สปช. ดัน ‘โซลาร์รูฟ' หวัง 20 ปี ล้านหลังคาเรือน พลิกประเทศหรือขายฝัน?

ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 29 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2105 ครั้ง

เมื่อเดือนกันยายนปี 2556 รัฐบาลในช่วงนั้นได้ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือที่เรียกว่า ‘โซลาร์รูฟท็อป’ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในธุรกิจพลังงานทางเลือกเป็นอย่างมาก แต่หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 เรื่องนี้ก็ดูเงียบหายไป

แต่เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 ได้มีการพิจารณา รายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร) ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานพิจารณาเสร็จแล้ว รายงานฉบับนี้เป็นการศึกษาพิจารณาในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วยตามข้อเสนอของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นจะทำการส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

เชื่อ ‘โซลาร์รูฟ’ ตอบโจทย์ไฟฟ้าไทย

ทั้งนี้จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ที่ผ่านมา แม้ในหลายรัฐบาลจะได้มีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์บ้างแล้ว แต่ก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์ม’ (Solar Farm) มากกว่า ซึ่งเป็นการลงทุนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ขณะที่การส่งเสริมให้ประชาชนระดับครัวเรือนหรืออาคารขนาดเล็กและอาคารขนาดกลางมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์กลับมีน้อยมาก โดยสัดส่วนของปริมาณการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มต่อโซลาร์รูฟมีความต่างกันมากถึงร้อยละ 94 ต่อร้อยละ 6 รวมทั้งการเปิดรับสมัครเข้าโครงการแต่ละครั้งก็มีข้อจำกัด ทั้งระยะเวลาสั้นเกินไป จำกัดปริมาณน้อยเกินไป และมีการจัดสรรโควต้าในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดการซื้อขายใบอนุญาตของการขายไฟฟ้า

คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าควรเพิ่มสัดส่วนของโซลาร์รูฟให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนแต่ละครัวเรือนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้ประชาชนลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟได้อย่างเสรีโดยไม่จำกัดปริมาณ ไม่จำกัดช่วงเวลาการเปิดรับสมัครโครงการ ไม่จำกัดพื้นที่ ทั้งนี้ควรติดตามและประเมินด้วยว่าปริมาณของโซลาร์รูฟจะเหมาะสมกับปริมาณที่ระบบสายส่ง สายจำหน่ายของการไฟฟ้าจะสามารถรับได้หรือไม่

ทั้งยังเห็นว่าโซลาร์รูฟจะเป็นคำตอบที่แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านและอาคาร หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านและอาคาร หรือบนพื้นในบริเวณบ้านและอาคาร ไม่ได้ใช้ที่ดินอย่างสิ้นเปลือง อีกทั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะช่วยลดความร้อนของหลังคาและยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่หลังคา

ทั้งนี้ความหมายของคำว่า ‘การติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี’ คณะกรรมาธิการปฎิรูปพลังงานมีเจตนารมณ์ต้องการให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายส่วนที่เหลือได้อย่างเสรี ไม่ถูกจำกัดปริมาณและต้องไม่มีโควต้า ซึ่งจะทำให้การซื้อขายใบอนุญาตหมดไป เจ้าของบ้านและอาคารจะสามารถวางแผนการลงทุนติดตั้งล่วงหน้าได้ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงหมู่บ้านจัดสรรและนิคมอุตสาหกรรมด้วย

คาด 20 ปี ผลิตไฟฟ้าได้ 5,000 เมกะวัตต์

ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) ระบุว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่จะตอบสนองนโยบายและแผนการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี โดยในประเทศไทยเริ่มมีการติดตั้งโซลาร์รูฟมาแล้วเกือบ 20 ปี จึงมีประสบการณ์ในการออกแบบและติดตั้งโซลาร์รูฟเป็นอย่างดี ในส่วนของการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยแล้วจำนวน 6 แห่ง มีกำลังการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ปีละ 200 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตก็ได้รับการรับรองมาตรฐาน IEC มีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ

ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพของการติดตั้งโซลาร์รูฟจำนวนมาก แต่ปัจจุบันยังมีการติดตั้งน้อยมาก การกำหนดให้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์รูฟจะช่วยลดภาระ Peak Demand ของประเทศได้มาก และช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในระบบสายส่ง สายจำหน่ายได้มาก สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน แต่ต้องมีการจัดการด้านมาตรฐานและความปลอดภัย และหากในอนาคตหากมีมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมด้านการลดหย่อนภาษีและแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็จะทำให้มีแรงจูงใจในการติดโซลาร์รูฟมากขึ้นด้วย

ในอนาคต 20 ปี จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟขนาดเล็ก

อย่างน้อย 1,000,000 ชุด รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า

ไม่ต่ำกว่า 5,000 เมกะวัตต์

ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ควรมีการวางแผนเรื่องของ Demand และ Supply การติดตั้งโซลาร์รูฟควรกระจายการติดตั้งในภูมิภาคต่างๆ ไม่กระจุกตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไป ต้องมีการวางแผนให้มีสายส่งหรือสายจำหน่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งจัดหาแหล่งจำหน่ายไฟฟ้าสำรอง เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อความสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้ากับปริมาณความต้องการของระบบ และประชาชนต้องมีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลาเมื่อต้องการใช้งาน

ด้านอุปสรรคในอดีตที่สำคัญอย่างการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) นั้น เดิมทีพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2534 และกฎกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดว่า การผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวก 3 ซึ่งต้องมีใบอนุญาตและต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างและผลิตไฟฟ้า ในอดีตที่ผ่านมาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งกรณีติดตั้งบนพื้นดินและบนหลังคา ถือว่าเป็นโรงงานที่จะต้องมีใบอนุญาต รง.4 ทุกกรณี อย่างไรก็ตาม การติดตั้งโซลาร์รูฟนั้นเป็นการติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย อาคารพานิชย์ ในชุมชน บนหลังคาของหน่วยงานราชการต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎกระทรวง ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ออกประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 23 ให้ถือว่าโซลาร์รูฟไม่เป็นโรงงานและการติดตั้งโซลาร์รูฟไม่ต้องขอใบ รง.4 อีกต่อไป

ทั้งนี้เป้าหมายที่คณะกรรมาธิการคาดว่าในช่วง 5 ปีแรก คือ พ.ศ. 2558-2563 จะมีโซลาร์รูฟขนาดเล็กสำหรับบ้านอยู่อาศัยชุดละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เกิดขึ้นจำนวนอย่างน้อย 100,000 ชุด มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ และในอนาคต 20 ปี จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟขนาดเล็กอย่างน้อย 1,000,000 ชุด รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 5,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้จะมีโซลาร์รูฟสำหรับอาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 500 กิโลวัตต์ต่อชุด เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ สนามกีฬา โรงงาน ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟ และโรงจอดรถ โดยคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีโซลาร์รูฟสำหรับอาคารขนาดกลางและใหญ่อีกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์

โดยคาดว่าการดำเนินโครงการนี้จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ โดยอาจจะใช้ช่องทางให้คณะกรรมาธิการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีตามข้อเสนอโครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win) นี้ จะสามารถดำเนินโครงการได้ทันที โดยมอบหมายให้สำนักงานงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เป็นผู้ออกระเบียบตามหลักการของโครงการ

ค่าใช้จ่าย-รายได้-ข้อมูลทางเทคนิค ในการติดตั้งโซลาร์รูฟ

ในด้านการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาบ้านนั้นมีหลายขนาดซึ่งจะมีงบประมาณในการลงทุนและผลตอบแทนที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น บ้านที่เสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 1,000-2,000 บาท หากใช้พื้นที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ 14 ตารางเมตร จะได้กำลังการผลิตไฟฟ้า 2 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดไฟฟ้าและยังสามารถเหลือไฟฟ้าขายได้เดือนละประมาณ 1,000-1,200 บาท หรือปีละประมาณ 12,000-14,000 บาท โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 120,000-160,000 บาท จะคืนทุนภายใน 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนประมาณร้อยละ 8-9 เป็นต้น

ข้อกังวลใจและอะไรซ่อนอยู่ในนโยบายพลังงานทางเลือกนี้

ทั้งนี้ในการอภิปรายเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ยังมีสมาชิกสภาปฏิรูปบางรายมีความเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าว อาจจะสร้างความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะโครงสร้างของบ้านทั่วไปไม่ได้ออกแบบให้ติดอุปกรณ์ต่างๆ บนหลังคาและมีความกังวลว่า แผงโซลาร์รูฟจะเป็นสื่อล่อฟ้าให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านได้ อีกทั้งไม่ควรให้ชาวบ้านเป็นหนูทดลองในโครงการนี้ ดังนั้น ควรที่จะให้มหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ที่มีความพร้อมทดลองก่อนที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ด้านแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมพลังงานระบุว่า หลายฝ่ายกำลังกังวลใจถึงเรื่องการติดตั้ง เนื่องจากเป็นโครงการที่จะต้องมีผู้สมัครเข้าร่วมมากพอสมควร แต่ผู้ประกอบการรับเหมาติดตั้งของไทยจะพร้อมและมีคุณภาพมากพอหรือไม่ รวมทั้งบริการหลังการติดตั้งและการซ่อมบำรุงซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอาจจะทำให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟไม่คุ้มทุนได้ในท้ายที่สุด

รวมทั้งข้อวิจารณ์สำคัญของโครงการนี้ที่ไม่ควรมองข้ามอีกประการหนึ่งก็คือค่าไฟฟ้าโดยภาพรวมจะแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตสูงถึง 6.85 บาทนี้ จะต้องบวกรวมไปในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายทุกเดือน  และหากมีการติดตั้งตามเป้า 100,000-1,000,000 ชุด ก็จะมีผลกระทบต่อค่า FT ในอัตราที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอย่างแน่นอน รวมทั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักและเมื่อครบอายุสิ้นสุดโครงการโซลาร์รูฟ 25 ปีแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดจะกลายเป็นขยะอันตรายหรือไม่

และการเข้าโครงการนี้ก็ต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควรเนื่องจากใช้เงินลงทุนหลักแสนบาท ซึ่งประชาชนที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้อาจจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ไม่กระจายไปตามชนบท อาจจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานมากขึ้นไปอีก เพราะประชาชนที่มีกำลังทรัพย์สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟได้นั้นจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงแถมยังมีรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ขายไฟฟ้าอีก ส่วนประชาชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ติดตั้งโซลาร์รูฟจะต้องมาเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้รัฐนำเงินไปซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้จึงต้องจับตากันต่อไปว่า โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี’ จะเป็นการพลิกประเทศไทยในเรื่องของพลังงานได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การขายฝันลมๆ แล้งๆ อีกครั้งเท่านั้น

อ่าน 'จับตา: การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟของรัฐhttp://www.tcijthai.com/office-tcij/view.php?ids=5347

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: