“ชาวนาค้าหม้อดิน” ในบริบทการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชนบทอีสานในลุ่มน้ำราษีไศล

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 7 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3923 ครั้ง


ซึ่ง Colin and Nadin (2010  and 2012)  กล่าวว่า คนชนบทจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกกลายเป็นผู้ประกอบการในเศรษฐกิจไม่เป็นทางการมายาวนานซึ่งเป็นกลยุทธ์การดำรงชีพที่สำคัญเพื่อให้ครอบครัวมั่นคงปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเนื่องจากครอบครัวสามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ความหลากหลายและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ (Wei 2014)

การเป็นผู้ประกอบการปั้นหม้อและค้าขายหม้อดินของครอบครัวชาวนาในที่ราบลุ่มราษีไศลเกิดจากสมาชิกของครอบครัวมีฐานความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่สั่งสมความเชี่ยวชาญและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัว ซึ่งในงานเขียนนี้เห็นว่าสอดคล้องกับคำนิยามของนักวิชาการรุ่นเก่าๆได้เป็นอย่างดีว่าด้วยความหมายของการเป็นผู้ประกอบการ เช่น  Schumpeter (1950; 1961อ้างใน Naude 2013:5) ที่ว่าผู้ประกอบการคือผู้มีนวัตกรรม (Innovator) ส่วน Kirzner (1973 อ้างใน Naude 2013:6) นิยามว่า ผู้ประกอบการคือใครสักคนหนึ่งผู้ซึ่งสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงโดยการแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างกำไรในสังคมแบบตลาดได้ดี ส่วน Naude (2011) เห็นว่าผู้ประกอบการคือกลุ่มคนที่สามารถสร้างงานด้วยตัวเองและมักปรากฎเห็นในเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการภาคชนบท

บทความขนาดสั้นต้องการชี้ให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชนบทอีสานและการก้าวออกจากการเป็นชาวนา (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2554) เช่น การย้ายถิ่น และมีการศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อมีอาชีพที่มั่นคง การแข่งขันของอาชีพใหม่ที่มาพร้อมกับแรงจูงใจด้านรายได้ที่มากกว่า เช่น การปลูกหอมแดง การเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการพัฒนาชลประทาน ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปั้นหม้อในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจไม่เป็นทางการปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆจนทำให้จำนวนผู้ประกอบการปั้นหม้อลดลงไปมากในปัจจุบันซึ่งชาวนาได้พยายามหากลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในบริบทดังกล่าว

ความเป็นมาของผู้ประกอบการปั้นหม้อดิน[1]

หมู่บ้านในที่ราบลุ่มราษีไศลที่ยังคงทำอาชีพปั้นหม้อมานับจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีสองหมู่บ้านได้แก่บ้านโก ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล และบ้านโพนทราย ตำบลหนองบัว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ สำหรับบ้านโกนั้น ในอดีตเมื่อ70-80 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไทยโคราชจำนวน   14 ครอบครัวชักชวนกันอพยพจากอำเภอกลาง (ปัจจุบันคือ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา) ลงมาตามลำน้ำมูล เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเผชิญกับความแห้งแล้ง การหาอยู่หากินยากลำบาก โดยมีอาชีพที่ติดตัวมาคือการปั้นหม้อ เมื่อมาถึงบ้านโก พบว่ามีดินที่เหมาะสมแก่การปั้นหม้อ จึงได้ตั้งชุมชน ส่วนบ้านโพนทรายนั้น ชาวบ้านอพยพมาจากเวียงจันทน์ ประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว ต่อมาเมื่อชาวบ้านจากบ้านโกบางคนได้นำหม้อดินและแอ่งดินมาขายตามลำน้ำมูล และพบว่าบ้านโพนทรายมีดินเหมาะสมสำหรับตีหม้อได้ จึงกลับไปชักชวนสมาชิกในครอบครัวมาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ร่วมกับบ้านโพนทรายและปั้นหม้อในหมู่บ้านโพนทรายด้วย ส่วนชาวบ้านที่มาจากเวียงจันทน์ มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ก่อนปี พ.ศ. 2520 การปั้นหม้อของชาวบ้านโกถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้เพราะเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทำอาชีพนี้ มีชาวบ้านส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำนา ส่วนบ้านโพนทราย มีครัวเรือนปั้นหม้อ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ การปั้นหม้อทำในฤดูแล้งเป็นระยะเวลา 6 เดือน ชาวบ้านถือโอกาสพักผ่อนในฤดูฝน แรงงานในการปั้นหม้อมีทุกเพศทุกวัย โดยเริ่มตั้งแต่ อายุ 13 ปี และชาวบ้านแทบทั้งหมดอยู่ในหมู่บ้านมีชาวบ้านจำนวนน้อยมากออกไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดซึ่งในยุคนั้นหากชาวบ้านคนใดไปทำงานกรุงเทพถือว่าเป็นคนจนไม่พออยู่พอกิน  นอกจากปั้นหม้อแล้ว ชาวบ้านเลี้ยงสัตว์และปลูปพืชผัก การปั้นหม้อในอดีตก่อนปี 2540 แทบไม่ต้องใช้ต้นทุนใดๆเลย ปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้จากการปั้นหม้อดินขายเฉลี่ยประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท (หนึ่งปีสามารถปั้นได้ 6 เดือน เท่ากับใน 1 ปีจะมีรายได้ประมาณปีละ 36,000-42,000 บาทต่อครัวเรือน)  ปัจจุบัน การปั้นหม้อสร้างงานให้คนบางคน เช่น เกิดอาชีพขายดินสำหรับปั้นหม้อโดยมีรายได้เฉลี่ยจากการขายดินประมาณปีละ 6,000 บาท หรือขายดินราคา 50 บาท/หลุม อาชีพรับจ้างขุดดินมาขายให้คนปั้นหม้อในราคาคันละ 70 บาท (รถเข็น) หรือ ขายฟื้นให้คนปั้นหม้อ คันละ 150-200 บาท (รถเข็น) เป็นต้น

ภาพถ่ายโดย : กนกวรรณ มะโนรมย์

ยุคสมัยของการขายหม้อ

การปั้นหม้อและเร่ขายหม้อดินของชาวนาสามารถแบ่งออกตามยุคสมัยโดยพิจารณาจากพาหนะในการขนส่งหม้อดินไปขายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเริ่มจาก ยุคเกวียน เรือ เดินท้าวและรถไฟ เป็นยุคที่การปั้นหม้อมีจุดหมายเพื่อการแลกเปลี่ยนข้าว อาหาร ของใช้ที่จำเป็นและค้าขายควบคู่กันไป ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านที่ปั้นหม้อออกตระเวนนำหม้อดินของตนไปแลกข้าวรวมไปถึงซื้อขายแลกเปลี่ยน บางครอบครัวเดินทางไปทั้งสามีและภรรยา บางครอบครัวไปเฉพาะสามี ซึ่งพาหนะยุคนี้คือ เกวียน เรือ และรถไป สำหรับเกวียนนั้น ชาวบ้านใช้เกวียนเดินทางไปตามที่ต่างๆที่มีทางเกวียน ในเขตอำเภอมหาชนะชัย  เขตอำเภอเขื่องใน เขตอำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอพนมไพร ส่วนบางรายเดินทางตามลำน้ำมูลโดยทางเรือ โดยแล่นเรือแลกข้าวด้วยหม้อตามหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำมูล เช่น บ้านท่าลาด  บ้านหนองหวาย  บ้านหนองโอง  ห้วยขะยุง  และเมืองอุบลราชธานี เมื่อพวกเขาพายเรือไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วจะจอดเรือไว้ แล้วหาบหม้อไปแลกข้าวจากนั้นก็พายเรือกลับมา ส่วน ชาวบ้านที่ไม่มีเกวียนก็จะอาศัยหาบไปขายหรือแลกข้าวในพื้นที่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านตัวเอง เช่นภายในตำบลส้มป่อย และตำบลไผ่ ซึ่งล้วนแล้วเป็นพื้นที่ที่ชาวปั้นหม้อคุ้นเคยเป็นอย่างดี การเดินทางแต่ละครั้งจะเดินทางไปเป็นหมู่คณะๆ ละ4-7 คนไปคราวละ 7 -12 วันจึงกลับมา อัตราการแลกข้าวต่อหม้อแอ่ง คือ 1 ใบแลกกับขาวเปลือกเต็มแอ่งที่ใช้แลก บางคราวก็แลกเป็นชุดหม้อแต่ละชนิดไป บางคนหาบหม้อขึ้นรถไฟไปแลกข้าวที่เมืองศรีษะเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย และเขตพื้นที่ใกล้กับสถานีรถไฟ  ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มพ่อค้ามารับซื้อหม้อที่สถานีรถไฟและหาบไปขายต่อในบ้านต่างๆ เช่น บ้านหนองขุน บ้านน้ำเกลี้ยง บ้านผักแพง และบ้านสวนฝ้าย จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาเข้าสู ยุครถเข็น หรือภาษาอีสานเรียกว่า “รถซุก” ชาวบ้านเข็นรถไปแลกข้าวข้ามเขตอำเภอที่เคยไป เช่น กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และ การหลับนอนจะอาศัยที่วัดและข้าวก้นบาตรด้วยส่วนหนึ่ง บ้างก็หุงหากินเอง หลังจากนั้นเข้าสู่ยุครถไถนาเดินตาม ชาวบ้านจะนำหม้อดินไปแลกข้าวเขตที่เคยไปเช่น อำเภอมหาชนะชัย อำเภอพนมไพรเป็นต้น ปัจจุบันเป็นยุครถกระบะ ที่ชาวบ้านไม่ต้องออกไปเร่ขายหม้อด้วยตัวเอง เพราะมีกลุ่มพ่อค้าจากภายนอกมารับซื้อหม้อไปขายตามอำเภอและจังหวัดต่างๆในอีสานตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งเริ่มประมาณ 10 ปีที่แล้ว อาทิ จังหวัดศรีษะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ (อ.ท่าตูม) กันทราลักษณ์  กันทรารมย์ ขุนหาญ น้ำยืน (จ.อุบลราชธานี)  สุรินทร์  และยโสธร

เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงการปั้นหม้อ

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2551) มีชาวบ้านปั้นหม้อในหมู่บ้านโกเหลือเพียง 13 คน และมีเพียงหนึ่งรายที่ปั้นหม้อเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว ส่วน บ้านโพนทรายนั้นเหลือคนปั้นหม้อไม่ถึง10 ครอบครัว เงื่อนไขที่ทำให้จำนวนครัวเรือนการปั้นหม้อลดลงไปมากคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบทอีสาน (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2554) ที่คนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นออกจากชุมชนทั้งการทำงานและการศึกษา รวมทั้งการใช้ทุนมากขึ้นแทนการใช้ที่ดินในการสะสมความมั่งคั่งของครัวเรือนผ่านการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายเพื่อการดำรงชีพจากนอกภาคเกษตามากขึ้น (Rigg and Sakunee 2001) ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นไปทำงานในกรุงเทพฯและภาคเมืองรวมทั้งเข้าสู่ระบบการศึกษาและมีรายได้จากกิจกรรมนอกภาคเกษตรกรรมทำให้ขาดแคลนแรงงานในการปั้นหม้อขณะเดียวกัน ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจเรื่องการศึกษาของลูก ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้ลูกเรียนต่อในระดับชั้น มัธยมศึกษา วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย จึงทำให้ไม่ค่อยเห็นกลุ่มวัยรุ่นปั้นหม้ออีกต่อไป ปัจจุบันกลุ่มปั้นหม้อจะอยู่ในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างไปจากในอดีตที่ไม่สนใจในเรื่องดังกล่าว ดังที่ชาวบ้านเล่าว่า ในอดีตวัยรุ่นจะอยู่บ้านปั้นหม้อ ไม่ค่อยมีคนออกไปทำงานรับจ้างข้างนอก กอปรกับปัจจุบันชาวบ้านที่ปั้นหม้อต้องเลี้ยงหลานให้กับลูกของตนที่นำมาฝากไว้ระหว่างไปรับจ้างต่างถิ่น  ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ค่อย ๆลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

ภาพถ่ายโดย : กนกวรรณ มะโนรมย์

เงื่อนไขประการต่อมาคือกิจกรรมการดำรงชีพที่หลากหลายของครัวเรือนที่มีมากขึ้นทำให้การปั้นหม้อไม่เป็นอาชีพหลักอีกต่อไป ชาวบ้านเห็นว่าการพึ่งพาการปั้นหม้อเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลต่อความไม่พอเพียงในการดำรงชีพของครอบครัว พวกเขาจึงสร้างอาชีพใหม่ๆเพิ่มขึ้นที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำนั่นคือการปลูกหอมแดงซึ่งเริ่มตั้งราวๆช่วงปี พ.ศ. 2525 โดยใช้พันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งได้ผลผลิตดีและรายได้ดีมากกว่าการปั้นหม้อ ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยกันปลูกหอมแดงมากขึ้น ซึ่งสามารถทำควบคู่กับการปลูกหอมแดงได้ เช่น ชาวบ้านปั้นหม้อในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนพร้อมๆไปกับการเก็บกู้หอมแดง ส่วนคนที่ไม่ได้ปลูกหอมแดงก็เป็นแรงงานรับจ้างในแปลงหอมแดง เช่น เก็บกู้หอม ขณะเดียวกันชาวบ้านปั้นหมอที่พอมีทุนที่สะสมได้จากการขายหม้อได้นำเงินซื้อที่ดินเพื่อทำนาเพื่อไม่ต้องซื้อข้าวกินเอง หลายครอบครัวได้ทำนาปรังในพื้นที่บุ่งทามช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และทำนาปี ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน นอกจากนี้ชาวบ้านยังเลี้ยงวัวควายเพิ่มขึ้นซึ่งถือเป็นรายได้สะสมในรูปเงินออม

นอกจากนี้ ยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของกรรมสิทธิ์ในแหล่งดินปั้นหม้อก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การปั้นหม้อลดลงไป กล่าวคือในอดีตในหลุมดินที่ชาวบ้านนำมาปั้นหม้อนั้นไม่ใด้ระบุเจ้าของที่ดินเพราะเป็นแหล่งดินสาธารณะที่ชาวบ้านปั้นหม้อคนใดก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทามมีน้ำท่วมถึงทุกปี ช่วงที่น้ำท่วมบริเวณหลุมดินที่ถูกขุดไปก็จะคืนสภาพปกติ และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเป็นเวลานาน สมัยก่อนไม่มีการขายดินปั้นหม้อ ใครอยากขุดบริเวณไหนก็สามารถขุดได้เลย กรณีที่มีคนไปขุดก่อนแล้ว คนอื่นก็จะไปหาขุดที่ใหม่ ซึ่งการขุดดินจะไม่จำเพาะความกว้างและลึกแต่จะขุดออกไปเรื่อยๆและขยายเป็นวงกว้าง ขุดแล้วถมไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันพบว่าส่วนหนึ่งของที่ดินที่เป็นแหล่งดินสำหรับการปั้นหม้ออยู่ในการครอบครองที่เจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านปั้นหม้อจึงเข้าถึงแหล่งดินปั้นหม้อได้ยากมากขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์การซื้อขายดินปั้นหม้อขึ้นมาซึ่งมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านมีต้นทุนการการปั้นหม้อ เช่น กรณีในกรณีบ้านโพนทราย ที่ชาวบ้านมีหลุมดินที่สามารถนำมาใช้ปั้นหม้อเพียงแห่งเดียว คือ หนองอีแป้น ปัจจุบัน แหล่งดินในหนองนี้ส่วนใหญ่เป็นที่นาของชาวบ้าน 4 ราย  ผู้ประกอบการปั้นหม้อจึงรวมกลุ่มกันซื้อดินมาปั้นหม้อหลุมละ 500 บาท อย่างไรก็ตามเจ้าของที่ดินได้เรียกร้องราคาขายดินปั้นหม้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางรายเรียกเงินถึง 10,000 บาทก็มี จึงจะขายดินปั้นหม้อให้ซึ่งกลุ่มปั้นหม้อจะต้องรวบรวมเงินกันไปซื้อซึ่งค่อนข้างยากลำบากมากขึ้น

ภาพขนดินขาย
ภาพถ่ายโดย : กนกวรรณ มะโนรมย์

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา การพัฒนาระบบชลประทานโดยการสร้างฝายหลายแห่งตามลำน้ำมูลทำให้น้ำท่วมแหล่งดินปั้นหม้อ เช่น การปิดฝายในเขตตำบลดูนทำให้ปริมาณน้ำล้นเข้ามาท่วมพื้นที่ดินปั้นหม้อของชาวบ้านโก ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพนี้  ชาวบ้านเล่าว่า น้ำท่วมขังเป็นเวลานานส่งผลต่อคุณภาพของดินเนื่องจากน้ำที่ไหลเข้ามาท่วมดินในพื้นที่ทามไม่เป็นไปตามฤดูกาลธรรมชาติ และยิ่งจะวิกฤตมากขึ้นหากเขื่อนหัวนาเก็บกักน้ำ ซึ่งจะทำให้แหล่งดินปั้นหม้อเกือบทั้งหมดในทั้งบ้านโกและบ้านโพนทรายสูญหายไปอย่างถาวร

การลดลงของไม้ฟืนในป่าทามเนื่องการการถางป่าเพื่อทำการเกษตรต่างๆ ก็เป็นเหตุผลประกอบในการละทิ้งอาชีพการปั้นหม้อ กล่าวคือชาวบ้านขาดแคลนไม้ฟื้นในการเผาและอบดิน แม้ว่าชาวบ้านได้แก้ปัญหาด้วยการปลูกไม้ยูคาเพื่อใช้และขายในลักษณะ “ตัดปลาย ขายต้น” โดยนำเอาส่วนปลายไม้ยูคามาทำฟืน และนำส่วนต้นๆของไม้ไปขาย  อย่างไรก็ตามการมีไม้ฟื้นจากไม้ยูคาลิปตัสก็ไม่ช่วยป้องกันการสูญหายของผู้ประกอบการค้าหม้อได้มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุผลประกอบอื่นๆแล้ว

แม้ว่ารัฐได้เข้ามาสนับสนุนการประกอบการปั้นหม้อแต่ไม่ได้ผลมากนักเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรและการพัฒนาใหม่ๆ เช่น ในปี พ.ศ. 2541 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กลุ่มผู้ปั้นหม้อในหมู่บ้านโก โดยการมอบเครื่องบดดิน เครื่องตีดิน สร้างโรงอบหม้อ และเตาเผา รวมทั้งสนับสนุนการตั้งกลุ่มปั้นหม้ออย่างเป็นทางการ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ สมาชิก 10 คนที่เข้าเป็นสมาชิก แต่ปัจจุบันสมาชิกทยอยหายออกไปจากกลุ่ม ปัจจุบันเหลือเพียง 4  ราย ( พ.ศ. 2551) ชาวบ้านให้เหตุผลการลาออกจากกลุ่มว่า พวกเขาไม่ชอบการปั้นด้วยเครื่องเพราะไม่คุ้นชิน เนื่องจากปั้นยากและต้องเสียเวลามากในการเรียนรู้การปั้นด้วยเครื่อง ชาวบ้านใช้มือปั้นอย่างเดิมดีกว่านอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านอื่นๆที่ทำให้โครงการสนับสนุนการปั้นหม้อของรัฐล้มเหลวได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่สูงมากทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ฟืน โดยเฉพาะไม้ฟื้นที่ต้องใช้ฟืนขนาดใหญ่ราคาแพงเพื่อให้สอดคล้องกับเครื่องปั้นขนาดใหญ่ อีกทั้งเครื่องปั้นมีไม่พอจำนวนสมาชิก ดังนั้น ชาวบ้านจึงหวนกลับไปใช้วิธีการปั้นหม้อแบบดั้งเดิมที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า ส่วน กรณีบ้านโพนทรายนั้น พบว่ามีการรวมกลุ่มสมาชิกเป็นกลุ่มตีหม้อ เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2544 และเขียนโครงการขอสนับสนุนจากกองทุนเพื่อสังคม แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน มีสมาชิกเริ่มแรก 37 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 70 คน สมาชิกมีหุ้นคนละ 100 บาท และนำหม้อมารวมเป็นทุนคนละ 5 ใบ เพื่อเป็นทุนสำหรับกลุ่ม พัฒนากรสนับสนุนงบประมาณ 1,000 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุน 7,600 บาท (ปี พ.ศ.2551)

แรงกดดัน การปรับตัวและ ความหวังของผู้ประกอบการปั้นหม้อภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบท

ชาวบ้านส่วนหนึ่งพยายามจัดการกับความเสี่ยงในการประกอบการปั้นหม้อโดยทำอาชีพใหม่ๆเพิ่มเติมเสริมกับรายได้จากการปั้นหม้อพร้อมกับปรับเปลี่ยนรูปแบบการปั้นโดยริเริ่มปั้นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือนแบบใหม่อีกด้วย เช่น กระถางดินสำหรับปลูกต้นไม้ และ เตาถ่านสำหรับร้านเนื้อย่าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การยังคงรักษาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการหม้อดินเอาไว้เป็นสิ่งน่าท้าทายเพราะในอีกด้านหนึ่งชาวบ้านไม่อยากให้อาชีพนี้สูญหายไปเนื่องจากการปั้นหม้อยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ อีกทั้งเป็นอาชีพที่สืบทอดต่อๆกันมา การปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ๆอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากการปั้นหม้อใช้ต้นทุนต่ำ และชาวบ้านมีความรู้และมีรายได้ชัดเจน ส่วนอาชีพอื่นๆ นั้นอาจจะไม่มีรายได้ที่แน่นอนเท่ากับการปั้นหม้อ ดังที่ชาวบ้านผู้ยังคงปั้นหม้อให้ความเห็นว่าการปั้นหม้อเป็นอาชีพที่เป็นภูมิปัญญาซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การจะยกเลิกไม่ประกอบอาชีพและหันไปประกอบอาชีพอื่น แม้จะเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ไม่น่าจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในอนาคตได้ เนื่องจากการปั้นหม้อเป็นทักษะเฉพาะชุมชน หรืออาศัยความชำนาญส่วนบุคคล ทำให้สามารถเป็นรายได้หลักในการจุนเจือครอบครัวได้

แม้ว่าการปั้นหม้อจะลดลงไปมากแต่ชาวนาผู้ยังคงปั้นหม้ออยู่คาดการณ์ว่าแนวโน้มในอนาคตชาวบ้านอาจหันกลับมาทำอาชีพการปั้นหม้อมากขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจต่ำ ในขณะที่การปลูกหอมนั้นมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆและทำให้เกิดหนี้สินจำนวนมากมายได้ในการผลิตแต่ละครั้งหากราคาท้องตลาดต่ำลง ดังคำกล่าวของชาวบ้านที่ว่า “ปั้นหม้อพอเพียง ปลูกหอมเพียงคอ (หนี้สิน)” นอกจากนี้ยังมีลูกหลานหลายๆคนมีความรู้ในเรื่องปั้นหม้ออยู่ หากราคาหม้อมีราคาดีขึ้นมีตลาดรองรับมากขึ้น ชาวบ้านในชุมชนที่ปั้นหม้อได้คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อาชีพปั้นหม้อจะได้รับความนิยมอีกครั้ง นอกจากนี้ชาวบ้านผู้ยังคงปั้นหม้อยังได้ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการปั้นภาชนะใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว

การประกอบการปั้นหม้อถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เป็นทางการที่เกิดนอกขอบเขตความรับผิดชอบและไม่มีการควบคุมและจัดการของรัฐทั้งในเชิงนโยบาย กฎหมาย และทรัพยากร แต่ชาวชนบทสามารถสร้างงานด้วยตัวเองจากทักษะและความรู้ท้องถิ่น (Chen 2007) ซึ่ง Thanh Thai and Turkina (2013)  กล่าวว่าประโยชน์ของเศรษฐกิจรูปแบบนี้อาจประมาณได้ว่ามีมูลค่าถึง30เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเศรษฐกิจของโลกทั้งหมดซึ่งสามารถลดปัญหาความอดอยากและความยากจนในกลุ่มประชากรจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนา

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบทอีสานในปัจจุบัน ที่คนจำนวนมากก้าวออกจากภาคการเกษตร และการเน้นการใช้ทุนมากขึ้น (อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2554) ได้ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของผู้ประกอบการค้าขายหม้อดินในปัจจุบันเป็นอย่างมากทั้ง ในแง่การสั่นคลอนของการเป็นผู้มีนวัตกรรมที่ไม่แน่นอนว่าจะมีผู้สืบทอดนวัตกรรมนี้ต่อไปในอนาคตหรือไม่อย่างไร รวมทั้งต้องเผชิญกับแรงกดดันและการดิ้นรนหาทางเลือกผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงๆแต่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากต้นทุนสูงและราคาถูกกำหนดโดยตลาดโดยผลิตพืชเงินสดใหม่ๆ เช่น หอมแดง เนื่องจากเห็นว่าได้กำไรมากกว่าปั้นหม้อแต่ก็ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนและหนี้สินเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงมากในการผลิตพืชเงินสดชนิดนี้ นอกจากนี้ ชาวบ้านเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน แหล่งดินและไม้ฟืนในการปั้นหม้อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินและรวมทั้งนโยบายการพัฒนาของรัฐเช่นระบบชลประทานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทามและแหล่งดินปั้นหม้ออีกด้วย

 

อ้างอิง

กนกวรรณ มะโนรมย์และสุรสม กฤษณะจูฑะ. 2552. รายงายการประเมินผลกระทบทางสังคมโครงการฝายหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ. ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2554. ชนบทอีสานปรับโครงสร้าง ชาวบ้านปรับอะไร ใน เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน. วารสารศิลปศาสตร์. ฉบับพิเศษ (1) หน้า 6-35.

Chen, A. 2007. Rethinking the Informal Economy: Linkages with the Formal Economy and the Formal Rehttp://www.un.org/esa/desa/papers/2007/wp46_2007.pdfgulatory Environment DESA Working Paper No. 46 ST/ESA/2007/DWP/46 July 2007. Accessed May 28 2016.

Colin, W and Sara, N. 2010.  Entrepreneuraship and the informal economy: An Overview. Journal of Development Entrepreneuraship. 15(361) DOI:http://dx.doi.org/10.1142/S1084946710001683. Access May 28, 2016.

Colin, W and Sara, Nadin. 2012. "Tackling entrepreneurship in the informal economy: evaluating the policy options", Journal of Entrepreneurship and Public Policy, Vol. 1 Iss: 2, pp.111 - 124 DOIhttp://dx.doi.org/10.1108/20452101211261408. Accessed May 28, 20160.

Naud´e, W. 2011. Entrepreneurship is not a Binding Constraint on Growth and Development in the Poorest Countries. World Development, 39 (1):33–44.

Naud’e, W. 2013. Entrepreneurship and Economic Development: Theory, Evidence and Policy. IZA Discussion Paper No. 7507 in http://ftp.iza.org/dp7507.pdf. Accessed May 28, 2016.

Rigg, J and Sakunee Nattpoolwat. 2001. Embracing the Global in Thailand: Activism and Pragmatism in an Era of Deagrarianization. World Development. 29 (6): 945-960.

Wei Brian. 2014.  Enhancing Entrepreneurship through Livelihood Risk Reduction: Community-Based Micro-Projects for Decentralized, Localized Economic Development. Humanitarian Research & Innovation Grant Programme, in https://docs.unocha.org/sites/dms/Documents/WEI%20-%20Enhancing%20Entrepreneurship%20through%20Livelihood%20Risk%20Reduction.pdf. Accessed May 28, 2016.

Thanh Thai Mai Thi and Mai and Ekaterina Turkina. 2013. Entrepreneuraship in the formal economy. Routledge.

 



[1] ข้อมูลภาคสนามการปั้นหม้อทั้งหมดมาจาก กนกวรรณ มะโนรมย์ และ สุรสม กฤษณะจูฑะ 2552. โครงการประเมินผลกระทบทางสังคมฝายหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ. ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: