สถานการณ์และปลายทางของโรฮิงญาในรัฐไทย

25 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5011 ครั้ง


	สถานการณ์และปลายทางของโรฮิงญาในรัฐไทย

พบมีโรฮิงญาจำนวน 600 คนในสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ Immigration detention centres (IDCs) และศูนย์พักพิงที่จัดตั้งโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยังเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ในค่ายกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองในภาคใต้ แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับค่ายใต้ดินเหล่านี้ ในปี 2014 มีโรฮิงญาประมาณ 50 คนได้รับโอกาสไปประเทศที่สาม และอีกกว่า 100 คนอยู่ในกระบวนการ มีบางคนที่ได้รับความช่วยเหลือแต่ไม่ประสงค์จะไปยังประเทศที่สามไกล ๆ (ที่มาภาพ: rohingyablogger.com)

เมื่อกลางปี 2557 ที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แห่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต(TIP report) ประจำปี 2014 โดยที่ไทยเป็นหนึ่งในสี่ประเทศในปีนั้น ที่ถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่กลุ่มที่ 3 หรือ เทียร์ 3 (Tier3) ซึ่งเป็นลำดับขั้นต่ำสุดของรายงานนี้ โดยเทียร์ 3 นั้นหมายถึงประเทศไทยเป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งการตกสู่กลุ่มที่ 3 อาจทำให้ไทย สูญเสียความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯในด้านต่างๆ ทำให้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เพิ่งขึ้นสู่อำนาจหมาดๆ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ตัดสินใจเดินหน้าตั้งคณะกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นเพื่อขับดันนโยบายเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นความพยายามเพื่อดันประเทศหลุดพ้นจาก เทียร์ 3 ซึ่งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา การพบหลุมฝังศพชาวโรฮิงญาขนาดใหญ่ที่จังหวัดสงขลา ได้ทำให้ชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ "ชาวโรฮิงญา" ได้ปรากฏบนพื้นที่สื่อกระแสหลัก ในสถานะของเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์

จากตัวเลขวันที่ 28 เมษายน 2558 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวโดยมีตัวเลขของ ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ทาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ดูแลอยู่ เป็นชาวโรฮิงญาอยู่ 363 คน ส่วนที่ พม.ได้ดูแลอยู่ เป็นกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองที่เป็นเด็ก สตรี และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 174 คน เป็นชาวโรฮิงญา 139 คน ที่เหลือเป็นชาวอุยกูร์ หรือไม่ทราบสัญชาติ 35 คน

นางวิเวียน ตัน โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีโรฮิงญาจำนวน 600 คนในสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ Immigration detention centres (IDCs) และศูนย์พักพิงที่จัดตั้งโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยังเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ในค่ายกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองในภาคใต้ แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับค่ายใต้ดินเหล่านี้

มีโรฮิงญาหลายร้อยคนอยู่ในศูนย์พักพิงของรัฐบาลและ IDCs แต่ที่พักเหล่านี้ โดยเฉพาะ IDCs ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อให้คนจำนวนมากอาศัยเป็นเวลานาน หน่วยงานช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม รวมถึง UNHCR กำลังให้ความช่วยเหลือเรื่องเครื่องใช้อุปโภคบริโภคพื้นฐานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ส่วนงบประมาณที่ช่วยเหลือโรฮิงญาในภาคใต้ของประเทศไทยได้มาจากการจัดสรรงบประมาณปกติจากทางการสหรัฐ รัฐบาลไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ IDCs และการอาศัยในศูนย์พักพิง

ส่วนแคมป์หรือค่ายผู้ลักลอบเข้าเมืองที่หลบอยู่ตามป่า แคมป์เหล่านั้นไม่ใช่ค่ายผู้ลี้ภัย จากการเล่าของกลุ่มผู้รอดชีวิตจากค่ายเหล่านั้น พวกเขาถูกจับเป็นตัวประกันและถูกกดขี่ จนกว่าครอบครัวจะส่งเงินค่าไถ่ไปให้พวกค้ามนุษย์ ด้วยความพยายามของรัฐบาลปราบปรามพวกค้ามนุษย์เหล่านี้ ทำให้ดูเหมือนว่าจำนวนและขนาดของค่ายเหล่านี้ลดน้อยไปในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

รัฐบาลไทยได้ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่โรฮิงญาที่เข้ามาในทางปฏิบัติ และตกลงที่จะไม่ส่งพวกเขากลับพม่าหากไม่สมัครใจ UNHCR เห็นว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ยังไม่เหมาะสำหรับการกลับไปโดยสมัครใจ และกำลังทำงานร่วมกับพม่าเพื่อหาต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งในชุมชนและเพื่อพัฒนาสถานะทางกฏหมายของโรฮิงญา

ในขณะที่โรฮิงญาอยู่ในประเทศไทย UNHCR ได้ส่งเสริมให้มีสิทธิในการเดินทาง สวัสดิการด้านสุขภาพ และโอกาสในการหาดำรงชีพ จนกว่าจะหาทางออกระยะยาวได้ ซึ่งนี้อาจได้รับการชี้แจงอยู่ในใบอนุญาตอยู่อาศัยชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 มีโรฮิงญาประมาณ 50 คนได้รับโอกาสไปประเทศที่สาม และอีกกว่า 100 คนอยู่ในกระบวนการ มีบางคนที่ได้รับความช่วยเหลือแต่ไม่ประสงค์จะไปยังประเทศที่สามไกล ๆ เนื่องจากมีญาติอยู่ประเทศใกล้เคียง เขาต้องการมาอยู่กับญาติในประเทศเพื่อนบ้าน

จากข้อมูลของ นายอนุสันต์ เทียนทอง โฆษกประจำกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นั้นบอกว่า ชาวโรฮิงญาที่ถูกจับได้จะถูกส่งเข้ากระบวนการคัดแยกว่าเข้าข่ายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ หากพบว่าเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ พวกเขาจะอยู่ในกระบวนการคุ้มครองเหยื่อของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ซึ่งมีการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดต่อไปและมีการดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและภายหลังจบสิ้นกระบวนการแล้วจะอยู่ที่ผลการวินิจฉัยของพนักงานสอบสวนว่าจะทำอย่างไรกับชาวโรฮิงญาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ชาวโรฮิงญานับเป็นสัดส่วนที่น้อยหากเปรียบเทียบเหยื่อการค้ามนุษย์กับผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง และกลายเป็นปัญหาหนึ่งที่รัฐไทยต้องแบกรับ เนื่องจากทางรัฐต้องรับไว้ดูแล และไม่สามารถส่งตัวพวกเขากลับไปยังพม่าได้ เนื่องจากปัญหาที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธความเป็นพลเมืองของโรฮิงญาและพยายามกวาดล้างพวกเขา ไม่ว่าจะทำร้าย หรือ ฆ่า อย่างที่ได้รับรู้รับทราบกันตามสื่อ

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปิดเผยว่า "โรฮิงญาจริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง มีส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งตรงนี้ต้องแยกให้ดีเพราะประเด็นโรฮิงญาเป็นประเด็นที่ต่างชาติจับตามองและจะดูว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร

แต่ถ้าว่าตามกฎหมายคนเข้าเมืองแล้ว พวกเขาคือผู้กระทำผิดและต้องผลักดันออกนอกประเทศไป แต่ทั้งนี้ทางรัฐบาลต้องให้การช่วยเหลือช่วยเหลือพวกเขาไว้ก่อนตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ไว้ช่วยเหลือดูแลเฉพาะผู้หญิงและเด็ก โดยให้พวกเขาอยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งมีตั้งอยู่ในทุกจังหวัด ส่วนผู้ชายชาวโรฮิงญานั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของตม.(ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง)

ด้านการดูแลในบ้านพักนั้นไม่มีกำหนดเวลา และไม่มีการกักขังเนื่องจากเป็นสถานที่เปิด แต่ก็มีปัญหาตามมาอีก เช่น การหนีหายไปของชาวโรฮิงญา จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามตัวกลับมาอยู่เป็นระยะ ซึ่งทิศทางในการช่วยเหลือขั้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือส่งไปยังประเทศที่ 3 หรือแนวอื่นๆ นั้นต้องรอนโยบายจากทางรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) คือผู้รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายในตอนนี้"

อย่างไรก็ตามปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองนั้นถือเป็นปัญหาด้านความมั่นคงเช่นกัน เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ควบคุม ก็จะเกิดช่องว่างทางความมั่นคงในระยะยาว ทางรัฐบาลจึงต้องให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาร่วมกำหนดนโนบายในการจัดการกับชาวโรฮิงญา

ด้านนายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่า "ไม่ได้ส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศต้นทาง ซึ่งตรงนี้มีข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) มาช่วยดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราก็ต้องปกป้องบ้านเมืองของเราจากการหลบหนีเข้าเมือง เป็นเรื่องปกติของคนในชาติ ไม่อย่างนั้นเราก็ปล่อยให้ใครอยากทำอะไรก็ทำไป อยากมาก็มา ถ้าทุกประเทศหวังอย่างนั้นก็คงต้องเปิดประเทศทุกประเทศ แล้วก็บอกว่าใครจะไปใครจะมาก็ได้"

นายอนุสิษฐได้กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วต้องผลักดันกลับประเทศต้นทาง แต่ทางไทยไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะทางพม่าก็ไม่ได้ยอมรับว่าพวกเขาเป็นคนพม่า จึงอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองไปก่อน ระหว่างนั้นทางสมช.ทำได้แค่ดูแลเขาให้ดีที่สุด จนท้ายที่สุดถ้าในอนาคตมีกระบวนการร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศต่างๆ ที่มาหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ หลักการที่ดีที่สุดของไทยตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้ทุกประเทศหรือสหประชาชาติกลับไปพัฒนาในพื้นที่ที่คนเหล่านี้อยู่ให้มีความเจริญ ให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย เป็นเรื่องสากลที่เป็นนโยบายไทยหลักๆ ทั้งนี้ทางประเทศไทยให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวโรฮิงญาไม่ได้เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของยูเอ็นเอชซีอาร์

มร.ไมเคิล โมฮัมหมัด รอฟิค ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากซึ่งติดกับชายแดนประเทศพม่า กล่าวว่า "ผมเกิดที่รัฐอาระกัน เมืองเมียวอู วันที่ 3 มีนาคม 2539 ผมหนีจากบ้านเกิดไปที่ มาเกว ไปย่างกุ้ง และอยู่ที่นั่นหลายเดือน แล้วหลังจากนั้น ผมก็มาถึงอำเภอแม่สอดในวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2539 และหลังจากนั้น 4 เดือน ผมเดินทางถึงกรุงเทพฯ และขายโรตีอยู่แถวตลาดสดใกล้สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตม.จะจับตัวผม และส่งตัวผมกลับ"

ไมเคิลเล่าว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยส่งตัวกลับไปปล่อยเขาไว้ที่รัฐกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งในพม่า ก่อนจะหาทางข้ามกลับมาฝั่งไทย โดยกลับมาอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไมเคิลอยู่ที่แม่สอดประมาณ 2 เดือน แล้วออกเดินทางมากรุงเทพฯอีกครั้ง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยัง หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ขายโรตีอยู่ที่นั่นจนเดือนกรกฎาคม ปี 2543 ไมเคิลก็ไปที่มาเลเซีย ก่อนจะถูกตม.ทางมาเลเซียจับได้ และถูกพามาส่งที่ชายแดนที่สุไหงโกลก หลังจากนั้นไมเคิลก็มาที่สำนักงาน UNHCR ในแม่สอด เพื่อที่จะขอสถานะ "ผู้ลี้ภัย"

ไมเคิลยื่นใบขอเป็นผู้ลี้ภัยวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 เขาได้รับหมายเลขจากสหประชาชาติ และอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของต่างชาติ และมีผู้ลี้ภัยอื่นอาศัยอยู่ด้วยในค่ายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สอบถามไปยัง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จังหวัดตาก เราได้รับคำตอบเพียงว่า "ที่นี่ไม่มีชาวโรฮิงญาอยู่ และไม่ใช่ทางผ่านของชาวโรฮิงญา"

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: