ตลาดมืดเรือนจำกระจกพกขายเฉียดพัน ปล่อยเงินกู้ดอกร้อยละ 20 ต่อสัปดาห์

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ : 20 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 6570 ครั้ง

ตลาดมืด หรือ Black market หมายถึงตลาดที่แอบซื้อขายกันลับๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อกำหนดที่ทางการได้วางไว้ แล้วตลาดมืดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?  ตลาดมืดมักถูกใช้กับตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าผิดกฎหมาย เช่น อาวุธเถื่อน ยาเสพติด หรือสินค้าหนีภาษีต่างๆ  การเกิดขึ้นของตลาดมืดนั้น โดยทั่วไปมักเกิดจากความต้องการข้าวของหรือสินค้าประเภทใดที่ล้นเกินปริมาณที่มีอยู่ในตลาด หรือที่เรียกว่า demand มากกว่า supply  ส่งผลให้ราคาสินค้ายับขึ้นสูงเกินจากราคาปกติ  โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดยัดเยียด  แถมเป็นผู้คนที่ถูกตัดสินว่ากระทำความ ‘ผิด‘ ต้องถูกกักกันทั้งทางร่างกาย จิตใจและความต้องการขั้นพื้นฐาน  ทำให้เกิดภาวะขาดแคลน  เช่น ในเรือนจำ

เรือนจำ เป็นอีกหนึ่งสถานที่เติบโตของตลาดมืด ตลาดมืดในเรือนจำมีอยู่ด้วยกันหลายระดับ ตั้งแต่การซื้อขายของใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จนถึงสินค้าผิดกฎข้อบังคับของเรือนจำ เช่น กระจก บุหรี่ โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด และปล่อยเงินกู้นอกระบบ

หนึ่งในผู้ต้องขังจากเรือนจำหญิงภาคกลางที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ค้าในตลาดมืดให้สัมภาษณ์ TCIJ ระบุว่า นักโทษส่วนใหญ่ที่หันเหตัวเองเข้าสู่วงจรตลาดมืด มักเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และนักโทษที่ไม่มี ‘เงินในบุ๊คง คือ เงินที่ญาติจะนำมาเข้าบัญชีให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อีกทั้งการทำงานเป็นแรงงานนักโทษนั้นได้ค่าแรงน้อยมากเพียงวันละ 13 บาท (อ่านเพิ่มเติม - เปิดคุกส่องสภาพนักโทษแรงงานทาส  ทำงานหนัก 8 ชม.แลกเงินวันละ 13 บ.) การเข้าสู่วงจรตลาดมืดจึงเป็นวิธีหลักในการเอาตัวรอดหลังกำแพงสูง แม้จะถือเป็นหนึ่งการกระทำผิดที่มีโทษของเรือนจำก็ตาม (อ่านเพิ่มในจับตา : การกระทำที่เป็นความผิดและโทษทางวินัยของผู้ต้องขัง)

มีอะไรใน’ตลาด’

เต๋า (นามสมมุติ) หนึ่งในนักโทษที่ผันตนเองมาเป็นผู้ค้าตลาดมืดในเรือนจำ อธิบายถึงสินค้าภายในตลาดว่าเฉพาะเรือนจำหญิงที่ตนสังกัด สินค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อขายภายในกลุ่มนักโทษมักเป็นอาหารที่ไม่มีในโรงเลี้ยง หรือ จำหน่ายหมดแล้วในร้านสวัสดิการ นักโทษส่วนใหญ่ที่มีเงินในบุ๊ค หากเลือกได้จะเลี่ยงกินอาหารฟรีจากโรงเลี้ยงเพราะนอกจากรสชาติที่ไม่ถูกปากและยังมีสารอาหารน้อย  บางครั้งอาหารในโรงเลี้ยงเป็นข้าวหุงไม่สุกเคล้ามันหมู ต้ม นักโทษหลายคนจึงใช้บริการร้านสวัสดิการ ซึ่งผู้ค้าที่มองเห็นโอกาสก็จะรีบตุนสินค้าจากร้านเพื่อนำไปขายต่อให้กับเพื่อนนักโทษในราคาที่สูงขึ้น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาปกติห่อละ 6 บาท ขึ้นราคาเป็น 10-20 บาท หรือ การเพิ่มจุดขายด้วยอาหารที่คิดทำขึ้นเอง เช่น ก้อนโกปี้โก้ สูตรอาหารยอดนิยมที่ส่งต่อกันมาในกลุ่มแม่ค้าตลาดมืด ส่วนผสมประกอบด้วย เครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงสามถึงสี่ชนิดผสมกับครีมเทียมและลูกอมรสกาเแฟ นำมา ผสมรวมกันและปั้นเป็นก้อน จำหน่ายในราคาก้อนละ 10 บาท

เต๋าเล่าว่าสูตรอาหารประเภทต่างๆ ทั้งที่คิดขึ้น และจำหน่ายภายในเรือนจำนั้นต้องลักลอบจำหน่าย เนื่องจากผิดกฎทางราชทัณฑ์ที่เกรงว่าผู้ต้องขังจะใช้เงินหรือสินค้าแทนเงินในการเล่นพนัน แต่อย่างไรเสียในทางปฏิบัติกลับไม่เถรตรงตามระเบียบบังคับ เพราะหลายครั้งผู้คุม หรือเจ้าหน้าที่เรือนจำเองกลับเป็นผู้ลักลอบจำหน่ายสินค้าให้กับนักโทษ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องนำเข้าจากนอกเรือนจำ เช่น กระจกพกพา ยางรัดผมแฟชั่น ใบมีดโกนขนาดเล็ก กระติกใส่น้ำแข็ง โดยผู้คุมจะนำมาจำหน่ายในราคาสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัว เช่น กระจกพกพา ราคาตามท้องตลาดอยู่ที่บานละ 20 บาท ในเรือนจำซื้อขายกันอยู่ที่บานละ 700-800 บาท  ยางรัดผมแฟชั่น ราคาปกติ 10-20 บาท ในเรือนจำจำหน่ายที่เส้นละ 80-100 บาท

นอกจากผู้คุมจะเป็นหนึ่งในกลไกลกระจายสินค้าผิดกฏเข้าเรือนจำ นักโทษกองนอก ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่คอยหาสินค้าหายากเข้ามาจำหน่ายในเรือนจำ นักโทษกองนอก หมายถึงนักโทษที่ใกล้พ้นกำหนดคุมขังและถูกนำตัวไปทำสาธารณะประโยชน์นอกเรือนจำ การออกไปนอกเรือนจำนั้นหมายถึงโอกาสที่จะได้พบกับญาติหรือนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายผ่านตลาดมืดในเรือนจำ นักโทษกองนอกที่รู้กำหนดงานล้วงหน้าจะนัดแนะกับญาติในวันเยี่ยมเพื่อให้เตรียมของมาให้ ณ จุดนัดพบนอกเรือนจำอย่างลับๆ ของส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็กสามารถซุกซ่อนตามร่างกายเข้ามาได้ เช่น บุหรี่ ใบมีดโกน ยารักษาโรค ฯ

สำหรับการจ่ายเงินในตลาด เนื่องจากนักโทษไม่สามารถพกเงินสดติดตัวได้ แต่ละคนจะมีเพียงคูงปองอาหารที่ใช้หมดวันต่อวัน คูงปองอาหารจึงถูกใช้แทนเงินในการจับจ่ายสินค้าในตลาดมืด อย่างไรก็ตาม หลังการขึ้นสู่อำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การตรวจสอบควบคุมในเรือนจำเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้น ระบบคูปองอาหารถูกยกเลิกและใช้วิธีการแสกนลายนิ้วมือเข้ามาแทนที่ โดยจะผูกลายนิ้วมือเข้ากับประวัติและเงินในบัญชีของผู้ต้องขัง เมื่อต้องการซื้อสินค้าที่ร้านสวัสดิการ ก็ใช้วิธีแสกนนิ้วมือเพื่อตัดยอดจากเงินในบัญชี ความซับซ้อนของระบบดังกล่าว ทำให้ผู้ค้าในตลาดมืดต้องเปลี่ยนกลเม็ดเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ เช่น การจ่ายด้วยสินค้าแทนคูปอง และนำสินค้ามาเป็นทุนหมุนเวียนจำหน่ายต่อในตลาด หรือการจ่ายผ่านญาติต่อญาตินอกเรือนจำ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้สำหรับการชำระเงินกู้

ปล่อยกู้-เล่นพนัน เงินสะพัดในเรือนจำ

เงินกู้ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แพร่หลายในตลาดมืดหลังกำแพงสูง นักโทษหญิงเรือนจำเดียวกับเต๋าเล่าว่า  อัตราเงินที่ นิยมปล่อยกู้คือดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อสัปดาห์ หากเป็นเงินจำนวนไม่มาก เช่น หลักร้อยบาทหรือไม่กี่พันบาท ก็จะชำระเป็นสิ่งของที่มูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้สิน แต่หากจำนวนมากถึงหลักหมื่น ก็จะให้ชำระผ่านวิธีให้ญาติโอนเงิน เข้าบัญชีของเจ้าหนี้ เหตุเพราะปัจจุบัน ระเบียบของเรือนจำนั้นจำกัดจำนวนเงินในบัญชีของนักโทษแต่ละคนอยู่ที่ 9,000 บาท และหากลูกหนี้คนใดผิดนัดชำระก็จะถูกทำร้ายร่างกาย

นอกจากเงินกู้ การพนันขันต่อในกลุ่มนักโทษยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เงินหมุนเวียนในตลาดมืด รูปแบบการพนันมี ตั้งแต่การขายฉลากเพื่อประมูลสินค้า เช่น ประมูลผ้าเช็ดตัวมูลค่า 150 บาท เจ้ามือจะทำฉลากเท่ากับจำนวนผู้ร่วมพนัน จำหน่ายฉลากในราคา 10-20 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ร่วมพนัน บนฉลากจะระบุหมายเลขเอาไว้และจะ ถูกจับออกทีละใบ โดยใบสุดท้ายที่เหลือจะได้รับสินค้าดังกล่าวไป

กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ค้าในตลาดมืดทุกรายจะประสบความสำเร็จ หลายคนกลายเป็นหนี้เป็นสินจากการ กู้เงินซื้อสินค้ามาจำหน่ายในตลาดมืด และถูกเจ้าหน้าหน้าที่จับได้ขณะ“บุกโจม” หมายถึงการบุกตรวจล็อกเกอร์ ประจำตัวของนักโทษโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หากพบข้าวของเครื่องใช้มากเกินกว่าใช้ส่วนตัวจะถูกสงสัยว่าเป็นผู้ค้าตลาดมืด หากโชคดีจะถูกเพียงแค่ยึดสิ่งของภายในล็อกเกอร์ หรือบางรายถูกเพิ่มโทษเป็นจำนวนวันที่ต้องคุมขัง

TCIJ ข้ามมาสำรวจที่เรือนจำชาย โชคชัย (นามสมมติ) อดีตนักโทษชายคดียาเสพติด กล่าวถึงตลาดมืดภายในเรือนจำชายว่าแทบจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ พ่อค้า มักเป็นนักโทษเด็กชายเข้าออกเรือนจำหลายครั้งจนสนิทกับผู้คุม วิธีการที่พ้นจากการตรวจจับคือการ’ซื้อระดับ’ หมายถึง การจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำในหลายระดับ ไล่ตั้งแต่ระดับสูงลงมาจนถึงผู้คุม ราคามีตั้งแต่ระดับหมื่นถึงระดับล้านบาท โดยจะให้ญาติโอนเงินเข้าบัญชีผู้คุม หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าผิดกฏหมาย เช่น มีดพก ยาเสพติด บางครั้งผู้คุมจะเป็นผู้จัดหาให้ หากนักโทษมีเงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยน จนมีคำพูดติดปากในกลุ่มนักโทษด้วยกันว่า “มีเพียงท้องฟ้ากับรถเกราะ” ที่ผู้คุม หาให้ไม่ได้

อ่าน 'จับตา': “การกระทำที่เป็นความผิดและโทษทางวินัยของผู้ต้องขัง"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6552

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: