‘ยาชุด’ ปนเสตียรอยด์ซื้อง่ายขายคล่อง ผู้ใช้แรงงานรู้อันตรายแต่ไร้ทางเลือก

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ทีมข่าว TCIJ 3 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 26451 ครั้ง

“ยาชุด” เป็นยาอันตรายตามพระราชบัญญัติยา 2510 (พ.ร.บ. 2510) เนื่องจากเป็นยานอกทะเบียน และจากการสุ่มตรวจ พบสารสเตียรอยด์ในตัวยา ซึ่งถือเป็นยาอันตรายหากใช้โดยปราศจากการควบคุมของแพทย์  เนื่องจาก ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกินขนาดรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดและล้มหมอนนอนเสื่อจากภาวะกระดูกเสื่อม กระนั้นยาชุดกลับไม่ได้ลดความนิยมลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  ผลลัพธ์ของการกินยาแสดงออกเพียงข้ามคืน โดยเฉพาะการหายจากอาการปวดเมื่อยหรืออักเสบของกล้ามเนื้อที่เมื่อยล้าจากการทำงานหนัก

การเฝ้าระวังการการใช้ยาไม่เหมาะสมถูกกล่าวถึงเรื่อยมาหลายทศวรรษ รูปธรรมจากผลการศึกษาที่ผ่านมากว่าสองทศวรรษ ปรากฏให้เห็นผ่านแนวนโยบายที่ยังให้น้ำหนักไปที่การณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ให้ทันสมัยมากยิ่งขั้น  จากเดิมที่รณรงค์ผ่านแผ่นพับประชาสัมพันธ์  กระจายผ่านหน่วยงานสุขภาพในชุมชน  ขึ้นเป็นการประสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ให้ความรู้ผ่านอุปกรณ์ออนไลน์ต่างๆ  แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้ยาชุดรักษาตนเองของประชาชนได้อย่างที่ต้องการ

นำมาสู่คำถามที่ว่าเพราะเหตุใดยาชุดจึงยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสวนทางกับการแก้ปัญหาของหน่วยงานสาธารณสุข

ย้อนดูงานศึกษาอันตราย’ยาชุด’ในเมืองไทย

อันตรายและการแพร่กระจายของยาชุดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและประชาชนในเขตชนบท ถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังราวสองทศวรรษที่ผ่านมา หรือราว พ.ศ.2530 เป็นต้นมา งานศึกษาส่วนใหญ่ทำโดยแพทย์และเภสัชกร หรือหน่วยงานสาธารณสุข กรอบการศึกษาส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่การสำรวจพฤติกรรมการใช้ยารักษาตัวเองในชุมชน  พบว่าการใช้ยาส่วนใหญ่ของประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาที่ใช้  มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ยาตามการโฆษณาของผู้ขาย โดยเฉพาะประชาชนในเขตชนบทและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  ตัวอย่างเช่น  งานศึกษาของ ศรีเพ็ญ ตันติเวสส, วิชัย โชควิวัฒน และสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เรื่อง ‘ระบบยาของประเทศไทย’  จากการอ้างอิงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2533  พบว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ กลุ่มลูกจ้างเกษตรกร กลุ่มลูกจ้างคนงานทั่วไป และกลุ่มคนที่อยู่นอกเขตเทศบาล  เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช่จ่ายเพื่อการซื้อยากินเองมากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนจนมีพฤติกรรมการซื้อยากินเองมากกว่าคนรวย

ทัศนคติและความเชื่อที่มีผลต่อการใช้ยารักษาตนเองนั้น  งานศึกษาส่วนใหญ่พบว่า ทัศนคติต่อยาในกองทุนยาของชาวบ้าน มองว่าเป็นยาที่ได้รับแจกจากอนามัยหรือโรงพยาบาล มีฤทธ์การรักษาไม่รุนแรงเท่ายาที่ซื้อจากร้านชำ และมักซื้อยาจากชื่อทางการค้ามากกว่าชื่อทางการแพทย์  โดยเชื่อว่าการกินยาในปริมาณมากเป็นผลดีต่ออาการของโรคมากกว่ากินแค่ยาที่แพทย์จ่ายให้  ตัวอย่างเช่น  งานของ ประสาท ลิ่มดุลย์ เรื่อง ‘การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในชุมชน’  สรุปวิธีคิดของชาวบ้านที่ใช้ในการประเมินสรรพคุณของยาว่า ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการหาย ไม่สนใจโทษอื่นๆ ของยา เพราะระบบคิดของชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับการหายซึ่งเป็นผลระยะสั้น ขณะที่โทษของยาเป็นเรื่องของอานาคต ค่อยคิดภายหลัง นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวบ้านยังอาศัยแนวคิด ‘ลางเนื้อชอบลางยา’ หรือ แต่ละคนถูกกับยาไม่เหมือนกัน  หรือเป็นเรื่องของเวรกรรมฯ  มาอธิบายเมื่อเกิดกรณีที่ยารักษา ไม่ได้ผลกับบางคนและได้ผลกับบางคน  

สำหรับเหตุผลที่มีส่วนกำหนดให้ซื้อยารักษาตนเอง งานศึกษาหลายชิ้นระบุคล้ายคลึงกันว่า แหล่งข้อมูลสำคัญ ของการตัดสินใจเลือกซื้อยาของชาวบ้านคือ  เพื่อนบ้าน โฆษณา และประสบการณ์รักษาในอดีต  ตัวอย่างเช่น งานของสุพัตรา ชาญบัญชาชัย และ บทวิเคราะห์ของเจริญชัย ต้นตระกูลรัตน์ สรุปว่า การตัดสินใจใช้ยารักษา ตนเองเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีแหล่งข้อมูลจากหลายแหล่งแต่ที่สำคัญคือ บุคคล เช่น เพื่อนบ้าน ญาติ มักให้ คำแนะนำทั้งชนิดของยา สรรพคุณ และวิธีใช้

สอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559  ที่ตีพิมพ์ในวารสารเภสัชศาสตร์อีสานเรื่อง ‘แหล่ง   ต้นทางและเส้นทางการกระจายยาไม่เหมาะสมในชุมชนจาก 8 จังหวัด สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา การกระจายยาไม่เหมาะสมเชิงระบบ ‘  เผยแพร่เมื่อกุมภาพันธ์ 25559 ระบุว่า ผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ในเขตชนบทยังมี  พฤติกรรมซื้อยารักษาตนเอง  โดยพิจารณาจากสรรพคุณที่ผู้ขายโฆษณา ขณะที่ช่องทางการซื้อยาส่วนใหญ่คือ   ร้านชำในชุมชน

ร้านชำ แหล่งกระจายยาอันตราย

จากสำรวจร้านขายของชำรวม 613 ร้านในเขคภาคอีสาน 8 จังหวัดเมื่อปี 2556-2557 พบว่า มีการจำหน่ายยารวม    2,991 รายการ แบ่งเป็น  ยาอันตราย ร้อยละ 30.9 / ยาสามัญประจำบ้าน ร้อยละ 21.8  / ยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จ ร้อยละ 20.3  / ยาแผน โบราณร้อยละ13.6  / ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร้อยละ 7.7  /  ยาชุด ร้อยละ 4.4  / ยา  สมุนไพร ร้อยละ 0.9  / และยาควบคุมพิเศษ ร้อยละ 0.4 นอกจากนี้ยังพบการปลอมปนสเตียรอยด์ในยาบางส่วน

ขณะที่แหล่งต้นทางการกระจายสู่ชุมชนมาจากหลายแหล่ง  ได้แก่ ร้านขายของส่ง (รวมร้านชำขนาด ใหญ่) ร้อยละ 32.5 /  ร้านขายยา (ขย.1) ร้อยละ 31.5  / ร้านขายยา (ขย.1+และ ขย.3) ร้อยละ 14.7  / รถเร่ ร้อย ละ 11.5 /ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 7.7  / และอื่นๆ ร้อยละ 2.6

เมื่อดูจากข้อมูลการสำรวจ จะพบว่าร้านชำกลายเป็นแหล่งกระจายยาชุดขนาดใหญ่  ผู้ค้ารายหนึ่งเปิดเผยกับ TCIJ ว่า  ยาชุดส่วนใหญ่ที่นำมาขาย จะรับมาจากสายส่งในกรุงเทพมหานครซึ่งจะมาส่งเป็นรายสัปดาห์ ยาชุดที่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อส่วนใหญ่คือ ยาชุดแก้ปวดเมื่อย ราคาขายปลีกซองละ 10 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นิยมซื้อคราวละไม่ต่ำกว่า 10 ชุด 

เพราะยาดีคือยาที่กินแล้วหาย ?

‘หยัด’  หนึ่งในผู้ใช้แรงงานที่ซื้อยาชุดรับประทานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปี เล่าให้ TCIJ ฟังถึงเหตุผลหลักของการใช้ยาว่า ให้ผลการรักษาเร็วเพียงข้ามคืนในหนึ่งชุด  หยัดป่วยเป็นโรคเข่าอักเสบ หรือน้ำในข้อเข่ามาก มักมีอาการปวดรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถเดินได้ ที่ผ่านมาเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ  แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากหมอจ่ายเพียงยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาพร้อมคำแนะนำให้หยุดงานเพื่อพักรักษา ซึ่งผู้ใช้แรงงานเช่นหยัดและเพื่อนคนงานบอกว่า  การปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้  เนื่องจากผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถหยุดงานได้นาน เพราะการหยุดงานหมายถึงจำนวนค่าแรงในแต่ละวันที่พวกเขาต้องเสียไป นอกจากนี้การลางานไปโรงพยาบาล มักต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันเพื่อรอพบแพทย์ โดยเฉพาะโรง พยาบาลของรัฐที่ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการรักษาตามสวัสดิการประกันสังคมที่นายจ้างทำให้

การรักษายังขาดมิติทางสังคม

จากการสำรวจที่ผานมา พบว่า ในแต่ละปีมักมีผู้ป่วยด้วยอาการค้างเคียงจากการใช้ยาที่ซื้อรับประทานเองจากร้านชำเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล  เช่น สถิติการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในชุมชมชนของโรงพยายาลปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ในปี 2556  ผู้ป่วยร้อยละ 17.8 มารับการรักษาหลังจากรับประทานยาชุดจากร้านชำ ทว่าเมื่อเทียบกับจำนวนผลข้างเคียงที่เกิดจากยาที่จ่ายโดยแพทย์ในโรงพยาบาล  กลับพบว่าเกิดผลข้างเคียงมากกว่ายาจากร้านชำ ถึงร้อยละ 82.2

อีกหนึ่งปัจจัย นอกเหนือจากเรื่องความสะดวกในการซื้อหายาชุดแล้ว  ประสบการณ์การรักษาผิดพลาดโดยแพทย์  ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยาชุดยังเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้ใช้ยา

ศรีไพร นนทรีย์  ประชาสัมพันธ์กลุ่มสภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง  กล่าวกับ TCIJ ถึงสาเหตุหลักที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ไม่เข้ารับการักษากับแพทย์ว่า  นอกจากคำแนะนำของแพทย์ที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงและการทำงานของผู้ใช้แรงงานแล้ว บางครั้งแพทย์ยังจ่ายยาผิด จนผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินจากการแพ้ยาเฉียบพลัน และทำให้เกิดการบอกต่อกันในกลุ่ม กลายเป็นความไม่เชื่อใจในระบบสาธารณสุข

ศรีไพร กล่าวถึงระบบสาธารณสุขว่ายังมีช่องว่างอยู่มาก  โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างระหว่างบุคลากรทางการ แพทย์และผู้ป่วยที่เป็นผู้ใช้แรงงาน  แพทย์ยังคงมองผู้ป่วยที่ใช้ยาชุดว่า ไม่รู้ถึงอันตรายของยาที่ใช้ โดยไม่มองว่าเหตุที่พวกเขาไม่เลือกโรงพยาบาลเป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วย เป็นเพราะต้นทุนที่ต้องจ่ายนั้นสูงเกินไป แรงงานหลายคนไม่สามารถหยุดงานเพื่อรอพบแพทย์ตั้งแต่เช้าได้  ดังนั้นยาชุด จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่พวกเขาพอมี 

อ่าน 'จับตา': “ประเภทและอันตรายของยาชุด"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6281

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: