นักท่องเที่ยวจีนขอพูดบ้าง “ในทุกสังคมล้วนมีคนนิสัยไม่ดี”

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ : 3 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3001 ครั้ง


อย่างไรก็ตาม มีกระแสต่อต้านนักท่องเที่ยวจีนต่อเนื่อง เนื่องจากความไม่พอใจในพฤติกรรมรวมถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ไม่เคารพวัฒนธรรมคนพื้นถิ่น ไม่รักษาความสะอาด ไร้ระเบียบ ใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวสิ้นเปลือง ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรจนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างปัญหาอื่นๆอีกเพียบ เป็นปัญหาทอล์คออฟเดอะทาวน์ มีผู้ไม่พอใจถึงขนาดเสนอให้มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวจีน
(อ่าน อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์  http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637038 )
ขณะที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ก็ได้แสดงความเห็นว่า แท้จริงแล้วเราอาจไม่มีความพร้อมในการจัดการนักท่องเที่ยวจีนเสียเอง (http://www.posttoday.com/analysis/interview/423753

ส่วนสื่อมวลชนกระแสหลักที่เกาะติดปัญหาและรายงานปัญหานักท่องเที่ยวจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้มีโอกาสพูดมากนัก

TCIJ  จึงได้ลงพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นอีกด้านจากนักท่องเที่ยวจีน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อกระแสความไม่พอใจนักท่องเที่ยวจีนของคนไทย

TCIJ พูดคุยกับ Darren วิศวกรไอที อายุ 32 ปี และ Lydia อายุ 31 ปี พนักงานฝ่ายสินเชื่อธนาคารแห่งหนึ่ง สองสามีภรรยาชาวจีน เดินทางจากเมืองหังโจว มาเที่ยวที่ประเทศไทยเป็นเวลา 8 วัน โดยท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร 3 วัน ก่อนจะเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ต่อ อีก 5 วัน ทั้งสองคนเล่าให้เราฟังว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการออกนอกประเทศครั้งแรก ที่เลือกเดินทางมาประเทศไทยเพราะราคาไม่สูงและอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน รู้สึกชื่นชอบนิสัยใจคอคนไทยที่มีความเป็นมิตร ชอบอาหารไทย ชื่นชอบสถานที่ต่างๆในประเทศไทย อาทิ พระบรมมหาราชวัง รวมถึงวัดวาอารามต่างๆใน กรุงเทพมหานคร แต่ก็เกือบจะไม่ได้เที่ยวพระบรมมหาราชวัง เพราะถูกหลอกพาไปซื้อเครื่องประดับ

“เราเกือบไปถึงพระบรมมหาราชวัง สักครู่ก็มีคนเดินเข้ามาถามเราว่าจะไปไหน เมื่อเค้ารู้ว่าเราจะไปพระบรมมหาราชวัง เค้าบอกว่าเสียใจด้วย วันนี้เป็นวันเกิดพระพุทธเจ้า พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วปิด แต่พวกเราโชคดีอยู่บ้าง เนื่องจากในวันเกิดพระพุทธเจ้า ร้านค้าต่างๆจะมอบส่วนลดพิเศษ 70% ซึ่งมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น จากนั้นจึงหลอกล่อให้เราทั้งสองนั่งรถสามล้อไปร้านขายเครื่องประดับ”  ภายหลังทั้งสองรู้ว่าถูกหลอกเนื่องจากพยายามหาข้อมูลเพิ่มจากแอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวทางโทรศัพท์มือถือ “เราก็เลยนั่งสามล้อกลับมาที่พระบรมมหาราชวังอีกครั้ง”

เมื่อถามว่าเดินทางมาเชียงใหม่ได้อย่างไร ทั้งสองตอบว่า “เราตั้งใจจะนั่งรถไฟมาเชียงใหม่ พวกเราเรียกแท็กซี่ไปหัวลำโพง แต่ก็เสียเวลาเรียกแท็กซี่อยู่นานเพราะแท็กซี่ปฏิเสธไม่ไปบ้าง จะไม่ยอมเปิดมิเตอร์บ้าง ในที่สุดเราก็เรียกแท็กซี่ที่ยอมเปิดมิเตอร์ได้ แต่แท็กซี่ก็ขับวนไปวนมา เรารู้เพราะเราเปิดกูเกิ้ลแมพไปด้วย จากมาบุญครองไปหัวลำโพงเราเสียค่าแท็กซี่เกือบสองร้อยบาท”

"เมื่อมาถึงหัวลำโพง มีคนแต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่เข้ามาถามว่าเราจะไปไหน เราบอกเขาว่าเราต้องการซื้อตั๋วรถไฟไปเชียงใหม่ ชายคนนั้นบอกกับเราว่าตั๋วหมดไปแล้ว เราต้องนั่งรถบัสไป แล้วพาเราเดินไปส่งที่รถตู้ และบอกว่าเราสามารถซื้อตั๋วรถบัสได้เลยในราคา 1,000 บาท และบอกเราว่ารถตู้จะพาเราไปขึ้นรถบัส จากนั้นรถตู้พาเรามาขึ้นรถบัส และเราก็มาถึงเชียงใหม่"

TCIJ  จึงสอบถามเพิ่มเติมถึงรูปพรรณของรถ  เนื่องจากรถบัสระดับ VIP จากกรุงเทพฯมาเชียงใหม่ ชั้นที่ดีที่สุด สนนราคาเพียงแปดร้อยกว่าบาทเท่านั้น ทั้งสองตอบว่า

“เป็นรถปรับอากาศ หยุดรับผู้โดยสารบ่อยมาก และแอร์ไม่ค่อยเย็น ไม่สามารถเอนนอนได้เต็มที่” เมื่อทั้งสองโชว์รูปให้ดูจึงรู้ว่าเป็นเพียงรถ ป1 ซึ่งราคาจริงประมาณห้าร้อยกว่าบาทเท่านั้น

เมื่อถามว่าทำไมทั้งสองจึงวางแผนการท่องเที่ยวกันเอง ไม่ซื้อแพ็คเกจ ซึ่งมีราคาถูกกว่า

“จริงอยู่ที่ราคาถูกกว่า แต่โปรแกรมไม่เอื้ออำนวยกับคนอย่างพวกเรา เราชอบความเป็นอิสระ บางครั้งอยากใช้เวลาในที่ใดที่หนึ่งนานหน่อย แพ็คเกจเหล่านั้นจัดโปรแกรมไม่เอื้ออำนวย ต้องทำตามกำหนด เช่นที่นี่หนึ่งชั่วโมง รีบเดินรีบถ่ายรูป และพาไปทานอาหารที่ร้านไม่อร่อย ไม่มีคุณภาพ พาไปซื้อของในร้านที่เราไม่อยากไป ราคาแพง และถ้าเราไม่ซื้อไกด์จะอารมณ์เสีย เรารู้ว่าไกด์คงได้ค่านายหน้า บางครั้งคนที่มากับทัวร์เหล่านั้นต้องซื้อของเพื่อเอาใจไกด์”

“ทุกคนรู้ ว่ามีทัวร์แบบนี้ แต่คนที่ซื้อคือคนอีกรุ่นหนึ่ง รุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ซึ่งไม่สามารถจัดการวางแผนด้วยตัวเองได้ พวกเขาอยากมาเที่ยวเมืองไทย หนทางเดียวของพวกเขาคือซื้อแพ็คเกจทัวร์แบบนั้นมา”

TCIJ ยิงคำถามสำคัญ รู้หรือไม่ว่ามีคนไทยไม่พอใจนักท่องเที่ยวจีน เพราะพฤติกรรมไม่น่ารัก แล้วพวกเค้ารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้

ทั้งสองยืนยันว่ารู้ปัญหา เพราะสื่อจีนเองก็รายงานเรื่องนี้ “เรารู้ว่าคนจีนบางคนมีพฤติกรรมไม่ดี ซึ่งไม่เฉพาะเวลามาเที่ยวเมืองไทยหรอก อยู่ที่เมืองจีนเขาเหล่านั้นก็มีพฤติกรรมแบบนั้น โดยมากจะเป็นคนมีอายุหน่อย (ที่พวกเราเรียกมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า-TCIJ) ซึ่งเติบโตมาในยุคก่อนหน้านี้ ต้องเข้าใจว่าประเทศเรามีพลเมืองเยอะ สังคมจีนมีความยากลำบากและทุกอย่างต้องแก่งแย่ง แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเราส่วนมากไม่เป็นแบบนั้น เราระมัดระวังตัวและยินดีทำตามกฎระเบียบที่ประเทศไทยทุกอย่าง”

ทั้งสองเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์การไปเที่ยวที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชาวไทยมีความสุภาพกับพวกเค้าเป็นอย่างมาก ขณะที่คณะทัวร์ชาวจีนสร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ในการอธิบายเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสม ซึ่งต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ทั้งสองคิดว่า ไกด์ซึ่งพานักท่องเที่ยวมาไม่ทำหน้าที่ เพราะหากอธิบายให้ชัดเจนว่าต้องแต่งกายอย่างไร คนเหล่านั้นคงทำตาม ไกด์จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยว

“ทุกสังคมมีคนไม่ดี เราอยากให้คนไทยเข้าใจว่าไม่ใช่คนจีนทุกคนจะมีพฤติกรรมแบบนั้น เราเองก็ถูกคนไทยหลอกหลายครั้ง แต่เราก็ไม่เคยคิดว่าคนไทยทุกคนเป็นคนไม่ดี”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: