เผยร่างกฎหมายใหม่ห้ามโฆษณา 'อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก' ทุกรูปแบบ

26 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3024 ครั้ง


	เผยร่างกฎหมายใหม่ห้ามโฆษณา 'อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก' ทุกรูปแบบ

ตลาดอาหาร-นม สำหรับทารกและเด็กเล็กฝุ่นตลบ เผยกฎหมายใหม่ห้ามโฆษณา-ส่งเสริมการตลาดแบบเบ็ดเสร็จทุกรูปแบบ ผู้ประกอบการวิ่งวุ่นยื่น สนช.ขอผ่อนปรน 3 ประเด็น ด้านสมาคมโฆษณาฯ หวั่นเม็ดเงินหายปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน (ที่มาภาพประกอบ: SUPERFINE FILM)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ...ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญหลัก ๆ อาทิ การกำหนดบทนิยามของคำว่า "ทารก" คือ เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน "เด็กเล็ก" คือ เด็กอายุเกิน 12 เดือนจนถึง 3 ขวบ รวมทั้งการกำหนดคำนิยามของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และในส่วนของการควบคุมการส่งเสริมการตลาด จะระบุถึงเรื่องของการห้ามการโฆษณา ห้ามส่งเสริมการตลาด การห้ามจัดหรือให้การสนับสนุนการจัดประชุม จัดอบรม การสัมมนาทางวิชาการ รวมทั้งระบุห้ามในกรณีของการบริจาคอาหารทารกและเด็กเล็ก และมีการกำหนดโทษ เช่น จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 แสนบาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นต้น

แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการศึกษาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เบื้องต้นพบว่าจะมีผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย เนื่องจากจะไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อสื่อสารหรือให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้ทั้งทางตรงทางอ้อม 

นอกจากยอดขายที่อาจจะได้รับผลกระทบแล้ว อาจมีผลต่อเนื่องในแง่ของการลงทุน การจ้างงานด้วย ที่ผ่านมาบริษัทสมาชิกที่ประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตนม 6 บริษัท คือ แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส, ดูเม็กซ์, มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน, เนสท์เล่ (ไทย), เนสท์เล่ (ไทย) แผนกธุรกิจไวเอท นิวทริชั่น และแปซิฟิค เฮลธ์แคร์ จะมีการลงทุนรวมกันราว 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลกระทบกับตลาดรวมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กอย่างไร แพทย์หญิงกิติมากล่าวว่า "มีผลกระทบ เพราะช่องทางขายไม่สามารถทำกิจกรรมได้เหมือนอาหารอื่น ๆ หรือยกตัวอย่าง กรณีของร้านขายยาที่ขายนมหรืออาหารสำหรับเด็ก เภสัชกรประจำร้านซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของร้านด้วย จะไม่สามารถให้ข้อมูลกับคนที่เข้ามาซื้อนม และการให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนมก็อาจจะผิดกฎหมาย"

แพทย์หญิงกิติมาย้ำว่า ที่สำคัญที่สุดคือ ข้อห้ามต่าง ๆ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ อาจจะส่งผลกระทบด้านโภชนาการกับเด็ก เพราะนมและอาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมเพียงพอสำหรับทารกและเด็กเล็กซึ่งขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และเป็นอาหารเด็กที่สามารถตอบโจทย์เรื่องสารอาหารสำหรับเด็กและความสะดวกของผู้ปกครอง ถูกควบคุมด้วยกฎหมายดังกล่าว 

ขณะที่อาหารอื่นที่ไม่เหมาะกับเด็ก ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หาซื้อได้ง่าย กลับไม่ถูกควบคุม อาจทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้นแทน เพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าผู้บริโภคจำเป็น และควรที่จะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องในการนำไปพิจารณาในการประกอบการตัดสินใจในการซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมได้ยื่นจดหมายถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้พิจารณาในข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1.สมาคมมีความเห็นว่า ขอให้จำกัดขอบเขตของร่าง พ.ร.บ.นี้ เฉพาะทารกแรกเกิดถึง 12 เดือนเท่านั้น อายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไปไม่ควรคุม เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อโภชนาการเด็ก ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ 2.อาหารทางการแพทย์ไม่ควรถูกควบคุมตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น นมสำหรับเด็กแพ้ นมสำหรับเด็กย่อยอาหารบางอย่างไม่ได้ นมสำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และ 3.สมาคมขอเวลาปรับตัว จากที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ให้เวลา 6 เดือน ขอเป็น 1 ปีครึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเตรียมทั้งคน ทั้งเงิน การผลิต การจัดจำหน่าย การเปลี่ยนฉลากที่จะต้องไปขอขึ้นทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง 

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโฆษณาและเจ้าของสินค้า เนื่องจากเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ 0-3 ขวบ ครอบคลุมทั้งสื่อบีโลว์เดอะไลน์และอะโบฟเดอะไลน์ จากเดิมที่ข้อกำหนดของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห้ามเจ้าของสินค้ากลุ่มนี้โฆษณานม อาหารสำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบเท่านั้น แต่สามารถโฆษณาสินค้ากลุ่มเด็กที่มีอายุ 1-3 ขวบขึ้นไปได้ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องพิจารณารายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งว่าจะกระทบกับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมโฆษณามากน้อยเพียงใด

"ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนมเด็กจะใช้งบฯโฆษณาในแต่ละปีโดยเฉลี่ยประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท ผ่านสื่อทีวี เคเบิลทีวี ทีวีดิจิทัล แมกาซีน อินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ อินสโตร์มีเดีย สื่อวิทยุ และสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ และหากตามกฎหมายใหม่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาและการทำกิจกรรมทางการตลาด อาจจะทำให้เม็ดเงินจำนวนนี้หายไป"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นมสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปมีมูลค่ารวมกว่า 11,000 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2557) แบ่งเป็นตลาดนมผง 7,162 ล้านบาท และนมยูเอชที 4,233 ล้านบาท ซึ่งในตลาดนี้มีผู้เล่นหลัก ๆ ได้แก่ ดูเม็กซ์, มี้ด จอห์นสัน และเนสท์เล่

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรอง หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (WHO International code of Marketing of Breast-Milk Substitutes) จากที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 63 (WHA) ในปี 2553 ผ่านมาอีก 6 ปีจึงได้เข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากที่ถูกประเทศผู้ผลิตนมผง อาทิ สหภาพยุโรป-สหรัฐ-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ แสดงความกังวลในองค์การการค้าโลก (WTO) ในข้อที่ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกีดกันทางการค้าเกินความจำเป็น อาทิ การห้ามไม่ให้โฆษณาผลิตภัณฑ์นมดัดแปลงสำหรับทารกและเด็กเล็ก การมีบทลงโทษให้จำคุกผู้ฝ่าฝืน ซึ่งขัดต่อหลักความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) แต่ฝ่ายไทยได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีการบังคับใช้กับสินค้าอาหารทดแทนนมแม่จากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured-Nation Treatment-MFN)

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: