ประชาคมอาเซียน 2558 ประวัติศาสตร์บาดแผล-ความขัดแย้งวัฒนธรรมยังอยู่

ภาคิน นิมมานนรวงศ์, ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว 26 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 31475 ครั้ง

นับตั้งแต่การลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II- Bali Concord II) ปฏิญญาที่ประกาศเป้าหมายการก่อตั้งประชาคมอาเซียนเป็นครั้งแรกเมื่อ 12 ปีก่อน ความร่วมมือของชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็มีพัฒนาการรุดหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายมิติ

แม้คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ถึงการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ AEC ในปี 2558 แต่ส่วนข้างมากก็เข้าใจว่า คือข้อตกลงความร่วม มือทางเศรษฐกิจกันในหมู่ประเทศเอเซียตะวันตกฉัยงใต้ ทั้งที่จริงแล้วประชาคมอาเซียนประกอบไปด้วย 3 เสาหลักสำคัญ  ได้แก่ เสาหลักทางเศรษฐกิจ (AEC) เสาหลักทางการเมืองและความมั่นคง (APSC) และเสาหลักทางสังคม-วัฒนธรรม (ASCC) ซึ่งล้วนมีความสำคัญไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันต่อการสร้างองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่มี ‘สันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรือง’ ตามที่อาเซียนวางเป้าหมายไว้ตลอดมา

ขณะที่ความร่วมมือในมิติเศรษฐกิจของชาติอาเซียนมีพลวัตที่เด่นชัดกว่าด้านอื่นๆ ส่วนความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเร่งสร้างกระชับสัมพันธ์เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ความร่วมมือทางสังคมวัฒนธรรมกลับคืบหน้าอย่างเชื่องช้า เนื่องจากได้รับความสนใจน้อยในระดับรัฐ ทั้งยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ยากแก้ไข เพราะฝังลึกอยู่ในประวัติศาสตร์บาดหมางและความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

ประชาคมของใคร?

อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำสถาบันนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสร้างประชาคมอาเซียนที่มักมุ่งความสนใจไปที่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งนี้เพราะประชาคมหรือ Community โดยตัวมันเองย่อมท้าทายอำนาจของผู้ปกครองแต่ละประเทศไม่มากก็น้อย เนื่องจากการสร้างประชาคมต้องการความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่สูงต่ำเหลื่อมล้ำกันมากนักระหว่างรัฐกับประชาชน ทั้งต้องอาศัยความคิดและความรู้สึกร่วมกันเป็นพื้นฐาน

“จะเห็นว่าการเจรจาทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นเครื่องมือสำคัญกว่าด้านสังคมวัฒนธรรม เพราะสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นของแต่ละประเทศแฝงไปด้วยชนชั้น มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ แต่ละประเทศมีเจ้าท้องถิ่น แต่ละประเทศมีมาเฟียของความเป็นรัฐกับความเป็นประชาชน การสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน จึงยากจะประสบความ สำเร็จ เพราะเป็นการลดทอนอำนาจท้องถิ่นของแต่ละประเทศเอง”

กระนั้นก็ใช่ว่าอาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรมเลยแม้แต่น้อย เพราะอาเซียนยอมรับเสมอมาว่าการสร้างสำนึกของการเป็นภูมิภาคเดียวกันและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าด้วยการจัดประชุมสัมมนาหรือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยให้ความร่วมมือของอาเซียนและประชาคมอาเซียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แต่ปัญหาคือ ความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรมของอาเซียนยังคงมีความคืบหน้าน้อยและมีข้อตกลงที่มีนัยสำคัญไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับด้านอื่นๆ ในหลายกรณี การประชุมมักเป็นเพียงการหารืออย่างจำกัด เลี่ยงประเด็นที่เลี่ยงได้ อีกทั้งยังเป็นการกล่าวถึงคำสำคัญอย่างกว้างๆ มากกว่าจะเสนอแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม

ผลพวงจากข้อจำกัดดังกล่าวปรากฏชัดระหว่างการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนประจำปี 2556 (ACSC 2013) ภายใต้หัวข้อ ‘อาเซียน: อนาคตของเราร่วมกัน’ (ASEAN: Our Future Together) ซึ่งผู้แทนภาคประชาสังคมของอินโดนีเซียประกาศบอยคอตการประชุม เนื่องจากเจ้าภาพอย่างบรูไนไม่นำประเด็นทางสังคมที่สำคัญอย่างความหลากหลายทางเพศ ปัญหาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ เข้าสู่เวทีการประชุม

ทำนองเดียวกัน ขณะที่อาเซียนประกาศเป้าหมายของการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ในปฏิญญา     เนปิดอว์ว่าด้วยวิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2558 (Nay Pyi Taw Declaration for the ASEAN Community’s Post-2015 Vision) ซึ่งเป็นแผนแม่บทกำหนดทิศทางการดำเนินงานของประชาคมอาเซียนในเสาหลักต่างๆ หลังปี 2558 กลับไม่มีการกล่าวถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแต่อย่างใด

เหล่านี้สะท้อนว่า ทิศทางความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรมของอาเซียนมักถูกกำหนดโดยผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแต่ละประเทศมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คนหรือประชาชนชาวอาเซียนเองเป็นหลัก สอดคล้องกับความเห็นของมรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ความเป็นประชาคมยั่งยืนที่สุดก็คือเรื่องของ คนหรือ เสาสังคมวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงอาเซียนหรือประชาคมอาเซียน เรากลับพูดถึงแต่หลักการและสนใจแต่ระดับผู้นำประเทศ โดยที่ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นคนหน่วยเล็กๆ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประชาคมอาเซียนมักไม่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมออกแบบหรือกำหนดว่าประชาคมควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

“ดังนั้น โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้อาเซียนเป็นอาเซียนจากเบื้องล่าง (From Below) เพราะปัจจุบัน อาเซียนยังคงเป็นอาเซียนจากระดับบนสู่ระดับล่างเท่านั้น”

ประชาคมของความขัดแย้ง?

อุปสรรคสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งต่อความร่วมมือด้านสังคมวัฒนธรรมอาเซียน คือความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างประชาชนชาติอาเซียนที่ยังคงยึดมั่นอยู่กับสำนึกแบบชาตินิยม ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างประชาคมที่ต้องการให้ผู้คนตระหนักถึง อัตลักษณ์ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย

เมื่อประชาชนชาวอาเซียนยังคงนิยมใน ‘ชาติ’ และไม่ค่อยนิยมใน ‘ภูมิภาค’ อาเซียน ในฐานะประชาคมของความขัดแย้งจึงเป็นภาพที่เราคุ้นตากว่าประชาคมในรูปแบบใดๆ มรกตวงศ์อธิบายว่า ตัวอย่างของความขัดแย้งดังกล่าวเห็นได้ชัดจาก

“การแย่งชิงมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย หรือกัมพูชา การแย่งมรดกประจำชาติจะเป็นความขัดแย้งทวิภาคีระหว่างสองประเทศ ซึ่งมีรากร่วมทางวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่ถูกแบ่งแยกโดยใช้เส้นเขตแดนหนึ่งๆ แต่ความขัดแย้งดังกล่าวกระทบต่อความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียกับมาเลเซีย คุณแย่งเพลง ‘Rasa Sayang’ กัน คุณแย่งกลอง คุณแย่งกริช คุณแย่งการเป็นเจ้าของผ้าบาติก หรือสิงคโปร์กับมาเลเซียที่แย่งกันเป็นเจ้าของ ‘ข้าวมันไก่นาซิ เลอมัก’ ซึ่งเราก็ตกใจว่าเรื่องแบบนี้ทำไมถึงกลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ แรงไปถึงขั้นไหน ถึงขั้นที่มาเลเซียกับอินโดนีเซียปาไข่กันหน้าสถานทูต หรือแม้กระทั่งไทยกับกัมพูชาที่แย่งหนังใหญ่ แย่งท่าจีบนิ้วกัน เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะแย่งอะไรกันอีก”

ตัวอย่างความขัดแย้งด้านวัฒนธรรมของอาเซียนในทศวรรษที่ผ่านมา

ประเด็น

ประเทศ

ช่วงเวลา[1]

ความขัดแย้งเรื่องกีฬาฟุตบอล หลังการแข่งขันฟุตบอล AFF SuzukiCup

อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์

2557

วันสงกรานต์ – เทศกาลน้ำ

ไทย สิงคโปร์

2557

ท่ารำตอร์ ตอร์ (Tor Tor dance) และการแสดงกลอง 9 ใบ (GordangSambilan drum performance)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2555

ท่าจีบ ท่ารำ หนังใหญ่

ไทย กัมพูชา

2554

ลักซา (Laksa) นาซิ เลอมัก (NasiLemak) และบักกุ๊ดเต๋ (BukKut The)

มาเลเซีย สิงคโปร์

2552

หยูเชิง (Yu Sheng/Lo Hei)

มาเลเซีย สิงคโปร์

2552

ทำนองเพลงชาติมาเลเซีย (Negaraku)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2552

เขาพระวิหาร

ไทย กัมพูชา

2551

เรินดัง (Rendang)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2550

เพลง Raya Sayang

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2550

ผ้าบาติก (Batik)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2550

หนังตะลุง (Wayang)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2550

กริช (Keris)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2550

อังกะลุง (Angklung)

อินโดนีเซีย มาเลเซีย

2550

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ได้มีผู้ประท้วงชาวอินโดนีเซียประมาณ 20 คน ชุมนุมประท้วงบริเวณด้านหน้าสถานทูตมาเลเซีย ประจำกรุงจาการ์ต้า โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘ประชาคมปกป้องวัฒนธรรมอินโดนีเซีย’ กลุ่มดังกล่าวอ้างว่า"เปาะเปี๊ยะ เป็นอาหารต้นกำเนิดจากอินโดนีเซีย ซึ่งชาวอินโดนีเซียเรียกว่า ลุมเปี๊ยะ

นอกจากการแย่งชิงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมร่วมแต่เพียงผู้เดียว การเหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการที่ยังคงมีให้เห็นตลอดมา ไม่นับการเหยียด ‘พม่า’ ด่า ‘เขมร’ ในหมู่คนไทย ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ไม่ได้รักกันและกันปานจะกลืนกินไปมากกว่าเรา

หลังการแข่งขันฟุตบอล AFF Suzuki Cup นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างไทยกับมาเลเซียเมื่อปลายปีก่อน ชาวสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ออกมาโต้แย้งกันเลยเถิดถึงกับขุดเอาประวัติศาสตร์บาดแผลมาโจมตีกันอย่างไม่ยั้งมือในโลกออนไลน์

ไม่ต้องสงสัยว่า ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม รวมถึงทัศนคติที่ดูแคลนเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค

ล้วนเป็นผลผลิตที่ทรงพลังของประวัติศาสตร์บาดแผล

และประวัติศาสตร์ชาตินิยมมากกว่าอะไรอื่น

“เรารู้ว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียเคยอยู่ในสหพันธรัฐมาลายา ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หลังจากนั้นสิงคโปร์ก็ถูกเชิญให้ออกจากมาเลเซียด้วยปัญหาเรื่องของความมั่นคง ผลก็คือความบาดหมางกันระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียไม่ได้แข่งกัน แต่กลับมีการด่ากันหรือแสดงความสะใจของแฟนบอลชาวสิงคโปร์ต่อทีมฟุตบอลมาเลเซียอย่างรุนแรง ดิฉันไม่แน่ใจว่ามันเป็นเพียงแค่เกมฟุตบอลจริงหรือเปล่า เรารักในทีมฟุตบอลของเราเอง แต่ไม่น่าก้าวข้ามไปถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างสาดเสียเทเสีย อีกเรื่องคือการตีข่าวเรื่องนี้ของสื่อมวลชนไทย คุณอยากจะปลุกกระแสรักชาติก็จริง แต่ว่าคุณลืมไปแล้วหรือว่า คุณกำลังโปรโมทประชาคมอาเซียนแทบเป็นแทบตาย” มรกตวงศ์กล่าว

ไม่ต้องสงสัยว่า ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม รวมถึงทัศนคติที่ดูแคลนเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค ล้วนเป็นผลผลิตที่ทรงพลังของประวัติศาสตร์บาดแผลและประวัติศาสตร์ชาตินิยมมากกว่าอะไรอื่น ในประเด็นนี้ อัครพงษ์เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศในอาเซียน ไม่ใช่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

“ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันส่วนมากเป็นประวัติศาสตร์สงคราม จุดเน้นของประวัติศาสตร์แต่ละชาติอยู่ที่การต่อสู้เพื่อเอาชนะทางการเมือง มากกว่าการทำความเข้าใจเรื่องราวการใช้ชีวิตของมนุษย์ เราไม่รู้เลยว่าในยุคพระนครของกัมพูชาประชาชนกินอะไร มีหอยแครงกินไหม หรือมีเครปกินไหม เราไม่รู้ว่าสมัยอยุธยากินส้มตำกันหรือเปล่า เรารู้แต่ว่ามีจำนวนม้ากี่ตัวที่ออกศึกสงครามระหว่างไทยกับลาวหรือไทยกับพม่า เรารู้เพียงแค่จำนวนทหารมีเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์สงครามเป็นประวัติศาสตร์ของความคับแคบ มันไม่ใช่ประวัติศาสตร์สังคม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ประชาชน มันมีแต่ประวัติศาสตร์การสู้รบ ซึ่งเป็นสิ่งที่บั่นทอนความรู้สึกที่ดีต่อกัน”

ความหวังและทางออก

ในระดับองค์กร อาเซียนยังคงต้องพยายามอีกมากในการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนสังคมในฐานะหัวใจของความร่วมมือในมิติต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ได้เป็นเพียงความฝันเฟื่องหรือคำสวยหรูที่คอยเติมแต่งให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนและประชาคมนานาชาติยอมรับได้

ในระดับประชาชน การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคให้มากขึ้น โดยตระหนักถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ร่วมกันมาหลายพันปี แม้จะเป็นสิ่งยากลำบาก แต่จำเป็นต้องทำ รวมทั้งยอมรับความเป็นจริงที่ว่าทัศนคติแบบอาณานิคมที่คอยแต่ยกตนข่มท่าน รังแต่จะสร้างผลเสียให้กับภูมิภาคโดยรวม

อัครพงษ์เห็นว่า ทางออกง่ายๆ ในระยะสั้นคือการเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดโลกทัศน์ เปิดหูเปิดตา สำรวจวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการทำมาหากินของประชาชนแต่ละประเทศเพราะการท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันไม่ใช่เพียงการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาและเป็นการท่องเที่ยวเพื่อการเปิดใจ

ขณะที่ในระยะยาว หากปัญหามีต้นตออยู่ที่ประวัติศาสตร์ เราย่อมต้องแก้ไขที่ประวัติศาสตร์ ทว่า

“เราอาจจะไม่จำเป็นต้องแก้ไขประวัติศาสตร์ แต่อย่างน้อยต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากขึ้น”

นอกจากนี้ เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธชาตินิยมโดยสิ้นเชิง แต่เราต้องการชาตินิยมที่มีสุขภาพดี กล่าวคือ

“เป็นชาตินิยมที่ไม่จำเป็นต้องกระหายเลือดหรือทำลายคุณค่าของมนุษย์ ชาตินิยมที่ดีคือชาตินิยมที่มองเห็นประชาชน ส่วนชาตินิยมที่คับแคบเป็นชาตินิยมเพื่อความหวงแหนไว้เฉพาะตน ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติ”

ทางออกเหล่านี้อาจใช้เวลานานและต้องหวังผลระยะยาว อย่างไรก็ตาม มรกตวงศ์มองว่า หากว่ากันในประเด็นทางประวัติศาสตร์ ชาตินิยม และวัฒนธรรม เรายังมีความหวังว่า ประชาคมอาเซียนที่เป็นประชาคมของประชาชนจริงๆ จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออาเซียนอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่

“ด้วยความที่ผู้คนทั่วโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น เรามี Social Network มากขึ้น ดิฉันคิดว่าเด็กในปัจจุบันค่อนข้างที่จะไม่ได้สนใจกับเรื่องของประวัติศาสตร์บาดแผลของรัฐเท่าไหร่ เด็กในปัจจุบันอย่างที่ดิฉันสอน ไปเรียนภาษาต่างประเทศ เรียนภาษาเพื่อนบ้านมากขึ้น เขาสนใจภาษาในอาเซียนมากขึ้น ทำให้เขากล้าเป็นเพื่อนกับชาวต่างชาติด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าเหล่านี้น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับอาเซียนในอนาคต” มรกตวงศ์กล่าวทิ้งท้าย



[1]ปีที่ระบุในตารางอ้างอิงตามรายงานของสำนักข่าวต่าง ๆ อาทิ BBC, Channel News Asia, Inquirer, Jakarta Post, Reuters ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งจำนวนมากค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นก่อนหน้านั้น และในหลายกรณียังคงเป็นข้อพิพาทไม่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: