ย้อนมองการเคลื่อนไหวภาคประชาชนพม่า ในวันประชุมสัญญาปางโหลงศตวรรษที่ 21

สมคิด แสงจันทร์ 31 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2641 ครั้ง


ไม่เพียงเท่านั้นล่าสุด นาย บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็เปิดเผยว่าจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และเมื่อพิจารณาจากการเดินทางไปเยือนประเทศจีนเพื่อถกปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าของนางอองซาน ซูจี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดประชุมปางโหลงครั้งที่สองนี้  ว่าไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับพม่าเท่านั้น แต่มันคือปัญหาระดับภูมิภาค การประชุมในวันนี้ถือเป็นครั้งแรก และจะมีการประชุมเช่นนี้อีกทุก ๆ 6 เดือน

บทความนี้ต้องการวิเคราะห์ปฏิกิริยาและท่าทีของทหารพม่าซึ่งยังเป็นกลุ่มที่มีอำนาจ (ตัวจริง ?) ต่อกิจกรรมของภาคประชาชนช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา และทิศทางการทำงานของภาคประชาชน(กลุ่มชาติพันธุ์)ในพม่า จะสามารถเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ถึงวิถีทางการเมืองของพม่าในอนาคตได้หรือไม่ ?

ก่อนอื่นผมคงต้องขอย้อนกลับไปพูดถึง สัญญาปางโหลงฉบับแรกสักเล็กน้อย

ความเหมือนในความต่าง

จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ของนางอองซาน ซูจีเกิดขึ้นในสถานการณ์และบริบทที่คล้ายคลึงกับการทำสัญญาปางโหลงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1947 อย่างน้อยใน 3 ประการคือ ประการแรก สัญญาปางโหลงฉบับแรกเกิดขึ้นหลังจากที่พม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลอังกฤษนาน 62 ปี (ค.ศ. 1886-1948) ในขณะที่สัญญาปางโหลงฉบับนี้กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการมานานกว่า 54 ปี (ค.ศ. 1962-2016 หากนับช่วงที่อูนุ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยก็จะเป็น 68 ปี) ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นานพอจะบ่มเพาะอะไรหลาย ๆ อย่างในสังคมพม่า เหมือน ๆ กัน ประการที่สอง ตัวแทนจากรัฐบาลพม่าที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในคราวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษคือ นายพลอองซาน ซึ่งเป็นพ่อของนางอองซาน ซูจี ผู้กำลังจะจัดการประชุมปางโหลงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตามรอบพ่อของเธอ ประการสุดท้าย ทั้งรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลทหารพม่าต่างก็ได้สร้างสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งภายใต้การปกครองของตนเอง ก็คือ "สำนึกทางชาติพันธุ์ที่แตกแยก” ในพม่า ซึ่งกลายมาเป็นอุปสัคสำคัญในการพัฒนาประเทศนี้

เฉพาะประการสุดท้ายนั้นผมมองว่า มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง รัฐบาลอังกฤษใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง ลดทอนอำนาจรัฐชาติพันธุ์พม่าซึ่งเคยมีอำนาจเหนือรัฐชาติพันธุ์อื่น ๆ ให้กลายเป็นเขตปกครองที่มีสถานะเทียบเท่ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และยกระดับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในพม่าให้มีสิทธิเท่าเทียมกลุ่มชาติพันธุ์พม่า นับเป็นช่วงเวลากว่า 70 ปีภายใต้ธงของอังกฤษที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รู้สึกเป็นอิสระจากพม่า มีเวลาในการประกอบสร้างรัฐชาติของตนเองขึ้นมา ในขณะเดียวกันอังกฤษเองก็ได้บ่มเพาะขบวนการชาตินิยมของพม่าจนสุกงอม และขบวนการชาตินิยมเหล่านี้ก็สืบทอดแนวคิดและอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน  

แต่รัฐบาลทหารพม่ากลับใช้วิธีการปกครองที่ต่างจากอังกฤษคือการรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดมาไว้ที่พม่า พร้อม ๆ กับการกีดกัน และกลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เริ่มต้นจากนโยบาย “ทำให้เป็นพม่า” (Burmalization) ของรัฐบาล อู นุ  และต่อยอดมาเป็น นโยบาย “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม” (The Burmese Way to Socialism) ของรัฐบาลเผด็จการของ เนวิน ทำให้สำนึกทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อังกฤษบ่มเพาะมากว่า 70 ปี ได้รับการสั่นคลอน ดังนั้นตลอดระยะเวลาการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าเอง ก็ได้บ่มเพาะชาตินิยมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จนสุกงอม และแปรสภาพมาเป็นกลุ่มกองกำลังกู้ชาติมากกมายหลายสิบกลุ่มทั่วประเทศพม่า แม้รัฐบาลทหารพม่าจะพยายามกวาดล้างด้วยกลวิธีต่าง ๆ ก็ไม่อาจทำให้กลุ่มต่อต้านลดหายไปได้เลย ดังนั้น ผลลัพธ์ของ “สำนึกทางชาติพันธุ์” ภายใต้การปกครองของอังกฤษและรัฐบาลทหารพม่า จึงแตกต่างกันมาก ปัญหาทางด้านชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่มรดกตกทอดจากอาณานิคมอังกฤษเท่านั้น แต่มันคือการถอยหลังไปสู่ยุคก่อนอาณานิคมอังกฤษ คือยุคที่พม่าคิดว่า พวกเขาคือผู้ปกครอง และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ คือผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกเขา

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของชาวบ้านเป็นเรื่องใหญ่กว่าการละเมิดสนธิสัญญาปางโหลง

ดังนั้นเมื่อเราตั้งคำถามว่าทำไม “สัญญาปางโหลง” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่าตลอด 60 ปีที่ผ่านมา เพราะเดิมทีการทำสัญญาปางโหลงเป็นการทำสัญญาในกลุ่มของชนชั้นนำทั้งพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเท่านั้น แทบไม่มีผลต่อประชาชนในวงกว้างเลย ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ห่างไกลทั้งในชนบทและพื้นที่สูง ยังไม่ให้ความสำคัญกับสัญญาปางโหลงมากนัก บางพื้นที่ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีการทำสัญญาปางโหลงเกิดขึ้น เงื่อนไขสำคัญที่ผมมองว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ “สัญญาปางโหลง” ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างได้ผล ก็คือรัฐบาลทหารพม่าบ่มเพาะให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยภายใต้การปกครองของ “คนพม่า”

ดังนั้นก้าวแรกของการจะสร้างสันติภาพในพม่า และเป็นก้าวสำคัญที่นางอองซาน ซูจี รู้ดี นั่นก็คือ การเรียกความเชื่อมั่นจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รัฐบาลของเธอไม่มีอำนาจทางการทหารที่ต่อรองกับกลุ่มอำนาจทหารเดิม ประชาชน จึงเป็นที่พึ่งของนางอองซาน ซูจี แล้วเธอได้ทำให้เห็นสิ่งนั้นบ้างหรือยัง ?

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน 2558 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในพม่า เป็นช่วงเวลาที่ชาวโลกกำลังจับตามองปัญหาเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงญา และปัญหาที่ชาวมุสลิมจากรัฐยะไข่หลายแสนคน ถูกตัดสิทธิการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับท่าทีที่นิ่งเฉยต่อสถานการณ์เหล่านี้ ซ้ำยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ควรพูดถึงปัญหานี้อย่างเกินจริง1” ต่อมาทางพรรคเองก็ตัดสินใจไม่ส่งชื่อผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิมลงเลือกตั้ง เนื่องจากกระแสการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรง (Ma Ba Tha)2 และทุก ๆ ครั้งที่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในพม่า นางอองซาน ซุจี ก็จะหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ กรณีที่นางอองซาน ซูจี ออกมาเรียกร้องให้เรียกประชาชนในรัฐยะไข่อย่างเป็นกลาง โดยไม่ให้เรียกชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ว่า “ชาวโรฮิงญา” แต่ให้เรียกว่า “ชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่” และเรียกชาวพุทธในรัฐยะไข่ว่า “ชุมชนชาวพุทธในรัฐยะไข่” เพื่อหวังจะลดกระแสจากภายนอก ในขณะที่ก็หวังว่าจะไม่กระทบต่อความรู้สึกของชาวพม่ามากนัก3 แต่กลับกลายเป็นว่าพระและชาวบ้านกว่าพันคนรวมตัวกันประท้วงและไม่พอใจกับการเรียกชื่อนี้ พร้อมยืนยันว่า “เบงกาลีควรถูกเรียกว่าเบงกาลี” 4 และเสนอให้เรียกชาวพุทธในรัฐยะไข่ว่า “ชนชาติยะไข่” เพราะมองว่าชาวพุทธเท่านั้นถือเป็นเชื้อสายชนชาติยะไข่ที่แท้จริง ส่วนชาวมุสลิมนั้นเป็นเพียงชาวเบงกาลีอพยพ

การปะทะกับกลุ่มชาวพุทธพม่าหัวรุนแรงทำให้นางอองซาน ซูจี วางท่าทีลำบาก แม้แต่การมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมายังไม่อนุญาตให้เครือข่ายชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยแถลงข่าวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้5

ท่าทีเหล่านี้ของเธอทำให้ตัวเธอเองเสียความเชื่อมั่นจากต่างประเทศไม่น้อย และรางวัลโนเบลด้านสันติภาพ ก็ค้ำคออยู่ แต่ท่าทีเช่นนี้ของนางอองซาน ซูจี อยู่ในฐานะที่เข้าใจได้หรือไม่ คำตอบคือยังอยู่ในฐานะที่เข้าใจได้ เพราะเธอเองก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่คาดการณ์ยากถึง ๒ ประการ ประการแรก คือเธอต้องเล่นเกมภายใต้กติกาที่รัฐบาลทหารเขียนไว้ ประการที่สอง คือ การที่เธอต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มชาวพม่าชาตินิยมสุดโต่ง หนึ่งในนั้นคือชาวพุทธชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งเป็นผลิตผลของรัฐบาลทหาร ดูเหมือนตอนนี้การเล่นเกมภายใต้กฏิกาของรัฐบาลทหารยังง่ายกว่าการต้องเผชิญหน้ากับคนร่วมชาติพันธุ์เดียวกันเสียอีก สิ่งที่รับมือยากจริง ๆ ก็คือ ท่าทีของชาวพม่าด้วยกันเองนี่แหละ ดังนั้นกรณีของความขัดแย้งทางศาสนานั้นก็ถือเป็นบทเรียนของนางอองซาน ซูจีแล้วว่า การขัดแย้งกับความรู้สึกของชาวพม่าด้วยกันเอง มีผลเช่นไร เธอจึงต้องวางท่าทีต่อความรู้สึกของคนพม่าด้วยกันอย่างระวังเป็นพิเศษ  ดังนั้นท่าทีของเธอที่ผ่านมาจึงอยู่ในฐานะที่เข้าใจได้ (แต่จะยอมรับได้หรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง)

สำหรับเวทีการประชุมปางโหลงครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่เธอจะกู้หน้ากลับคืนมาอีกครั้งในสายตาชาวโลก โดยการประกาศจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ โดยมี “โคฟี อันนัน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติทำหน้าที่เป็นประธาน6 ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากลุ่มชาวพุทธในพม่าจะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูต่อไป  

หันมาดูความเคลื่อนไหวในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กันบ้าง

กรณีแรกเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กับการออกมาประกาศห้ามฉายหนัง Twilight Over Burma หรือ สิ้นแสงฉาน ซึ่งเป็นหนังสะท้อนประวัติศาสตร์ความรักของเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าไทใหญ่เมืองสีป้อ กับ อิงเง เซอร์เจน หญิงสาวชาวออสเตรีย ก่อนที่เจ้าฟ้าจ่าแสงจะถูกทหารพม่ายุคเนวิน อุ้มหายสาบสูญไป (ภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้าฉายรอบพิเศษในไทย และได้รับความสนใจจากชาวไทใหญ่เป็นจำนวนมาก) จนผู้จัดงานชาวพม่าออกโรงตำหนิรัฐบาลพม่าว่า “เรามีสิทธิมนุษยชนเพียงลมปาก”7

กรณีที่สองเกิดขึ้นห่างจากรณีแรกเพียงไม่กี่วัน กับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารพม่าสั่งให้ลบตัวอักษรภาษาไทใหญ่ออกจาก ป้ายต้อนรับทางเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก ทั้งที่เพิ่งสร้างได้เพียงสามวันเท่านั้น จนมีมือดีแอบไปเผาป้ายทิ้ง และมีการแชร์ภาพลงในเฟสบุ๊ค เป็นข่าวใหญ่ในกลุ่มคนไทใหญ่ รวมทั้งสำนักข่าวของไทยหลายแห่งก็นำเสนอ จากนั้นไม่นานก็มีการแชร์การกระทำลักษณะนี้ของเจ้าหน้าที่เมืองต่าง ๆ ของรัฐฉาน การกระทำนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวไทใหญ่ที่มองว่า พวกเขามีสิทธิที่จะเขียนภาษาไทใหญ่ในรัฐของตัวเอง8 ก่อนที่ต่อมาจะอนุญาตให้เขียนชื่อป้ายเข้าเมืองเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเขียน 3 ภาษาคือ ภาษาชาติพันธุ์ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ9

กรณีที่ 3 คือ การห้ามองค์กรผู้หญิงปะหล่องจัดงานแถลงการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทหารพม่าทางภาคเหนือ โดยทางการพม่ากดดันไปทางโรงแรมเพื่อไม่ให้จัดงาน10

กรณีที่ 4 เป็นกรณีสำคัญคือ การที่กองทัพออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่าได้สังหารชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ทางเหนือของรัฐฉาน หลังจากที่ประชาวชนทางรัฐฉานภาคเหนือกว่า 2 พันคน ออกมาเดินประท้วงที่เมืองล่าเสี้ยว เนื่องจากประชาชนทางเหนือของรัฐฉานถูกสังหาร 7 ราย11  

กรณีที่ 5 ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือกระแสข่าวว่าทางการพม่าไม่อนุญาตให้จัดการประชุม “Ethnic Youth Conference” ซึ่งเป็นการจัดประชุมของกลุ่มเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 600 คนในพม่าเป็นครั้งแรก เพื่อหารือกันถึงประเด็นเรื่อง การสร้างสันติภาพและสหพันธรัฐ แต่สุดท้ายการประชุมก็ได้รับอนุญาตให้จัดได้ตามปกติ12  

กรณีที่ 6 คือการออกมาเดินประท้วงของพระสงฆ์และชาวบ้านเกือบ 1,600 คนทางใต้ของรัฐฉานเพื่อประท้วงต่อต้านบริษัทที่มาลงทุนทำถ่านหินในพื้นที่13

กรณีที่ 7 เกิดขึ้นในช่วงที่นางอองซาน ซูจี กำลังจะเดินทางไปถกปัญหาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์กับประเทศจีน เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา14 คือ การออกมาประท้วงของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการสร้างเขื่อนของจีนเหนือแม่น้ำสาละวิน15    

จริง ๆ แล้วปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาในประเทศพม่า แต่ถูกกลบไว้ด้วยอำนาจปลายกระบอกปืนของอดีตรัฐบาลทหารพม่า ภาคประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมเรียกร้องในลักษณะนี้ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้สำหรับผมมองว่า นี่คือพัฒนาการที่สำคัญในด้านการเมืองของพม่า คือการที่ประชาชนมีสิทธิในการเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเอง

สิ่งหนึ่งที่หายไปก็คือ “ความรุนแรง” ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในสมัยรัฐบาลทหารพม่า สิ่งที่ตามมาคือ การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับทหาร บางครั้งแกนนำถูกอุ้มหาย หรือชาวบ้านถูกจับติดคุก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเลยในรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ภาคประชาสังคมต่างสามารถจัดกิจกรรมประท้วง เดินขบวน เรียกร้อง ยื่นเรื่องร้องทุกข์ได้อย่างเต็มที่ หากดูจากกรณีที่ผมยกมา มีเพียงการงดฉายหนัง “สิ้นแสงฉาน” กับ “การห้ามไม่ให้เครือข่ายผู้หญิงปะหล่องแถลงการณ์เท่านั้น ที่รัฐบาลไม่อนุญาต ที่สำคัญเหตุการณ์อย่างการออกมายอมรับผิดของทหารพม่าต่อกรณีการตายของชาวบ้านในรัฐฉานภาคเหนือนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับแต่ทหารเข้ามาปกครองพม่ากว่า 60 ปี ทั้งที่มีชาวบ้านมากมายถูกทหารฆ่าตาย นี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้การเมืองภาคประชาชนของพม่าเปลี่ยนไป

หากไม่นับปัญหาเรื่องความรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมแล้ว ถือว่ารัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี สอบผ่านในแง่ของการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนมีสิทธิในการเรียกร้องมากขึ้น นี้จึงเป็นการพลิกโฉมหน้าของการเมืองภาคประชาชนในประเทศพม่า ที่ไม่ใช่แค่ชาวพม่าเท่านั้นที่มีสิทธิในการออกเสียง และเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเอง การที่กลุ่มภาคประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเองได้เหมือนกันนั่นแหละ คือสิ่งที่จะทำให้พวกเขารู้สึกเท่าเทียมกับชาวพม่า  

แต่ปัญหาใหญ่ของนางอองซาน ซูจีตอนนี้อาจจะไม่ใช่แค่ “อำนาจของกลุ่มทหารเก่า” เท่านั้น สิ่งที่ดูเหมือนจะสร้างความลำบากใจให้นางอองซาน ซูจีมากที่สุดก็คือ การต้องปะทะกับชาวพม่า (ชาตินิยม) ด้วยกันเอง เพราะที่ผ่านมาเรารู้แต่เพียงว่า ประชาชนชาวพม่าต้องการประชาธิปไตย (เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น) แต่ไม่เคยมีการสำรวจจริง ๆ ว่า ชาวพม่านั้นคิดอย่างไร กับ ประเด็นเรื่องศาสนา และประเด็นเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะประเด็นการแยกตัวออกจากพม่า หรือ การมีเขตปกครองเป็นของตัวเอง นั่นหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลของชาวพม่าที่อาจจะต้องสูญเสียไป หากเกิด “สหพันธรัฐ” ขึ้นจริง ๆ เพราะทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงชาวพม่าทั้งประเทศล้วนถูกตักตวงมาจากรัฐชาติพันธุ์ต่าง ๆ

หากการดำเนินนโยบายของเธอ ถูกมองว่าทำเพื่อชาวพม่าเท่านั้น ก็จะไม่ต่างอะไรกับนโยบายสมัยของนายอูนุ (ที่ประกาศนโยบาย “ทำให้เป็นพม่า” และประกาศศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จนกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากในพม่า) เพราะเท่ากับไปตอกย้ำความคิดที่ว่า ชาวพม่าเป็นผู้ปกครอง กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เป็นผู้ถูกปกครอง ปัญหาความขัดแย้งก็จะต้องตามมาอย่างไม่รู้จบ หรือหากนโยบายของเธอออกมาแล้วไม่เป็นที่พอใจของชาวพม่าชาตินิยม ก็อาจเกิดกรณีเหมือนความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมได้เช่นกัน การรักษาฐานเสียงสำคัญคือชาวพม่าเป็นงานสำคัญยิ่ง แต่การประคองความรู้สึกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็เป็นงานสำคัญไม่แพ้กัน

การพยายามแก้ปัญหาของนางอองซาน ซูจี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และการผ่อนปรนปรับท่าทีดูนุ่มนวลขึ้นต่อกิจกรรมของภาคประชาชน ของทหารพม่าที่ผ่านมา (ไม่นับการที่ทหารพม่ายังทำการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ ซึ่งในการทหารยังเป็นท่าทีที่ผ่อนปรนได้ยาก) อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าพม่าเป็นประชาธิปไตย 100 % แล้ว หรือบอกว่า ปัญหาความขัดแย้งในพม่าได้หายไปแล้ว แต่อย่างน้อยพื้นฐานประชาธิปไตยที่สำคัญคือ การที่ภาคประชาชนมีสิทธิในการเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเองได้ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มว่ากำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี หากนางอองซาน ซูจี ยังสามารถรักษามาตรฐานของตัวเองได้แบบนี้ไปอีกสัก 10 ปี ภาคประชาชนในพม่าก็จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อภาคประชาชนเข้มแข็ง ก็จะเป็นการลดทอนอำนาจของทหารได้ในที่สุด (ใจจริงผมอยากเขียนประมาณว่า มองไม่เห็นว่าพม่าจะกลับไปสู่ยุคเผด็จการทหารอีกครั้งได้อย่างไร หากภาคประชาชนเข้มแข็ง) หมายความว่า ไม่ว่าวาระการประชุมจะออกมาในทิศทางใด การจะดำเนินผลให้เกิดขึ้นได้ ภาคประชาชนของพม่าก็จะมีสิทธิในการตรวจสอบ เรียกร้องได้ บนฐานของภาคประชาชนที่เริ่มเข้มแข็ง

หากการประชุมปางโหลงที่เกิดขึ้นวันนี้ นางอองซาน ซูจี สามารถโน้มน้าวใจของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันคานอำนาจของทหารพม่า เหมือนครั้งหนึ่งที่พ่อของเธอเคยโน้มน้าวให้กลุ่มชาติพันธุ์ยอมเข้าร่วมเป็นสหภาพเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จนเป็นที่มาของสัญญาปางโหลงฉบับที่ 1 ก็อาจจะทำให้พม่ากลายมาเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย แทนที่ประเทศเพื่อนบ้านแห่งหนึ่งทางทิศใต้ของประเทศพม่า (ที่กำลังจะวิวัฒนาการเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่ง) ก็เป็นได้ เพราะหากมองดูภาพรวมพม่าอาจจะยังมีปัญหาร้อยแปดให้แก้ แต่เมื่อมองหรือเปรียบเทียบในระดับภาคประชาชนก็ไม่รู้ว่าประเทศไหนจะมีแนวโน้มที่ดีกว่ากัน เพราะได้ข่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านของพม่าที่ว่าเป็นประชาธิปไตย 99 %นั้น ประชาชนไม่สามารถกินแซนต์วิส อ่านหนังสือ มหาวิทยาลัยไม่สามารถจัดงานเสวนาทางวิชาการได้  นักศึกษาถูกจับเป็นว่าเล่น และมีทีท่าว่าจะเป็นประชาธิปไตย 99 % เช่นนี้ไปอีกหลายสิบปี

ข่าวอ้างอิง

1.     http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000123508

2.      http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1447324563

3.     http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000061732

4.     https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1792464747641224:0

5.     http://www.benarnews.org/thai/news/TH-assk-rohingya-06232016162529.html

6.     https://www.amnesty.or.th/news/press/874

7.     http://www.matichon.co.th/news/175456

8.     http://transbordernews.in.th/home/?p=13103

9.     http://transbordernews.in.th/home/?p=13271

10.  http://transbordernews.in.th/home/?p=13225

11.  http://transbordernews.in.th/home/?p=13428

12.  http://transbordernews.in.th/home/?p=13495

13.  http://transbordernews.in.th/home/?p=13455

14.  https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1809074265980272:0

15.  http://transbordernews.in.th/home/?p=13776

 

            

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: