ดึงงบค้างท่อ7.9พันล้านใส่ในงบกลาง มหาดไทย-สถ.โดนมากสุด2.7พันล้าน

ทีมข่าว TCIJ 23 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2167 ครั้ง

ดึงงบค้างท่อ 7.9 พันล้าน หวังเยียวยาภัยพิบัติ-กระตุ้นเศรษฐกิจ

ในวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 50/2558  วันพฤหัสบดี ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักการและเหตุผลระบุว่า ให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นบางรายการ ไปตั้งจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นจำนวนไม่เกิน 7,917,077,700 บาท

โดยความเป็นมาของร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ฉบับนี้ เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานและปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้สำนักงบประมาณจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2558 รายการที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ไม่สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 โดยที่ในปัจจุบันมีภัยพิบัติอันเกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและและเกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งซึ่งมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน ประกอบกับยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงเห็นสมควรนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันดังกล่าวไปใช้จ่ายในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ ของประชาชน รวมถึงการนำไปใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการโอนงบ ประมาณรายจ่ายเพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

เมื่อพิจารณาแยกงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ ที่ถูกดึงมาเป็นงบกลาง จากร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ที่มา: ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....

(ดูรายละเอียดการดึงงบของแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวงใน "จับตา: งบค้างท่อรายกระทรวงในร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ 2558")

งบค้างท่อ-ไม่ทัน 31 ก.ค. 2558 มหาดไทยถูกดึงกลับมากที่สุด

ทั้งนี้ในการชี้แจงของสำนักงบประมาณต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าตามที่นายกรัฐมนตรีได้เคยมีนโยบายรายการต่าง ๆ ที่หน่วยงาน 20 กระทรวงไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 ได้นั้น ซึ่งอาจเกิดจากข้อติดขัดในหลายประการ เช่น โครงการถูกยกเลิกเนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. ส่วนที่เรียกคืนวงเงิน 7,917 ล้านบาท แบ่งเป็นลงนามไม่ทันส่งคืน 6,640.3 ล้านบาท ส่วนที่ยกเลิกและส่งคืน 526.5 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจ่ายและส่งคืน 750.2 ล้านบาท คิดเป็นงบประมาณที่ส่งคืนทั้งหมดจำนวน 7,917 ล้านบาท

2. ส่วนที่ลงนามจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันวันที่ 31 ก.ค. 2558 แต่มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินการต่อ จึงขอไม่โอนงบประมาณวงเงิน 3,469.5 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 

ส่วนที่หนึ่ง รายการที่มี PO มีการลงนามแล้วหลัง 31 ก.ค. 2558 จำนวน 15.7 ล้านบาท

ส่วนที่สอง รายการที่ได้ผู้จ้างแล้ว วงเงิน 2,619.7 ล้านบาท

ส่วนที่สาม รายการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ วงเงิน 576.1 ล้านบาท

ส่วนที่สี่ รายการที่แสดงหลักฐานการดำเนินการเป็นรายการที่สำคัญสำนวน 258 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3,469.5 ล้านบาท แม้ว่าจะลงนามจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันภายใน 31 ก.ค.2558 ก็ตาม

ทั้งนี้พบว่ากระทรวงมหาดไทย ถูกดึงงบกลับมามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 2,741,094,000 บาท (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น( สถ.)ที่ถูกดึงกลับมาถึง 2,638,721,800 บาท แบ่งเป็น แผนงานป้องกัน ปราบปรามและบำบัดผู้ติดยาเสพติด 79,697,500 บาท, แผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 557,170,200 บาท, แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน 19,457,200 บาท และแผนงานส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องกรค์ปกครองส่วนท้องถิ่น 1,982,396,900 บาท)

อันดับสอง - กระทรวงศึกษาธิการ  2,287,167,400 บาท (ส่วนใหญ่เป็นงบการจัดซื้อคอมพิวเตอร์)

อันดับสาม - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  523,324,900 บาท

อันดับสี่ - สำนักนายกรัฐมนตรี  482,333,800 บาท

และอันดับห้า - กระทรวงการคลัง  248,911,700 บาท

ส่วนงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่ต้องคืนงบประมาณนั้น หากเป็นรายการปีเดียวที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการและก่อหนี้ผูกพัน หากต้องใช้จ่ายงบประมาณ ขอให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณก่อนลงนามในสัญญา

ขณะที่รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการให้ดำเนินการตามระเบียบการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ รายจ่ายลงทุนที่หน่วยงานดำเนินการเอง เงินงบประมาณเหลือจ่ายที่ไม่ได้นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... นั้น กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อต่อไป

อ่าน 'จับตา': “งบค้างท่อรายกระทรวงในร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ 2558”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5748

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: