รัฐไทยมองข้าม ‘โรคทางจิตเวช' ส่งผลกระทบสูงทางเศรษฐศาสตร์

ทีมข่าว TCIJ : 1 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 8932 ครั้ง

งานวิจัยชี้รัฐไทยเทงบประมาณด้านสุขภาพเน้นโรคมะเร็ง หลอดเลือดสมอง หัวใจ อุบัติเหตุ ฯลฯ แต่ ‘โรคทางจิตเวช’ ได้งบประมาณน้อย สถิติระบุผู้ป่วยซึมเศร้า 1.2 ล้านคน ได้รักษา 1.5 แสนคน ผู้มีปัญหาจากสุรา 5.3 ล้านคน บำบัดไม่ถึง 1.2 แสนคน พบยาจิตเวชมักสต็อคไว้แต่โรงพยาบาลใหญ่ คนไข้โรงพยาบาลชุมชนเข้าถึงยายาก ปัญหาทางจิตเวช-สุรา-ยาเสพติดเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางกายอื่น ๆ และยังพบผู้ป่วยจิตเวชไทยมักมีรายได้น้อยกว่าคนธรรมดา 76,000 บาท ในรอบ 1 ปี ที่มาภาพประกอบ: Skitterphoto (CC0)

งานวิจัยชี้ 'จิตเวช' ยังเข้าถึงบริการต่ำ สอดคล้องข้อมูล WHO

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ว่าที่ผ่านมา การจัดลำดับความสำคัญของโรคและการเจ็บป่วย รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณโดยเน้นหนักไปกับโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย อาทิ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง หัวใจ อุบัติเหตุ ฯลฯ ทำให้โรคหรือพฤติกรรมที่ส่งผลต่อภาวะบกพร่องทางสุขภาพ โดยเฉพาะความพิการที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวช รวมทั้งปัญหาการติดสุราและสารเสพติด มักได้รับงบประมาณในการพัฒนาระบบบริการและการพัฒนาบุคลากรน้อย ทั้งนี้ข้อมูลกรมสุขภาพจิตปี 2551 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.2 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน มีผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราราว 5.3 ล้านคน แต่เข้ารับการบำบัดรักษาไม่ถึง 1.2 แสนคน สะท้อนว่าการเข้าถึงบริการจิตเวชยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้ สวรส. และสำนัก งานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาระยะยาวในชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาแนวทางในการออกแบบระบบบริการ และลดผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมา

รศ.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบาดวิทยาประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของงานวิจัยดังกล่าวเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ก็ได้ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 3,877 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 11 ชุมชน ในเขตเทศบาลคูคตและลำสามแก้ว ปทุมธานี ระหว่าง มิ.ย.-ก.ย. 2558 โดยสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามด้วยเครื่องมือ “WHO-CIDI” เพื่อประเมินความผิดปกติทางจิตและประวัติการใช้บริการสุขภาพจิต และการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีเพียง 11.8% ของผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วยสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต เคยปรึกษาหรือรับบริการปัญหาสุขภาพจิตในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และเพียง 2.9% ของผู้ที่มีประวัติเจ็บป่วยทางจิตในรอบปีผ่านมาเข้ารับคำ ปรึกษาฯ ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ 1.8% ของผู้มีประวัติปัญหาการติดสุราและใช้สารเสพติด เคยเข้ารับคำปรึกษาและแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และไม่เคยเข้ารับปรึกษาครั้งสุดท้ายภายใน 1 ปีที่ผ่านมาเลย หรือคิดเป็น 0%

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงปัญหาการติดสุราและสารเสพติดในช่วงชีวิตและในรอบ 1 ปี  ที่ผ่านมา เข้ารับบริการในสัดส่วนที่น้อยมาก อาจมาจากการไม่เคยเข้ารับการรักษามาก่อนเลยหรือหยุดการรักษาไปนาน สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง จะมีประชากรเพียง 1 ใน 10 ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ที่รับบริการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยอุปสรรคในการเข้ารับบริการอาจมาจากตัวผู้ป่วยและญาติ เช่น ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย การเป็นภาระต่อญาติในการนำมารักษา การขาดแคลนสถานพยาบาลและบุคลากรที่ให้บริการ ปัญหาของระบบบริการโดยรวม ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในสัดส่วนที่สูงกว่ามากให้กับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อเทียบกับโรคที่ทำให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพจากความผิดปกติทางจิต เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพจิต ก่อต้นทุน-ความเสียหายมากเพียงใด ?

จาก รายงานผลการวิจัยปีที่ 1 เรื่อง ช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน ที่ทำการศึกษาโดย รศ.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ และคณะ ได้ระบุว่าในประเทศไทยการศึกษาว่าปัญหาสุขภาพจิตทำให้เกิดต้นทุนหรือความเสียหายมากเพียงใดยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาภาระจากการดื่มสุราและบุหรี่ ซึ่งจากการศึกษาในประเทศสหราชอาณาจักรพบว่า ต้นทุนของปัญหาสุขภาพจิตมีมูลค่ามากกว่า 105.2 พันล้านปอนด์ต่อปี  ในประเทศสหรัฐอเมริกาต้นทุนของโรคจิตเวชคิดเป็น 2.5% ของ GNP  โดยมีภาระทางเศรษฐศาสตร์ของปัญหาจิตเวชถูกประมาณการไว้ที่ 317.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  และโรคทางจิตเวชที่รุนแรงสัมพันธ์กับการสูญเสียรายได้ของผู้ป่วยราว 193.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และมีผลต่อการหยุดงานและการออกจากการเรียนกลางคัน

โรคทางจิตเวชยังมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกหลายชนิด มีการศึกษาพบว่าโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง  ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าประชากรทั่วไป 2 ถึง 5 เท่า ในทางกลับกัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 65% โรคทางกายอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าประกอบ ด้วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสรรคในการเข้าถึงบริการ และผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง และก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐศาสตร์ตามมา

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตและผลกระทบ

มีปัจจัยหลายด้านที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต การศึกษานี้ไม่พบว่าดัชนีวัดสิ่งอำนวยความสะดวกในครัวเรือน (household asset index) ที่อาจเป็นตัวแทนของระดับเศรษฐานะในประเทศกำลังพัฒนานั้นสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาการดื่มสุราหรือสารเสพติด การศึกษาในต่างประเทศรายงานว่าระดับเศรษฐานะที่ต่ำมีความ สัมพันธ์กับโรคจิตเวชหลายชนิด เช่น จิตเภท ซึมเศร้า ปัญหาการใช้สารเสพติดและความผิดปกติทางบุคลิกภาพ  และพบว่าโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับระดับเศรษฐานะที่ต่ำในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนทั้งหมด 60 การศึกษา จากประเทศที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่พบว่าบุคคลที่มีระดับเศรษฐานะที่ต่ำมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูงกว่าผู้ที่มีเศรษฐานะสูงกว่า ผลการสำรวจระดับชาติของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า US National Comorbidity Study ก็พบเช่นเดียวกันว่า รายได้และทรัพย์สินมีความสัมพันธ์เป็นสัดส่วนผกผันกับความผิดปกติทางอารมณ์โรควิตกกังวล ปัญหาการดื่มสุราและสารเสพติด ทั้งนี้เมื่อพิจารณาประกอบด้วยการศึกษาแบบทบทวนอย่างเป็นระบบจากประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางพบว่าการศึกษาจำนวน 20 ชิ้นจากจำนวนทั้งหมด 30 ชิ้นที่ตีพิมพ์ระหว่างปี 1990 และปี 2008 พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาที่ต่ำกับความชุกที่มากขึ้นของโรคจิตเวชอีกด้วย

นอกจากนี้ ผลการสำรวจสุขภาพจิตระดับชาติของสหรัฐอเมริกา พบว่าโรคจิตเวชที่มีอาการรุนแรงมีความสัมพันธ์กับการไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีอาการไม่รุนแรง โดยผู้ที่มีโรคจิตเวชรุนแรงมีรายได้ลดลงในรอบ 1 ปีโดยเฉลี่ย $16,306 (ราว 490,000 บาท) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ป่วยหรือมีป่วยแต่มีอาการไม่รุนแรงโดยควบคุมตัวแปรอื่น ๆ และมีต้นทุนต่อสังคมคิดเป็นจำนวน 193.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

ทัศนะบุคลากรทางการแพทย์

ใน รายงานผลการวิจัยปีที่ 1 เรื่อง ช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 8 คน โดยแบ่งเป็นจิตแพทย์ทั่วไป 4 คน จิตแพทย์เด็ก 3 คน พยาบาลที่เกี่ยวข้องกับงานจิตเวช 1 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนโยบายและบริการจิตเวชในอดีตหรือปัจจุบันจำนวน 4 คน เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและแนวทางในการลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการ ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกสามารถสรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

อุปสรรคด้านตัวผู้ป่วยและญาติ: ผลสรุปพบว่า ความรู้ ทัศนคติและมุมมองต่อปัญหาจิตเวชของผู้ป่วยและญาติ โรคจิตเวชบางโรคไม่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ไม่คิดว่าตนเองป่วย (lack of insight) การตีตรา (stigma) อันเกิดจากการป่วย การป่วยเป็นภาระต่อญาติ (burden) การขาดความเข้าใจในตัวโรคและการรักษา ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องการหรือไม่สะดวกใจในการมารับการรักษา ปัญหาอาจมีทั้งตอนตัดสินใจเริ่มต้นรักษาและการมาติดตามการรักษาต่อเนื่อง ปัญหาจะมีมากขึ้นในโรคที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องและยาวนาน

อุปสรรคด้านระบบบริการ: พบว่ายาจิตเวชมัก stock อยู่แตในโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงยาจิตเวชหลายชนิดใน โรงพยาบาลชุมชน ที่ไม่ stock ยาจิตเวช โดยเฉพาะยาหลายตัวที่ค่อนข้างแพง ยานอกบัญชี และยาควบคุม (เช่น methylphenidate) นอกจากนี้ยาจิตเวชหลายตัวมีราคาแพง

อุปสรรคด้านนโยบายสาธารณสุข: นโยบายและการจัดลำดับความสำคัญของโรค หรือปัญหาทางสาธารณสุขในประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวกำหนดงบประมาณในการลงทุนด้านระบบบริการในปัจจุบันนั้น ให้ความสำคัญกับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าโรคที่ทำให้เกิดความพิการ โดยให้งบประมาณลงทุนที่เน้นหนักไปกับโรคที่เป็นแล้วเสียชีวิต เช่น มะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน แต่ไม่ให้น้ำหนักมากนักกับความพิการจากการป่วย โรคจิตเวชได้รับความสำคัญในลำดับท้ายๆ โดยได้รับงบประมาณในการพัฒนาระบบบริการและพัฒนาบุคลากรน้อยมาก (มีข้อสังเกตว่า มีการมองข้ามการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งจำนวนไม่น้อยมาจากพฤติกรรมการดื่มสุราที่เป็นอันตราย) และละเลยโรคที่ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพในวัยเด็ก หรือวัยหนุ่มสาวที่อาจก่อให้เกิดภาระต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว (ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากโรคจิตเวช) ซึ่งสวนทางกับทิศทางสากลที่พิจารณาจากภาระโรคโดยดูจาก DALYs ซึ่งพิจารณาทั้งการตายและความพิการ และพบว่าโรคจิตเวชมีส่วนทำให้เกิดเป็นภาระโรคในลำดับต้น ๆ ทั้งในประเทศที่รายได้สูงและรายได้ปานกลาง

งานอื่น ๆ นอกเหนือจากงานบริการ: งานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารลงมา โครงการต่าง ๆ เช่น การตรวจเยี่ยม ประชุม สัมมนา งานเอกสาร ทำให้ยิ่งไม่มีเวลาไปพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรลาออก

การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์: การขาดแคลนบุคลากรด้านจิตเวช จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะบุคลากรด้านจิตเวชเด็ก และบุคลากรยังกระจุกตัวอยู่แต่ในโรงพยาบาลใหญ่ และยังมีอัตราการลาออกสูง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกรมสุขภาพจิต สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากงานที่หนัก มีผู้ป่วยที่ต้องตรวจจำนวนมาก

ผู้ป่วยจิตเวชไทยรายได้น้อยกว่าคนธรรมดา 76,000 บาท/ปี

รศ.นพ.ตะวันชัย ระบุว่าที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย ยังมีน้อย หลักฐานการศึกษาที่มีอยู่จากประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลางหรือต่ำ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาจากโรคทางจิตเวช ปัญหาสุรา ยาเสพติด คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางกายอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนวัยทำงาน วัยเรียน ที่มีอาการของโรคเรื้อรังต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง การไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่น ๆ อาจส่งผลให้ต้องออกจากการเรียนกลางคันหรือขาดรายได้จากการหยุดงานหรือตกงาน เป็นภาระกับครอบครัวและสังคมในระยะยาว

ผลการศึกษานี้ประมาณการว่าผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีรายได้โดยเฉลี่ยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยป่วยหรือเคยป่วยแต่ปัจจุบันไม่มีอาการแล้วประมาณ 76,000 บาท เนื่องจากการตกงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติป่วยทางจิตแต่ในขณะที่ไม่มีอาการนั้นมีรายได้ในรอบ 1 ปี ไม่แตกต่างจากผู้ไม่เคยป่วย แสดงให้เห็นว่าผู้ที่หายป่วยแล้วนั้น สามารถกลับไปทำงานมีรายได้ตามปกติไม่ต่างจากผู้ที่ไม่เคยป่วย ดังนั้นการลงทุนในการให้บริการรักษาที่มีประสิทธิผลดีและผู้ป่วยเข้าถึงได้ จึงน่าจะช่วยลดภาระต่อสังคมในระยะยาว

เสนอลงทุนงบประมาณ-พัฒนาระบบบริการเชิงรุก

รศ.นพ.ตะวันชัย มีข้อเสนอเบื้องต้นต่อกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำหนดนโยบายว่า ควรให้ความสำคัญในการลงทุนด้านงบประมาณและพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตในเชิงรุก โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วยแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เรียกว่า Collaborative Care ส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ในการค้นหาและคัดกรองการเจ็บป่วยทางจิตเวชในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งต่อสถานพยาบาลจิตเวชใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.ตะวันชัย ยังระบุว่าโครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนที่ริเริ่มโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ส่งเสริมให้มีการเยี่ยมบ้านติดตามผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียน แต่อาจยังมีข้อจำกัดที่ต้องการพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น โครงการยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการรักษา หรือผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาจากพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น หากเป็นไปได้ควรศึกษาและพัฒนาระบบการคิดต้นทุนและการเบิกจ่ายบุคลากรที่ร่วมดูแลผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องอยู่สังกัดเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องระบบการส่งต่อ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่วนมาตรการในระยะยาว เช่น เพิ่มการผลิตบุคลากรทางด้านจิตเวชในพื้นที่ขาดแคลนยังคงต้องดำเนินการต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม
จับตา: เพราะ ‘ยากจน’ จึง ‘ป่วยใจ’?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: