ปิดเหมืองอัคราส่อล้ม! บริษัทแม่จากออสเตรเลียสั่งประนีประนอม ส่งหนังสือถึง 'ประยุทธ์' ขอเปิดเหมืองต่อ 

3 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3990 ครั้ง


	ปิดเหมืองอัคราส่อล้ม! บริษัทแม่จากออสเตรเลียสั่งประนีประนอม ส่งหนังสือถึง 'ประยุทธ์' ขอเปิดเหมืองต่อ 

'อัครา รีซอร์สเซส' รับลูก กพร.สำรวจชาวบ้านบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำ ระบุส่วนใหญ่พอใจให้เหมืองอยู่ร่วมกับชุมชน ล่าสุดส่งหนังสือถึง 'ประยุทธ์' แจงรายละเอียดขอเปิดเหมืองทองคำ พร้อมหลักฐานครบตรวจสอบไร้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ชี้ปริมาณสำรองแร่ดำเนินได้อีก 7 ปี คาดได้ชี้แจงในเร็ว ๆ นี้ ยื่นขอต่อใบอนุญาตโรงถลุงแร่ทองคำให้ กพร.ก่อนสิ้นสุด ธ.ค.นี้แล้ว ยันบริษัทแม่จากออสเตรเลียสั่งให้ประนีประนอม  (ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพ TCIJ)

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ TNN รายงานว่าสืบเนื่องจากภาครัฐมีคำสั่งยุติการอนุญาตการสำรวจ ทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ และอนุมัติให้ต่อใบอนุญาตโรงงานประกอบโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ภายใต้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถึงเพียงสิ้นปี 2559 เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดความขัดแย้งในพื้นที่ และแนะนำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในการดำเนินกิจการ (Social License to Operate) จึงทำให้บริษัท อัคราฯ ได้ดำเนินการตามคำแนะนำทำการส่งทีมงานลงพื้นที่ เพื่อสื่อสารกับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองอย่างเข้มข้นร่วมกับการทำสำรวจความคิดเห็น ความพึงพอใจของประชาชนรอบเหมืองทั้ง 29 หมู่บ้าน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่าชาวบ้านร้อยละ 88 พึงพอใจถึงพึงพอใจมากที่ให้เหมืองฯ อยู่ร่วมกับชุมชนต่อไป ขณะที่กว่าร้อยละ 93.6 ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองฯ แต่มีข้อเสนอแนะให้บริษัทฯเพิ่มความเข้าใจแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวล

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากผลการสำรวจเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า เหมืองดำเนินงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และอัคราฯได้รับการต้อนรับจากคนในชุมชน โดยเฉพาะการดูแลและให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบเหมืองมาโดยตลอด อาทิ การจ้างงานที่เน้นรับคนในพื้นที่ก่อน, การปรับปรุงน้ำประปาบาดาลให้มีใช้ตลอดทั้งปี, การดูแลเรื่องการศึกษา, ช่วยเหลือด้านศาสนา และอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทางบริษัทฯ  จะนำส่งผลการสำรวจฉบับเต็มให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อประกอบการพิจารณาให้มีการอนุญาตการสัมปทานและประกอบกิจการต่อไป

ด้านนายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้นำเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสูงประเทศและก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 40,000 ล้านบาท  เช่นค่าภาคหลวงที่ชำระแล้ว 4,299,453,227.50บาท (ข้อมูลถึงเดือน ก.ย. 2559), ภาษีเงินได้ที่ชำระแล้ว 1,145 ล้านบาท ต้นทุน

ทั้งนี้ การผลิตที่เป็นเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน อาทิ ค่าจ้างพนักงานที่เน้นจ้างคนในท้องถิ่น และการนำเงินไปสนับสนุนการทำงานของชุมชนในท้องถิ่นในทุกๆด้าน ดังนั้น หากบริษัทฯต้องหยุดการดำเนินกิจการลงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ผลที่จะกระทบโดยตรงก็คือ เศรษฐกิจในท้องถิ่น รายได้ที่จะเข้าประเทศ คุณภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นแทบจะหยุดพัฒนา  และจะมีการย้ายถิ่นฐาน เพื่อหางานทำในเหมืองหลวง และที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากเหตุผลของการต่อใบประกอบโรงงานโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรีถึงเพียงแค่ สิ้นปี 2559 ทั้งๆ ที่บริษัทฯยังมีประทานบัตรถึง 2571 โดยยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนยังประเทศไทย แต่หากบริษัทฯได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการต่อจะทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือ มีรายได้เข้าประเทศอีกนับหมื่นล้านบาทยังประโยชน์กับประเทศและคนในท้องถิ่นต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่านายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานทั่วประเทศ และให้ต่อใบอนุญาตกิจการโลหกรรม หรือโรงถลุงแร่ของบริษัทออกไปจนถึงสิ้นปีนี้นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นหนังสือถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอต่อใบอนุญาตโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทออกไปอีก 5 ปี ตามข้อกฎหมายที่กำหนดต้องให้ยื่นก่อนใบอนุญาตจะหมดอายุ 60 วัน และให้เป็นไปตามมติครม.ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอย่างถูกต้องวิธี ส่วนจะได้รับการอนุมัติต่อใบอนุญาตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกพร.แต่จะต้องมีเหตุผลรองรับว่าเหตุใดถึงจะไม่ต่อใบอนุญาตให้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยืนยันว่าได้ดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในจังหวัดพิจิตร อย่างถูกต้องตามกระบวนที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและหน่วยงานราชการ โดยมีหลักฐานการตรวจสอบที่พบว่าการทำเหมืองแร่ทองคำไม่ใช่เป็นเหตุ ที่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามที่ได้นำไปอ้างในการปิดเหมืองและไม่ต่อใบอนุญาตโรงถลุงแร่ให้

โดยเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทได้ทำหนังสือส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่านายกรัฐมนตรีอาจจะยังได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอที่มาจากภาคเอกชน ซึ่งก็ได้รับการติดต่อจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาแล้ว และให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปให้ พร้อมทั้งให้ระบุว่าจะมีผู้บริหารจำนวนกี่คนเข้าพบบ้าง และหลังจากนั้นจะนัดวันเวลาเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์อีกครั้งในเร็วๆนี้

นายสิโรจ กล่าวอีกว่า ด้วยหลักฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีอยู่ รวมทั้งการสำรวจความพึ่งพอใจของชาวบ้านกว่า 1,800 ครอบครัว รอบพื้นที่การทำเหมือง ผลสำรวจออกมาว่า 88 % พึงพอใจมากที่จะให้เหมืองอยู่ร่วมกับชุมชน 29 หมู่บ้านต่อไป ขณะที่ 93.6 % ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง เป็นต้น นอกจากนี้ การที่กพร.ระบุว่าเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ที่ได้รับประทานบัตรไป มีปริมาณแร่สำรองหรือทำเหมืองได้เพียงสิ้นปีนี้เท่านั้น ในส่วนนี้ บริษัทก็มีหลักฐานยืนยันว่าแหล่งประทานบัตรดังกล่าวที่ครอบคลุมพื้นที่ 3,500 ไร่ ยังมีประมาณแร่ทองคำสำรองอยู่ 40 ล้านตัน หากดำเนินการขุดแร่เช่นเดียวกับที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 6 ล้านตันต่อปี เท่ากับว่าบริษัทยังสามารถเปิดเหมืองดำเนินการต่อไปได้ถึงเกือบ 7 ปี

ทั้งนี้ การที่บริษัทยืนยันว่ายังมีประมาณสำรองแร่ทองคำอยู่ในปริมาณดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อมูลการสำรวจของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท 48.2 % และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ของออสเตรเลีย ที่จะต้องรายงานข้อมูลปริมาณแร่สำรองให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบ จากการสำรวจที่ใช้มาตรฐานสากลไม่ได้มาจากการคาดเดา ซึ่งทั้งหมดนี้จะชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเท็จจริง

ส่วนจะมีการฟ้องร้องต่อความเสียหายที่เกิดจากคำสั่งปิดเหมือง หรือไม่ต่อใบอนุญาตกิจการโลหกรรมนั้น คงยังไม่ใช่ในขณะนี้เพราะยังเหลือเวลาอีก 2 เดือน และบริษัทแม่เองมีนโยบายที่ยังอยากจะเจรจาทำความเข้าใจกับทางภาครัฐ เป็นการปรับความคิดเห็นให้ตรงกัน เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหากับใคร และประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกกับชุมชนและประเทศชาติมากกกว่า ซึ่งหากได้รับการต่อใบอนุญาตโรงถลุงแร่ทองคำ บริษัทพร้อมที่จะดำเนินการลงทุนต่อไป เพราะประทานบัตรการทำเหมืองแร่จะหมดอายุในปี 2571 และราคาทองคำที่เป็นอยู่เวลานี้ที่ระดับ 1,260 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปอนด์ ก็เป็นระดับที่ยังคุ้มที่จะลงทุนต่อไป ในขณะที่ปีนี้บริษัทขาดทุนจากการหักค่าเสื่อมไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทก็ตาม

แหล่งข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ตามขั้นตอนตามกฎหมายในการยื่นขอต่อใบอนุญาตกิจการโลหการก่อนหมดอายุ 60 วัน ทางบริษัท อัคราฯ สามารถดำเนินการได้ แต่จะมีการต่อให้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นสาเหตุในการบอกยกเลิกใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นใด

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: