เข้านอก-ออกในกับนิยาย Small Place

กิตติพล เอี่ยมกมล : 16 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 2423 ครั้ง


Small Place พูดถึงชะตากรรมที่ชาวอันติกัวต้องเผชิญในฐานะอดีตอาณานิคมของอังกฤษ โดยชะตากรรมที่ว่านี้เกิดจากรัฐบาลอันติกัวเอง ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและลัทธิอาณานิคม

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ในส่วนแรกพูดถึงสิ่งที่ตัวละครนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางมาถึงอันติกัวพบเห็น โดยใช้สรรพนามบุรุษที่สอง “คุณ” ในการเรียกตัวละครนี้  ด้วยสายตาของนักท่องเที่ยว เขาจึงมองอะไรไม่เห็นไปมากกว่าความสวยงามของภูมิประเทศ รถแท็กซี่ราคาแพงจากญี่ปุ่น และห้องสมุดที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงนับตั้งแต่แผ่นดินไหวเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่ผู้เขียนหรือตัวละคร “ฉัน” มีฐานะเป็น “คนใน” จึงสามารถมองได้ลึกไปจนถึงการคอร์รัปชั่นและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนที่สอง พูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับอันติกัวในยุคอาณานิคม ทั้งการเหยียดผิวและการตกอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม  เล่าถึงธนาคารที่สูบเงินไปจากคนพื้นเมือง สโมสรที่มีแต่ชาวต่างชาติผิวขาวผู้มั่งคั่งเป็นสมาชิก และพฤติกรรมแย่ๆ ที่คนเหล่านี้ปฏิบัติต่อคนพื้นเมือง

แต่น่าแปลกที่พฤติกรรมเหล่านี้กลับไม่ได้ทำให้คนพื้นเมืองหมดความเคารพนับถือคนอังกฤษ  สำหรับ Kincaid แล้ว นั่นเป็นเพราะคนพื้นเมืองต้องแสดงตัวตนด้วยภาษาของคนที่กดขี่พวกเขา

ในส่วนที่สามผู้เขียนตั้งคำถามว่า เหตุใดอันติกัวในปัจจุบันที่ได้รับเอกราชแล้วจึงไม่ดีขึ้นจากอดีต โดยการชี้ให้เห็นถึงการที่ชาวอันติกัวเองมองไม่เห็นการเชื่อมโยงระหว่างความยากจนกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลตัวเอง ตลอดจนระบบการศึกษาที่ย่ำแย่เนื่องจากรัฐมนตรีวัฒนธรรมไม่มีวัฒนธรรมในการบริหารจัดการ และการที่อำนาจยังอยู่ในมือคนกลุ่มเดิมๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมรดกตกทอดจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

Kincaid จบหนังสือด้วยการบรรยายภูมิประเทศอย่างฉูดฉาดในส่วนที่สี่ ความฉูดฉาดที่หมายถึงความเป็นของปลอม (unreal) ที่ประเทศอันติกัวใช้ฉาบเคลือบความอัปลักษณ์ของตนไว้ภายใต้ความสวยงามภายนอกอันเกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ไม่อาจปิดบังความหวาดวิตกในอนาคตของตนเอง ทั้งปัญหาความยากจนและความรุนแรงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

รูปแบบการเขียนและมุมมองคนใน/คนนอก

ในด้านหนึ่ง การที่ Kincaid ใช้มุมมองสรรพนามบุรุษที่สอง “คุณ” กับตัวละครนักท่องเที่ยว และใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง “ฉัน” เพื่อจะหมายถึงตัวเธอเองและชาวอันติกัว เป็นกลวิธีการใช้มุมมองที่ผลักผู้อ่านให้ไปอยู่ฝ่ายนักท่องเที่ยวที่เธอต้องการโจมตี ผลคือทำให้ผู้อ่านสนใจติดตามเรื่องราวอย่างใกล้ชิดและต้องย้อนกลับมาถามตัวเองเป็นระยะว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เลวร้ายตามเนื้อเรื่องหรือไม่

ดังนั้นหากมองในแง่นี้กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของเธอย่อมเป็นชาวตะวันตกผิวขาวเป็นสำคัญ   ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง การใช้มุมมองดังกล่าวในทางมานุษยวิทยาแล้วเท่ากับว่าเป็นการเล่าเรื่องโดยมุมมองของคนใน ในฐานะที่เป็นชาวอันติกัวโดยกำเนิด ผู้เขียนจึงทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองได้อย่างลึกซึ้งกว่าสายตาคนนอก ตัวอย่างเช่นกรณีรถแท็กซี่ในอันติกัวที่เป็นรถราคาแพงจากญี่ปุ่น คนในเท่านั้นที่จะรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นเพราะตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่เป็นคนในรัฐบาล หรือการพูดถึงห้องสมุดที่ถูกทิ้งร้างแต่กลับมีป้าย “อยู่ระหว่างการซ่อมแซม” ก็มีแต่คนในเท่านั้นที่รู้ว่าห้องสมุดนี้ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ในแง่สไตล์การเขียน ห้องสมุดยังเป็นสัญลักษณ์ของการถอนรากถอนโคนรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของอันติกัวโดยเจ้าอาณานิคมอีกด้วย จากการที่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในระดับฐานรากและผลของมันยังยืนยงมาจนปัจจุบัน การปิดซ่อมแซมที่ยาวนานจึงเปรียบเสมือนการรอคอยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมาถึง

มุมมองของคนในด้วยเช่นกันที่ทำให้ผู้เขียนสามารถเล่าถึงความขมขื่นที่ได้รับจากการเหยียดผิวและความยากจนที่เป็นผลจากการคอร์รัปชั่นได้อย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราดเอากับผู้ที่เธอต้องการโจมตี

ขณะเดียวกัน จากการที่ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันด้วย เท่ากับเธอเองก็มองบ้านเกิดของเธอด้วยสายตาของคนนอกด้วยเช่นกัน แต่การเป็นชาวอเมริกันครึ่งหนึ่งไม่ได้ทำให้ผู้เขียนมีมุมมองของคนนอกโดยอัตโนมัติ มุมมองคนนอกของผู้เขียนเกิดระหว่างการตั้งคำถามว่า เหตุใดชาวอันติกัวจึงมองความเชื่อมโยงระหว่างการคอร์รัปชั่นและความยากจนไม่ออก พวกเขามองไม่เห็นว่าการคอร์รัปชั่นเกิดจากระบบการบริหารที่เจ้าอาณานิคมทิ้งเอาไว้ให้ ยังไม่ต้องพูดถึงการเหยียดผิวที่ชาวอันติกัวได้รับมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี คนในอาจจะมองเห็นประเด็นเหล่านี้หากเขาหรือเธอตั้งใจมอง แต่การจะเห็นตัวเองได้ครบถ้วนจำเป็นต้องถอยออกมามองห่างๆ อย่างน้อยเพื่อที่ว่าตัวเองจะไม่ต้องตกอยู่ภายใต้มายาคติจนมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาอย่างที่ชาวอันติกัวเป็น

 ในแง่รูปแบบการเขียน อาจพูดไม่ได้เต็มปากว่า Small Place เป็นงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณนา แต่เนื่องจากเส้นแบ่งประเภทงานเขียนในปัจจุบัน (อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1960) พร่าเลือนขึ้นทุกที หากจะจัดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนเชิงมานุษยวิทยา ก็ต้องถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานมานุษยวิทยาที่ขยับเข้าใกล้ความเป็นเรื่องแต่ง (fiction) และมีรูปแบบการเขียนที่ฉีกจากขนบการเขียนแบบเดิม (conventionl) ไปไกลไม่น้อย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: