นักวิจัยชี้แผ่นดินไหวไต้หวันบทเรียนไทยระวังอาคารไม่ได้มาตรฐาน

8 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 2368 ครั้ง


	นักวิจัยชี้แผ่นดินไหวไต้หวันบทเรียนไทยระวังอาคารไม่ได้มาตรฐาน

นักวิจัยแผ่นดินไหว สกว. ระบุเหตุธรณีพิโรธที่ไต้หวันไม่สะเทือนถึงไทยแต่เป็นบทเรียนให้ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือและไม่ประมาท ขณะที่วิศวกรตั้งข้อสันนิษฐานอาคารที่พังถล่มไม่ได้ออกแบบก่อสร้างตามมาตรฐานหรือขาดการเสริมแรงให้ต้านทานแผ่นดินไหว จึงทำให้เกิดเหตุสลดในครั้งนี้ (ที่มาภาพ: Radio Taiwan International)

8 ก.พ. 2559 ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.4 ในพื้นที่ภาคใต้ของเกาะไต้หวันสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างในหลายเมืองโดยรอบ โดยเฉพาะในเมืองไถ่หนาน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 กิโลเมตรจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวและมีประชากรอาศัยอยู่เกือบ1 ล้านคน เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้พื้นดินมีการสั่นสะเทือนค่อนข้างรุนแรง โดยมีความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 7 ทำให้มีอาคารพังถล่มลงมาหลายหลังมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกมากพอสมควร จึงต้องคอยติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่าจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ 

ล่าสุดสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกา (US Geological Surveys, USGS) ได้รายงานว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดที่ระดับความลึกประมาณ 20 กิโลเมตรซึ่งจัดว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดค่อนข้างตื้น และเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแบบรอยเลื่อนย้อนผสมกับการเลื่อนด้านข้างร่วมด้วย ทั้งนี้เกาะไต้หวันเป็นบริเวณที่มีความซับซ้อนทางธรณีวิทยาอย่างมากเพราะอยู่บนแนวรอยต่อของแผ่นธรณีหรือแผ่นเปลือกโลกถึง 3 แผ่น ได้แก่ แผ่นแปซิฟิกแผ่นยูเรเชียและแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ซึ่งมีการชนมุดตัวกันไปมา ทำให้มีพลังงานสะสมมหาศาล ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงใหญ่หลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.6 เมื่อปี พ.ศ. 2542 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน เนื่องจากเกาะไต้หวันเป็นพื้นที่ที่ถูกบีบอัดจากการมุดตัวของแผ่นธรณี ทำให้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันและมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้หลายแนว ซึ่งแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแบบรอยเลื่อนย้อน ผสมกับการเลื่อนตัวด้านข้างเป็นครั้งคราว

“ประเทศไทยเองมีผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาคือความวิตกกังวลของแผ่นดินไหวครั้งนี้จะส่งผลต่อรอยเลื่อนต่างๆในประเทศไทยอย่างไรบ้าง เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ไกลจากประเทศไทยนับพันกิโลเมตร พลังงานที่ส่งต่อมาถึงรอยเลื่อนบ้านเราจึงมีน้อยมากและไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของเราคือมีการศึกษาด้านแผ่นดินไหวในประเทศไทยค่อนข้างน้อยมากทำให้ไม่มีโอกาสทราบว่ารอยเลื่อนในบ้านเราได้รับพลังงานสะสมไว้มากน้อยแค่ไหนมีความเสี่ยงเพียงใด รอยเลื่อนไหนเสี่ยงที่สุดที่จะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ก่อนและไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงไม่ควรประมาท และจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวของไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวและทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

ด้าน ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวฯ สกว. และเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า ไต้หวันอยู่ในแนววงแหวนไฟที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดถึง 8 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตามการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในครั้งนี้อยู่ในระดับตื้น ทำให้อาคารและอพาร์ทเมนท์ความสูง 5-20 ชั้นเสียหายได้มาก ทั้งนี้เมื่อดูจากภาพความเสียหายสามารถสันนิษฐานได้ 2 ประเด็น ประเด็นแรกเป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างนานมากแล้ว ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายควบคุมอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ทำให้อาคารเหล่านี้ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้คำนึงถึงการเสริมแรงจึงทำให้เกิดเหตุสลดในครั้งนี้ และอีกประเด็นคือหากเป็นอาคารสร้างใหม่แต่ไม่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวตามมาตรฐาน ก็อาจทำให้พังถล่มได้เช่นกัน ทั้งนี้ตามมาตรฐานแล้วจะสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์“อาคารที่พังถล่มหลายหลังมีความสูงตั้งแต่ 5-10 กว่าชั้น อาจอยู่ในช่วงที่เกิดการสั่นพ้องหรือเรโซแนนซ์กับพื้นดิน ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น จากภาพความเสียหายตามข่าวที่ปรากฏพบว่าเสาของอาคารหลายถูกทำลายสิ้นเชิง ทำให้อาคารล้มเอียงไปในทิศทางที่เสาถูกทำลาย”

ภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศไต้หวันเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: Radio Taiwan International)

 

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: