จับตาสแกนลายพราง: ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารของไทย

31 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 8497 ครั้ง


โดยจะขอนำเสนอตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือว่ายังคงมีอิทธิพลบางประการหลงเหลือต่อระบบการเกณฑ์ทหารไทยในปัจจุบัน

ยุคกรุงศรีอยุธยา

ยุคสมัยของพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดี ยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับลักษณะการจัดกำลังคนในการเกณฑ์ทหาร เพิ่งเริ่มปรากฏในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งเมื่อได้ครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” ได้ทรงจัดการเกี่ยวกับกิจการด้านทหารดังนี้ คือ 1. การตั้งทำเนียบยศ 2. การจัดทำทำเนียบหัวเมือง และ 3.ตั้งทำเนียบหน้าที่กระทรวงทบวงการ และในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเป็นราชโอรสของสมเด็จพระบรมโลกนาถ ได้ทรงจัดการอันเกี่ยวกับกิจการด้านการทหารเพิ่มเติม ซึ่งเป็นตัวอย่างสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ 1. ทำตำราพิชัยสงคราม  2.ทำสารบาญชี  3.ทำพิธีตามหัวเมือง

ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร การทำสารบาญชี คือการจัดทำบัญชีรี้พล คือ การจัดระเบียบวิธีเกณฑ์คนเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จัดระเบียบการควบคุมผู้คนพนักงานทำบัญชี คนฝ่ายทหาร ฝ่ายมหาดไทย โดยโปรดเกล้าให้ตั้ง “กรมพระสุรัสวดี” (เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน คือ กรมสัสดี สังกัดกระทรวงกลาโหม) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีพนักงานทำบัญชีพลทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตามระหว่างนี้วิธีการเกณฑ์คนมาเป็นทหารก็ยังคงใช้ประเพณีที่คนไทยนิยม ใช้บังคับเข้ารับราชการทหารอยู่อย่างเดิม ต่อมาในกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา รัฐบาลอนุญาตให้ไพร่เสียเงินค่าราชการแทนการเข้าเวร และกำหนดให้ไพร่ตามหัวเมืองส่งส่วยแก่รัฐบาล ซึ่งกรมพระสุรัสวดีต้องรับหน้าที่ในเรื่องส่วยและเงินราชการด้วย โดยการกำหนดพลเมืองเพื่อเข้ารับราชการทหารได้แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1. คนไทย คือ บรรดาผู้ชายไทย จะมียศศักดิ์หรือสกุลใด ๆ ก็ตาม ต้องเป็นทหารทุกคน คนต่างชาติที่เกิดในเมืองไทยก็นับว่าเป็นคนไทย 2. นักบวช คือ นักบวชในพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น ๆ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหาร 3. คนต่างชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท (คือ 3.1 พวกที่ไปมาค้าขาย ชั่วคราวไม่เรียกเกณฑ์เข้าเป็นทหาร แต่ต้องเรียกเงินแทน หรือเรียกใช้แรงงานเป็นครั้งคราว 3.2 พวกที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองไทย ถ้าใครสมัครก็รับไว้ในจำพวก “ทหารอาสา” 3.3 พวกที่เป็นลูกหลานคนต่างชาติ และเกิดในเมืองไทย ต้องเกณฑ์เข้าเป็นทหารอย่างคนไทย) และ 4. ทาส คือ คนไทยที่ตกไปเป็นทาส หรือเชลย จะเป็นคนไทยหรือชาติใดก็ตาม ถือว่าเป็นคนชั้นต่ำ ไม่ให้มีเกียรติยศเป็นทหาร

ภาพ 'แรงงานไพร่ในสังคมไทยโบราณ' จาก hfocus.org 

สำหรับคนที่ต้องเข้ารับราชการทหาร ยังมีการกำหนดเวลารับราชการทหารและแบ่งคนตามอายุเป็นประเภท กล่าวคือ บุคคลที่มีอายุครบ 16 ปี ขึ้นทะเบียนเป็นประเภท กล่าวคือ บุคคลที่มีอายุครบ 16 ปี ขึ้นทะเบียนเป็น “ไพร่สม” บุคคลที่มีอายุครบ 20 ปี ปลดจากไพร่สมเป็น “ไพร่หลวง” ซึ่งมีหน้าที่รับราชการทหาร จนอายุถึง 60 ปี

ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ยังคงใช้วิธีการเกณฑ์ทหาร ข้อกำหนด เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังมิได้ออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2448 ตรงกับปีมะเส็ง ร.ศ.124 ถือได้ว่าเป็นบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับแรก การใช้กฎหมายฉบับนี้ ประกาศใช้เป็นพื้นที่ โดยเริ่มจากมณฑลนครราชสีมา นครสวรรค์ ฯลฯ

วิธีการเกณฑ์ทหารตามพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 มีเนื้อความคือ บรรดาชายฉกรรจ์ที่มีอายุ 18 ปี ต้องมาเข้าทะเบียนเป็นทหารกองเกินประจำการอยู่ 2 ปี เมื่อรับราชการครบ 2 ปีแล้ว จะถูกปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ 1 พวกกองหนุนชั้นที่ 1 นั้น จะมีหน้าที่เข้ามาฝึกซ้อมปีละ 2 เดือน นอกจากนั้นปล่อยให้ทำมาหากิน และเมื่ออยู่ในกองหนุนชั้นที่ 1 ครบ 5 ปีแล้ว ก็จะปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ 2 ครบ 10 ปีแล้วให้ปลดพ้นราชการทหาร ทั้งนี้มีผู้ที่ได้ยกเว้นการถูกเกณฑ์ เช่น พระราชวงศ์ ข้าราชการสัญญาบัตร นักเรียน ผู้สำเร็จการศึกษา คนป่าคนดอย เป็นต้น

ต่อมาใน พ.ศ.2451 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.127 จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 ต่อไปโดยได้ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2459 รวมเป็นเวลา 11 ปี ในปี พ.ศ. 2460 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2460  ขึ้นใหม่ ซึ่งกำหนดอายุการลงบัญชีกองเกินอัตรา การเรียกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารกองประจำการ การรับราชการในกองประจำการ และกองหนุนชั้นต่าง ๆ ตลอดจนพ้นราชการทหาร ตามที่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 ,พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ ร.ศ. 127 (พ.ศ.2451) และในปี พ.ศ. 2466 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม พ.ศ.2466 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ 23 มกราคม 2466 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2475 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2475 และยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2466 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479 ขึ้นใหม่ ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม พ.ศ.2466

ภาพจาก manager.co.th

ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรับราชการทหารกองประจำการ พ.ศ. 2497 ใช้บังคับตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2479   โดยพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ฉบับนี้ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วหลายครั้ง

สำหรับพระราชบัญญัติรับราชการทหารกองประจำการ พ.ศ. 2497 ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นระบุว่าให้ชายไทยที่มีอายุ 18 ปี ไปขึ้นทะเบียนทหารไว้ที่อำเภอ และเมื่อถึงอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ก็จะมีหมายเรียกให้เข้ารับการตรวจและคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการหรือทหารเกณฑ์ โดยตรวจร่างกายและจับสลาก ผู้ที่ได้สลากดำไม่ต้องเป็นทหาร ส่วนผู้ที่ถูกจับได้สลากแดงก็ต้องเป็นทหารตามสังกัดหน่วยที่ระบุไว้ในสลาก โดยแบ่งออกเป็น 2 ผลัด ผู้ที่จับได้ผลัดแรก จะเริ่มเข้าหน่วยภายในต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนผลัดที่ 2 จะเริ่มเข้าหน่วยภายในต้นเดือนพฤศจิกายน เข้ารับราชการทหารในกองประจำการเป็นระยะเวลาทั้งหมด 2 ปี ยกเว้นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าอนุปริญญาขึ้นไป หรือผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นทหารเองตามคุณสมบัติต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด จะมีข้อยกเว้นในการเข้ารับราชการในกองประจำการแตกต่างกันไป ส่วนผู้ที่ได้รับยกเว้นในการเข้ารับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการได้แก่ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์, คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้ และบุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เป็นต้น

การเกณฑ์ทหารในต่างประเทศที่น่าสนใจ

อิสราเอล

อิสราเอลเป็นประเทศที่ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารคล้ายคลึงกับของไทย แต่แตกต่างกันตรงที่กฎหมายของอิสราเอลบังคับให้เยาวชนทุกคนต้องเป็นทหารรับใช้ชาติเมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ โดยใช้ระบบการบังคับ (Compulsory System) ผู้ชายจะต้องเป็นทหาร 3 ปี ผู้หญิง 2 ปี นอกจากนี้ยังวางรากฐานความรู้ด้านการทหารแก่เยาวชนที่มีอายุ 14-17 ปี ที่เข้าสังกัดกองทัพยุวชนด้วย แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายแล้วยังมีการยกเว้นให้ประชาชนบางกลุ่ม เช่น นักเรียนของโรงเรียนสอนศาสนายิวนิกายดั้งเดิม (ultra-Orthodox) ทว่ารัฐบาลอิสราเอลเตรียมยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นไป

รัสเซีย

กฎหมายของรัสเซียกำหนดว่าชายชาวรัสเซียทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-27 ปี จะต้องเป็นทหารเกณฑ์เป็นเวลา 1 ปี แต่ในทางปฏิบัติมีคนจำนวนมากหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร เช่น ขอผ่อนผัน หรือลงทะเบียนเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัย การจงใจทำตัวไม่ให้ผ่านการตรวจร่างกาย และมีอยู่บ่อยครั้งที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ทั้งนี้พบว่ากองทัพรัสเซียถือว่าเป็นกองทัพที่ใช้ระบบอาวุโสกดขี่ทหารชั้นผู้น้อยเข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเรียกระบบนี้ว่า Dedovshchina System ในปี  ค.ศ. 2006 มีรายงานร้องเรียนว่าทหารใหม่ถูกทำร้ายถึง 3,500 คน และเสียชีวิตไปถึง 292 คน จนเกิดปรากฏการณ์คุณแม่ของพลทหารชั้นผู้น้อยออกมาตั้ง "สหภาพแม่พลทหาร" กดดันเรียกร้องไม่ให้มีการทารุณกรรมพลทหารชั้นผู้น้อย กรณีนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รัสเซียต้องดำเนินการปฏิรูปกองทัพตามนโยบาย New Look ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 นี้เอง

เกาหลีใต้

ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือส่งผลให้การเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้มีความเข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กฎหมายของเกาหลีใต้กำหนดไว้ว่าชายอายุ 18-35 ปี จะต้องผ่านการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 2 ปี (แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เช่น ผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลในโอลิมปิก เป็นต้น) โดยผู้ที่หนีทหารจะได้รับโทษจำคุกทันที ส่วนกลุ่มคนที่มักได้รับการจับตาเป็นพิเศษก็คือ "ดารา" เพราะบ่อยครั้งดาราในเกาหลีใต้มักมีพฤติกรรมการเลี่ยงเป็นทหารด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปลอมแปลงเอกสารทางการแพทย์ ถอนฟันเพื่อให้ขาดคุณสมบัติในการเกณฑ์ทหาร รวมทั้งการโอนสัญชาติเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: