ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล (ศส.ปชต.) จึงขอให้จังหวัดแจ้งองกรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.) ในการดำเนินกิจกรรมนี้
ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล (ศส.ปชต.)
ข้อมูลจาก "คู่มือปฏิบัติงานศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล" ระบุว่าการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล ตามบันทึกตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในปี พ.ศ. 2557 จังหวัดละ 1 ตำบล จำนวน 77 แห่ง และยังไม่สามารถจัดตั้งให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2558 ได้ เนื่องจากสถานการณ์ที่กระทบต่อภารกิจและงบประมาณ รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบลที่จัดตั้งไปแล้ว ได้รับการประเมินเบื้องต้นพบว่ายังขาดทิศทางเกี่ยวกับภารกิจที่ชัดเจน จึงควรกลับมาเน้นในด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 112/2557 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 เห็นชอบ เรื่อง การขับเคลื่อนศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล (ศส.ปชต.) ประจำปี พ.ศ. 2558 ตามนโยบายของ นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการการมีส่วนร่วม เสนอให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล 1 อำเภอ 1 ศส.ปชต. จำนวน 851อำเภอ/ศูนย์ฯ รวมกับศูนย์ฯ ที่จัดตั้งในปี พ.ศ.2557แล้ว 77 ศูนย์ รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 928 ศูนย์ โดยองค์ประกอบของการจัดตั้งเพิ่มเติมให้ดำเนินการตามแนวทางที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 แต่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัวตามสภาพความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น
โดยการคัดเลือกตำบลเพื่อจัดตั้งเป็น ศส.ปชต. สามารถพิจารณาจากตำบลที่มีพื้นฐานความเข้มแข็งของชุมชนจากองค์ประกอบต่าง ๆ อาทิ เช่น (1) ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนดี มีพื้นฐานของชุมชนเข้มแข็งในเรื่องการทำกิจกรรมสามารถพัฒนาให้เป็นแบบอย่างแก่ตำบลอื่นๆ ในอำเภอ /จังหวัดได้ (2) ผู้นำในชุมชนหมู่บ้าน ตำบล มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมในการสนับสนุนภารกิจของศูนย์ฯ และที่สำคัญคือมีแนวความคิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มุ่งเสริมสร้างความรักความสามัคคี ต้องการให้ประเทศได้รับการพัฒนาไปข้างหน้า
(3) พลเมืองอาสาพัฒนาประชาธิปไตย ที่มีความรู้ความสามารถ มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการปฏิบัติงาน (4) ครู กศน. ตำบล มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบลได้เป็นอย่างดี และ (5) มีสถานที่ หรืออาคาร ที่สามารถรวมกลุ่มประชุมหารือ จัดกิจกรรมรวมกันได้ตามความเหมาะสม หรือสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมนชน ตำบล
ในด้านโครงสร้างของ ศส.ปชต. นั้น ศส.ปชต. กำหนดให้มีกรรมการ จำนวน 10 คน (โดยให้เพิ่ม ครู กศน.ตำบล 1 คน) ประกอบด้วย ประธาน 1 คน รองประธาน 1 คน กรรมการ 6 คน กรรมการและเลขานุการ 1 คน (ครู กศน.ตำบล) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน โดยคุณสมบัติของกรรมการ ศส.ปชต. นั้นต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความศรัทธาในอุดมการณ์ประชาธิปไตย มีคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองดีคือ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพในกฎ กติกา ระเบียบสังคม และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และส่วนรวม มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และเป็นแกนนำในชุมชนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน, กรรมการกองทุนหมู่บ้าน, กลุ่มสตรี ตำบล/หมู่บ้าน, อสม., กรรมการหมู่บ้าน, กปน., อาสาสมัคร กศน. ตำบล, พลเมืองอาสาพัฒนาประชาธิปไตย ที่ สนง. กกต .จว. ได้อบรมไว้แล้ว, ครู กศน. ตำบล ฯลฯ
ส่วนการการสรรหากรรมการ ศส.ปชต. นั้นอาจใช้วิธีการทำประชาคม หรือการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือวิธีอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยเน้นให้มีผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลที่ตั้งศูนย์ฯ เป็นหลัก เพื่อให้กรรมการ ศส.ปชต. ที่เป็นผู้นำชุมชนสามารถปฏิบัติงานควบคู่ไปกับวิถีชีวิตประจำวันและที่สำคัญต้องเป็นบุคคลที่มีความเต็มใจที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการ ศส.ปชต. และสามารถร่วมปฏิบัติงานได้จริงและสม่ำเสมอ
Road Map 3 ระยะ และการดำเนินการ
ทั้งนี้กิจกรรมของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล (ศส. ปชต.) ในการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ก่อนมีรัฐธรรมนูญ (ประมาณเดือนพฤษภาคม 2558) เป็นการให้ความรู้เพื่อสร้างจิตสำนึกพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมือง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ถือเป็นระยะเตรียมดินให้พลเมือง มีความพร้อมต่อการเจริญเติมโต ผลิดอกออกผลของต้นไม้ประชาธิปไตยในโอกาสต่อไป
ระยะที่ 2 เมื่อมีรัฐธรรมนูญ (หลังพฤษภาคม 2558 จนถึงสิ้นปี) เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 3 เมื่อมีการเลือกตั้ง (ต้นปี 2559) เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง และการมีจิตสำนึกในการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง
ทั้งนี้ยังให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด พิจารณาจัดทำแผนงานและโครงการ ตลอดจนขับเคลื่อนกิจกรรมการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวดังนี้
1. จัดทำแผนการปฏิบัติงาน/โครงการภายใต้วงเงินงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรให้เขตเลือกตั้งละ 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ให้สอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินโครงการเสริมสร้างความรู้ประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกันให้เกิดประสิทธิผลทางปฏิบัติอย่างสูงสุด
2. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล (ศส. ปชต.) อำเภอละ 1 ตำบล (1 ศูนย์) และอบรมกรรมการ ศส. ปชต. ศูนย์ละ 10 คน โดยใช้วิทยากรกระบวนการหลักสูตรพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย ซึ่งศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่รับผิดชอบในพื้นที่จะเป็นผู้สนับสนุนคณะวิทยากรกระบวนการ พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้กรรมการ ศส. ปชต. ทำกิจกรรมให้ความรู้ซึ่งเป็นไปตาม Road Map 3 ระยะ ในหมู่บ้าน ชุมชน ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมของชุมชน เช่น การประชุมกรรมการหมู่บ้าน การประชุมกลุ่มสตรี การประชุม อสม. การประชุมกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ทั้งนี้การให้ความรู้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและไม่ผูกติดกับงบประมาณ (แม้ไม่มีงบประมาณก็สามารถให้ความรู้ได้) สำหรับวิทยากรกระบวนการหลักสูตรพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตยเป็นพนักงานของ กกต. ที่ผ่านการอบรมการเป็นวิทยากรกระบวนการ
นอกจากนี้แล้วกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้สนับสนุนกิจกรรมของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล นี้โดยการปรับปรุง (เพิ่มเติม) หลักสูตรการฝึกอบรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัครต้นแบบประชาธิปไตย (อสปช.) ให้มีเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ตรวจสอบการเลือกตั้งให้โปร่งใสเที่ยงธรรม รวมทั้งกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัครต้นแบบประชาธิปไตย (อสปช.) และกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ได้ร่วมกันเฝ้าระวังติดตามหาข่าว สอดส่องดูแล รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกในพื้นที่ เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับอีกด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ