เตรียมปรับระบบจอง 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' หลังล้นตลาด

23 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 2253 ครั้ง


	เตรียมปรับระบบจอง 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' หลังล้นตลาด

สำนักงานสลากเตรียมปรับระบบการจองสลากกินแบ่งรัฐบาล หลังพบว่ายอดพิมพ์ 120 ล้านฉบับเพราะมีคนจองเอาไปเก็งกำไร ทำสลากฯ เริ่มล้นตลาดขายไม่หมดหลายพื้นที่

23 ก.พ. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่าเพื่อให้ผู้ค้ารายย่อยเข้าถึงการขายสลาก จากการร้องเรียนว่าไม่มีโควตา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเปิดให้ซื้อและจองล่วงหน้า 28 ล้านฉบับ ครั้งแรก 3 ตุลาคม 2558 ผ่านเอทีเอ็ม เคาน์เตอร์ เน็ตแบงก์ของธนาคารกรุงไทย ยอดซื้อหมดภายใน 13 นาที นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ได้ขายสลากให้รายย่อยโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จากนั้นสำนักงานสลากฯ ได้ปรับปรุงระบบมาต่อเนื่อง จนมียอดพิมพ์สูงถึง 120 ล้านฉบับในเดือนกุมภาพันธ์

ในช่วงที่เปิดให้รายย่อยจองผ่านระบบออนไลน์ มีคนหัวใสลงทะเบียนเพื่อจองและนำไปขายต่อ หวังใช้ความได้เปรียบเข้าถึงระบบก่อนได้ก่อน ทั้งผ่านออนไลน์ เอทีเอ็ม เคาน์เตอร์ยังมีข้อจำกัด บางพื้นที่จะเห็นภาพตั้งเต็นท์ต่อแถวรอตั้งแต่หัวค่ำของอีกวันหนึ่งก่อนเปิดจองในช่วงเช้า เมื่อมีทั้งผู้ลงทะเบียนหวังเก็งกำไรและผู้ค้าตัวจริงรวม 170,000 ราย จึงปรากฏยอดจองซื้อเพิ่มขึ้น และแข่งกันจองหมดในเวลาอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมีสภาพสลากล้นตลาดบางพื้นที่ เช่น โคราช อุดรธานี เป็นต้น

สำนักงานสลากฯ จึงเริ่มหาช่องทางตัดกลุ่มเก็งกำไรออกไปได้ 60,000-70,000 ราย ด้วยการถ่ายโอนยอดจองล่วงหน้ามายังยอดเปิดซื้อครั้งละ 20,000 เล่ม กำหนดให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากก่อนเวลา 18.00 น.ก่อนวันเปิดซื้อ เพราะคนเก็งกำไรมักรอเงินทุนนอกระบบมาสำรองจ่าย การปรับเวลาซื้อเข้ามาในเวลา 08.15 น. เพื่อให้ชนกับเวลาเปิดเคาน์เตอร์ กำหนดจองไม่เกินคนละ 5 เล่ม จึงเริ่มคัดกรองผู้ค้าตัวจริงได้มากขึ้น

สำนักงานสลากฯ ระบุว่าการเปิดให้ซื้อและจองล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ ได้ออกแบบไว้ให้พิมพ์ตามสภาพตลาด เพราะหากสลากเหลือหลายงวดติดต่อกัน ผู้ค้าจะปรับลดยอดจองลงด้วยเช่นกัน เพราะขายไม่หมดจะรับภาระขาดทุน การจัดพิมพ์จะลดลงโดยอัตโนมัติ กลไกตลาดจะทำงานสมบูรณ์ได้มากขึ้น โดยพิมพ์สลากตามความต้องการของผู้ซื้อ ทั้งนี้การจัดพิมพ์สลากในอนาคตจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ทั้งเทศกาลต่างๆ ช่วงเปิดเทอม ฤดูฝน ผู้ค้าจะสั่งจองมากหรือน้อย จะเป็นไปตามภาวะตลาด เมื่อผู้ค้าปรับตัวได้ ปัญหาล้นตลาดจะลดน้อยลง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: