จี้เจ้าหน้าที่รัฐไทยแจง ผลกระทบ สวล.หลังเขื่อนไซยะบุรีเริ่มผันน้ำโขง

27 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1834 ครั้ง

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงออกแถลงการณ์ กรณีเขื่อนไซยะบุรีเริ่มผันน้ำโขง โดยทวงถามการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐไทย โดยระบุว่า

วันนี้มีพิธีเปิดการก่อสร้างระยะที่ 2 ของโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่จะกั้นแม่น้ำโขงและผันน้ำโขงให้ไหลผ่านสิ่งก่อสร้างที่ขวางลำน้ำอยู่ โดยมีผู้นำและบุคคลสำคัญเข้าร่วมพิธีดังกล่าว เครือข่ายประชาชนไทยฯ มีข้อสังเกตดังนี้

1. การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นเขื่อนสัญชาติไทยในต่างแดน ลงทุนโดยบริษัทก่อสร้างไทย ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทย 6 แห่ง และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) แต่กลับไม่ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนถึงพื้นที่ประเทศไทย ในขณะที่การก่อสร้างเขื่อนดำเนินไปเกือบครึ่งทาง เจ้าของโครงการยังไม่สามารถตอบคำถามข้อกังวลของประชาชนได้ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไรบ้างต่อแม่น้ำโขงและชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำ โดยเฉพาะที่อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย และเขตอ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งเป็นจุดแรกที่แม่น้ำโขงไหลสู่พรมแดนไทย-ลาว ท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี

2. จวบจนเวลานี้ ยังไม่มีการเปิดเผยแบบเขื่อนที่อ้างว่าเป็นเขื่อนแบบโปร่งใส ไม่กักเก็บน้ำ (run of river) และยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอเรื่องการอพยพของพันธุ์ปลา แบบของเขื่อนที่บริษัทอ้างว่าได้ใช้เงินนับพันล้านบาทปรับเปลี่ยนเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่จนเวลานี้เอกสารดังกล่าวยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ และยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด เนื่องจากข้อกังวลเรื่องการกักเก็บตะกอนแม่น้ำโขง และการขวางกั้นอพยพพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง นอกจากนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อการอพยพของปลาแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นทางปลาผ่าน บันไดปลาโจน ลิฟต์ปลา หรือกังหันผลิตไฟฟ้าแบบเป็นมิตรกับปลา (fish-friendly turbines) ก็เป็นเพียงการทดลอง ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าจะแก้ปัญหาผลกระทบต่อปลาแม่น้ำโขงได้จริง

3. ศาลปกครองสูงสุดได้รับฟ้องคดีที่ประชาชนฟ้องกฟผ. และ 4 หน่วยงานรัฐไทย ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ฯ รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะได้รับผลกระทบอันตรายข้ามพรมแดน ดังคำสั่งศาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ว่า “เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า (เขื่อนพลังน้ำ) อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ...สมดุลของระบบนิเวศ...และเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน..โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่แปดจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงของราชอณาจักรไทยที่อาจได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแดวล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต..” โดยขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง

ด้านนายอนุวรรัตน์ ชานัย กำนันตำบลบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย กล่าวถึงความผันผวนของระดับแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลว่า “ช่วงนี้น้ำโขงมีสีขุ่นมาก และทำให้ชาวประมงแทบจะหาปลาไม่ได้เลย ระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วและมีความขุ่นส่งผลกระทบหนักต่อเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อผลิตน้ำประปาของหมู่บ้าน ต้องย้ายเครื่องลงไปในแม่น้ำโขงระดับที่ต่ำกว่าปกติและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

 

“พืชผักริมฝั่งโขงที่ประชาชนปลูกเพื่อขายและบริโภค อาจจะต้องเพิ่มต้นทุนในการสูบน้ำเข้ามาดูแล เนื่องจากปีนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าปลูกผักตามตลิ่งลงไปต่ำมาก เพราะกลัวว่าน้ำโขงจะขึ้นมาท่วมช่วงหน้าแล้งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา หากเขื่อนไซยะบุรีกำลังผันน้ำโขงเช่นนี้ ชาวบ้านคงเจอผลกระทบหนักแน่นอน”

ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ในฐานะผู้ได้รับความเดือร้อนเสียหาย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย หน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายไทย เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของแม่น้ำโขงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทันที

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: