การใช้อำนาจ

Gene Sharp (แปลโดย ธรรมชาติ กรีอักษร) 28 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 4911 ครั้ง


แปลจาก Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy (East Boston, MA: The Albert Einstein Foundation, 2010). บทที่ 5


เผด็จการจะสามารถรวบรวมทรัพยากรเหล่านั้นได้เหนือกว่าเกือบทุกครั้งไป เรายังได้เน้นย้ำถึงอันตรายของการพึ่งพาอาศัยอำนาจความคุ้มครองจากต่างชาติไว้ด้วย ในบทที่ 2 (อันตรายของการเจรจา) เราได้พิจารณาถึงปัญหาของการอาศัยการเจรจาเป็นวิธีการถอดถอนเผด็จการลงจากอำนาจ

ถ้าเป็นเช่นนั้น วิธีการใดที่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านที่นิยมประชาธิปไตยเป็นฝ่ายได้เปรียบและมีโอกาสซ้ำเติมไปยังจุดอ่อนที่ระบุได้ของเผด็จการได้บ้าง เทคนิคของปฏิบัติการแบบใดที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากทฤษฎีอำนาจทางการเมืองที่อภิปรายไว้ในบทที่ 3 (เมื่อใดจึงมีอำนาจ) ทางเลือกหนึ่งก็คือการขืนต้านทางการเมือง

การขืนต้านทางการเมืองมีลักษณาการดังต่อไปนี้

  • ไม่ยอมรับผลลัพธ์ที่มาจากวิธีการต่อสู้ที่เผด็จการเป็นฝ่ายเลือก
  • ระบอบเผด็จการสู้รบด้วยยาก
  • สามารถซ้ำเติมจุดอ่อนต่างๆ ของเผด็จการได้อย่างเฉพาะเจาะจงและสามารถตัดแหล่งทรัพยากรทางอำนาจของเผด็จการได้
  • ปฏิบัติการของการขืนต้านสามารถแพร่กระจายออกไปได้เป็นวงกว้าง แต่ยังสามารถเพ่งความสนใจไปยังเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่เฉพาะได้ด้วย
  • นำไปสู่ความผิดพลาดในการตัดสินใจและการดำเนินการของเผด็จการ
  • สามารถใช้ประโยชน์จากประชากรทั้งหมด รวมไปถึงกลุ่มก้อนและสถาบันของสังคม ในการต่อสู้เพื่อหยุดการครอบงำอย่างทารุณของคนเพียงหยิบมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยขยายการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพสู่สังคม ทำให้การสถาปนาและธำรงรักษาสังคมประชาธิปไตยเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

การทำงานของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

เช่นเดียวกับขีดความสามารถทางการทหารต่างๆ เราสามารถนำการขืนต้านทางการเมืองไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ความพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายตรงข้ามเลือกกระทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม การสร้างเงื่อนไขเพื่อแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ ไปจนถึงการทำให้ระบอบของฝ่ายตรงข้ามล่มสลาย อย่างไรก็ตาม การขืนต้านทางการเมืองทำงานค่อนข้างต่างจากความรุนแรงอยู่หลายประการ แม้ว่าทั้งสองจะเป็นวิธีการต่อสู้เหมือนกัน ทว่าพวกมันมีวิธีการแตกต่างกันและนำไปสู่ผลลัพธ์แตกต่างกันด้วย วิธีการและผลลัพธ์ของความขัดแย้งที่มีลักษณะรุนแรงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อาวุธทางกายภาพถูกใช้เพื่อข่มขู่ ทำร้าย เข่นฆ่า และทำลาย

การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงมีความซับซ้อนและมีวิธีการหลากหลายกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นอย่างมาก ตรงกันข้าม การต่อสู้เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยาโดยประชากรและสถาบันต่างๆ ของสังคม การต่อสู้เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อที่หลากหลาย ได้แก่ การประท้วง การหยุดงาน การไม่ให้ความร่วมมือ การคว่ำบาตร การแสดงความไม่พอใจ และพลังประชาชน ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทุกประเทศสามารถปกครองได้ตราบเท่าที่ยังได้รับการเติมเชื้อเพลิงจากแหล่งทรัพยากรทางอำนาจที่จำเป็น ผ่านการให้ความร่วมมือ การยอมจำนน และความเชื่อฟังของประชาชนทุกคนและสถาบันต่างๆ ในสังคมเท่านั้น การขืนต้านทางการเมืองไม่เหมือนกับความรุนแรงและเหมาะสำหรับใช้ตัดแหล่งทรัพยากรทางอำนาจเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง

ระเบียบวินัยและอาวุธที่ไม่ใช้ความรุนแรง

ความผิดพลาดที่การรณรงค์ขืนต้านทางการเมืองที่ปราศจากการเตรียมการในอดีตมีร่วมกันคือการพึ่งพาวิธีการเพียงหนึ่งหรือสองวิธี เช่น การหยุดงานและการแสดงพลังของมวลชน ที่จริงแล้ว มีวิธีการมากมายที่ช่วยให้ผู้วางยุทธศาสตร์การขืนต้านมุ่งความสนใจไปยังเป้าหมายและกระจายการขืนต้านออกไปได้อย่างที่ต้องการ

มีการระบุไว้ว่าวิธีการเฉพาะของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีอยู่กว่า 200 วิธี และมีมากกว่านั้นแน่นอน วิธีการเหล่านี้จำแนกได้เป็นสามประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การประท้วงและโน้มน้าว การไม่ให้ความร่วมมือ และการแทรกแซง วิธีการประท้วงและโน้มน้าวโดยไม่ใช้ความรุนแรงโดยมากเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งรวมถึงการเดินพาเหรด การเดินขบวน และการชุมนุมเพื่อสงบนิ่ง (vigils) (54 วิธี) การไม่ให้ความร่วมมือแบ่งออกมาเป็นสามประเภทย่อย ได้แก่ (ก.) การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม (16 วิธี) (ข.) การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การคว่ำบาตร (26 วิธี) และการหยุดงาน (23 วิธี) และ (ค.) การไม่ให้ความร่วมมือทางการเมือง (38 วิธี) ส่วนการแทรกแซงโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กายภาพ และจิตวิทยา เช่น การอดอาหาร การเข้ายึดสถานที่โดยไม่ใช้ความรุนแรง และการตั้งรัฐบาลคู่ขนาน (41 วิธี)  เป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงกลุ่มสุดท้าย รายชื่อวิธีการเหล่านี้จำนวน 198 วิธีรวบรวมไว้ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้

การเลือกใช้วิธีการจำนวนมากเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง ประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอและกว้างขวาง ในบริบทของยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดและมีกลวิธีที่เหมาะสม โดยพลเรือนที่ได้การฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีแนวโน้มจะทำให้ระบอบที่ปราศจากความชอบธรรมประสบกับปัญหาร้ายแรงนานัปการ หลักการนี้ใช้ได้กับเผด็จการทุกประเทศ

ตรงกันข้ามกับวิธีทางการทหาร วิธีการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงสามารถมุ่งไปยังประเด็นที่ต่อสู้อยู่ได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น เมื่อประเด็นเกี่ยวกับเผด็จการหลัก ๆ แล้วเป็นเรื่องทางการเมือง รูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การต่อสู้ข้างต้นอาจรวมถึงการปฏิเสธความชอบธรรมของเผด็จการและการไม่ให้ความร่วมมือกับระบอบดังกล่าว การไม่ให้ความร่วมมือสามารถใช้ได้กับการต่อต้านนโยบายเฉพาะต่างๆ บ่อยครั้ง การอิดเอื้อนและการผัดวันประกันพรุ่งอาจกระทำได้เงียบ ๆ หรือกระทั่งทำได้อย่างลับ ๆ ขณะที่หลายครั้งการอารยะขัดขืน รวมถึงการชุมนุมและการหยุดงานประท้วงอย่างเปิดเผยอาจเป็นสิ่งที่ทุกคนสังเกตเห็นได้

อีกด้านหนึ่ง หากเผด็จการเปราะบางต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจหรือหากความไม่พอใจเผด็จการของคนจำนวนมากมีที่มาจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ เช่น การคว่ำบาตรและการหยุดงานอาจเป็นวิธีการต่อต้านที่เหมาะสม ความพยายามของเผด็จการในการขูดรีดระบบเศรษฐกิจอาจเผชิญกับการหยุดงานครั้งใหญ่ การถ่วงงาน และการปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ (หรือการหายตัวไป) ของผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อเผด็จการเอง การเลือกใช้การหยุดงานหลากหลายประเภทอาจดำเนินการในจุดสำคัญต่างๆ ของกระบวนการผลิต การขนส่ง และส่งจ่ายวัตถุดิบ และการกระจายสินค้า

วิธีการการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงบางรูปแบบทำให้ประชาชนจำเป็นต้องทำบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตตามปกติของตน เช่น การแจกแผ่นพับ การทำงานเป็นสื่อใต้ดิน การอดอาหารประท้วง หรือการนั่งอยู่บนถนน วิธีการเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับบางคนในช่วงเริ่มแรก เว้นแต่ในสถานการณ์ที่สุดขั้วอย่างยิ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วิธีการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงในลักษณะอื่นๆ เรียกร้องให้ประชาชนดำเนินชีวิตของตนให้ใกล้เคียงกับชีวิตตามปกติ แม้ว่าจะแตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น ประชาชนอาจมาทำงานตามปกติแทนที่จะหยุดงานประท้วง แต่จงใจทำงานให้ช้าลงหรือให้มีประสิทธิภาพลดลงจากเดิม “ความผิดพลาด” อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งด้วยความตั้งใจ บางคนอาจ “ป่วย” หรือ “ไม่สามารถ” ทำงานได้ในบางเวลา หรือบางคนอาจปฏิเสธไม่ขอทำงานให้อย่างง่ายๆ เลยก็ได้ บางคนอาจไปเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาเมื่อการกระทำดังกล่าวไม่ได้เพียงเป็นการแสดงออกทางศาสนา แต่เป็นการแสดงความศรัทธาทางการเมืองด้วย บางคนอาจปกป้องลูกของตนจากการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการด้วยการให้การศึกษาเองที่บ้านหรือเข้าชั้นเรียนที่ผิดกฎหมาย บางคนอาจปฏิเสธไม่เข้าร่วมองค์การต่างๆ ที่ “ได้รับการแนะนำ” หรือจำเป็นต้องเข้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาจะไม่เข้าร่วมได้อย่างอิสระ ความเหมือนระหว่างปฏิบัติการรูปแบบดังกล่าวเมื่อเทียบกับกิจกรรมตามปกติของประชาชนและการปลีกแยกพวกเขาออกจากชีวิตตามปกติในปริมาณที่จำกัด อาจทำให้การเข้าร่วมต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากสำหรับหลายคน

เนื่องจากการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงและการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงทำงานแตกต่างกันในระดับรากฐานอยู่หลายประการ ทำให้แม้การใช้ความรุนแรงเพื่อการต่อต้านอย่างจำกัดระหว่างการดำเนินการขืนต้านทางการเมืองก็จะส่งผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนา เพราะจะทำให้การต่อสู้ยกระดับไปสู่จุดที่เผด็จการได้เปรียบอย่างยิ่ง (นั่นคือกลายเป็นสงครามทางการทหาร) ระเบียบวินัยของการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จและจำต้องรักษาไว้ แม้ว่าจะต้องพบกับการยุแหย่และความทารุณของเผด็จการและลูกสมุนของเผด็จการก็ตาม

การรักษาระเบียบวินัยของการไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามที่ใช้มาตรการรุนแรงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานของกลไกความเปลี่ยนแปลงของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง 4 ประการ (ดังที่อภิปรายไว้ด้านล่าง) ระเบียบวินัยของการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกันในกระบวนการของการสะท้อนกลับทางการเมือง (Political Jiu-jitsu) ในกระบวนการนี้ ความโหดร้ายทารุณที่มีต่อผู้ต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจนจะสะท้อนผลกระทบทางการเมืองกลับไปยังตำแหน่งแห่งที่ของเผด็จการ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันในหมู่เผด็จการเอง และปลุกระดมให้เกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้ต่อต้านในหมู่ประชาชนทั่วไป ผู้ที่ปกติแล้วเคยสนับสนุนระบอบเผด็จการและกลุ่มการเมืองที่สามอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในบางกรณี การใช้ความรุนแรงต่อเผด็จการอย่างจำกัดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความคับข้องใจและความเกลียดชังต่อระบอบเผด็จการปะทุกลายเป็นความรุนแรงได้ หรือบางกลุ่มอาจไม่ต้องการที่จะละทิ้งวิธีการรุนแรงแม้ว่าพวกเขาจะตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงก็ตาม ในกรณีเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้องละทิ้งการขืนต้านทางการเมือง กระนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องแยกแยะปฏิบัติการที่รุนแรงออกจากปฏิบัติการไร้ความรุนแรงให้มากที่สุด เราควรกระทำการดังกล่าวโดยการจำแนกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ กลุ่มประชากร และเวลา รวมทั้งจำแนกประเด็นการต่อสู้ออกจากกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว ความรุนแรงจะส่งผลให้การขืนต้านทางการเมืองที่มีศักยภาพในการแสดงพลังและอาจประสบความสำเร็จมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ความรุนแรงต้องพบกับหายนะ

บันทึกประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า ขณะที่ความเสียหายจากความตายและการบาดเจ็บจากการขืนต้านทางการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ ความเสียหายดังกล่าวจะเกิดขึ้นน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับสงครามทางการทหาร ยิ่งกว่านั้น การต่อสู้ประเภทนี้ยังไม่ส่งผลให้เกิดวงจรอุบาทว์ของการเข่นฆ่าและความโหดร้ายทารุณอีกด้วย

การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงทั้งจำเป็นต้องอาศัยการลดระดับความหวาดกลัวและมีแนวโน้มที่จะลด (หรือควบคุม) ความหวาดกลัวที่มีต่อรัฐบาลและการปราบปรามที่รุนแรง (ได้มากขึ้น) การละทิ้งหรือควบคุมความกลัวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำลายล้างอำนาจของเผด็จการที่มีเหนือประชากรโดยทั่วไป

ความเปิดเผย ความลับ และมาตรฐานขั้นสูง

ความลับ การหลอกลวง และการสมรู้ร่วมคิดกันใต้ดินก่อให้เกิดปัญหาที่ยากลำบากยิ่งสำหรับขบวนการที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง บ่อยครั้งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะปกปิดไม่ให้ตำรวจการเมืองและหน่วยข่าวกรองทราบถึงแผนการและเจตนา จากมุมมองของขบวนการเคลื่อนไหว ความลับไม่เพียงแต่มีรากฐานมาจากความกลัว แต่ยังเสริมให้เกิดความกลัว ซึ่งนับว่าเป็นการบั่นทอนจิตวิญญาณของการต่อต้านและลดจำนวนประชาชนที่สามารถมาเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ได้กำหนดไว้ ความลับยังสามารถก่อให้เกิดความหวาดระแวงและการกล่าวหากันภายในขบวนการว่าใครเป็นคนแจ้งข่าวหรือเป็นสายสืบให้กับฝ่ายตรงข้ามขึ้นได้ ซึ่งมักไม่เป็นเรื่องจริง ความลับอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของขบวนการในการรักษาลักษณะที่ปราศจากความรุนแรงด้วยเช่นกัน กลับกัน การเปิดเผยเกี่ยวกับเจตนาและแผนการของขบวนการไม่เพียงแต่ส่งผลในทางตรงกันข้ามเท่านั้น แต่จะทำให้ภาพลักษณ์ของขบวนการต่อต้านดูเหมือนว่าที่จริงแล้วทรงพลังอย่างยิ่งยวด แน่นอนว่าปัญหามีความซับซ้อนกว่าที่เสนอไว้ และมีแง่มุมสำคัญๆ ของกิจกรรมการต่อต้านอีกหลายแง่มุมซึ่งจำเป็นต้องถูกเก็บงำเป็นความลับ เราจำเป็นต้องประเมินด้วยองค์ความรู้อย่างรอบด้านโดยผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพลวัตของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงและวิธีการสอดแนมของเผด็จการในสถานการณ์ที่มีความเฉพาะ

การตรวจแก้ ตีพิมพ์ และแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ใต้ดิน การใช้วิทยุผิดกฎหมายออกอากาศภายในประเทศ และการเก็บข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับปฏิบัติการของเผด็จการ เป็นตัวอย่างของกิจกรรมประเภทพิเศษเพียงไม่กี่อย่างที่ต้องได้รับการปกปิดเป็นความลับขั้นสูง

การรักษามาตรฐานของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงให้มีมาตรฐานสูงเป็นเรื่องจำเป็นต่อความขัดแย้งในทุกระดับ ปัจจัยต่างๆ เช่น การปราศจากความกลัวและการรักษาระเบียบวินัยของการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ การจดจำว่าบ่อยครั้งที่จำนวนของประชาชนอาจจำเป็นต่อการสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เฉพาะเจาะจงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนดังกล่าวจะเป็นผู้เข้าร่วมที่ไว้ใจได้ก็ด้วยการรักษามาตรฐานขั้นสูงของการเคลื่อนไหวเอาไว้ให้ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น

เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ผู้วางยุทธศาสตร์จำเป็นต้องจำเอาไว้ว่าความขัดแย้งที่ต่อสู้ด้วยการขืนต้านทางการเมืองอยู่นั้น เป็นสนามของการต่อสู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจากการเดินหมากของแต่ละฝั่ง ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งแบบที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ (absolute) และแบบที่ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ (relative) ล้วนแต่ขึ้นต่อความเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องและรวดเร็ว สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการที่ผู้ต่อต้านยังคงดื้อแพ่งโดยปราศจากความรุนแรงทั้งที่เผชิญกับการปราบปราม

ความเปลี่ยนแปลงของปริมาณอำนาจในฝักฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งประเภทนี้ มีแนวโน้มที่จะสุดขั้วยิ่งกว่า เกิดขึ้นรวดเร็วกว่า และมีผลลัพธ์ทางการเมืองที่มีนัยยะสำคัญและหลากหลายกว่าความขัดแย้งรุนแรงใดๆ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ปฏิบัติการของผู้ต่อต้านมีแนวโน้มที่จะส่งผลลัพธ์ไปไกลกว่าสถานที่และเวลาที่ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ผลกระทบเหล่านี้จะย้อนกลับมาเพิ่มความเข้มแข็งหรือสร้างความอ่อนแอให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายที่ไม่ใช้ความรุนแรงอาจมีอิทธิพลต่อการเพิ่มหรือลดความเข้มแข็งของฝ่ายตรงข้ามได้มากผ่านการกระทำของตน ตัวอย่างเช่น การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงอย่างกล้าหาญต่อความโหดร้ายของเผด็จการอาจก่อให้เกิดความลำบากใจ ความเกลียดชัง ความไม่น่าเชื่อถือ หรือแม้แต่การฝ่าฝืนคำสั่งในหมู่ทหารและประชากรของเผด็จการได้หากอยู่ในสถานการณ์ที่สุดขั้ว การต่อต้านที่ว่านี้อาจส่งผลให้เกิดการประณามเผด็จการจากนานาชาติมากขึ้นได้ นอกจากนี้ การขืนต้านทางเมืองอย่างมีทักษะ มีระเบียบวินัย และเสมอต้นเสมอปลาย ยังอาจส่งผลให้มีประชาชนที่ปกติแล้วให้การสนับสนุนเผด็จการอย่างเงียบๆ หรือโดยรวมแล้วยังเป็นกลางในความขัดแย้ง เข้าร่วมกับการต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

กลไกความเปลี่ยนแปลง 4 ประการ

การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงสร้างความเปลี่ยนแปลง 4 ประการ กลไกประการแรกมีแนวโน้มเกิดขึ้นน้อยที่สุด แม้มีให้เห็นบ้างแล้วก็ตาม เมื่อสมาชิกของฝ่ายตรงข้ามขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เศร้าโศกจากการปราบปรามนักต่อต้านที่ไม่ใช้ความรุนแรงผู้กล้าหาญ หรือได้รับการชักจูงโน้มน้าวอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าเป้าหมายของผู้ต่อต้านเป็นเรื่องถูกต้องยุติธรรม พวกเขาอาจเปลี่ยนมายอมรับเป้าหมายของผู้ต่อต้าน กลไกเช่นนี้เรียกว่าการแปลงผัน (conversion) แม้ว่ากรณีการแปลงผันที่มาจากปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นจริงในบางครั้ง แต่ก็พบเห็นได้ยาก ในความขัดแย้งส่วนใหญ่ กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย หรืออย่างน้อยที่สุดก็เกิดขึ้นโดยมิได้มีนัยสำคัญแต่อย่างใด

บ่อยครั้งกว่ามากที่การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงทำงานด้วยการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความขัดแย้งและสังคมเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถทำอย่างที่ตนต้องการได้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เองที่ก่อให้เกิดกลไก
3 ประการต่อมา ได้แก่ การยินยอม (accommodation) การบีบบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรง (nonviolent coercion) และการล่มสลาย (disintegration) กลไกใดจะเกิดขึ้นขึ้นอยู่กับว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและแบบไม่เบ็ดเสร็จจะได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

หากประเด็นความขัดแย้งไม่ได้ลงลึกถึงระดับหลักการ ข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้านภายในการรณรงค์ที่จำกัดจะไม่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม และการแย่งชิงอำนาจจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจไปในระดับหนึ่งแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกะทันหันอาจจบลงด้วยการบรรลุข้อตกลง สงวนจุดต่าง หรือประนีประนอมกัน กลไกเช่นนี้เรียกว่า การยินยอม อาทิ การประท้วงหยุดงานหลายครั้งลงเอยในทิศทางดังกล่าว ด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายต่างบรรลุเป้าหมายของตนได้บางส่วน แต่ไม่มีใครได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ รัฐบาลอาจมองว่าข้อตกลงดังกล่าวมีประโยชน์บางอย่าง เช่น ลดแรงกดดัน สร้างความประทับใจจาก “ความยุติธรรม” หรือขจัดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของระบอบเผด็จการในสายตาชาวโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการเลือกประเด็นที่การยินยอมเป็นทางออกที่สามารถยอมรับได้ การต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการไม่ใช่หนึ่งในทางเลือกที่ยอมรับได้

การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงอาจทรงพลังกว่าที่กลไกของการแปลงผันและการยินยอมแสดงให้เห็น การไม่ให้ความร่วมมือและการขืนต้านโดยคนจำนวนมากสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และทำให้ความสามารถของเผด็จการในการควบคุมกระบวนการทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของรัฐบาลและสังคมหมดสิ้นลงได้ กองกำลังทหารของฝ่ายตรงข้ามอาจกลายเป็นสิ่งที่พึ่งพาไม่ได้จนพวกเขาไม่เชื่อฟังคำสั่งให้ปราบปรามผู้ต่อต้านอีกต่อไป แม้ว่าบรรดาผู้นำของฝ่ายตรงข้ามจะยังอยู่ในตำแหน่งและยังยึดมั่นอยู่กับเป้าหมายเดิม ความสามารถในการกระทำการอย่างมีประสิทธิภาพของบรรดาผู้นำเหล่านี้ได้หมดสิ้นลงเสียแล้ว กลไกเช่นนี้เรียกว่า การบีบบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ในบางกรณีที่สถานการณ์สุดขั้ว เงื่อนไขของการบีบบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปอีก ผู้นำของฝ่ายตรงข้ามสูญเสียความสามารถในการกระทำการและโครงสร้างอำนาจของเผด็จการล่มสลายลง การดำเนินการตามแผนการของตนเอง การไม่ให้ความร่วมมือ และการขืนต้านของผู้ต่อต้านสมบูรณ์มากเสียจนกระทั่งในตอนนี้ฝ่ายตรงข้ามยังไม่อาจแสร้งเป็นควบคุมพวกเขาได้ เจ้าหน้าที่ของฝ่ายตรงข้ามปฏิเสธที่จะเชื่อฟังเหล่าผู้นำของตนเอง กองกำลังทหารและตำรวจของฝ่ายตรงข้ามฝ่าฝืนคำสั่ง ผู้สนับสนุนขาประจำหรือประชากรของเผด็จการทอดทิ้งผู้นำเก่าของตนโดยปฏิเสธว่าเผด็จการไม่มีสิทธิ์ในการปกครองเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ความช่วยเหลือสนับสนุนและความเชื่อฟังแต่เก่าก่อนของเผด็จการจึงมลายหายไป กลไกของการเปลี่ยนแปลงข้อที่ 4 ซึ่งก็คือ การล่มสลายของระบบฝ่ายตรงข้ามนั้น หมดจดจนกระทั่งพวกเขาไม่มีแม้แต่อำนาจที่จะขอประกาศยอมแพ้ ระบอบแหลกสลายลงเป็นเพียงเศษซากปรักหักพัง

ในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อปลดแอก เราควรตระหนักถึงกลไกทั้ง 4 ข้อนี้เสมอ โดยเนื้อแท้แล้ว กลไกเหล่านี้จะทำงานหรือไม่บางครั้งขึ้นอยู่กับโอกาส อย่างไรก็ดี การเลือกกลไกหนึ่งหรือมากกว่าจากกลไกทั้งหมด 4 ข้อ เพื่อใช้เป็นกลไกเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งจะทำให้การออกแบบยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะและส่งเสริมกันและกันเป็นไปได้ กลไกใดที่ควรถูกนำมาใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยนานัปการ อาทิ อำนาจที่เบ็ดเสร็จและไม่เบ็ดเสร็จของกลุ่มที่ต่อสู้กันอยู่ รวมถึงทัศนคติและวัตถุประสงค์ต่างๆ ของกลุ่มที่ต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

ผลกระทบที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยของการขืนต้านทางการเมือง

ตรงกันข้ามกับผลกระทบของการสู้รบด้วยการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจ การใช้เทคนิคการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของสังคมการเมืองในหลายทาง

ผลกระทบที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยส่วนหนึ่งเป็นผลเชิงปิดกั้นยับยั้ง กล่าวคือ ตรงกันข้ามกับการใช้วิธีทางการทหาร เทคนิคการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงไม่สามารถนำมาใช้ปราบปรามประชาชนตามคำสั่งของชนชั้นนำผู้ปกครองที่อาจหันมาเป็นศัตรูกับประชาชนของตัวเองเพื่อสถาปนาหรือรักษาระบอบเผด็จการเอาไว้ ผู้นำของขบวนการขืนต้านทางการเมืองสามารถมีอิทธิพลและกดดันกลุ่มผู้ติดตามของตนได้ แต่ไม่สามารถกักขังหรือลงโทษคนกลุ่มดังกล่าวได้หากพวกเขาไม่พอใจหรือเลือกผู้นำคนอื่น

ผลกระทบที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยอีกส่วนหนึ่งเป็นผลเชิงส่งเสริม กล่าวคือ การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการประท้วงต่อต้านที่ประชาชนสามารถนำไปใช้เพื่อบรรลุหรือปกป้องเสรีภาพให้ปลอดภัยจากเผด็จการที่ดำรงอยู่หรืออาจถือกำเนิดขึ้นในอนาคต ด้านล่างคือผลกระทบที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงส่งเสริมจำนวนหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

  • ประสบการณ์ของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงอาจส่งผลให้ประชาชนทุกคนมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นในการท้าทายภัยคุกคามหรือขีดความสามารถในการกดขี่ปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงของเผด็จการ
  • การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการไม่ให้ความร่วมมือและการขืนต้านที่ประชาชนทุกคนสามารถนำไปใช้ต่อต้านการควบคุมพวกเขาอย่างไม่เป็นประชาธิปไตยโดยกลุ่มเผด็จการใดๆ ก็ตาม
  • การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงสามารถนำไปใช้ส่งเสริมเติมต่อการกระทำที่เป็นเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่ออิสระ องค์กรอิสระ และสมัชชาเสรี ยามต้องเผชิญกับการควบคุมที่กดขี่
  • การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงส่งเสริมการอยู่รอด การเกิดใหม่ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอิสระและสถาบันของสังคมได้มาก ดังที่ได้อภิปรายไปแล้วก่อนหน้านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตยเพราะกลุ่มอิสระและสถาบันของสังคมเหล่านี้มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนพลังความสามารถของประชาชนทุกคนและสามารถกำกับประสิทธิภาพทางอำนาจของเผด็จการในอนาคตได้อีกด้วย
  • การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้อำนาจเพื่อต่อต้านการปราบปรามของตำรวจและทหารที่บังคับบัญชาโดยรัฐบาลเผด็จการได้
  • การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีที่ประชาชนทุกคนและสถาบันอิสระต่างๆ สามารถใช้จำกัดหรือตัดขาดแหล่งทรัพยากรทางอำนาจของชนชั้นนำผู้ปกครอง รวมทั้งคุกคามขีดความสามารถของคนเหล่านั้นไม่ให้สามารถครอบงำต่อไปได้ด้วยวิธีการดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของประชาธิปไตย

ความซับซ้อนของการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

ดังที่เราเห็นกันไปแล้วข้างต้น การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเทคนิคการปฏิบัติการทางสังคมที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับวิธีการ กลไกความเปลี่ยนแปลง และความจำเป็นด้านพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะมากมาย การขืนต้านทางการเมืองจำเป็นต้องอาศัยการวางแผนและการเตรียมการอย่างระมัดระวัง เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อสู้กับเผด็จการ ผู้ที่จะเข้าร่วมในการขืนต้านทางการเมืองในอนาคตจะจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าตนเองต้องทำอะไรบ้าง ทรัพยากรต่างๆ จำเป็นต้องตระเตรียมไว้ให้พร้อม และผู้วางยุทธศาสตร์จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร คราวนี้ เราจะหันไปสนใจองค์ประกอบสำคัญประการหลัง นั่นคือ ความจำเป็นของการวางแผนยุทธศาสตร์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: