ค้นหาเจตนาใต้คำด่าทอ Hate Speech ฟังเสียงระเบิดฟังเสียงความเกลียดชัง

กฤตธากร เอี่ยมสุทธา : TCIJ School รุ่นที่ 2 27 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3225 ครั้ง

Hate Speech ไม่เคยจางหายจากสังคมไทย ไม่ว่าในท่ามกลางเสียงนกหวีดหรือภายหลังเสียงระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ อะไรคือ Hate Speech คือสิ่งเดียวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ ? เส้นแบ่งของเสรีภาพกับ Hate Speech อยู่ตรงไหน ? ขณะที่นักวิชาการผู้ศึกษา Hate Speech ระบุว่าสิ่งที่ต้องควบคุมอันดับแรกคือ ‘ความรุนแรง’ ไม่ใช่ Hate Speech แนะสิ่งสำคัญคือการถอดใจความและเนื้อหาภายใต้ถ้อยคำรุนแรงเหล่านั้น เสนอให้เปิดพื้นที่ทุกฝ่ายได้พูด อดทนรับฟัง ค้นหาเนื้อหาสาระที่อยู่ใต้ถ้อยคำด่าทอ เพื่อความเข้าใจกันและกัน (ที่มาภาพประกอบ: EDRi)

เมื่อเรารู้สึกโกรธหรือเกลียดใครสักคน เรามักจะเกิดความรู้สึกต่อต้านคนหรือกลุ่มคนเหล่านั้น จนอาจนำไปสู่การแสดงออกถึงความรู้สึกหรือทัศนคติ ไม่ว่าจะด้วยภาษาหรือท่าทางในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีเปิดพื้นที่ให้สามารถสื่อสารแก่สาธารณะได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้น  เกิดเป็นกระแสของการตอบโต้กันด้วย ‘Hate Speech’บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์

อะไรคือ Hate Speech ?

Hate Speech หรือเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงกว้างเกี่ยวกับขอบเขตที่ชัดเจน และเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นหรือไม่เป็น Hate Speech หาก Speech หรือ Expression คือ การแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือแสดงสัญลักษณ์ จึงอาจอธิบายถึง Hate Speech ในความหมายว่า เป็นการแสดงออกใดๆ โดยมีที่มาจากความเกลียดชัง การพูดจาหยาบคาย ภาพล้อเลียน เสียดสี ดูหมิ่นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แม้กระทั่งการไม่แสดงออกก็ถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งเช่นกัน

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นมีหลายประการด้วยกัน ทั้งจากค่านิยม ความเชื่อ การได้รับความทุกข์ทางกายหรือจิตใจ สภาพเศรษฐกิจ หรือการขาดทักษะชีวิตที่สำคัญ แต่ Hate Speech จะสามารถเป็นแรงขับดันจนนำไปสู่ความรุนแรงได้หรือไม่ การกระตุ้นหรือแรงเสริมย้ำความเกลียดชังให้สะสมเพิ่มมากขั้นเรื่อยๆ อาจเป็นแรงขับชั้นดี กระนั้นหนึ่งในข้อถกเถียงหลักคือ เช่นนั้นเราควรปล่อยให้ Hate Speech เป็น Free Speech หรือ เสรีภาพในการแสองออกหรือไม่

Hate Speech เป็น Free Speech ?

รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อธิบายว่า Speech แปลว่า การพูด หรือ การแสดงออก ซึ่งจะออกมาในรูปแบบใดก็ได้ ส่วน Free Speech หรือ Freedom of Expression คือการที่เรามีสิทธิ์แสดงออก สื่อสารออกมา ถือเป็นเสรีภาพที่ทุกคนพึงมี เว้นเสียแต่ ว่าเป็นการปลุกระดม ยั่วให้โกรธ Free Speech ที่จะกลายเป็น Hate Speech ได้นั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่และบริบท ในแต่ละประเทศจะมีความอ่อนไหวในประเด็นต่างๆ ไม่เหมือนกัน การตัดสินว่าอะไรเป็น Hate Speech จึงต้องดูบริบทของพื้นที่ เวลา และพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ไม่สามารถกำหนดเกณฑ์ตายตัวเพื่อตัดสินได้

แนวทางที่จะผ่อนคลายบรรยากาศของความเกลียดชังนี้ คือต้องยอมพูดกับคนที่เห็นต่าง ถกเถียงกันด้วยเหตุผลและสันติวิธี แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เห็นแล้วว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน และมีการปลุก เร้าอารมณ์กันอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงมี Hate Speech อยู่ตลอดมา

“ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือ คนไทยถูกสอนให้มีความคิดแบบปรนัยมาตั้งแต่เด็ก ถูกสั่งสอนให้มองทุกอย่างว่ามีสิ่ง ที่ถูกและผิดเพียงสองอย่าง มองโลกเป็นสีขาวและดำเพียงสองสีเท่านั้น จึงเกิดปัญหาว่าหากเราเชื่อว่าตัวเองถูก ก็จะมองคนอื่นว่าผิดไปหมด ไม่เปิดตัวเองและไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่ออาจจะไม่ถูกทั้งหมดก็ได้ เราควรต้องรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้รู้และเข้าใจอย่างรอบด้าน” รศ.ดร.โสรัจจ์กล่าว

ด้านดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวถึงข้อถกเถียง ที่ว่า Hate Speech เป็น Free Speech หรือไม่นั้น  ถือเป็นข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีการเมือง โดยเฉพาะทฤษฎีเสรีภาพ ซึ่งจากการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง Hate Speech ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากคำถามนี้ว่าเราจะทำ อย่างไรกับปัญหานี้  การปิดกั้น Hate Speech จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพหรือไม่ เส้นแบ่งจะอยู่ตรงไหน ที่นี้เส้นแบ่งก็มีหลากหลาย ทำให้ถกเถียงกันได้เยอะ ถ้าให้เกณฑ์อยู่สูงเกินไป คำด่าทอ คำเรียกมึงกูจะโดนไปด้วยทุก อย่าง ถ้าถึงขั้นนั้นก็จะเหลือแต่ความสุภาพ สวยงาม พูดจาไพเราะ แต่ไม่รู้ว่าในใจคิดอะไร นั่นคือแบบสูงมาก

“สำหรับผม เสนอเกณฑ์ว่าต้องไม่ต่ำไปกว่านี้  คือพวกสายเสรีนิยมก็จะตั้งมาตรฐานเอาไว้ว่า ทุกคนมีเสรีภาพ ทุกคนไม่ควรถูกคุกคามหรือจำกัดเสรีภาพ ตราบเท่าที่ไม่ใช้เสรีภาพนั้นไปทำร้ายใคร เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เป็นเส้นแบ่งที่สำคัญว่าต้องไม่ต่ำไปกว่านี้ หมายความใช้เสรีภาพได้เต็มที่ ตราบเท่าที่ไม่ก่อให้เกิดการทำร้ายใคร จะหยุดที่ความรุนแรงทางกายภาพเป็นพื้นฐาน”  ดร.ชาญชัยกล่าว

โซเชียลมีเดีย ปัจจัยขยาย Hate Speech

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลุกลามของ Hate Speech ในสังคมไทยเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของโซเชียลมีเดีย อย่างแยกไม่ออก ซึ่งในอดีตการดำรงอยู่ Hate Speech อาจไม่ลุกลามเร็วเท่าปัจจุบัน

ดร.ชาญชัยอธิบายว่า ในอดีต ความขัดแย้งที่เกิดจาก Hate Speech จะอยู่ในเวลาและพื้นที่ตรงนั้นหรือในชุมชน ไม่ลุกลาม แต่ปัจจุบันโซเชียลมีเดีย ช่วยให้ Hate Speech กระจายตัวเร็วข้ามพื้นที่และเวลา มีอายุยาวนานขึ้น ถูกผลิตซ้ำมากและบ่อยขึ้น เช่น ผ่านการแชร์ ส่งต่อ โดยเฉพาะความเกลียดชังจากความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อสิ่งที่ใช้สื่อสารมันเปลี่ยนจึงเกิดการขยายกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการฟัง ถูกนำมาเล่นซ้ำใหม่ได้ อย่างในยูทูบ นอกจากจะเป็นตัวหนังสืออย่างเดียว ปรากฎการณ์ที่สำคัญคือเราฟังในสิ่งที่เราอยากฟัง สิ่งไหนที่เราไม่อยากฟัง เราจะด่า เพราะฉะนั้นเราก็จะร่วมกันด่ากับฝ่ายเรา เวลาเจออีกฝ่ายที่พูดไม่เหมือนเรา เราก็จะด่าเขา

สร้างพื้นที่กลาง-หาสาระใต้ความเกลียดชัง

แล้วจะก้าวผ่านความเกลียดชังได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ยิ่งในยุคที่การสื่อสารเดินทางอย่างรวดเร็วและผู้รับสารเลือกอ่านเฉพาะสิ่งที่ตนอยากอ่าน

ดร.ชาญชัย กล่าวถึงวิธีการก้าวข้ามความเกลียดชังหรือการมองหาเจตนาของผู้ส่งสารภายใต้การด่าทอว่า ต้องสร้าง Hate transformation คือ การถอดความหมายและเจตนาที่แท้จริงของผู้ส่งสาร โดยไม่สนใจคำด่าทอที่กล่าวออกมาก่อนหน้า ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้นแทบเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะต้องอาศัยความอดทนและเวลา และต้องมีพื้นที่กลางในการพูดคุย

ตัวอย่างที่เกิดขึ้น กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชาวเยอรมันและชาวยิว ในโปแลนด์ ซึ่งความเกลียดชังระหว่างคนทั้งสองฝ่ายส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะฝ่ายชาวยิวที่เป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามพูดคุยเพื่อลดความเกลียดชังระหว่างสองชนชาติ โดยสร้างพื้นที่กลางให้คู่ขัดแย้งทั้งสองได้พูดคุย และมีตัวกลางคอยประคองกระบวนการสนทนา ช่วยถอดความหมายภายใต้ความเกลียดชังที่ถูกส่งผ่านถ้อยคำต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อคู่ขัดแย้งได้รับรู้ความหมายที่แท้จริงภายใต้ความเกลียดชังนั้นๆ พบว่าคนรุ่นหลังไม่ได้มีเจตนาและความเกลียดชังต่อกัน

บทเรียนของสังคมโลก จะเป็นบทเรียนของสังคมไทยได้หรือไม่  ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการความขัดแย้งของผู้มีอำนาจรัฐ ที่จะใช้กลไกต่างๆของประเทศอย่างมีสติ มีวุฒิภาวะ ไม่เป็นผู้ชี้นำความเกลียดชังเสียเอง  รวมทั้งสื่อสารมวลชนและระบบการศึกษาไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สังคมไทย เป็น”สังคมที่ใช้ความเห็นมากกว่าสังคมที่ใช้ความรู้”

อ่าน 'จับตา': “Hate Speech เท่ากับ Free Speech?”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5755

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: