สพฉ. ขอผู้ผลิตรายการทีวีเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

1 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2033 ครั้ง


	สพฉ. ขอผู้ผลิตรายการทีวีเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

สพฉ.เตรียมจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้จัดหนังละครผู้ผลิตรายการทีวีหารือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมประสานกระทรวงศึกษาธิการบรรจุเป็นหลักสูตรให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยและเรียกใช้สายด่วน 1669 ได้  เลขา สพฉ. แนะประชาชนโหลดแอพ “EMS 1669” ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน (ที่มาภาพประกอบ: wearenurse.com)

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีที่รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินว่า วันนี้ตนไม่อยากให้มีการกล่าวโทษกันแต่อยากให้ใช้โอกาสของความผิดพลาดช่วยกันพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทห้างร้าน เอกชน ประชาชนทั่วไป นักแสดง ดาราผู้จัดหนังละคร  โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้หารือร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติถึงการเตรียมการในการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับทุกๆฝ่าย ซึ่งในส่วนของดารานักแสดงหรือผู้จัดหนังละคร ผู้ผลิตรายการทีวีมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับประชาชน โดยสามารถที่จะสอดแทรกอยู่ในบทหนังละคร หรือถ่ายทอดลงในรายการได้  โดยขั้นตอนต่อไป สพฉ.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญผู้จัดหนังละครผู้ผลิตรายการทีวีต่างๆ เข้ามาพูดคุยถึงแนวทางการร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และจะฝึกอบรมการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเมื่อเขาเข้าใจก็จะเกิดการถ่ายทอดให้กับประชาชนได้อย่างไม่ผิดพลาดนั่นเอง

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้พูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเตรียมการในการผลักดันให้หลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ถูกบรรจุเข้าไปในแบบเรียนของนักเรียนที่จะฝึกให้เด็กๆ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้จริงเหมือนฝั่งยุโรปที่สอนให้เด็กตั้งแต่อายุ 12 ขวบขึ้นไปสามารถช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานหรือทำ CPR เป็น  นอกจากนี้เราจะสอนให้เด็กรู้จักการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED  เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ โดยจะมีการกำหนดระดับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละชั้นการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ว่าควรเรียนรู้ในเรื่องไหนอย่างไรบ้าง และก่อนที่เด็กๆ เหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยก็จะต้องมีใบรับรองการผ่านการฝึกหลักสูตรเหล่านี้ประกอบกับเอกสารต่างๆ ที่จะต้องเตรียมในการเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเราจะเคี่ยวกรำจนกว่าประชาชนคนไทยจะช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินและปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็น

นพ.อนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนกรณีคลิปรายการที่มีการเผยแพร่เรื่องของการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธีนั้นก็ต้องขอบคุณเจ้าของรายการที่ได้ทำการถอดคลิปดังกล่าวออกแล้ว และหากสื่อใดหรือรายการไหนต้องการจะผลิตคลิปหรือเรื่องราวที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถติดต่อเข้ามาที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้เราพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกสื่อที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเต็มที่ ทั้งนี้สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องก็สามารถเข้าไปยัง Play store แล้วโหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ EMS 1669 ซึ่งในแอพพลิเคชั่นนี้จะบอกข้อมูลเรื่องการคัดแยกอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน และบอกข้อมูลเรื่องการปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องในหลายกรณีอาทิกรณี การชัก การถูกทำร้ายบาดเจ็บ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก จมน้ำ สำลักอุดตันทางเดินหายใจ ถูกสัตว์กัด และการเจ็บแน่นทรวงอก ที่สำคัญแอพพลิเคชั่นนี้ยังสามารถขอความช่วยเหลือ 1669 ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยสามารถระบุพิกัดของผู้แจ้งที่จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: