เกษตรกรระบุ 'ผัก-ผลไม้ อินทรีย์' แพงเพราะ 'ค่าการจัดการ' ราคาหน้าสวนถูกกว่าเท่าตัว

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 23 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 6113 ครั้ง

ผลวิจัยสหรัฐฯ ชี้สินค้าอินทรีย์มีคุณค่าโภชนาการเหมือนสินค้าทั่วไป แต่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างมากกว่า ห้างฯ ชี้อนาคตมีโอกาสขยายตัว แม้ราคาสูงกว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรเผยราคาผักผลไม้อินทรีย์ไม่สูง แต่ถูกบวกค่าการตลาด หีบห่อ ทำราคาเกินจริงเท่าตัว หวังสร้างช่องทางเชื่อมต่อผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง | ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ความเฟื่องฟูของกระแสสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายซื้อหาสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่มีที่ทางเพิ่มขึ้นในห้างสรรพสินค้าและในตลาดส่งออกต่างประเทศ

ด้านหนึ่งผู้บริโภคเชื่อว่า การบริโภคผักอินทรีย์มีความปลอดภัยจากสารเคมีมากกว่า และเชื่อว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงกว่าการซื้อผักผลไม้ปกติก็ตาม หรือบางกรณีอาจเชื่อมโยงไปถึงความปรารถนาดีที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

ทว่า จุดเล็ก ๆ ที่ต้องตั้งคำถามมีอยู่ว่า บางความเชื่อเป็นความจริง บางความเชื่อไม่เป็นความจริง และบ่อยครั้งความปรารถนาดีของผู้บริโภคก็ถูกยักย้ายถ่ายเทให้หลุดจากมือเกษตรกรด้วยเงื่อนไขทางการตลาด

ผลวิจัยสหรัฐฯเผยอาหารออร์แกนิก คุณค่าโภชนาการไม่ต่างอาหารปกติ

ดร.คริสตัล สมิธ สแปงเกลอร์ (Dr.Crystal Smith-Spangler) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและทีม เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดพบว่า คุณค่าทางสารอาหารระหว่างอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตตามปกติ กับอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบออร์แกนิกนั้น ไม่ต่างกันมากนัก ผลวิจัยดังกล่าวได้มาจากการทดลองผ่านกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 200 คน บริโภคอาหาร 2 ประเภท ได้แก่ อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบปกติที่มีการใช้สารเคมี และอีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารออร์แกนิก ที่ปราศจากขั้นตอนการใช้สารเคมี โดยในระหว่างการทดลองจะให้กลุ่มตัวอย่างบริโภคอาหารที่หลากหลาย ทั้งผัก ธัญพืช เนื้อสัตว์ ไข่ และนม

ผลการทดลองปรากฏว่า ในกลุ่มตัวอย่าง 200 คนนั้น กลับได้รับสารอาหารที่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุ อย่างไรก็ตาม หากเทียบปริมาณสารเคมีตกค้าง อาหารออร์แกนิกยังคงพบสารเคมีตกค้างในปริมาณที่น้อยกว่า โดยพบเพียงร้อยละ 7 ในขณะที่อาหารปกติพบถึงร้อยละ 33

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารในสหรัฐ เฉิน เซิง ลู (Chen Sheng Lu) มองว่า สาเหตุที่ผู้บริโภคบางส่วนในสหรัฐฯ เลือกซื้ออาหารออร์แกนิก ไม่ได้ต้องการอาหารที่มีสารอาหารมากกว่า แต่ต้องการอาหารที่สะอาดและปลอดสารพิษมากกว่า ดังนั้นอาหารออร์แกนิกก็น่าจะยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกของชาวสหรัฐฯ ต่อไป ถึงแม้สุดท้ายแล้ว สารอาหารที่ได้จากอาหารออร์แกนิกจะเท่ากับสารอาหารจากอาหารที่ผลิตตามขั้นตอนดั้งเดิมก็ตาม

สอดคล้องกับรายงานวิจัยจากหน่วยงานกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา American Academy of Pediatrics ที่ตีพิมพ์บทความในวารสารออนไลน์ Journal Pediatrics ถึงผลการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับอาหารออร์แกนิกว่า อาหารออร์แกนิกมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างจากอาหารทั่วไป แต่บางอย่างก็มีวิตามินซีและฟอสฟอรัส อย่างไรก็ดีพบว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในเรื่องของสารเคมีตกค้าง ซึ่งส่งผลต่อความจํา มะเร็ง และโรคสมาธิสั้น เพราะจากการเปลี่ยนมาบริโภคอาหารออร์แกนิกเพียง 5 วัน ปริมาณสารเคมีที่ตกค้างในปัสสาวะเด็กกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

‘ท็อปส์’มั่นใจสินค้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ยังขยายตัวได้ดี

แม้ความเชื่อที่ว่า การบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า จะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่งานวิจัยข้างต้นก็ยืนยันว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์มีความปลอดภัยกว่าในแง่สารเคมีตกค้าง ตลาดผักผลไม้อินทรีย์จึงยังคงเติบโตต่อเนื่อง

สมนึก ยอดดำเนิน ผู้อำนวยการบริหารแผนกจัดซื้อกลุ่มสินค้าผัก-ผลไม้ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ผู้บริหารท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดเผยว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 7-8 ของยอดขายผักและผลไม้ทั่วไปหรือเดือนละ 2.4 ล้านบาท

คาดว่าในอนาคต สัดส่วนของสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งผักและผลไม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายผักและผลไม้ทั่วไป เนื่องจากกระแสการบริโภคในปัจจุบันลูกค้าใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับกระแสการบริโภคของทั่วโลก แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย แต่เรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล ผู้บริโภคจึงพร้อมที่จะจ่ายในราคาสูง เพื่อหาสินค้าอินทรีย์มาบริโภค

“คนที่ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง จึงไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ เพราะสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องดูแล ซึ่งเราได้มีการวางแผนร่วมกับผู้ผลิตว่า ในแต่ละวันต้องการผักผลไม้ในแต่ละสัปดาห์ปริมาณเท่าใด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทั่วถึงมากที่สุด” สมนึกกล่าว

สมนึกกล่าวว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่วางจำหน่ายในท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต มีคุณภาพสูงตรงกับความต้องการของลูกค้า อีกทั้งมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้รักษาความสดและคุณค่าของสินค้าเอาไว้ โดยราคาของผักและผลไม้อินทรีย์จะสูงกว่าสินค้าทั่วไปร้อยละ30-50

คนกรุงร้อยละ 86.9 ซื้ออาหารออร์แกนิก เพราะมีคุณค่า-ชอบซื้อในห้าง

ผลสำรวจพบผู้บริโภคเกินกว่าครึ่ง ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก ซึ่งเมื่อบวกกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาความสดและคุณค่าของสินค้า จึงทำให้ราคาของผักและผลไม้อินทรีย์สูงกว่าปกติร้อยละ 30-50 | ที่มาภาพประกอบ evitaochel (pixabay.com)

ผลวิจัยเชิงสำรวจของเอแบคโพล เรื่อง ‘ออร์แกนิกไลฟ์ในสไตล์ของคนกรุงฯ’ กรณีศึกษาตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 650 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2556 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.9 รับประทานอาหารออร์แกนิก โดยที่ร้อยละ 42.8 ระบุทานเป็นบางครั้ง ร้อยละ 21.7 ระบุว่า ทานทุกวันหรือเป็นประจำ และร้อยละ 35.5 ระบุว่านาน ๆ ครั้ง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.3 ระบุว่า มีความเข้าใจว่าอาหารออร์แกนิกเป็นอาหารที่ไม่มีสารเคมีเจือปนและปลอดภัยกับร่างกาย

เหตุผลที่ทำให้หันมาบริโภคอาหารออร์แกนิค 3 อันดับแรก พบว่า ร้อยละ 69.8 ระบุว่าคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ร้อยละ 55.2 เพื่อสุขภาพของตนและคนในครอบครัว และร้อยละ 28.3 มีรสชาติอาหารที่อร่อย/ถูกใจ ตามลำดับ

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.0 ระบุว่า ซื้ออาหารออร์แกนิกเป็นประจำที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น ร้อยละ 21.5 ซื้อที่ตลาดสด ร้อยละ 18.7 ซื้อที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อปส์ แมกซ์แวลู่ โฮมเฟรชมาร์ท เป็นต้น ร้อยละ 12.9 ซื้อที่ร้านค้าเพื่อสุขภาพ และร้อยละ 10.9 ซื้อที่ร้านขายอาหารสดแบบสะดวกซื้อ เช่น ซีพี เฟรชมาร์ท เบทาโกรช็อป เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่ง ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก ซึ่งเมื่อบวกกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาความสดและคุณค่าของสินค้า จึงทำให้ราคาของผักและผลไม้อินทรีย์สูงกว่าปกติร้อยละ 30-50 ดังที่สมนึกกล่าวไว้

คำถามที่ชวนคิดต่อคือ ราคาที่สูงขึ้นมีความจำเป็นเพียงใด ส่วนต่างราคาที่สูงขึ้นนี้ ตกอยู่ในมือเกษตรกรหรือไม่ และหากไม่ผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้าจะทำได้หรือไม่

เกษตรกรระบุอาหารปลอดสารแพงค่าการจัดการ ราคาหน้าสวนถูกกว่าเท่าตัว

ปัฐยาวดี แจงเชื้อ เลขานุการและฝ่ายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ชองมูแฮง จ.จันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันทางกลุ่มส่งผลผลิตให้ห้างสรรพสินค้าบางแห่ง แต่ทางห้างก็รองรับผลผลิตได้ไม่มากนัก จึงยังมีผลผลิตส่วนที่เกินความต้องการ อีกทั้งการวางขายในห้าง ทำให้สินค้าของทางกลุ่มมีราคาสูง สินค้าจึงขายได้ไม่มาก ซึ่งสินค้าที่จะวางขายในห้างได้ หีบห่อต้องสวย การจัดการต้องดี กลายเป็นว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่ผลักให้ราคาขายสูงเป็นต้นทุนการจัดการไม่ใช่ต้นทุนการผลิต แม้ราคาที่เกษตรกรขายจะไม่สูง แต่ราคาในห้างกลับสูงเป็นเท่าตัวจากราคาที่เกษตรกรขาย

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือการขายส่งทั่วไป สินค้าเกษตรอินทรีย์ต้องปะปนกับสินค้าเกษตรทั่วไปที่ใช้สารเคมี บางครั้งไม่สามารถแยกได้ ทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จากที่เกษตรกรทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจลงไป ตลอดจนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะบริโภคจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูสวยงาม ไม่มีมดแมลงตอม การทุ่มเทของผู้ผลิตจึงเหมือนสูญเปล่า

ทางรอดเกษตรรายย่อย สร้างเครือข่ายขายตรงผู้บริโภค ตัดการตลาดสู้ห้าง

ด้านภัสชญา เนียมอุ่ม อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายตลาดนัดสีเขียว โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า เป้าหมายของการผลิตแบบอินทรีย์ นอกจากจะหวังให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นหนี้ ผู้ผลิตขายสินค้าได้ในราคาสมเหตุสมผลแล้ว ยังต้องการให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มได้รับสินค้าที่ปลอดภัย แต่ภาพที่ออกมาส่วนใหญ่กลับพบว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์เท่านั้นที่เอื้อมถึง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์บางครั้งสูงเกินจริง โดยเฉพาะสินค้าที่วางขายตามแผนกสินค้าออร์แกนิกในห้างฯ เมื่อเทียบกับการรับซื้อโดยตรงกับเกษตรกร

ปัญหาที่พบมากอีกประการคือ เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้ บางรายโดนกดราคาจากบรรษัทใหญ่ เพราะผลผลิตไม่สวย ไม่ได้มาตรฐาน จนเลิกทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำเกษตรอินทรีย์ผลผลิตย่อมไม่สมบูรณ์เป็นปกติ มักมีรอยแมลงและสีไม่สวย

ภัสชญา กล่าวต่อว่า เหตุนี้ทางโครงการจึงพยายามเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เช่น ระบบ Community Support Agriculture (CSA) ซึ่งมีการทำข้อตกลงว่า ผู้บริโภคและผู้ผลิตคือหุ้นส่วนผู้สนับสนุนความอยู่รอดของกันและกัน โดยผู้บริโภคต้องจ่ายเงินก่อนล่วงหน้า เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการผลิต และยอมซื้อผลผลิตในราคาสูงกว่าปกติ เพื่อช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ แลกเปลี่ยนกับการที่เกษตรกรจะผลิตอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าสำหรับการบริโภค

“มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ผู้ผลิตรายย่อยจะควบคุมการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานอินทรีย์ เนื่องจากต้องควบคุมทั้งในแปลงเกษตรและบริเวณรอบ ๆ แปลง หากแปลงเราเป็นระบบอินทรีย์ แต่แปลงที่อยู่ในระยะติดกันใช้สารเคมี ถือว่าไม่ผ่าน บางรายถึงกับมีข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรด้วยกัน ที่ทำได้มีแค่เกษตรกรรายใหญ่ระดับหลายสิบไร่และทำการตลาดเอง”

พออยู่ (ไม่) พอกิน

งานศึกษาชุดเกษตรอินทรีย์ของ ดร.เนตรดาว เถาถวิล เผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท เผยด้านลบของระบบเกษตรอินทรีย์ที่ถูกผนวกเข้ากับระบบเกษตรแบบพันธะสัญญา โดยทำการศึกษาเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ในจังหวัดภาคอีสาน แสดงให้เห็นเงื่อนไขและแรงกดดัน ที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะแม้ว่าเกษตรกรที่เข้าโครงการส่งเสริมการผลิตระบบอินทรีย์ โดยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาครัฐ และระบบเกษตรพันธะสัญญากับธุรกิจเอกชน จะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและตลาดรับซื้อ ทั้งมีการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่ค่อนข้างแน่นอน แต่ระบบนี้กลับมีการควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด และมีการบังคับใช้แรงงานอย่างเข้มข้น รวมถึงเงื่อนไขการหักเปอร์เซ็นต์เงินรายได้ หรืออาจปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ทำให้เกษตรกรที่ผลิตมีความกดดันและมีความเสี่ยงสูง

ขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน ค่อนข้างมีระบบการผลิตที่มีการสนับสนุนด้านความรู้หรือเทคโนโลยีการผลิตที่ดี แต่การสนับสนุนด้านเงินทุนและปัจจัยการผลิตยังจำกัด ไม่มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ขาดการส่งเสริมด้านการตลาด ทำให้การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ทำแบบไม่ครบวงจร เกษตรกรขาดความเชื่อมั่นว่าจะขายผลผลิตได้กำไร

ตัวอย่างรูปธรรมจากงานศึกษาของเนตรดาว อ้างถึงชาวนารายย่อยรายหนึ่งในภาคอีสาน ที่เป็นอดีตผู้เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ และถูกให้ออก เพราะทำผิดกฎ เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถทนต่อสภาพการใช้แรงงานเข้มข้นจนล้มป่วย และไม่สามารถหารายได้พอเลี้ยงชีพ

ดังนั้น แม้เกษตรอินทรีย์จะดีทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แต่ระบบการจัดการการผลิตที่มีปัญหาและการเชื่อมต่อกับตลาดที่มีข้อจำกัด บวกกับราคาที่สูงเกินจริงจากต้นทุนด้านการตลาด ยังทำให้ตลาดสินค้าอินทรีย์ ยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ความใฝ่ฝันที่จะทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ลืมตาอ้าปากจึงยังห่างไกล (อ่านฉบับเต็มได้จาก เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรอินทรีย์ ดี แต่ทำไมไม่ทำ? http://prachatai.com/journal/2013/06/47011)

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: