ตามดูภาษีสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย ‘เงินโต๊ะ-เงินรุ่น’จ่ายสูงเท่าค่าเทอม

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ทีมข่าว TCIJ 28 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 4032 ครั้ง

มีคำกล่าวว่า ภาษีที่แพงที่สุดคือ ภาษีสังคม(Social tax) หมายถึง รายจ่ายเพื่อการเข้าสังคมต่างๆ หรือการสร้างเครือข่าย (Connection) ของตัวเอง เหตุที่แพงที่สุดเพราะไม่มีเพดานขั้นต่ำ ไม่สามารถลดหย่อนได้ และบางกรณีอาจต้องจ่ายตลอดชีวิต

มหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบสังคมเฉพาะ มีวัฒนธรรม กฎระบบเบียบที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม เล็กกว่าระบบสังคมมหาวิทยาลัย คือ คณะ และในบางสถาบันการศึกษามีหน่วยที่ย่อยกว่าคณะเรียกว่า “โต๊ะ” ซึ่งคือระบบกลุ่มที่จัดให้สมาชิกในสังคมรวมกลุ่มกัน มีไว้เพื่อเชื่อมร้อยสมาชิกเข้ากับระบบสังคมใหญ่อย่างคณะ

เช่นเดียวกับสังคมใหญ่ เมื่อนักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกสังคมย่อยอย่างโต๊ะ การรับน้องใหม่ คือ พิธีกรรมแรกที่สมาชิกเก่าในสังคมเตรียมไว้ให้ ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับน้องในแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยประมาณเกือบ 1 แสนบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้มาจากการเก็บจากสมาชิกรายเดือน

เงินโต๊ะ เงินรุ่น ภาษีสังคม

ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เป็นคนหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ในเว็บไซต์ประชาไท ว่า “ผู้ปกครองนั้นหารู้ไม่ว่าการอยู่มหาวิทยาลัยต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว ที่ต้องจ่ายให้มหาวิทยาลัย ผมเรียกมันว่า ‘ภาษีสังคม’ ซึ่งเกิดจากการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ทั้งที่มหาลัยรับทราบแต่ไม่มีงบให้ แต่ตั้งความหวังว่างานจะออกมาดีโดยทิ้งภาระให้เป็น  ‘สปริตของนักศึกษา’ แน่นอนสปิริตในยุคทุนนิยมต้องใช้เงินด้วย หากแต่ไม่จบแค่นั้นเขายังจะต้องจ่ายค่ารายละเอียดยิบย่อยในเมเจอร์ของเขาอีก ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์เสื้อหรือว่า ‘เงินรุ่น’ รวมเบ็ดเสร็จหมื่นนึงก็เอาไม่อยู่ เรียกได้ว่าเป็นค่าเทอมนอกรายการ  ยังรวมถึงการจัดงานต่างๆ ไม่ว่าจะรับน้องบายเนียร์ ครบ รอบโน่นนี่ ซึ่งแต่ละงานแบกรับเงินได้ถึงระดับแสนและมากไปกว่านั้น”

หมายเหตุ: บายเนียร์ (บ๊ายบายซีเนียร์)  หมายถึงกิจกรรมเลี้ยงส่งรุ่นพี่

น้องบี(นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐที่เข้าร่วมกับระบบโต๊ะ เปิดเผยว่า ช่วงแรกของการเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงการปฐมนิเทศ นักศึกษาแต่ละคนจะถูกแบ่งให้สังกัดกลุ่มที่เรียกว่า “โต๊ะ” ผ่านการ   จับฉลาก ระบบโต๊ะของมหาวิทยาคล้ายกับการสังกัดกลุ่ม แต่ละโต๊ะจะมีสมาชิกราว 20 คน มีระบบรุ่นพี่ รุ่นน้องชัดเจน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง โต๊ะ จะทำหน้าที่เป็นแขนขาให้กับระบบโซตัสในคณะ

พิธีกรรมเฉพาะคือ การรับน้องโต๊ะ มีนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบหลักทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย การติดต่อประสานงาน หาสถานที่และรูปแบบกิจกรรม ซึ่งการรับน้องในแต่ละครั้งจะใช้เงินเกือบ 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับสถานที่และจำนวนผู้เข้าร่วม งบประมาณในการรับน้องแต่ละครั้งจะได้จากการเก็บค่าสมาชิก

ระบบการเก็บค่าสมาชิกส่วนใหญ่ใช้วิธีการจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 300-500 บาท เริ่มเก็บตั้งแต่เข้าสังกัดโต๊ะในชั้นปีที่ 1 ไปจนถึงชั้นที่ 3  นอกจากรายจ่ายประจำเดือนแล้ว สมาชิกโต๊ะยังต้องหารายได้พิเศษจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เช่น สมุดบันทึก เสื้อรุ่น ฯลฯ โดยสรุปแล้วสมาชิกโต๊ะหนึ่งคน ต้องจ่ายค่าสมาชิกขั้นต่ำราวปีละ 4,000 บาท หรือ 12,000 บาท ตลอดหลักสูตรการศึกษา 4 ปี

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสังสรรค์ในแต่ละครั้งของการประชุมโต๊ะ ที่สมาชิกต้องมารับประทานอาหารร่วมกันเพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์กับเพื่อนสมาชิก

นอกเหนือไปจากกรณีของน้องบี มหาวิทยาลัยอื่นก็พบระบบการจ่ายเงินค่ากิจกรรมในส่วนที่มหาลัยไม่ได้บังคับ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นิสิตชั้นปีที่ 1-4 ต้องจ่ายเงินรุ่นสัปดาห์ละ 100 บาท เป็นเวลา 4 ปี คิดเป็นปีละ 4,800 บาท หรือ หมายความว่าตลอดหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี นักศึกษาต้องจ่ายเงินรุ่นทั้งสิ้น 19,200 บาท 

งานพิเศษ-ลงแรง หาเงินจ่ายค่าโต๊ะ

จำเป็นหรือไม่ที่นักศึกษาทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิก น้องบีตอบว่า เรื่องการจ่ายค่าสมาชิกจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคนส่วนใหญ่ ว่าจะเรียกเก็บเท่าไร แต่โดยหลักแล้วทุกคนควรต้องจ่าย ในกรณีที่สมาชิกคนใดมีปัญหาเรื่องเงิน ที่ประชุมโต๊ะก็จะหารือกันเพื่อหาทางให้สมาชิกจ่ายค่าโต๊ะในรูปแบบอื่น เช่น นำเสื้อไปขาย ช่วยงานออกร้าน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วสมาชิกโต๊ะที่มีปัญหาเรื่องเงินจะขอออกจากโต๊ะ หรือไปทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนเพื่อหาเงินมาจ่าย ส่วนใหญ่ที่พบจะทำงานพิเศษเป็นพนักงานเสริฟในร้านอาหาร เป็นพนักงานฉีกตั๋วภาพยนตร์ หรือพนักงานขนของในโรงแรม

สำหรับนักศึกษาที่ไม่จ่ายค่าสมาชิกโต๊ะ หากไม่ถูกการกดดันทางสังคมจากเพื่อนในโต๊ะจนต้องจ่ายเงิน     ก็จะออกจากโต๊ะไปโดยปริยาย ซึ่งการออกจากโต๊ะนั้นในทางหนึ่งเสมือนการออกจากระบบอุปถัมภ์ในคณะ  ซึ่งน้องบีให้เหตุผลว่า การออกจากโต๊ะ ด้านหนึ่งคือถูกตัดการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ปีสูง (หมายถึงรุ่นพี่ที่จบการศึกษา) โดยเฉพาะรุ่นพี่ที่มีตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักผ่านระบบรับน้องโต๊ะ  นอกจากนี้ตลอด 4 ปีในมหาวิทยาลัยจะเหมือนถูกลอยแพจากเพื่อนในโต๊ะ และถูกพูดถึงในทางที่ไม่ดีจาก เพื่อนในคณะที่ไม่เห็นด้วยกับการออกจากสังกัดโต๊ะ 

ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาประมาณ 5 -6 คน จากนักศึกษาทั้งหมดเกือบ 200 คนในรุ่น ที่ออกจากระบบโต๊ะ   จากทั้งสาเหตุเรื่องการจ่ายเงิน และไม่พอใจกับระบบอุปถัมภ์ในรุ่น   

เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้แสวงหา“ระบบรุ่น”

โจว(นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันกับน้องบี ที่ตัดสินในออกจากระบบโต๊ะ และไม่เข้า  ร่วมกับระบบรุ่นพี่รุ่นน้องของมหาวิทยาลัย จนเรียกได้ว่า เป็นนักศึกษาที่ปฏิเสธระบบอาวุโสอย่างสุดโต่ง คนหนึ่งก็ว่าได้  ส่วนสาเหตุหลักของการออกจากระบบโต๊ะ โจวให้เหตุผลว่า อยากนำเงินที่ต้องจ่ายให้กับ  กิจกรรมในโต๊ะ ไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นกับชีวิตการเรียนมากกว่า เช่น ใช้เงินซื้อหนังสือ ถ่ายเอกสารตำรา  เรียน  

เมื่อถามถึงเรื่องความกดดันหลังออกจากระบบโต๊ะ โดยเฉพาะเรื่องเพื่อนร่วมคณะ  โจวกล่าวว่า ไม่รู้สึกว่า   มีปัญหาแต่อย่างใด อาจต่างเพียงแค่มีเพื่อนน้อยกว่าคนที่เข้าระบบโต๊ะ ซึ่งในทางกลับกันอาจเป็นข้อดี   เพราะเพื่อนที่ไม่ได้มาจากระบบโต๊ะ (เพื่อนระบบโต๊ะมักเรียกติดปากว่า “เพื่อนสำเร็จรูป”)  จะเป็นเพื่อนที่มีความสนใจและมีทัศนคติที่ตรงกัน  คบหาเป็นเพื่อนอย่างเป็นธรรมชาติ  

“ผมไม่เคยไปร่วมกิจกรรมรับน้องของคณะเลย เรียกได้ว่าผมเป็นคนสุดโต่งคนหนึ่งเรื่องการปฏิเสธระบบ เลยก็ว่าได้ ผมไม่ถือสาคนที่ยอมรับระบบ เพราะเรามีทัศนคติที่ต่างกัน ชีวิตผมไม่ได้มาแสวงหาสิ่งเหล่านี้ในรั้วมหาวิทยาลัย ผมมาแสวงหาความรู้ และถ้าผมจะมีสังคม เพื่อนจะมาเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องจัดการ ให้ผมรู้จักกับใคร” โจวกล่าว

หนึ่งในข้อดีของระบบโต๊ะสำหรับโจวมองว่า เป็นเสมือนเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำความรู้จักกับเพื่อนในคณะให้กับนักศึกษาเข้าใหม่ชั้นปีที่ 1 ที่ยังไม่รู้จักใคร แต่ในขณะเดียวกันก็ปิดโอกาสในการแสวงหาพื้นที่ของตัวเอง คล้ายกับระบบโซตัส โต๊ะจะมีวัฒนธรรมของโต๊ะ มีธรรมเนียม มีระบบอาวุโส มีระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสิ่งตอบแทนที่ระบบจะให้คือ ความช่วยเหลือตลอดการเรียนตราบเท่าที่นักศึกษายังอยู่ในระบบ เช่น การแนะนำลงวิชาเรียนจากรุ่นพี่ในโต๊ะ ช่วยหาที่ฝึกงานเมื่อใกล้จบการศึกษา หรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหลังจบการศึกษาเพราะมาจากโต๊ะ หรือรุ่นเดียวกัน

สำหรับข้อเสนอต่อมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับระบบโต๊ะ หรือโซตัส  โจวมองว่า มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบัน  การศึกษา ควรจะเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาสามารถใช้ทรัพยากรต่างอย่างๆเท่าเทียม รวมถึงอยู่ในสังคมมหาวิทยาลัยได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกับสังกัด หรือกลุ่มใดๆ นักศึกษาทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกโดยที่ พวกเขาไม่ต้องสูญเสียอะไร เป็นต้นว่า จะไม่สูญเสียที่ทางในสังคมหากคุณไม่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง  รวมทั้ง มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งน้ำทางความรู้และการฝึกฝนด้านปัญญาความคิด  มากกว่าการปลูกฝังอำนาจและเส้นสายอุปถัมภ์ 

อ่าน 'จับตา': “ค่าเทอมมหาวิทยาลัยรัฐ”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5809

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: