'พาณิชย์' ชี้ สธ.บังคับซองบุหรี่แบบเรียบ อาจผิด กม.เครื่องหมายการค้าและผิดกฎ WTO

10 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2629 ครั้ง


	'พาณิชย์' ชี้ สธ.บังคับซองบุหรี่แบบเรียบ อาจผิด กม.เครื่องหมายการค้าและผิดกฎ WTO

ก.พาณิชย์ เสนอความเห็นร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ระบุมาตรา 38 การกำหนดซองบุหรี่แบบเรียบ ห้ามมีสัญลักษณ์หรือยี่ห้อแปะ หวั่นกระทบสิทธิผู้ประกอบการ อาจผิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า และการให้แจ้งสูตร อาจผิดกฎหมายความลับทางการค้า แนะให้รอ WTO ตัดสินคดีที่มีการฟ้องร้องก่อน หวั่นไทยบังคับใช้อาจผิดข้อตกลงระหว่างประเทศได้ (ที่มาภาพประกอบ: independent.co.uk)

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่าขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ขัดข้องที่จะให้มีกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อสังเกตและความเป็นห่วงใน 2 มาตราของกฎหมาย ที่อาจจะกระทบสิทธิของผู้ประกอบการโดยสุจริต และผิด พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงผิด พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 ได้ จึงได้เสนอความคิดเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. และ ครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแล้ว 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เห็นว่ามาตรา 38 ที่กำหนดให้ รมว.สาธารณสุขมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อกำหนดลักษณะหีบห่อ สี สัญลักษณ์ ฉลาก รวมทั้งลักษณะการแสดงเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ยาสูบ อาจนำไปสู่การออกประกาศใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งอาจกระทบสิทธิของผู้ประกอบการโดยสุจริตที่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของตนเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าได้ และเห็นว่าควรที่จะพิจารณาออกประกาศห้ามการแสดงภาพ ข้อความ หรือเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะจูงใจให้เกิดการสูบมากกว่า       

ขณะเดียวกัน เรื่องซองบุหรี่แบบเรียบกำลังเป็นข้อพิพาทในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยออสเตรเลียได้ถูกประเทศต่างๆ เช่น ยูเครน ฮอนดูรัส สาธารณรัฐโดมินิกัน และคิวบา ยื่นฟ้องต่อ WTO หลังจากออสเตรเลียกำหนดให้ผู้ผลิตบุหรี่ต้องผลิตซองบุหรี่แบบเรียบ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจำกัดทางการค้า โดยขณะนี้ WTO อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าควรรอคำวินิจฉัยคดีพิพาทของ WTO ก่อน เพราะหากไทยนำมาบังคับใช้อาจขัดพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบการเกินสมควร     

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามาตรา 37 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถเปิดเผยรายการส่วนประกอบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบอันอาจเป็นความลับทางการค้า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า โดยไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิของเจ้าของความลับทางการค้า เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของคนไทย     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งมติ ครม.ที่เห็นชอบร่างกฎหมาย และให้กระทรวงสาธารณสุขนำข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณา รวมถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่เห็นควรให้มีมาตรการรณรงค์เพื่อลดจำหน่ายผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันและไม่เพิ่มผู้สูบรายใหม่ และการพิจารณากำหนดพื้นที่การสูบบุหรี่ให้เหมาะสม และได้ส่งร่างกฎหมายเพื่อให้ สนช.พิจารณาแล้ว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: