เร่งช่วย 39 แรงงานพม่าร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้างที่ จ.ปทุมธานี

6 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2366 ครั้ง


	เร่งช่วย 39 แรงงานพม่าร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้างที่ จ.ปทุมธานี

กระทรวงแรงงานเผยกำลังเร่งช่วยเหลือกรณีแรงงานสัญชาติพม่าจำนวน 57 คน ซึ่งทำงานกับนายจ้างที่ จ.ปทุมธานี ร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้างระบุว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหลายประการ 

6 พ.ค. 2559 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2559 ว่าตามที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 57 คน ซึ่งทำงานกับนายจ้างบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 30/8 ซอยอารีย์อุทิศ ถ.ปทุมสัมพันธ์ ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้าง โดยอ้างว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหลายประการ เช่น ไม่จ่ายค่าจ้างงวดสุดท้าย ไม่นำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามกฎหมาย ไม่ให้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไม่จ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาและนายจ้างประกาศให้ลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางาน จ.ปทุมธานี ตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียน พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายจ้างบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ จำกัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้การช่วยเหลือในการเปลี่ยนนายจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นแรงงานต่างด้าวทั้ง 57 คน ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม และในจำนวนดังกล่าวมี 37 คน ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุ และบริษัทไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ และอีก 2 คน ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ แต่บริษัทได้ยกเลิกใบอนุญาตทำงานแล้ว

ดังนั้นแรงงานต่างด้าวทั้ง 39 คนจึงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ และขณะนี้แรงงานกลุ่มดังกล่าวกำลังรอการบรรจุงานใหม่ที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จำกัด จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ส่วนที่เหลืออีก 18 คน ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ ซึ่งกรมการจัดหางานได้แจ้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขอความร่วมมือบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ แม่สอด จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง หากไม่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวทั้ง 18 คนทำงานต่อไป ขอให้ยกเลิกใบอนุญาตทำงาน เพื่อแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะได้เปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น

อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวด้วยว่า แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับการดูแลและช่วยเหลือเบื้องต้นจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ทั้งด้านที่พักและอาหาร ตลอดจนการประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานภายใต้ MOU สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ในกรณี 1.นายจ้างเสียชีวิต 2.นายจ้างเลิกจ้างและเลิกกิจการ 3.นายจ้างกระทำทารุณกรรม 4.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน อย่างไรก็ตามหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ส่วนเรื่องการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ให้จดทะเบียนเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 59 ที่เห็นชอบการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน มารายงานตัวทำบัตรใหม่ภายใน 120 วัน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. 2559

ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ชำระค่าธรรมเนียม มีจุดบริการชำระเงิน (Counter Service) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 แล้วนำใบรับรองแพทย์และบัตรสีชมพูหรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ไปชำระค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 1,900 บาท แบ่งเป็นค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี จำนวน 1,800 บาท กรณีชำระค่าบริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 10 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน

จากนั้น นำแรงงานต่างด้าวไปศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ตามแต่ละพื้นที่กำหนด โดยนำเอกสารบัตรสีชมพู หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้/ใบเสร็จรับเงินชำระค่าธรรมเนียม/ใบรับรองแพทย์/ใบนัด และคำขออนุญาตทำงาน ตท.8 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับรายงานตัวและจัดทำบัตรใหม่ให้ โดยจะทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: