบบไอแอลเอส (ILS-Instrument Landing System) สนามบินในภาคอีสานเหลือเพียง2 แห่ง ที่ยังไม่มีระบบนี้ คือ สนามบินขอนแก่นและสนามบินเลย จริง ๆ แล้วเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สนามบินทุกแห่งควรจะมี แต่ในกรณีของสนามบินขอนแก่นโชคดีที่เราอยู่ในพื้นที่ราบ ทำให้ไม่มีเมฆหมอกมาก อุปสรรคไม่เยอะประกอบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเที่ยวบินเพียง 3 – 4 ไฟลท์ จึงไม่ค่อยมีปัญหา ถ้าบินมาแล้วลงไม่ได้ก็วนก่อนแล้วค่อยกลับมาลงใหม่

อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้สนามบินขอนแก่นมีการบินถึงวันละ 18 ไฟลท์ / วัน เฉลี่ย 45 นาที / ไฟลท์ ถ้าเกิดว่ามาแล้วลงไม่ได้ก็ต้องไปลงอุดรฯในอนาคตสนามบินขอนแก่น จะมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศ เมื่อมาถึงแล้วลงจอดไม่ได้ จะทำให้เสียหายหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเวลาและความเชื่อมั่นของผู้โดยสารซึ่งระบบนำร่อนหรือไอแอลเอสจะช่วยในตรงนี้

ว่าที่ร.ต.อัธยา กล่าวว่า การที่สนามบินขอนแก่นไม่มีระบบนำร่อนจึงทำให้ขาดศักยภาพพอสมควรเพราะว่าตัวนำร่อนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักบินนำเครื่องลงจอดได้ง่ายขึ้น เหมือนกับเราขับรถไปในที่มีความสว่างมีไฟครบถ้วน ถ้าเห็นว่าไม่ปลอดภัยเราก็ขับช้าลง แต่ถ้ามีแสงสว่างดีเราก็อาจจะขับเร็วขึ้น

“ถ้ามีอุปกรณ์พวกนี้ก็จะช่วยให้นักบินสามารถบินลงด้วยความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจำเป็นมาก ๆ ในวันที่อากาศปิดมีเมฆ มีหมอกบัง แต่ถ้าไม่มีนักบินจะต้องใช้สายตาในการนำเครื่องลงจอด ถ้าเป็นวันที่อากาศปลอดโปร่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้” ว่าที่ร.ต.อัธยา กล่าว

ว่าที่ ร.ต. อัธยา กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตั้งระบบนำร่อนว่า การติดตั้งระบบนำร่อนมีบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย รับผิดชอบการติดตั้งและบำรุงรักษาพร้อมดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่การที่จะติดตั้งได้เราต้องมีพื้นที่ให้สำหรับติดตั้ง ปัญหาคือสนามบินขอนแก่นมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้องไปขอพื้นที่ของค่ายสีหราชเดโชไชย หรือ ร.8 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อขอใช้พื้นที่จากกองทัพภาคที่ 2 และกองทัพบกไทย เป็นลำดับ

“ยุคท่านผู้ว่าฯกำธร (ถาวรสถิตย์) ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อเร่งรัดโครงการติดตั้งระบบนำร่อนให้แล้วเสร็จ แต่ภายหลังที่ท่านเกษียณราชการไปเมื่อ 31 ตุลาคม 2559 ผู้ว่าฯ คนใหม่ท่านพงศักดิ์ปรีชาวิทย์ ได้เข้ามาเดินหน้าสานต่อ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากเรื่องไปค้างที่หน่วยงานทหาร” ว่าที่ ร.ต.อัธยา กล่าว

ว่าที่ ร.ต.อัธยา กล่าวอีกว่า ตนไม่ทราบแน่ชัดว่า ค่ายสีหราชเดโชไชย หรือ ร.8 ได้ยื่นเอกสารต่อไปกองทัพภาคที่ 2 และกองทัพบกไทยถึงขั้นตอนไหน เดิมทีสนามบินขอนแก่นเคยมีระบบนำร่อนอยู่ก่อนขณะนั้นเรามีรันเวย์สั้นประมาณ 2 ก.ม. ต่อมาขยายรันเวย์เป็น 3 ก.ม. เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ก่อนนั้นขวางทางรันเวย์จึงต้องรื้อออก และขยับพื้นที่ออกไปติดรั้วของค่ายสีห ราชเดโชไชยทำให้สนามบินขอนแก่นไม่มีระบบนำร่อนตั้งแต่นั้นมา โดยพื้นที่ดินที่จะขอใช้จากค่ายสีห ราชเดโชไชยเพียง 220 x 60 เมตรเท่านั้น

การติดตั้งระบบไอแอลเอส จะต้องมีสองส่วน ส่วนที่ 1 คือเครื่องช่วยที่จะติดตั้งอยู่ในสนามกอล์ฟของค่ายสีหราชเดโชไชยเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่พื้นที่ของสนามบิน ถ้าขอใช้พื้นที่จากทหารตรงนี้ได้ก็จะสามารถติดตั้งเครื่องได้ โดยใช้งบประมาณจากวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ส่วนที่ 2 คือระบบที่จะติดตั้งในสนามบินด้านข้างของรันเวย์ แต่ตอนนี้สภาพของพื้นผิวยังติดตั้งไม่ได้ ต้องใช้งบประมาณในการถมดินปรับพื้นที่ซึ่งสูงพอสมควร

“ทั้ง 2 ส่วนจะต้องประกอบกัน เพื่อบอกองศาในการร่อนลงของเครื่องบิน กับบอกเซนเตอร์ไลน์หรือแนวเส้นกึ่งกลางของรันเวย์ ส่งสัญญาณให้เครื่องบินร่อนลงในมุมที่ถูกต้อง คือ 3 องศา เพื่อจะได้มาแตะรันเวย์พอดี”ว่าที่ร.ต.อัธยากล่าวและว่า

อุปกรณ์ตัวนี้จะเป็นสถานีส่งคลื่นความถี่วิทยุไปให้ตัวเครื่องบินที่อยู่บนอากาศ แม้ว่าเครื่องบินจะมองไม่เห็นรันเวย์ แต่ก็สามารถที่จะดูในหน้าปัดของเครื่องบินได้ ว่ามาตรงทิศถูกมุมได้ไหม พอนักบินจับสัญญาณได้เขาก็จะได้ดำเนินการในห้องนักบิน เช่น ลดระดับ ลดความเร็ว

 

 

รู้จัก… ประเภทระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ

  1. กลุ่มที่ให้บริการ “นำร่อง” การเดินอากาศ สำหรับช่วงขาออก/ขาเข้า (SID/STAR) ในเขตประชิดสนามบิน (Terminal Area) และสำหรับระหว่างเส้นทางบิน (En Route) ได้แก่ ระบบ NDB/DME และระบบ DVOR/DME
  • อุปกรณ์ NDB มีหน้าที่นำอากาศยานให้บินไปตามเส้นทางบินที่ต้องการ (ในที่นี้หมายถึงการบินในทิศ “เข้าหา” สถานี NDB นั่นเอง) โดยให้ข่าวสาร “ทิศทาง” (Direction) แก่อากาศยานในขณะเดินอากาศ
  • อุปกรณ์ VOR มีหน้าที่นำอากาศยานให้บินไปตามเส้นทางบินที่ต้องการ (ในที่นี้หมายถึงการบินในทิศ “เข้าหา /ออกจาก” สถานี VOR นั่นเอง) โดยให้ข่าว
  • สาร “มุมในแนวราบ” (Azimuth) แก่อากาศยานในขณะเดินอากาศ ซึ่งถือว่ามีความละเอียดแม่นยำมากกว่า NDB
  • อุปกรณ์ DME ช่วยให้อากาศยานทราบว่า ณ ขณะนี้ อยู่ห่างจากสถานีเป็นระยะเท่าใด หรือกล่าวคือ “ระยะห่าง” (Slant Range) ระหว่างอากาศยาน และสถานี DME นั่นเอง
  1. กลุ่มที่ให้บริการ “นำร่อน และลงจอด” การเดินอากาศ ลงสู่สนามบิน (Approach and Landing)ได้แก่ ระบบ ILS/DME ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องช่วยฯ ดังต่อไปนี้
  • อุปกรณ์ Localizer (LOC) มีหน้าที่นำอากาศยานให้สามารถร่อนลงจอดตามแนวกึ่งกลางทางวิ่ง (Extended Runway Centerline) ได้อย่างปลอดภัย
  • อุปกรณ์ Glide Path (GP) มีหน้าที่นำอากาศยานให้สามารถร่อนลงจอดด้วยมุมร่อน (Glide Angle) มาตรฐาน ประมาณ 3 องศา ทำมุมกับพื้นของทางวิ่งได้อย่างปลอดภัย
  • อุปกรณ์ Marker Beacon (MB) ช่วยให้อากาศยาน ณ ขณะที่เดินอากาศอยู่เหนือสถานี MB ทราบว่าอยู่ห่างจากหัวทางวิ่ง (Runway Threshold) เป็นระยะทางประมาณเท่าไร เนื่องจากแต่ละประเภทของสถานี MB จะถูกติดตั้งห่างจากหัวทางวิ่งเป็นระยะทางตามข้อกำหนด
  • อุปกรณ์ DME (หลักการคล้ายกับอุปกรณ์ DME ในกล่มที่ 1 เพียงแต่ออกอากาศด้วยกำลังส่งที่ต่ำกว่า)
  • อุปกรณ์ Compass Locator คือ NDB ที่มีกำลังส่งต่ำ มีหน้าที่นำอากาศยานเข้าสู่ระบบเครื่องช่วยฯ ILS แต่อุปกรณ์ประเภทนี้ ไม่ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ILS

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: