ย้อนรอยยุคทองของ ‘ซีดีเถื่อน’ จากเฟื่องฟูสู่ต่ำสุดหลังรัฐประหาร

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ : 24 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3920 ครั้ง

จากการจัดอันดับของศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Centre) หรือ GIPC องค์กรความร่วมมือของสภาหอการค้าสหรัฐฯ (The United States Chamber of Commerce) หรือ USCC  เผยผลสรุปดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Intellectual Property Institute) หรือ IIPI ประจำปี 2557 ซึ่งเป็นการสำรวจสถานการณ์ด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท ทั้งลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า ใน 25 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยได้คะแนนต่ำสุดเป็นอันดับที่ 2 รั้งท้ายรองจากอินเดีย เนื่องจากยังพบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่จำนวนมาก

ย้อนรอย ยุคทองซีดีเถื่อน

ย้อนไปก่อนปี 2537  ก่อนการบังคับใช้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์  2537 (พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537) เทปและวิดีโอลอกเลียนแบบไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่บุคคลต่างๆ สามารถผลิตและจำหน่ายได้อย่างเสรี ไม่มีบุคคลหรือองค์กรใดเป็นเจ้าของเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว  แม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาก่อนหน้านั้น แต่บทบัญญัติยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงผลงานประเภทเพลง ภาพยนตร์และละคร  การลักลอบผลิตหรือจำหน่ายงานดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย หากจะผิดก็เพียงแต่หลักจริยธรรมในการขโมยผลงานของผู้อื่นมาหาประโยชน์

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘มุมมองเชิงประวัติศาสตร์และสังคมของตลาดซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ‘ ของ รสมนต์ ษมาจิตร  สำรวจข้อมูลตลาดละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2553 พบว่า ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 ตลาดซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ ซีดีเถื่อน สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งชุมชน ผู้ขายรายหนึ่งเปิดเผยว่าในแต่ละเดือนสามารถสร้างรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเดือนละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท และสามารถตั้งขายเป็นร้านค้าถาวรได้เนื่องจากไม่ต้องกลัวถูกจับกุม สำหรับต้นทุนเฉลี่ยต่อแผ่นประมาณแผ่นละ 50 บาท ขายในราคา 80-100 บาท

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 เริ่มบังคับใช้อย่างเข้มงวด สถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กฎหมายดังกล่าวในปี 2544 สูงถึง 2,215 คดี และเพิ่มขึ้นเป็น 6,459 คดี ในปี 2549  พบของกลาง 1,704,970 ชิ้น/ม้วน  (อ่านข้อมูลเพิ่มในจับตา) สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลให้รายได้จากตลาดนอกกฎหมายลดจำนวนลง  ผู้ค้าซีดีเถื่อนหลายรายต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเทคนิคการขาย โดยเฉพาะการแอบขาย ไม่มีหน้าร้านประจำเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม  ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายๆ รูปแบบ ขณะที่ผู้รักษากฎหมายเองก็อาศัยอำนาจที่พ่วงมากับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ เข้าไปแสวงหาประโยชน์กับกลุ่มผู้ขายในหลายรูปแบบเช่นกัน

พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ฯ ใบเบิกทางตำรวจ- ทหารเรียกรับเงิน

ป้าน้อย (นามสมติ) หนึ่งในผู้ค้าซีดีเถื่อนที่อยู่ในตลาดนี้มากว่า 40 ปี เล่าถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมว่า เริ่มตั้งแต่การรับสินค้าจากโรงงานผลิต โดยลดความถี่การรับส่งสินค้าลงและย้ายจุดรับสินค้าไปเรื่อยๆ จากเดิมที่โรงงานจะนำมาส่งที่ร้านโดยตรง รวมไปถึงจ้างเหมาซุ้มจักรยานยนต์รับจ้างให้คอยรายงานข่าวหากพบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ยังไม่รอดพ้นการจับกุมเมื่อถูกบุกตรวจพร้อมหมายค้นโดยไม่ทันตั้งตัว  ป้าน้อยและผู้ค้าในละแวกเดียวกันจึงรวมตัวเพื่อแก้ปัญหา โดยจ้างสายข่าวเป็นตัว กลางนำเงินสินบนไปให้กับตำรวจในท้องที่ และคอยรับรายงานล่วงหน้าหากมีการตรวจค้น

แม้จะอาศัยสายข่าวเป็นตัวกลางกับตำรวจในท้องที่แต่ก็ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของผู้ขายซีดีเถื่อนเหล่านี้ได้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจพบจากเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบกับนายตำรวจระดับสูงหลายรายเริ่มขอเรียกเก็บค่าคุ้มครอง สัดส่วนเงินสินบนที่เคยจ่ายผ่านสายข่าวจึงเปลี่ยนไปจ่ายให้กับนายตำรวจระดับสูงโดยตรง เฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท ต่อผู้ค้าหนึ่งราย และสายข่าวเดือนละ 3,000 บาท

หนึ่งในผลประโยชน์ที่แลกกับค่าคุ้มครองที่จ่ายให้กับตำรวจคือ นอกจากไม่ถูกดำเนินคดีฐานผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเพิกเฉยต่อการให้ความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญหา เช่นเหตุการณ์บุกตรวจค้นร้านขายซีดีเถื่อน เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาพร้อมกับกำลังตำรวจในท้องที่ ผู้ขายหลายรายขัดขวางการตรวจค้นพร้อมเตรียมอาวุธป้องกันตัวหากเจรจาไม่สำเร็จ เหตุการณ์จบด้วยการปะทะกันระหว่างผู้ขายและเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สิน ขณะที่ตำรวจในท้องที่ไม่ดำเนินการใดๆ และอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการทะเลาะกันเพียงเล็กน้อย ไม่มีเรื่องการตรวจค้นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด  พร้อมกับปรับคู่กรณีทั้งสองฝ่ายในฐานทำร้ายร่างกาย

ไม่เพียงการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของตำรวจในท้องที่ ทหาร ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจนอกระบบในรูปแบบของการเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ในปี 2549 หลังการรัฐประหารบทบาทของทหารชัดเจนขึ้น เนื่องจากสังเกตเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเก็บค่าคุ้มครอง พวกเขาจึงเลียนแบบพฤติกรรม โดยแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารเข้าไปข่มขู่ให้ผู้ขายยอมจ่ายค่าคุ้มครอง หากผู้ขายรายใดไม่ยอมจ่ายเงินก็จะถูกทำร้ายร่างกายและทำลายร้านค้า ผลทำให้ผู้ขายต้องจ่ายเงินให้กับทหารเพิ่มอีกเดือนละ 3,000 บาท เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถขายสินค้าผิดกฎหมายในพื้นที่ได้อีกต่อไป

สำหรับผู้ขายรายใด นำเรื่องที่ทหารเข้ามาข่มขู่เรียกเก็บค่าคุ้มครองไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ มักได้รับคำแนะนำว่าให้ยอมจ่ายเงินกับทหารไปเสีย เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งระหว่างสองหน่วยงาน

เว็บโหลดโปรแกรม-หนังออนไลน์ ดึงธุรกิจตกต่ำ

ความเฟื่องฟูของตลาดซีดีละเมิดลิขสิทธิ์และผลประโยชน์นอกกฎหมายเริ่มตกต่ำลง  พร้อมกับการก้าวกระโดดขึ้นของเทคโนโลยี การเพิ่มขึ้นของเว็บไซต์ดาว์โหลดโปรแกรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายและเว็บไซต์ชมภาพยนตร์ออนไลน์ สอดรับกับช่องทางการเข้าถึงที่ใช้ต้นทุนไม่สูงเช่น แทปเล็ต สมาร์ทโฟน ที่สนนราคาไม่ถึงหมื่นบาท ย่อมกระทบต่อธุรกิจซีดีละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ สังเกตได้จากจำนานแผงขายซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ตามชุมชนเริ่มลดจำนวนลง  ขณะที่ธุรกิจซีดีถูกลิขสิทธิ์ต่างก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน  เช่นที่บริษัท เอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ แมงป่อง ธุรกิจจำหน่ายโฮมวีดีโอรายใหญ่ เมื่อปี 2558 มียอดจำหน่ายขาดทุนราว 60.47 ล้านบาท

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ค้าหลายรายต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สร้างจุดขายให้ตนสามารถอยู่ในตลาดได้ เช่น ผู้ค้าบางรายสร้างจุดขายโดยการนำภาพยนตร์ที่ไม่เข้าฉายในประเทศไทยเข้ามาจำหน่ายพร้อมผลิตคำบรรยายใต้ภาพ หรือหันไปหากลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์นอกกระแส ภาพยนตร์อีโรติกที่ใช้เด็กแสดง และเปลี่ยนช่องทางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้ส่งผลให้สถิติการจับกุมซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงแต่อย่างใด ข้อมูลล่าสุดที่มีการบันทึก ระบุว่าในปี 2555 มีคดีทั้งสิ้น 3,147 คดี พบของกลางทั้งสิ้น 667,721 ม้าน/ชิ้น หนึ่งในผู้ค้าซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่ถูกจับกุมอยู่บ่อยครั้งระบุว่า แม้จะจ่ายค่าคุ้มครองให้กับตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางรายก็ไม่อาจเลี่ยงการถูกจับกุม แต่ที่ต่างออกไปคือการจับกุมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการจัดฉากของตำรวจเพื่อสร้างผลงาน ไม่ได้มีการเอาผิดอย่างจริงจังแต่อย่างใด

อ่าน 'จับตา': “สถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6166

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: