ร่างแรกรัฐธรรมนูญ 2558 พบผุดองค์กรอิสระใหม่อย่างน้อย 11 องค์กร

21 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 1821 ครั้ง


	ร่างแรกรัฐธรรมนูญ 2558 พบผุดองค์กรอิสระใหม่อย่างน้อย 11 องค์กร

พบ รธน. ใหม่ผุด 11 องค์กร 1. องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2. สภาตรวจสอบภาคพลเมือง จำนวน 77 จังหวัด 3. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 4. คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ 5. คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม 6. สมัชชาพลเมือง 7. ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ 8. คณะกรรมการดำเนินการจัดเลือกตั้ง (กจต.) 9. ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน 10. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ และ 11. คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงองค์กรต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ ในหมวด 2 ว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมของภาคที่ 4 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 

21 เม.ย. 2558 ในจุลสารรัฐธรรมนูญ ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 ปักษ์แรกเดือนเมษายน 2558 นั้นระบุว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับแก้นั้น กรรมาธิการยกร่างได้กำหนดไว้ให้มีองค์กรต่างๆ เพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนตามกรอบแนวคิดที่ว่า “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่” ด้วยการเพิ่มสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองและบริหารบ้านเมือง 11 องค์กรด้วยกัน โดยยังมิได้นับรวมถึงองค์กรต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ ในหมวด 2 ว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมของภาคที่ 4 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง

1. องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 60)

องค์กรตัวแทนผู้บริโภคเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำ อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเสนอแนวทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

2. สภาตรวจสอบภาคพลเมือง จำนวน 77 จังหวัด (มาตรา 71)

สภาตรวจสอบภาคพลเมืองของแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกิน 50 คน มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้น โดยมีที่มาจากผู้แทนสมัชชาพลเมืองทั้งหมดไม่เกินหนึ่งในสี่ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมไม่เกินหนึ่งในสี่ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัดของตนเองในการตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภา ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดนั้น รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของหน่วยงานของรัฐ การละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือการละเมิดจริยธรรม

3. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (มาตรา 74)

ทำหน้าที่ในการกำกับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง กรรมการในองค์กรตรวจสอบในการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ นักการเมืองท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ปลูกผังและส่งเสริมจริยธรรมของประชาชนและผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ และประเมินจริยธรรมของผู้นำการเมืองทุกปี รวมทั้งไต่สวนผู้กระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงและส่งเรื่อง ให้รัฐสภาหรือประชาชนถอดถอน

4. คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ (มาตรา 77)

กรรมการคณะนี้มีอำนาจหน้าที่ประเมินผลการวางตน การปฏิบัติงานของพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองและแจ้งให้องค์กรดังกล่าวทราบพร้อมประกาศต่อสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกตรวจสอบและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานอย่างเป็นระบบ โดยองค์ประกอบที่มาและอำนาจหน้าที่ให้เป็นไป ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งตรวจการใช้อำนาจรัฐทุกองค์กร เช่น กกต. ปปช. เป็นต้น

5. คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม (มาตรา 207)

ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางทางการเมืองอื่น แบ่งเป็นกรรมการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเมือง จำนวน 2 คน ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวงและได้พ้นจากราชการ จำนวน 3 คน ประธานกรรมการจริยธรรมของทุกกระทรวงซึ่งเลือกกันเอง จำนวน 2 คน มีหน้าที่พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้า ส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง หรือย้าย หรือให้พ้นจากตำแหน่งและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

6. สมัชชาพลเมือง (มาตรา 215)

พลเมืองอาจรวมตัวกันเป็นสมัชชาพลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากองค์กรประกอบหลากหลาย พลเมืองในท้องถิ่นที่มาจากการสมัครใจ อาทิตัวแทนจากองค์กรชุมชน ประชาสังคม เอกชน นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยสมัชชาพลเมืองจะเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่มีรายได้และเงินเดือนประจำ เพื่อป้องกันการแทรกแซงของนักการเมืองท้องถิ่น โดยสามารถให้ความเห็นในการบริหารงานของผู้ว่าราชการการจังหวัด และองค์กรบริหารท้องถิ่น

7. ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ (มาตรา 244)

เป็นแผนกซึ่งจะต้องจัดตั้งขึ้นในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ประกอบด้วย องค์คณะตุลาการศาลปกครอง มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคดี เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่ใช้จ่ายเงิน แผ่นดินจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยจำนวนองค์คณะและวิธีพิจารณาของศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนด

8. คณะกรรมการดำเนินการจัดเลือกตั้ง (กจต.) (มาตรา 268)

ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งจากข้าราชการในแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานละ 1 หน่วยงาน ทำหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ โดยให้ กกต. มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

9. ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (มาตรา 275)

เป็นการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประกอบด้วย คณะกรรมการ จำนวน 11 คน มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน อาทิ เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎต่อรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของประชาชน

10. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ (มาตรา 279)

สภานี้มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จำนวน 30 คน มีอำนาจหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูป โดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ นำแผนและขั้นตอนการออกกฎหมายและการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และแผนงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปของทุกภาคส่วน มาบูรณาการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูป ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิรูปสอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

11. คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ (มาตรา 297)

ประกอบด้วย กรรมการไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง มีอำนาจหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้มีกระบวนการ สร้างความปรองดองเกิดขึ้น

ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก มาตรา 28 ให้บัญญัติไว้ว่า “พลเมือง ซึ่งเข้าไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบ ภาคประชาชน และองค์กรอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้บุคคลทำหน้าที่พลเมือง ย่อมปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีเกียรติอย่างเข้มแข็ง โดยปราศจากอคติ ด้วยความเสียสละและให้ได้รับค่าใช้จ่ายบางประการที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: