เปิดตัว ปปท. ล่าชื่อให้นายกสั่งระงับนโยบายทำเหมืองทั่วประเทศ

22 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2862 ครั้ง


	เปิดตัว ปปท. ล่าชื่อให้นายกสั่งระงับนโยบายทำเหมืองทั่วประเทศ

ภาคประชาชนเปิดตัว "ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรเเละทองคำ" หรือ ปปท. หวังปฏิรูปการทำเหมืองทองคำและเหมืองต่าง ๆ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรในประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ เตรียมยื่น 20,000 รายชื่อให้นายกมีคำสั่งให้ กพร.ระงับนโยบายเหมืองทองและเหมืองแร่ต่าง ๆ ด้านกลุ่ม 'อีสานใหม่' เตือนอย่าขอให้ใช้ ม.44 (ที่มาภาพข่าว: กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เนินมะปราง ในเว็บ change.org)

22 ก.ย. 2558 เว็บไซต์ ThaiPBS รายงานเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบกระทบจากธุรกิจเหมืองทองคำ ได้รวมตัวจัดตั้งและเปิดตัว ประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเคลื่อนไหวให้การปฏิรูปทรัพยากรและทองคำปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายทรัพยากรและทองคำให้เป็นของประเทศไทย และปราศจากการฉ้อราชบังหลวง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน พร้อมประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงสิ่งแวดล้อม จากการทำเหมืองแร่และเหมืองทองคำ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่

นางอารมย์ คำจริง คณะทำงาน ปปท. จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จะเดินหน้าคัดค้านการทำเหมืองทองคำในประเทศไทยเพราะที่ผ่านมา ประชาชนที่อยู่ในพื้นใกล้เหมืองได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งเเวดล้อมอย่างมาก

ด้าน นายนพ สัตยาศัย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลสั่งปิดเหมืองเเละทบทวนนโยบายการทำเหมืองทั้งหมด จนกว่าจะพบวิธีการทำเหมืองที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเเละสิ่งเเวดล้อมในชุมชน ถึงค่อยอนุญาตให้ทำเหมืองได้

ขณะที่ น.ส.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่ปรึกษา ปปท. เผยว่าหลังจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดินบริเวณรอบๆ พื้นที่การทำเหมืองทองคำพิจิตร ทั้งหมด 56 ตัวอย่าง พบว่า มี 47 ตัวอย่างที่พบสารหนูเกินกว่ามาตรฐาน

“ข้อมูลในข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากกระบวนการผลิตทองคำ ซึ่งนับว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน เเละส่งผลกระทบต่อสาธารณประโยชน์ ทาง ปปท.จึงเรียกร้องให้รัฐยุติประทานบัตรเหมืองเเร่ที่อนุมัติไปเเล้ว เเละปรับปรุงกฎหมายให้มีการจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด รวมทั้งยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเเร่ฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนรวมบนหลักสิทธิมนุษยชนเเละสิทธิในการพัฒนา” ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ระบุ

โดยในวันที่ 22 ก.ย. 2558 นี้ กลุ่มชาวบ้าน และ ปทท. จะนำรายชื่อ 20,000 ชื่อ ยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีคำสั่งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระงับนโยบายทำเหมืองทอง และเหมืองต่าง ๆ

'กลุ่มอีสานใหม่' ชี้อย่าขอนายกใช้ ม.44 เพื่อยกเลิกเหมืองทองคำทั่วประเทศ

ด้านเว็บไซต์ประชาไทรายงานเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมาว่ากลุ่มอีสานใหม่ ออกแถลงการณ์ "มาตรา 44 ไม่ยั่งยืน สองมือสองเท้าของประชาชนยั่งยืนกว่า" ระบุกรณีมีข่าว 'ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์' ขอให้นายกใช้อำนาจตาม ม. 44 เพื่อยกเลิกเหมืองทองคำทั่วประเทศ คือพวกที่อยู่ส่วนบนส่วนใหญ่ของขบวนการประชาชนในสังคมไทย สนับสนุนให้เกิดรัฐประหารทั้งสองครั้ง โดยมีรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์
มาตรา 44 ไม่ยั่งยืน สองมือสองเท้าของประชาชนยั่งยืนกว่า

จากการเคลื่อนไหวของภาคปะชาชนตั้งโต๊ะล่า 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นกับรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ให้ยกเลิกร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการนัดรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อให้แก่พลเอกประยุทธ์ในวันที่ 22 กันยายน 2558 นี้ ขบวนการอีสานใหม่ขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ออกมาร่วมแรงร่วมใจเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ เพราะการทำเหมืองแร่ทองคำมีปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยของประชาชนที่อยู่รายรอบเหมืองรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

ในเบื้องต้น พลังของภาคประชาชนที่ประโคมข่าว แชร์ข้อมูลต่อ ๆ กันไปทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ส่งผลให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยอมถอยด้วยการยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายฯดังกล่าวเมื่อกลางเดือนกันยายน 2558 ออกไปก่อนชั่วคราว เพราะเห็นว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำยังไม่ได้รับทราบข้อมูลทั่วถึงและเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

นับว่าเป็นโอกาสดีที่พลังประชาชนในบรรยากาศรัฐประหารยังมีคุณค่าต่อสังคม จึงทำให้อย่างน้อยร่างนโยบายฯ ดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศใช้ ส่งผลให้อย่างน้อย 12 จังหวัดทั่วประเทศที่ 13 บริษัทเอกชนยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเอาไว้แล้วหยุดชะงักเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำต่อไปได้

และยิ่งเป็นโอกาสดียิ่งขึ้นที่พลังประชาชนได้นัดหมายรวมตัวกันในวันที่ 22 กันยายน 2558 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือพร้อมสองหมื่นรายชื่อคัดค้านให้ยกเลิกร่างนโยบายฯดังกล่าวให้เด็ดขาดเป็นการถาวรยิ่งขึ้นไป

แต่ในระหว่างนี้กลับมีข่าวที่บ่อนทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนให้มีพลังลดลงไปโดยการเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ดังหัวข้อข่าวเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 “ดร.อาทิตย์ หนุนนายกฯใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.” ที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา

ขบวนการอีสานใหม่เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่สร้างสรรค์ เป็นทัศนะของคนมีการศึกษาที่เห็นแก่ตัว ซึ่งจะทำให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จและครอบจักรวาลเช่นมาตรา 44 อยู่เหนือกฎหมายปกติทั่วไปมากเกินไป และอยู่นานเกินไปในสังคมไทย ซึ่งจะเป็นผลเสียหายในระยะยาวต่อบ้านเมือง เพราะยิ่งจะทำให้กฎหมายที่มีอยู่และการตรากฎหมายใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้บังคับห่างจากการยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

ในขณะที่ด้านหนึ่งประชาชนเรียกร้องโหยหาสิทธิและเสรีภาพจากการที่รัฐประหารได้ลิดรอนมันไปจากร่างกายและชีวิตจิตใจเรา พวกเขาเหล่านั้นได้เสียสละต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพื่อทำให้สังคมทั้งสังคม ประชาชนทั้งปวงได้สิทธิและเสรีภาพกลับคืนมา สิทธิและเสรีภาพที่จะพูด เขียน คิด แสดงออก สิทธิและเสรีภาพที่จะชุมนุมต่อต้านรัฐและนายทุน เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานให้ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่กลับถูกจับกุมคุมขัง กดขี่ข่มเหงห้ามแสดงออกใด ๆ ต่อการท้าทายอำนาจรัฐและนายทุน แต่เรากลับนิ่งเฉยไม่เรียกร้องต่อสู้ให้กับคนที่ถูกจับกุมคุมขังเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพให้กับพวกเรา

แต่กลับมีคนมีการศึกษาไม่กี่คนที่อยู่ส่วนบนของขบวนการประชาชนสยบยอม สมยอม เชิญชวน ยินดีปรีดาให้ใช้อำนาจรัฐประหารขึ้นในบ้านเมือง เหยียบย่ำสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไปเสียจนไม่ใยดี แต่กลับมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาเฉพาะประเด็นของตนเอง

ทัศนคติของพวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนการประชาชนเป็นทัศนคติที่ทำลายพลังประชาชน ทำให้ประชาชนเสพติดนิยมชมชอบคนมีอำนาจ ไม่เชื่อมั่นในพลังของตนเองที่ชูเป็นคำขวัญหลอกลวงสังคมมาอย่างยาวนานว่า “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง”

หากมาตรา 44 เป็นอำนาจพิเศษทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นยอดมนุษย์ผู้มีบุญญาบารมีได้ นอกจากขอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศแล้ว ก็น่าที่จะให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยกเลิกโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชนให้หมดสิ้นไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ผลักดันประเด็นของตัวเองอย่างเห็นแก่ตัวเช่นนี้

สิ่งที่สังคมไทยต้องจดจำเอาไว้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเรียนคล้าย ๆ กันกับกรณีนี้ที่ขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อยกเลิกเหมืองทองคำทั่วประเทศ ก็คือพวกที่อยู่ส่วนบนส่วนใหญ่ของขบวนการประชาชนในสังคมไทยสนับสนุนให้เกิดรัฐประหารทั้งสองครั้ง เพราะเห็นว่าพวกเขาใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจหรือสามารถต่อท่อกับอำนาจรัฐประหารได้เพื่อที่จะนำประเด็น/พื้นที่/กรณีปัญหาที่ตัวเองทำงานอยู่ได้รับการแก้ไข เช่น หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าหากล้มรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์จะทำให้หยุดยั้งแผนพัฒนาภาคใต้เอาไว้ได้ หรือล่าสุดเคลื่อนไหวเพื่อหยุดยั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นต้น แต่สิ่งที่ได้มาเพื่อแลกกับความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เหล่านั้นนั่นคือรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ออกกฎหมายห้ามชุมนุม ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศที่ต้องต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หมดสิ้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไปโดยพลัน

อย่าได้ร้องขออำนาจที่ไม่ชอบธรรมใด ๆ อีกเพียงเพื่อขอให้แก้ไขแต่ประเด็นที่พวกที่อยู่ส่วนบนของขบวนการประชาชนให้ความสนใจ โดยเหยียบย่ำประชาชนส่วนที่เหลืออีกส่วนใหญ่ให้จมดิน

ด้วยความเคารพ

ขบวนการอีสานใหม่
20 กันยายน 2558

 

รวมพลังหยุดนโยบายหายนะเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด เพื่อปกป้องชีวิต ชุมชน และทรัพยากร

ทั้งนี้ในเว็บ change.org กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เนินมะปราง ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ "รวมพลังหยุดนโยบายหายนะเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด เพื่อปกป้องชีวิต ชุมชน และทรัพยากร" โดยระบุว่า“โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านรอบเหมืองทองในจังหวัดพิจิตรและเลย คือการที่พี่น้องถูกฆาตกรรมจากการร่วมมือระหว่างรัฐกับนายทุน...ขอให้พี่น้อง 12 จังหวัดที่กำลังจะถูกสัมปทานเหมืองทองคำเข้าครอบครอง อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง เพราะนั่นเท่ากับว่าทุกชีวิตจะตั้งอยู่บนเส้นตาย และเหลือเพียงรอวันตาย” ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัด (พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์) เพื่อเตรียมขยายพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจ และได้สิทธิผูกขาดสัมปทานแหล่งแร่ทรัพยากรสำคัญของชาติ...ผลประโยชน์และกำไรมหาศาลจะตกอยู่กับคนกลุ่มเพียงกลุ่มเดียว ที่เรารู้จักดี...‘นายทุน’

ต่อต้านการสร้างเหมืองแร่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลองนึกภาพง่ายๆ เอกชนมาลงทุนมาดำเนินการขุดแร่ทองคำได้มูลค่า 6,000 ล้านบาท แต่ภาครัฐได้คืนมาได้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากปัญหาผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวญใกล้เคียง ในด้านสุขภาพเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงและเรื้อรัง - ด้านอาชีพการทำมาหากิน

เรากำลังพูดถึงประชาชนนับหมื่นที่ต้องเสี่ยงชีวิตกับความเจ็บป่วยจากสารพิษ และต้องเผชิญกับความรุนแรงนานารูปแบบ ไม่ว่าจะมีการใช้อำนาจ อิทธิพล ความรุนแรง กฎหมายฟ้องร้อง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยหยุดการคัดค้านต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิต และบ้านเกิดของตนเอง

บทเรียนจากอดีตสอนเราว่า การทำเหมืองแร่ทองคำ ทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายชีวิตประชาชน เป็นนโยบายของรัฐที่ไม่คุ้มทุน

เราสนับสนุนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรแร่ของชาติอย่างยั่งยืน 19 องค์กร ที่เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้หยุดโครงการการให้สัมปทานเหมืองแร่ และเร่งแก้ไข พ.ร.บ.แร่ เพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

ขอให้หยุดโครงการการให้สัมปทานเหมืองแร่

ขอให้ระงับการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 และ 17 ก.ย. 2558 เนื่องจากปัญหาของเหมืองแร่ในพื้นที่เดิมหลายแห่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

ขอให้เร่งการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับของอดีตรัฐมนตรีจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช และให้มีการเปิดการประชุม แก้ไขเป็น พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ฉบับเพื่อประเทศชาติและประชาชน

ทุกกระบวนการที่ทางรัฐแก้ไข ขอให้มีการเชิญตัวแทนของภาคประชาชนไปรับรับทราบแนวทางแก้ไข และได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแค่ตรวจติดตาม ฟื้นฟู และประเมินผล รวมถึงแผนการชดเชย การฟื้นฟู ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ประเทศไทยไม่ควรส่งออกแร่ทองคำเป็นวัตถุดิบ ต้องใช้และแปรรูปในประเทศ ในปริมาณที่พอควรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขอให้รัฐดำเนินการตามคำขออย่างเร่งด่วนและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือในเรื่องแผนและแนวทางการจัดการกับประชาชน

-------

เราไม่อยากให้รัฐให้สิทธิ์นายทุนมานำทรัพยากรอันมีค่ามาค้ากำไร

เราไม่อยากเห็นนายทุนเข้าครองที่ดินสาธารณะหรือที่ดินทำกินของประชาชน

เราไม่อยากสนับสนุนนโยบายที่รัฐให้ความชอบธรรมกับนายทุนเพื่อเข้ามาทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชน

ขอเชิญทุกท่านร่วมลงชื่อเพื่อหยุดนโยบายหายนะเหมืองทอง หยุดให้มีการใช้ทรัพยากร และชีวิตคนในชาติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนบนคราบน้ำตาคนไทย

และขอเชิญชวนส่งสำเนาบัตรประชาชน เขียนคำว่า คัดค้านนโยบายเหมืองทอง ลงชื่อรับรองสำเนา แล้วส่งไปที่ หมออารมณ์ คำจริง บ้านเลขที่ 525/1 หมู่ 4 ต.เนินมะปราง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก 65190 โดยเครือข่ายจะรวบรวมและยื่นต่อนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อไป

 

>>คลิ๊กดูการรณรงค์นี้ได้ที่นี่<<

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: