สแกนลายพราง : เจาะปฏิบัติการลับ-การข่าวของทหาร ‘ส่วนโครงการ 309, 311 และ 315’ 

ทีมข่าว TCIJ 28 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 9059 ครั้ง

ซีรีย์ชุด “สแกนลายพราง” เป็นความพยายามที่จะนำเสนอความคิดของทหารว่ามีมุมมองต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคมอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้ “ทหาร” ยังคงเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

ปฏิบัติการลับและการข่าวลับ

ความหมายของ “ปฏิบัติการลับ” จาก ตำราคู่มือหลักการข่าวลับ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ นั้นระบุว่าคือการดำเนินการใด ๆ ก็ตามที่เป็นไปในลักษณะปกปิด เพื่อรวบรวมข่าวสารหรือปฏิบัติการอื่น ๆ อันเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยปฏิบัติการลับนี้ จะไม่เป็นที่เปิดเผยแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายตรงข้าม ประเภทของการปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ การจารกรรม ได้แก่การรวบรวมข่าวสารสำคัญที่ต้องการปกปิดเป็นความลับ การดำเนินการลับ ได้แก่ การก่อวินาศกรรม การบ่อนทำลาย รวมทั้งการใช้กำลังและการปฏิบัติการด้วยวิธีรุนแรง และ การต่อต้านข่าวกรอง ได้แก่ การต่อต้านการจารกรรม การต่อต้านการก่อวินาศกรรม และการต่อต้านการบ่อนทำลาย

ลักษณะของการปฏิบัติการลับนั้น เป็นงานที่จำเป็นต้องกระทำทั้ง ๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามคอยขัดขวางอยู่ มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ต่อกองทัพและประเทศชาติสามารถกระทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา เป็นการปฏิบัติการที่กระทำการรวบรวมข่าวสารเพิ่มเติม จากการข่าวสารที่ได้จากส่วนราชการอื่น โดยผู้ปฏิบัติงานต้องเป็นผู้มีวินัยเข้มงวด ไม่ประพฤติตนให้เป็นที่สังเกตและสังวรถึงความปลอดภัยเสมอ ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าจะต้องปกปิดว่าตนทำงานให้กับหน่วยงานใดเสมอ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

ส่วน “การข่าวลับ” นั้นตาม พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2528 ได้แยกประเภทและระบุความหมายดังนี้ "การข่าวกรอง" หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ "การต่อต้านข่าวกรอง" หมายความว่า การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย "การข่าวกรองทางการสื่อสาร" หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเครื่องมือสื่อสารด้วยการดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้าย อันอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ และ "การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน" หมายความว่า การให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและกำกับดูแลส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ สถานที่ เอกสารและสิ่งของอื่นๆ ของทางราชการให้พ้นจากการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย

สำหรับประเทศไทยนั้น มีหน่วยงานเกี่ยวกับข่าวกรองหลายหน่วยงานหลายสังกัด โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมที่มีหน่วยงานด้านข่าวกรองที่สำคัญ ๆ อาทิเช่น กรมข่าวทหาร ศูนย์รักษาความปลอดภัยกรมข่าวทหารบก หน่วยข่าวกรองทางทหารกองทัพบก กรมข่าวทหารเรือ กรมข่าวทหารอากาศ เป็นต้น และเมื่อโฟกัสมาที่กองทัพบก หน่วยงานด้านข่าวกรองที่อยู่ในความควบคุมของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ก็ถือว่ามีความสำคัญต่อปฏิบัติการลับและการข่าวลับของกองทัพบกเป็นอย่างยิ่ง

ตัวอย่างปฏิบัติการลับและการข่าวลับ ส่วนโครงการ 309, 311 และ 315

ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานลับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่เผยแพร่เมื่อปี 2537 ได้ระบุถึงปฏิบัติการลับและการข่าวลับในอดีต ภายใต้รหัส “ส่วนโครงการ  309, ส่วนโครงการ 311 และ ส่วนโครงการ  315” ของกองทัพบกไว้ โดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

ส่วนโครงการ 309

ส่วนโครงการ 309 เป็นหน่วยขึ้นตรงของฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ศปก.ทบ. และเป็นฝ่ายอำนวยการของคณะกรรมการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและผู้บังคับบัญชา มีภารกิจในการหาข่าวเพื่อการแจ้งเตือนทางยุทธศาสตร์โดยให้ทราบถึงเจตนารมณ์และแนวความคิดตลอดจนการปฏิบัติงานข่าวของลาว (ในช่วงก่อนปี 2537) เพื่อให้รัฐบาลและกองทัพไทยสามารถวางแผนการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ในการรักษาความมั่นคงในทิศทางด้านประเทศลาว

ทั้งนี้ส่วนโครงการ 309 ได้ยึดถือปฏิบัติตามนโยบายของ ผบ.ทบ. ด้านการข่าวซึ่งให้ไว้เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2536 และนโยบายทางด้านลาวเป็นหลัก ดังนี้

- ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับลาวในทุกระดับ และขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างกันโดยสันติวิธี
- ไม่สนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลลาว
- ปรับปรุงการฝึกอบรมประชาชนบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดน ให้มีความรู้ความสามารถในการตรวจการณ์และการรายงาน
- ดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในการประชาสัมพันธ์และปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันในทุกระดับ
- จัดเตรียมข้อมูลข่าวสารด้านการข่าวและการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

การดำเนินงานของส่วนโครงการ 309 ในอดีตนั้นมีทั้ง “งานปิด” และ “งานเปิด” ในส่วนของงานปิดนั้น ก็มีอาทิเช่น โครงการข่าวลับ เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวในลาวทุกด้านและรวบรวมข่าวสารทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และอื่น ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย โครงการดักฟังทางการสื่อสาร เป็นการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ดักฟังทางการสื่อสาร ทางวิทยุ และโทรศัพท์ เพื่อเสริมงานในโครงการข่าวลับ โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ตามแนวชายแดน เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ ทหาร พลเรือน และประชาชนตามบริเวณชายแดน ไทย-ลาว เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะลุกลามไปต่อได้ โครงการจิตวิทยาทางลับ โดยใช้ตัวแทนหรือแหล่งข่าวดำเนินการต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อปลูกฝังความเป็นชาตินิยมแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนลาวทุกระดับ รวมทั้งให้มีความรู้สึกต่อต้านระบอบสังคมนิยม และหันมาสนใจตามแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งจะมีการใช้ใบปลิวและสื่อโฆษณาในการปฏิบัติงานด้วย โครงการบุคคลสำคัญ ดำเนินการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญของลาวด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการรักษาพยาบาล การอำนวยความสะดวกและการอนุเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ความผูกพันใกล้ชิดเป็นพันธมิตรที่ดีต่อไทย และเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารสำคัญในทุกด้าน โดยเฉพาะเจตนารมณ์ทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้กองทัพและรัฐบาลดำเนินงานในทิศทางลาวได้อย่างถูกต้อง โครงการเสริมความมั่นคงชายแดน ดำเนินงานโดยการจัดตั้งประชาชนไทยตามชายแดน ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นให้เป็นอาสาสมัคร สามารถรายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นได้ เช่น การค้ายาเสพย์ติด สิ่งผิดกฎหมาย อาวุธเถื่อน สินค้าข้ามแดน การแทรกซึมเข้า-ออก รวมทั้งการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม โครงการวิเคราะห์และประเมินผลพื้นที่ เป็นการรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ปฏิบัติการและอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงให้เป็นข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่ทันสมัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประเมินของฝ่ายอำนวยการและการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา

ในด้านงานเปิดนั้น เป็นการปฏิบัติในสถานะส่วนประสานงานด้านลาว ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลาวตามนโยบายของกองทัพบก มีผลเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพไทย-ลาว ได้แก่การเยือนระหว่างกันของผู้นำระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ เป็นต้น

ส่วนโครงการ 311

ส่วนโครงการ 311 ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ศปก.ทบ. เป็นหน่วยปฏิบัติการหาข่าวทางลับของกองทัพบก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2512  งานรับผิดชอบของส่วนโครงการ 311 คือ การหาข่าวทางลับต่อเป้าหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เน้นหนักในพื้นที่ภาคกลาง พื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่าในภาคเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ติดต่อกับประเทศพม่าและมาเลเซีย

ภารกิจหลักของส่วนโครงการ 311 คือ ปฏิบัติงานหาข่าวทางลับและใช้ชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยมีเป้าหมายต่อบุคคลหรือองค์กรที่มีพฤติการณ์กระทบต่อความมั่นคงของชาติและกองทัพบก รวมทั้งปฏิบัติงานพิเศษอื่นใดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และเป้าหมายสำคัญในการปฏิบัติการด้านการข่าวลับ ได้แก่

- กลุ่มนักการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา
- กลุ่มนักวิชาการ
- นิสิต นักศึกษา
- ผู้ใช้แรงงาน
- กลุ่มกดดันทางการเมือง
- กลุ่มค้ายาเสพย์ติด
- กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
- ชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตะวันตก และภาคใต้ตอนบน
- ขบวนการโจรก่อการร้ายในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

การดำเนินงานของส่วนโครงการ 311 จะเป็นการปฏิบัติการทางลับต่อเป้าหมายและบุคคลสำคัญ ด้วยการใช้ระบบตัวแทนเป็นหลัก โดยใช้ประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่รวบรวมข่าวสาร จะใช้ชุดสะกดรอยและเครื่องมือพิเศษเฉพาะเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้หากได้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติการทางยุทธวิธี ทีมการข่าวจะแจ้งให้หน่วยทหารในพื้นที่ทราบทันที เพื่อเป็นการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งในบางโอกาสจะจัดพลนำทางให้หน่วยทหารเข้าปฏิบัติการต่อที่หมายด้วย

แผนกปฏิบัติการ ประกอบด้วย 3 ตอน ได้แก่ ตอนควบคุมทีมการข่าว, ตอนควบคุมชุดปฏิบัติการ และตอนศูนย์เอกสาร ส่วนแผนกสนับสนุน ประกอบไปด้วย 3 ตอน ได้แก่ ตอนสนับสนุนทางเทคนิค, ตอนธุรการและกำลังพล และตอนสื่อสาร

ด้านแผนกปฏิบัติการสนาม ประกอบด้วย ทีมการข่าวและชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยในส่วนของทีมการข่าวนั้นมีทั้งหมด 15 ทีมการข่าว พื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมดังนี้ เขตกองทัพภาคที่ 1 มี 4 ทีมการข่าวในจังหวัดดังนี้ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, กาญจนบุรี และเพชรบุรี เขตกองทัพภาคที่ 2 มี 3 ทีมการข่าวคือ นครราชสีมา, อุบลราชธานี และขอนแก่น เขตกองทัพภาคที่ 3 มี 4 ทีมการข่าวคือ พิษณุโลก, เชียงใหม่, เชียงราย และน่าน เขตกองทัพภาคที่ 4 มี 4 สี่ทีมการข่าวคือ ชุมพร, นครศรีธรรมราช, สงขลา และยะลา

ส่วนชุดปฏิบัติการพิเศษ เป็นการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อสนับสนุนและขยายผลด้านการข่าวในเรื่องตรวจสอบการปฏิบัติงานของตัวแทน พิสูจน์ทราบความน่าเชื่อถือของตัวแทน ความถูกต้องแน่นอนของข่าวสาร สำรวจภูมิประเทศ ใช้เป็นชุดสะกดรอยติดตาม ขจัดเป้าหมายที่เป็นบุคคลและเป็นแบบกลุ่ม ชุดปฏิบัติการพิเศษจำนวน 4 ชุด มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษภาคกลาง อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ชุดปฏิบัติการพิเศษภาคอีสาน อยู่ที่อุบลราชธานี ชุดปฏิบัติการพิเศษภาคใต้ อยู่ที่สงขลา ชุดปฏิบัติการพิเศษส่วนโครงการ 311 ขึ้นทางยุทธการกับ พตท.43 ปัตตานี

ส่วนโครงการ 315

ส่วนโครงการ 315 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยใช้ชื่อว่าศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก 315 ทั้งนี้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาส่วนโครงการ 315 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการจัดหน่วยข่าวกรองหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ตลอดจนเพื่อสนองนโยบายของผู้บังคับบัญชา

ในด้านภารกิจของส่วนโครงการ 315 มีภารกิจหลักรวม 3 ประการคือ

1. รวบรวมข่าวสารทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม ในทิศทางด้านกัมพูชา
2. ปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายอำนวยการของผู้บังคับบัญชา ในเรื่องการข่าวด้านกัมพูชาและเวียดนาม
3. ปฏิบัติการพิเศษด้วยมาตรการทั้งปวงเพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

อ่าน 'จับตา': “ ‘สำนักข่าวกรองแห่งชาติ’ หน่วยงานข่าวกรองของ ‘พลเรือน’ ”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5652

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: