ประเภทและอันตรายของยาชุด

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ทีมข่าว TCIJ 3 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 14124 ครั้ง


ประเภทของยาชุด

ยาชุดสด ผู้ขายจะจัดยาให้เป็นชุดด้วยวิธีการซักถามอาการจากผู้ซื้อ โดยผู้ขายมักเป็นผู้ไม่มีความรู้เรื่องโรค อาการของโรค ยาและการใช้ยา

ยาชุดแห้ง เป็นยาชุดที่จัดบรรจุไว้ในซองพลาสติก มีการพิมพ์ฉลากบรรยายสรรพคุณของยา โดยสรรพคุณที่บรรยายไว้มักโอ้อวดเกินความจริง เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความสนใจ เช่น

ยาแก้ผิดสำแลง สรรพคุณ : แก้กันของผิดสำแลง ปวดศีรษะ ตามืดตามัว ลิ้นกระด้าง คางแข็ง จุกเสียด แน่นท้อง ลมขึ้นเบื้องสูง ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว เบื่ออาหาร สะบัดร้อนสะบัดหนาว

นอกจากนี้ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นสำรวจพบว่า ยาชุดหลายชนิดมีตัวยาอันตรายกระจายอยู่ในยาชุดประเภทต่างๆ ได้แก่ กลุ่มยาสเตียรอยด์ ยากล่อมประสาท กลุ่มยาแก้แพ้ วิตามิน เป็นต้น และในบางกรณียังอาจพบยาในกลุ่มเดียวกันมากกว่า 1 ชนิด

อันตรายจากการกินยาชุด

 

  1. ได้รับยาเกินขนาด เนื่องจากในยาชุดมักมีตัวยาซ้ำซ้อนกัน เช่น ยาชุดแก้ปวดเมื่อย 1 ชุด จะมียาแก้ปวด 2-3 เม็ด เมื่อรับประทานเข้าไป โอกาสในการได้รับอันตรายจากสารพิษของยาจึงมีเพิ่มขึ้น
  2. ยาชุดที่มีจำหน่าย มักมียาสเตียรอยด์ร่วมด้วย เพื่อทำให้อาการของโรคบรรเทาโดยเร็ว แต่ยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานไม่ถูกต้อง จะทำให้กระดูกผุ บวมน้ำ ความต้านทานต่ำ
  3. ได้รับประทานเกินจำเป็น เช่น ยาชุดแก้ไข้หวัด ประกอบด้วย ยาแก้ปวดแก้ไข้ ยาลดน้ำมูก ยาทำให้จมูกโล่ง ยาแก้ไอ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในบางครั้งผู้ซื้ออาจไม่มีอาการไอ หรือไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องทานยาเหล่านี้
  4. ได้รับยาไม่ครบขนาด เช่น ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจำเป็นต้องทานให้ครบขนาด มิฉะนั้นจะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องใช้ยาแรงขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
  5. ในยาชุดมักมียาเสื่อมคุณภาพ ยาปลอม หรือยาไม่ได้มาตรฐาน

คำแนะนำในการซื้อยา

  1. ควรซื้อยาจากร้านที่ได้รับอนุญาต อย่าซื้อยาจากรถเร่ หรือหลงเชื่อคำโฆษณา
  2. ยาซื้อควรบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีฉลากปิดเรียบร้อย เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น
  3. ก่อนกินยาควรอ่านวิธีใช้ ข้อควรระวัง คำเตือน เอกสารกำกับยาให้ละเอียดทุกครั้ง
  4. หากเจ็บป่วยเล็กน้อย ให้เลือกใช้ยาสามัญประจำบ้าน
  5. อย่าซื้อ และอย่าใช้ยาชุด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก
กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาควิชาเภสัชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: