สู่ความไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 24 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 4431 ครั้ง

ค่อนข้างจะแน่นอนแล้วว่า การปฏิรูปที่อ้างว่าจะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งที่เหลวไหลที่สุดในโลก สิ่งที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และเครือข่ายรัฐประหาร อันได้แก่ นักปฏิรูปและนักร่างรัฐธรรมนูญกำลังช่วยกันทำอยู่ในเวลานี้ คือการสร้างรัฐแบบราชการเป็นใหญ่และลดทอนสิ่งที่เรียกว่าอาณัติ (Mandate) ของประชาชน ซึ่งก็คือการทำลายหลักการพื้นฐานแห่งประชาธิปไตยนั่นเอง

ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อนหรือเข้าใจยากนักหรอก หลักการง่ายๆ คือทำให้การออกเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งนั้น สามารถแปรไปสู่การปฏิบัติอันนำไปสู่การเฉลี่ยกระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งกลับไปสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็นการปกครองของประชาชนก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องเป็นไปได้ยากหรือเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ประชาชนทั้งมวลเป็นผู้บริหารประเทศหรือแย่งชิงทรัพยากรความมั่งคั่งของชาติกันโดยเสรี ก็คงจะมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีระบบอะไรสักอย่างคัดเลือก ‘ผู้แทน’ ของประชาชนไปทำหน้าที่นั้น

ประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของประชาชนก็ใช่อีกเช่นกัน แต่ปัญหาคือ ประชาชนที่ไหน ใครคือประชาชน เพราะใครๆ ก็เป็นประชาชนด้วยกันทั้งนั้น ประชาชนไม่ว่าในความหมายของประชาธิปไตยหรือในการปกครองแบบใดๆ ก็ตามจึงมีลักษณะเป็นนามธรรมมาก ใครๆ ก็อ้างว่าเป็นตัวแทนภาคประชาชนหรือทำเพื่อประชาชนด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น สังคมที่ก้าวหน้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบที่ดีในการคัดสรรบุคคลที่มีความเป็นตัวแทน (Represent) ประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปัญหาของการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมืองในประเทศไทยคือ ไม่มีใครยึดกุมกับหลักการ ‘เพื่อประชาชน’ กันเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชนด้วยกันทั้งนั้น มีการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงทางเมืองไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีโจทย์ใหญ่อยู่ที่การสร้างและส่งเสริมอำนาจของประชาชนหรือผู้แทนของประชาชน ส่วนใหญ่ รวมทั้งครั้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นไปในทางตรงกันข้าม ที่พยายามทำกันมากคือ เพิ่มอำนาจให้ราชการและกลุ่มชนชั้นสูงที่ควบคุมรัฐมาตลอดประวัติศาสตร์

สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารนั้น ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนหรือตัวแทนของประชาชน เพราะรัฐประหารมักจะเป็นการดำเนินการของบรรดาชนชั้นสูงสมคบกับผู้นำเหล่าทัพทั้งสิ้น การรัฐประหาร 2-3 ครั้งที่ผ่านมาก็สะท้อนลักษณะสำคัญทางการเมืองไทยคือ ชนชั้นสูงกลัวสูญเสียอำนาจในการควบคุมทรัพยากรจึงได้สมคบกับกองทัพ ซึ่งโดยธรรมชาติก็เป็นสมบัติของชนชั้นสูงอยู่แล้ว ทำการยึดอำนาจเอาไว้เท่านั้นเอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรนักที่จะพบว่า ทิศทางการปฏิรูปการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ คือการดึงอำนาจรัฐกลับไปสู่มือราชการและกองทัพเกือบจะทั้งหมด เริ่มต้นจากประการแรกคือการกำหนดว่า วุฒิสภาจะต้องมาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่เป็นราชการหรืออดีตข้าราชการชั้นสูงและผู้นำเหล่าทัพเท่านั้น ความจริงการมีวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก หลายประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยจากระบอบกษัตริย์หรือระบอบศักดินาก็มักจะมีวุฒิสภาแบบนั้น ทว่า ระดับของความเป็นประชาธิปไตยจะวัดได้จากอำนาจของวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาจากการแต่งตั้งมีอำนาจมาก เช่น ถึงขนาดถอดถอนหรือล้มรัฐบาลที่เป็นผู้แทนประชาชนได้ ก็แปลว่าระดับความเป็นประชาธิปไตยต่ำหรือพูดได้ว่าไม่มีเลย

ในประเทศซึ่งให้อำนาจวุฒิสภาสามารถถอดถอนรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ สมาชิกวุฒิสภาก็มักจะต้องมาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน หลักการธรรมดาๆ คือ คนที่ได้อาณัติจากประชาชนเท่านั้นจึงถอดถอนรัฐบาลที่มาจากประชาชนได้ วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถืออาณัติจากคนที่แต่งตั้งเขา คือราชการและกองทัพ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลยที่จะถอดถอนรัฐบาลที่ถืออาณัติของประชาชนในการบริหารประเทศ

แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือ

การทำลายเครือข่ายทักษิณยืนอยู่บนราคาของ

การทำลายหลักการบางประการของระบอบประชาธิปไตยด้วย

ประการต่อมา คณะร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งมาจากการรัฐประหารถือได้ว่าเป็นตัวแทนของกองทัพ ราชการ และชนชั้นสูงนั้น ได้กำหนดคุณสมบัติของหัวหน้ารัฐบาลเอาไว้ค่อนข้างชัดว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็แปลได้ง่ายๆ ตามประสบการณ์คือ ข้าราชการชั้นสูง ผู้บัญชาการทหาร หรือชนชั้นสูงคนใดก็มีคุณสมบัติจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ประการที่ 3 ระบอบการเลือกตั้งนั้นจะออกแบบให้สถาบันการเมืองคือพรรคการเมืองอ่อนแอ ด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีความจำเป็นต้องสังกัดพรรคเมือง แต่เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง (Faction) ต่างๆ ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งได้ มองโดยผิวเผินแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนทั่วไปที่อาจจะมีอุดมการณ์ไม่ตรงกับพรรคการเมืองใดเลย สร้างกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเพื่อแข่งขันกันเป็นตัวแทนประชาชนเข้าสู่ระบบการเมืองได้ แต่สิ่งที่นักร่างรัฐธรรมนูญอาจจะคำนวณไว้ได้ล่วงหน้าคือ กลุ่มการเมืองของชนชั้นสูงก็สามารถมีตัวแทนของตัวเองได้เช่นกัน ที่พูดๆ กันคือกลุ่มการเมืองแบบที่เคยรวมตัวกันประท้วงโค่นล้มรัฐบาลก่อนนั้น ก็สามารถมีผู้แทนของตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ปัญหาที่อาจจะยังไม่ได้คิดกันโดยละเอียดรอบคอบคือ กลุ่มการเมืองเหล่านั้นมีตัวบทกฎหมายใดกำกับอยู่บ้าง พรรคการเมืองนั้นจัดได้ว่าเป็นสถาบันการเมือง มีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองกำกับอยู่ มีระเบียบพิธีชัดเจนในการดำเนินกระบวนการทางการเมือง รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและสามารถตรวจสอบได้ภายใต้ตัวบทกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส่วนกลุ่มการเมืองนั้นเป็นการรวมตัวกับแบบหลวมๆ การจัดตั้งองค์กรไม่ชัดเจน การดำเนินการไม่มีระเบียบพิธีใดๆ ที่ชัดแจ้ง ในหลายกลุ่มอาจจะมีการประกาศว่า ใครเป็นประธาน ใครเป็นเลขาธิการ ใครเป็นกรรมการ ใครเป็นโฆษก แต่ถามว่ามีใครกี่คนรู้ว่า กลุ่มการเมืองเหล่านั้นหาเงินอย่างไรและใช้จ่ายกันอย่างไรบ้าง พรรคการเมืองนั้นถูกควบคุมค่อนข้างเข้มงวดจากกฎหมาย พวกเขาทำกิจกรรมหลายอย่างไม่ได้ แต่กลุ่มการเมืองนั้นค่อนข้างอิสระ ไม่มีใครควบคุมได้ บางเวลาแม้แต่ควบคุมกันเองยังไม่ได้ ในหลายกรณีพวกเขาใช้ความรุนแรงในการดำเนินการทางการเมืองด้วยซ้ำไป สถานการณ์แบบนี้อาจจะนำการเมืองไปสู่ความเป็นอนาธิปไตยมากกว่าจะเป็นประชาธิปไตย

ประการที่ 4 สิ่งที่ คสช. และองคาพยพของคณะรัฐประหารกำลังทำคือ การทำลายเครือข่ายทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ความจริงทำแต่เพียงแค่นั้นคงไม่มีใครเดือดร้อนเท่าไหร่ นอกจากพวกทักษิณ ซึ่งบังเอิญว่ามีมากอยู่สักหน่อย แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือ การทำลายเครือข่ายทักษิณยืนอยู่บนราคาของการทำลายหลักการบางประการของระบอบประชาธิปไตยด้วย

ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระบบรัฐสภาสมัยใหม่ พรรคการเมืองเสนอตัวเองให้ประชาชนเลือกด้วยการออกนโยบายที่สัญญาว่าจะทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่คนที่ลงคะแนนเสียงให้ตัวเอง นโยบายของพรรคการเมืองจะแปรมาเป็นนโยบายของรัฐบาลเมื่อพรรคการเมืองเหล่านั้นได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการตามนโยบาย (Deliver) การเลือกตั้งในประเทศไทยในระยะหลังๆ นี้จึงมีความหมายต่อประชาชนมากเพราะว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งสามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ได้

การที่ คสช. และกลไกของคณะรัฐประหารได้กล่าวโทษและทำการลงโทษรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งถูกโค่นล้มไปเพราะการรัฐประหาร ด้วยเหตุซึ่งได้ดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วก็ดี การรับจำนำข้าวก็ดี เป็นการทำลายหลักการเรื่องการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลงอย่างสิ้นเชิง

ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกรัฐบาลทุกประเทศ แต่ความผิดพลาดทางนโยบายนั้นเป็นความผิดพลาดทางการเมือง ไม่ใช่ความรับผิดทางกฎหมาย ความรับผิดทางการเมืองเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายแล้วเกิดการผิดพลาด พวกเขาไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลสัญญาไว้  พวกเขาก็ไม่เลือกพรรคนั้นอีกต่อไป นั่นคือเป็นการลงโทษทางการเมือง หากแม้ว่าเกิดความผิดพลาดขนาดทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย ความรับผิดก็มีเพียงแต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีก ไม่มีใครต้องเอาทรัพย์ส่วนตัวมาชดใช้ความเสียหายนั้นหรือต้องติดคุกติดตะรางเพราะดำเนินโยบายผิดพลาด

ความรับผิดทางกฎหมายหรือทางอาญาอาจจะมีบ้างในกรณีนี้ เช่น พิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งว่า ดำเนินนโยบายโดยการทุจริตอย่างโจ่งแจ้ง พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน และการลงโทษทางอาญานั้นปกติแล้วทำกันอย่างจำกัดที่สุด น้อยที่สุด ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่ใช่ยกเหตุแห่งความสงสัยลงโทษจำเลย

การพิเคราะห์ว่า ‘ส่อ’ ว่ามีการทุจริตอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง แล้วรวมตัวเลขอันมากมายมหาศาลโดยพิสูจน์แหล่งที่มาของตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้โดยชัดแจ้ง ดูเป็นแค่การสร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามมากกว่าจะเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษกันทางอาญาจริงๆ

สิ่งที่ คสช. และเครือข่ายรัฐประหารกำลังทำกันอยู่ในเวลานี้ คือการข่มขู่พรรคการเมืองและนักการเมืองรวมตลอดถึงผู้ที่คิดว่าจะอาสามาเป็นตัวแทนประชาชนในระบบเลือกตั้งว่า การทำนโยบายเพื่อบริหารประเทศและยังประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะเรียกว่าประชานิยมหรืออะไรก็ตามแต่นั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เป็นลักษณะต้องห้ามทางการเมืองไทย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปหรือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการรัฐประหารนี้จบลงคือ ประเทศไทยจะบริหารโดยราชการ (อาจจะเป็นไปได้ว่ามาจากกองทัพโดยตรง) โดยมีพรรคการเมืองและนักการเมืองในระบอบเลือกตั้ง ที่สงวนเฉพาะเครือข่ายชนชั้นสูงเท่านั้นเป็นผู้สนับสนุนหลักในรัฐสภา ซึ่งก็ถูกควบคุมอีกชั้นหนึ่งโดยวุฒิสภาซึ่งคือสภาที่ชนชั้นสูงหรือราชการเลือกเข้ามา

รัฐบาลใหม่ไม่จำเป็นต้องมีนโยบายหรือมีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญจะเขียนแนวนโยบายแห่งรัฐเอาไว้แล้ว สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือผู้ที่จะกลับมามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศอีกครั้งเหมือนที่เคยทำได้ในยุคทศวรรษ 1970-1980

การเลือกตั้งจะไม่มีความหมายอะไร เพราะมันจะเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อรับรองให้เครือข่ายชนชั้นสูงเท่านั้นได้ปกครองประเทศโดยชอบธรรมหรืออ้างกับต่างชาติว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น ประชาชนจะต้องจริงจังกับการเลือกตั้งทำไม ในเมื่อเลือกใครไปก็เหมือนๆ กัน สิ่งที่ประชาชนควรจะสนใจในการเลือกตั้งต่อไปนี้คือ ใครจ่ายแพงกว่า ก็เลือกคนนั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: