Twilight over Thailand

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ 7 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2379 ครั้ง


หากใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยและขายดีจนมีการพิมพ์ฉบับแปลหลายครั้ง (มากกว่าต้นฉบับภาษาอังกฤษ) จะพบว่าเนื้อหาของหนังสือซึ่งแต่งจากประสบการณ์โศกนาฏกรรมรักของมหาเทวีสุจันทรี ชาวออสเตรีย (Inge Eberhard หลังจากแต่งงานครั้งที่สองเธอใช้นามสกุลสามีใหม่ Sargent) มหาเทวีของเจ้าจ่าแสงแห่งเมืองสีป้อ มีความสนุกตื่นเต้นไม่แพ้ละครหลังข่าว แม้เนื้อหาบางส่วนในหนังสือ (รวมทั้งในหนัง) จะแตกต่างจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปบ้างแต่ก็เข้าใจได้ว่านี่คือ “นวนิยาย” จากเหตุการณ์จริงที่เธอประสบ และเป็นการตีความเหตุการณ์และสถานการณ์โดยมุมมองผู้เขียน ซึ่งผมคิดว่าเขียนออกมาได้ดีและใกล้เคียงความเป็นจริง มากกว่านิยายที่เขียนถึงช่วงสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 3 “พม่าเสียเมือง” ของ คุณชายคึกฤทธิ์ เสียอีก

นับว่าโชคดีไม่น้อย ที่ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ Twilighlight Over Burma นี้ถึงสองครั้ง ต้องขอขอบคุณ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ได้กรุณาแนะนำให้ผมได้รู้จักกับกงสุลกิตติมศักดิ์ออสเตรีย ประจำเชียงใหม่ ทำให้ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบที่ฉายเป็นการส่วนตัวที่บ้านของท่านอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะและวัฒนธรรม อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ รวมทั้ง เจ้าวรจักร ณ เชียงตุง ราชบุตร ของเจ้าผู้ครองนครเชียงตุงองค์สุดท้าย นอกจากนี้ผมยังได้รับเชิญเข้าร่วมชมในรอบพิเศษที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตที่ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองวันหลังจากได้ฉายรอบพิเศษที่จัดขึ้นที่หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ

ผมทราบมาว่า ความพยายามในการที่จะยับยั้งการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งจัดฉายรอบพิเศษแล้ว ต้องอาศัย “สายสัมพันธ์” พิเศษพอสมควรกว่าจะมีการยินยอมให้ฉายรอบพิเศษที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ได้อย่างหวุดหวิด สำหรับการถอดภาพยนตร์ออกจาก Thailand Film Destination Festival เหตุผลที่ผู้จัดแจ้งในตอนแรกคือมีความขัดข้องทาง ”เทคนิค” ซึ่งในความเป็นจริงไม่น่าจะขัดข้องอะไรเพราะเท่าที่ทราบตัวหนังที่ผู้สร้างเตรียมไว้ให้อยู่ในรูปแผ่นบลูเรย์  ซับไตเติ้ลภาษาไทยก็มีอยู่พร้อมแล้ว และหากเป็นไปตามที่มติชนออนไลน์เสนอข่าวว่าภาพยนตร์ถูกถอดเพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์ ไทย-พม่า ก็ยิ่งไม่เข้าท่ายิ่งกว่า ก็ทีตำนานสมเด็จพระนเรศวรที่ทำออกมาตั้งหลายภาคนั้น ผมคิดว่าอาจจะมีเนื้อหากระทบความสัมพันธ์ ไทย-พม่า ยิ่งกว่านี้หลายเท่า

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำในประเทศไทยหลายจังหวัด ช่วงระหว่างวันที่ 3-30 พฤศจิกายน 2557 ภาพยนตร์ที่จะมาถ่ายทำในประเทศไทยจะต้องมีการขออนุญาตจากกองกิจการภาพยนตร์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการตรวจสอบสคริปต์ นอกจากนี้คณะกรรมการกองกิจการภาพยนตร์จะส่งตัวแทนไปควบคุมระหว่างถ่ายทำ ผู้สร้างมีความสงสัยว่าถ้าเนื้อหาของภาพยนตร์มีปัญหาทำไมจึงอนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทย ผู้จัดงานให้คำตอบว่าคณะกรรมการชุดที่ให้อนุญาตใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำและคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์นั้นเป็นกรรมการคนละชุดกัน

ผมคิดว่าเหตุผลเดียวที่หนังเรื่องนี้ถูกถอด คือเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลทหารในพม่า นายพล เน วิน ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้งของอูนุ ในปี 1962 ด้วยข้ออ้างว่าต้องการให้ประเทศมีความสงบจากการขัดแย้งและสงครามกลางเมือง เน วิน อยู่ในอำนาจนถึง 26 ปี เปลี่ยนแปลงพม่าไปมากจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเน่าๆ

หนึ่งปีก่อนหน้าที่ นายพล เน วิน จะลงจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดในปี 1988 องค์การสหประชาชาติประกาศให้พม่าเป็นหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด

ทันทีที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ายึดอำนาจ ก็กวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่าง หนึ่งในนั้นก็คือเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ จนบัดนี้ยังไม่มีใครทราบว่าหลังจากรัฐบาลทหารคุมตัวเจ้าจ่าแสงไป ชะตากรรมของเจ้าจะเป็นอย่างไร

ในสภาปฏิวัติ (Revolutionary Council) ซึ่ง เน วิน ตั้งขึ้นมาบริหารประเทศแทนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งนั้นนั้น ไม่มีพลเมืองอยู่เลยสักคนเดียว สภาปฏิวัติ ส่งนายทหารเข้าควบคุมกิจการของรัฐ ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งไปสู่เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ยึดกิจการของเอกชนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร วิสาหกิจขนาดใหญ่ โรงงาน กิจการคมนาคมขนส่ง ร้านค้า แม้กระทั่งโรงเรียนก็ถูกยึดมาเป็นของรัฐ (Burmanization) แล้วแต่งตั้งนายทหารมาบริหาร ขับไล่ชาวจีนและอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเล็กน้อยๆ กว่าแสนคนออกนอกประเทศ โดยไม่คำนึงถึงว่าพ่อค้าชาวจีนและอินเดียเหล่านี้เป็นเจ้าของเครือข่ายที่สามารถกระจายสินค้าจากเมืองไปสู่ชนบท เมื่อเครือข่ายเหล่านี้ถูกทำลาย ไม่นานหายนะทางเศรษฐกิจก็มาเยือน เพราะรัฐบาลทหารมุ่งแต่ใช้งบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยและคอมมิวนิสต์ และนายทหารที่บริหารประเทศนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งยังมีการทุจริตกันอย่างแพร่หลาย

ก่อนหน้าที่จะถูกทหารยึดอำนาจ พม่าไม่ได้ยากจน เมื่อเทียบกับประเทศไทย พม่าอาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ ด้วยความที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้พม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างจริงๆ จังๆ ก่อนประเทศไทย ทุนนิยมในพม่าพัฒนาไปไกลกว่าไทยมาก เพราะเจ้าอาณานิคมอังกฤษทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) ในพม่า ซึ่งมีมาก่อนประเทศไทยเกือบร้อยปี มหาวิทยาลัยในพม่าถูกจัดเป็นลำดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย ประเทศไทยเสียอีกที่ต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากพม่า

กว่าครึ่งศตวรรษที่ทหารเข้ามามีอำนาจนับจาก 1962 พม่าที่เคยรุ่งเรืองก็เป็นอย่างที่เราเห็น จากที่เคยผลิตสินค้าส่งออกมาขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน พม่าเป็นประเทศที่ซื้อเกือบทุกอย่างจากเพื่อนบ้าน ชาวพม่าต้องออกหนีออกไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน ถูกเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่ขบวนการจัดหาแรงงาน นายหน้า ผู้นำทาง นายจ้าง เจ้าหน้าที่ของประเทศปลายทาง และยังถูกดูแคลนจากประชาชนของประเทศนั้นๆ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกย่ำยีแทบไม่เหลือ แต่ที่ต้องทนก็เพราะไม่มีทางเลือก

ผมว่าสาเหตุที่ภาพยนตร์ Twilight Over Burma ไม่ได้ฉาย ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือไปจากเนื้อหาของภาพยนตร์ อาจทำให้คนในสังคมไทยที่ได้รับชมตั้งคำถาม ว่า นี่ตกลงเราอาศัยอยู่ในพม่าหลัง 1962 หรือ ประเทศไทย 2016 กันแน่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: