แสร้งทำภาษีที่ดินให้ดูปั่นป่วน จะได้ขึ้นภาษี VAT

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 2 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3147 ครั้ง


มาดูเล่ห์กลการป่วนเพื่อไม่ให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยป้ายสีมั่วๆ ต่าง ๆ นานากัน แนวคิดแบบนี้ต้องการเตะถ่วง และยกเลิกภาษีนี้ไปเลย ตัวอย่างมีดังนี้

  1. เก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ข้อนี้เป็นการบิดเบือนความจริง คนที่มีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ควรเก็บภาษีทั้งสิ้น จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีกันให้ได้หรืออย่างไร
  2. ใช้ค่าเฉลี่ยแทนราคาประเมิน อันที่จริง ควรที่จะใช้ราคาตลาดเพราะราคาประเมินของทางราชการต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แต่ไม่มีสัดส่วนที่แน่นอนว่าต่ำกว่าเท่าไหร่ ควรที่จะให้ประชาชนแจ้งราคาซื้อขายตามจริงโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมโอน เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงแจ้งต่ำกว่าความเป็นจริง ประเทศไทยก็จะมีฐานข้อมูลราคาซื้อขายที่แท้จริง
  3. ใช้อัตราขั้นต่ำเพียงราคาเดียว ไม่มีก้าวหน้า ข้อนี้ก็แสดงเจตนาไม่ต้องการเสียภาษีหรือเลี่ยงภาษีชัดเจน แต่สำหรับทรัพย์ทุกประเภทและทุกราคา ก็อาจผ่อนผันให้ใช้อัตราเดียวกันได้ ยกเว้นที่ดินเปล่าที่เก็บไว้โดยไม่พัฒนา ควรเก็บภาษีให้หนัก เพื่อให้อุปทานที่ดินมีมากขึ้น ราคาบ้านจะได้ไม่สูงเกินไป
  4. เอสเอ็มอีควรเก็บอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย ข้อนี้จะไม่มีปัญหาเลย หากเป็นการจัดเก็บตามราคาที่แท้จริง เช่น บ้านราคา 5 ล้าน กับตึกแถวประกอบธุรกิจราคา 5 ล้านบาท หรือที่นาราคา 5 ล้านบาท ก็ควรเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน
  5. ที่ดิน-บ้านพักอาศัยดั้งเดิมที่ความเจริญตัดผ่าน ไม่ควรเสียภาษีเต็มอัตรา กรณีนี้เป็นการเลี่ยงภาษีชัดเจน ถ้าคนเกษียณมีบำนาญเดือนละ 20,000 บาทแต่กลับมีบ้านหลังหนึ่งราคา 100 ล้านบาทในใจกลางเมืองเพราะได้รับมรดกมา อาจไม่สามารถเสียภาษีได้ ข้อนี้ก็ควรขายบ้านเสีย จะอ้างความจนอย่างไม่ละอาย เพียงเพื่อไม่เสียภาษี แล้วค่อยเก็บไว้ให้ลูกหลาน คงไม่ได้ แต่หากขายไปแล้วได้เงินมา ไปซื้อบ้านที่อื่น จ้างพยาบาลคอยปรนนิบัติ ก็ยังเหลือเงินอีกมหาศาล ไม่ควรเอาเปรียบสังคม
  6. บ้านหลังที่ 2 ราคาถูกของคนต่างจังหวัดที่มาทำงานใน กทม. ควรยกเว้น ข้อนี้เป็นการพยายามทำเรื่องหยุมหยิม ทุกวันนี้ใครก็ตามมีทรัพย์เป็นห้องชุดราคา 100,000 บาท ก็ต้องเสียค่าส่วนกลาง จะพยายามหาเหตุเลี่ยงให้ตีความยากเอาเปรียบสังคม นับเป็นสิ่งไม่ดี
  7. ที่ดินตาบอด/ที่ดินที่ผังเมือง/กฎหมายอื่นๆ ห้ามพัฒนาควรยกเว้น อันที่จริงใครมีที่ดินตาบอดก็ควรขายเสีย ถ้ากลัวเสียเปรียบ รัฐก็อาจตั้งหน่วยงานมารับซื้อในราคาที่เป็นธรรม จะหาเรื่องเลี่ยงภาษี นับว่าไม่สง่างาม แต่หากมีการรอนสิทธิ์ใด ๆ รัฐควรจ่ายค่าทดแทนแก่ประชาชน ไม่ใช่เล่น "เถิดเทิง" แบบ "จับแพะชนแกะ" อย่างนี้
  8. ที่ดินที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำป้องกันน้ำท่วม ควรยกเว้น
  9. คลับเฮาส์ บริการสาธารณะในโครงการจัดสรร กรณีนี้ถ้าเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ก็ไม่ควรเสียภาษี แต่ถ้ายังเป็นของนักพัฒนาที่ดิน เก็บไว้ใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจ ก็ควรเสียภาษี ไม่ควรหลีกเลี่ยง เอาเปรียบสังคม

นอกจากนี้ยังมีความพยายามบิดเบือนต่าง ๆ นานาได้แก่

  1. ประเด็นการกำหนดนิยามการใช้ที่ดินที่ขาดความชัดเจน ในกรณีของเกษตรกรรมและที่รกร้างว่างเปล่า โดยปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือเจ้าของที่ดินที่ไม่ต้องการเสียภาษีก็จะ "เสแสร้งแกล้งบ้า" ด้วยกันปลูกพืชผลต่างๆบนที่ดินราคาแพงเพื่อเลี่ยงภาษีดังนั้นทางออกที่สมควรก็คือการเก็บภาษีตามราคาที่ดินตามราคาตลาด ที่ดินที่มีราคาสูง ก็ต้องจ่ายภาษีมาก ไปหาใครอยากทำเกษตรกรรมก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่จะนำมาอ้างเพื่อเลี่ยงภาษีตามหน้าที่พลเมืองไม่ได้
  2. ประเด็นผลกระทบของภาษีต่อกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม SMEs ซึ่งไม่เป็นความจริง จากผลการศึกษาของทางราชการก็ชี้ให้เห็นว่าการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ การเก็บภาษีที่สูงเกินไปและไม่เป็นการบิดเบือนและเป็นช่องทางการทุจริตเช่นภาษีโรงเรือน การนำข้อปลีกย่อยเล็กน้อยเช่นสถาบันการศึกษาเอกชนนะครับเพื่อหาทางหลบเลี่ยงภาษีเป็นวิชามารที่น่าละอาย
  3. ประเด็นการประเมินภาษีทรัพย์สินที่มีการใช้ประโยชน์หลายประเภทรวมกัน ข้อนี้ก็เป็นอีกประเด็น "ฉ้อฉล" พี่พยายามจะหลบเลี่ยงการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยการพยายามแปลงการใช้ที่ดินเป็นอีกอันจะทำให้เสียภาษีน้อยลง แนวทางการแก้ไขก็คือการเก็บภาษีตามราคาตลาดเช่นเดียวกับข้อหนึ่งขั้นต้น
  4. ประเด็นการยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีเลี่ยงภาษีอย่างน่าละอายใจเช่นที่ดินว่างเปล่าแปลงหนึ่งมีมูลค่าตลาด 100 ล้านบาท ถ้าต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจเสียสูงถึง 2 ล้านบาทต่อปี แต่การเสแสร้งทำดีด้วยกันยกให้ใช้ชั่วคราวเพื่อประโยชน์สาธารณะก็กลับไม่ต้องเสียภาษีและยังได้ "โล่ เกียรติยศ" ที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเสียอีก นี่คือความดีที่แสนสามานย์โดยแท้
  5. ประเด็นพวกคนรวยๆ ที่ไม่ต้องการเสียภาษี ยังพยายามสร้างข่าวลือโคมลอยว่าจะเก็บภาษีเครื่องจักรด้วย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่รวมเครื่องจักรดังนั้นกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีเครื่องจักรจึงได้รับการยกเว้นภาษีที่เคยเก็บในกรณีภาษีโรงเรือนที่ผ่านมาด้วย การกล่าวอ้างอันเป็นเท็จนี้ก็เพียงการประสานเสียงเพื่อหาพวกที่จะไม่ยอมจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง
  6. ประเด็นการประโคมข่าวว่าจะมีโทษจำคุกถ้าเลี่ยงภาษี อย่างที่ทางราชการได้ชี้แจงบทกำหนดโทษต่าง ๆ ก็ไม่แตกต่างจากบทลงโทษในกรณีการหลบเลี่ยงภาษีในภาษีโรงเรือนที่ใช้มาชั่วนาตาปี โทษจำคุกก็เป็นเพียงแค่การโฆษณาของเราเจ้าของที่ดินที่ไม่ยอมเสียภาษี เป็นพวกทำลายชาติโดยแท้

ทางราชการควรยึดหลักการเก็บภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างแบบนานาอารยประเทศไม่ควรมีข้อยกเว้นยุ่งยิ้มหรือเอาใจชนชั้นสูงเจ้าที่ดินรายใหญ่ๆ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแม้แต่น้อยเช่นเดียวกับการเก็บภาษีล้อเลื่อนหรือจักรยานยนต์เก่าๆ คันหนึ่งราคา 30,000 บาทก็ต้องเสียภาษี 400 - 500 บาทต่อปี (มากกว่า 1% อยู่แล้ว) คนที่เดือดร้อนจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นรายใหญ่ถึงซับมูลค่าสูงแต่ไม่ต้องการเสียภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหากมีการเก็บภาษีนี้มาเมื่อ 50 ปีก่อน ณ อัตรา 1% ก็เท่ากับว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เจ้าที่ดินรายใหญ่ถือครองอยู่นี้ เป็นภาษีที่ควรเสียแต่ไม่ได้เสียนั่นเอง (http://bit.ly/2rrllrH)อย่าปล่อยให้เจ้าที่ดินและ

นายทุนใหญ่ล้มหรือบิดเบือนระบบการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์เฉพาะตน และพอล้มได้สำเร็จ รัฐบาลก็หาทางขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 8%-9% การขึ้นภาษี VAT เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนทั่วไปหมด ฤาษีออกจากป่ามาซื้อผงซักฟอกก็ต้องเสียภาษี VAT แต่การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเก็บกับคนมีทรัพย์ โดยเฉพาะที่มีมากที่ควรเจือจานให้สังคม ไม่ใช่เอาเปรียบสังคม

สังเกตง่าย ๆ รัฐไม่ค่อยใส่ใจการกระตุ้นให้ประชาชนรู้เรื่องภาษีนี้เหมือนไม่อยากเก็บ ทีตอนเปลี่ยนเป็น VAT โหมโฆษณาให้ประชาชนเข้าใจกันยกใหญ่ แต่นี่กลับพูดให้ประชาชนสับสนจะได้ไม่ต้องเก็บซะงั้น วิชามารขั้นมหาเทพจริงๆ

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Agency for Real Estate Affairs (AREA)
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Walkerssk (CC0 Public Domain)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: