ประชากรเมืองกว่า 700 ล้านคนในโลกยังขาดแคลน ‘ห้องสุขา’ ถูกสุขลักษณะ

ทีมข่าว TCIJ : 4 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3630 ครั้ง

ห้องสุขาถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคสมัยใหม่ แต่ปัจจุบัน ยังพบว่าผู้คนในแถบประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะเพียงพอต่อจำนวนประชากร ปัญหาการขาดแคลนห้องสุขาที่สุขลักษณะนั้น ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่แหล่งน้ำ คุกคามต่อระบบสาธารณสุขแต่ละท้องถิ่น และในแต่ละปีมีเด็กหลายแสนคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง ซึ่งสาเหตุสำคัญของโรคนี้ก็คือแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด จากสาเหตุที่กล่าวมา

ห้องสุขาในหลายเมืองของโลกยังขาดความเป็นส่วนตัวและขาดความปลอดภัย หลายแห่งเมื่อแรกเห็น เราแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่านั่นคือห้องสุขา (ที่มาภาพ: Water Aid)

เนื่องในวัน ‘สุขาโลก’ (World Toilet Day) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2016 ที่ผ่านมา Water Aid องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่รณรงค์เรื่องการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย ได้เผยแพร่รายงาน Overflowing cities: The State of the World's Toilets 2016 ซึ่งในรายงานได้ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ ที่ประชากรในโลกมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54% หรือประมาณ 3.9 ล้านคน) ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในตัวเมืองหรือมหานครต่าง ๆ และจะเพิ่มเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของประชากรโลกในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้คลื่นมหาชนที่หลั่งไหลเข้าสู่เมืองนั้นได้กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเมืองในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เนื่องจากจำนวนห้องสุขาที่ถูกลักษณะไม่มีจำนวนเพียงพอ ปัจจุบันประชากรในเมืองของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 1 ใน 5 หรือกว่า 700 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ โดยกว่า 100 ล้านคน ยังขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง และอีกกว่า 600 ล้านคน ใช้ห้องสุขาที่ไม่เข้าเกณฑ์ด้านสุขอนามัยขั้นต่ำ ในรายงานของ Water Aid ประมาณการว่า หากรวมจำนวนคนรอเข้าคิวห้องสุขาสาธารณะในเมืองของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น แถวต่อคิวนี้จะยาวรอบโลกได้ถึง 29 รอบเลยทีเดียว

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าตกใจ จากรายงานของ Water Aid พบว่าชุมชนแออัดในย่านเวสต์พอยต์ (Westpoint) ในกรุงมอนโรเวีย (Monrovia) ประเทศไลบีเรีย ซึ่งมีประชากร 75,000 คน แต่มีห้องสุขาถูกสุขลักษณะเพียง 4 แห่งเท่านั้น (ที่มาภาพ: WaterAid/ Ahmed Jallanzo)

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของอหิวาตกโรคและอีโบล่ารวมทั้งอีกหลายโรค ในย่านชุมชนแออัดของเมืองในประเทศกำลังพัฒนานั้น ก็สืบเนื่องมาจากความสกปรกและการขาดสุขลักษณะดังกล่าว โดยเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (UN) ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน (Global Goals for Sustainable Development) ไว้ 6 เป้าหมาย 1 ในนั้นก็คือการตั้งเป้าว่าในปี 2030 ประชากรโลกทุกคนจะต้องเข้าถึงห้องสุขาพื้นฐานได้

ตัวอย่างประเทศและเมืองที่ขาดแคลนห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะเข้าขั้นวิกฤต จากรายงานของ Water Aid อาทิเช่น กานา ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP) สูงสุดในทวีปแอฟริกา ก็ยังพบว่าประชาชนถึง 79.8% (ประมาณ 11,639,000 คน) ยังขาด แคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ประชากรในเมืองกว่า 45% (ประมาณ 984,000 คน) ต้องขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง ในประเทศไลบีเรีย ที่ชุมชนแออัดย่านเวสต์พอยต์ (Westpoint) ในกรุงมอนโรเวีย (Monrovia) มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นถึง 75,000 คน แต่มีห้องสุขาถูกสุขลักษณะเพียง 4 แห่งเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากรแล้ว ไลบีเรียมีประชากรที่ขาดแคลนสุขาที่ ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวถึง 72% หรือประมาณ 1,620,000 คน นอกจากนี้ประชากรกว่า 612,000 คน ยังขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยนั้น พบว่า มีเด็กในไลบีเรียเสียชีวิตมากกว่าปีละ 500 คน จากโรคท้องร่วง เป็นต้น

การขาดแคลนสุขาที่ถูกสุขลักษณะในประเทศกำลังพัฒนา

จากรายงานของ Water Aid ได้ระบุถึงตัวเลขประเทศที่ขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากที่สุด เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากร รวมทั้งเมื่อเทียบเป็นตัวเลขจำนวนประชากรที่ขาดแคลน ไว้ดังนี้

ที่มาภาพ: รายงาน Overflowing cities: The State of the World's Toilets 2016 โดย Water Aid

ประเทศที่ขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากที่สุด เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากร ซูดานใต้ถือเป็นประเทศที่ขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากที่สุด เมื่อเทียบอัตราส่วนต่อประชากร ซึ่งส่วนใหญ่สุขาในซูดานใต้นั้น มักจะมีแค่โครงสร้างพื้นฐานอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ปิดบังไว้เท่านั้น โดยประชากรของซูดานใต้ขาดแคลนสุขาที่ถูกสุขลักษณะกว่า 83% โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่ขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว นั้นเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกาทั้งหมด ได้แก่ อันดับ 1) ซูดานใต้ 83.6% อันดับ 2 มาดากัสการ์ 82.0% อันดับ 3 คองโก 80.0% อันดับ 4 กานา 79.8% อันดับ 5 เซียราลีโอน 77.2% อันดับ 6 โตโก 75.3% อันดับ 7 เอธิโอเปีย 72.8% อั นดับ 8 ไลบีเรีย 72.0% อันดับ 9 ดีอาร์คองโก 71.5% และอันดับ 10 อูกานดา 71.5%

ที่มาภาพ: รายงาน Overflowing cities: The State of the World's Toilets 2016 โดย Water Aid

ประเทศที่ขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากที่สุด เมื่อเทียบเป็นตัวเลขจำนวนประชากร อินเดีย ประเทศซึ่งมีประชากรเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน แต่กลับมีจำนวนประชากรในเมืองที่ขาดแคลนสุขาสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ที่ 157,191,476 คน ตามมาด้วยอันดับ 2 คือจีน 104,166,548 คน อันดับ 3 ไนจีเรีย 58,920,884 คน อันดับ 4 อินโดนีเซีย 38,044,712 คน อันดับ 5 รัสเซีย 24,231,920 คน อันดับ 6 บังกลาเทศ 23,272,773 คน อันดับ 7 ดีอาร์คองโก 21,632,993 คน อันดับ 8 บราซิล 20,945,314 คน อันดับ 9 เอธิโอเปีย 14,023,089 คน และอันดับ 10 ปากีสถาน 12,321,093 คน

เมื่อ ‘สุขา’ กลายเป็นวาระทางการเมืองสำคัญที่อินเดีย

อินเดียเป็นประเทศที่ประชากรขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากที่สุดในโลกถึง 157,191,000 คน (ที่มาภาพ: wikimedia.org)

ข้อมูลจากรายงานของ Water Aid ในปี 2016 นี้ระบุว่าเมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากรแล้วอินเดียมีประชากรที่ขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวเพียง 37.4% แต่หากนับรายหัว พบว่าอินเดียเป็นประเทศที่ประชากรขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากที่สุดในโลกถึง 157,191,000 คน ประชากรในเมืองกว่า 41,039,000 คน ยังขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยนั้นพบว่ามีเด็กในอินเดียเสียชีวิตมากกว่าปีละ 68,000 คน จากโรคท้องร่วง

ก่อนหน้านี้ ในช่วงวันรำลึกการประกาศเอกราชของอินเดียเมื่อเดือน ส.ค. 2016 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ได้ประกาศว่าภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้สร้างห้องสุขากว่า 20 ล้านแห่ง และนำกระแสไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านต่าง ๆ หลายพันหมู่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่า รัฐบาลจะจัดหาพลังงานและห้องสุขาให้กับทุกครัวเรือนในประเทศ โดยนับตั้งแต่ที่โมดีขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 2014 เขาได้ถือเอาการสร้างสุขานี้เป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยกำหนดให้ทุกครัวเรือนมีห้องสุขา เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและการล้มป่วยจากโรคท้องร่วง นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับผลเสียของการขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้คนติดเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคท้องร่วง ไทฟอยด์ และการติดเชื้อพยาธิชนิดต่าง ๆ

จากรายงานของ Water Aid เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ระบุว่าสัดส่วนผู้ขับถ่ายในที่โล่งแจ้งที่อินเดียมีมากถึง 173 คนต่อพื้นที่เปิด 1 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ประมาณการว่า หากประชากรในอินเดียทุกคนที่ไม่มีห้องสุขาส่วนตัวในบ้าน มาเข้าแถวเพื่อใช้ห้องสุขาสาธารณะ แถวเข้าคิวนี้จะยาวจากโลกไปถึงดวงจันทร์เลยทีเดียว

อ่าน 'จับตา': “เทียบสัดส่วนประชากรต่อการขาดแคลนสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวรายประเทศ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6579

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: