เปิดเส้นทางแปลง ‘วัยใส’ เป็น ‘ทุน’ สู่ปรากฏการณ์ ‘ดาราเด็ก’ ล้นจอ

สุทธิโชค จรรยาอังกูร ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 20 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 7221 ครั้ง

เมื่อความน่ารักสดใสของเด็กๆ กลายเป็นที่ต้องการของวงการบันเทิง การตามหาดาราเด็กจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีขบวนการ แมวมอง จนถึงเส้นทางการบ่มเพาะ เพราะเป็นอาชีพทำเงินและสร้างชื่อเสียง พ่อแม่จึงมักผลักดันลูกเข้าสู่เส้นทางนี้ เด็กๆ เหล่านี้ก้าวเข้าสู่อาชีพได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่พวกเขาได้รับ และอะไรคือต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่าย เพื่อการเป็น ‘ดาราเด็ก’

ดาราเด็กมาจากไหน?

ดาราเด็กไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการบันเทิงไทย เพราะตลอดหลายสิบปี มีเด็กๆ มากมายที่กลายเป็นดาวประดับวงการมายา ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงจุดกำเนิดก็พอจะพบที่มาชัดๆ อยู่ 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีต้นทุนทางวงการบันเทิงอยู่แล้ว เช่น อาจจะเป็นลูกหลานของดารานักแสดง ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งผู้ใหญ่เห็นแววความน่ารักและอยากสนับสนุน เช่น ‘ตูมตาม’ วศิน มีปรีชา บุตรชายของอดีตนางเอก พิราวรรณ ประสพศาสตร์  ‘มิสเตอร์ดี’ ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ ทายาทของกันตนา หรือ ณดา ปุณณกันต์ ลูกสาวคนโตของนางเอกสาว สุวนันท์ คงยิ่ง  ซึ่งโดยปกติเด็กกลุ่มนี้ไม่ต้องใช้แรงผลักดันอะไรมาก เพราะผู้จัดส่วนมากรู้จักอยู่แล้วและหลายๆ กรณีพวกเขาก็ร่วมงานกับผู้ปกครอง ทั้งการเล่นโฆษณา และการออกงานตามอีเว้นต์ต่างๆ

ส่วนอีกกลุ่มคือเด็กหน้าใหม่ ซึ่งผ่านการคัดเลือกและผลักดันจากโมเดลลิงหรือรายการโทรทัศน์บางรายการ หรือบางครั้งก็มีแมวมองหมายตาจากเวทีการประกวดต่างๆ ไม่ก็ใช้วิธีเปิดรับสมัครผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ขณะที่ผู้ปกครองก็เพียงแค่ส่งรูปเข้ามาเพื่อให้บุคคลเหล่านี้พิจารณา ซึ่งนักแสดงกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากโมเดลลิงพบว่า มีเด็กมากกว่าหมื่นคน สนใจส่งรูปหรือเข้ามาถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นประวัติ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ คือค่านิยมของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมผู้ใหญ่จะมองวงการนี้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี กลายมาเป็นค่านิยมการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกหลาน ประกอบกับความต้องการดาราเด็กของผู้ผลิตมีมากขึ้น เพราะนักแสดงเด็กไม่ได้จำกัดอยู่เพียงละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงงานภาพนิ่งในนิตยสารต่างๆ งานโฆษณา งานมิวสิกวิดิโอ งานเดินแบบ งานร้องเพลง หรือแม้แต่งานพากย์เสียง

กมลวรรณ โตประทีป จาก Candy Group Modeling บริษัทโมเดลลิ่งที่ทำงานด้านนี้มานานกว่า 30 ปี เล่าถึงการขยายตัวของธุรกิจว่า มีงานป้อนให้กลุ่มดาราเด็กเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 30-40 งาน ทั้งงานที่ฉายในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับจำนวนของโมเดลลิ่งที่มีการเปิดตัวกันมากกว่าสมัยก่อนหลายเท่าตัว จึงทำให้การแข่งขันสูงตามไปด้วย

สัมผัสได้จากกระบวนการทำงานของโมเดลลิ่ง เพราะแต่ก่อน เมื่อผู้คัดเลือกนักแสดงส่งข่าวไปยังโมเดลลิ่งว่า ต้องการนักแสดงเด็กแบบไหน ทางโมเดลลิงจะประสานงานไปยังผู้ปกครอง แล้วส่งรูปเด็กจำนวน 10-20 คนไปให้เลือก แต่ทุกวันนี้กระบวนการเหล่านี้อาจจะต้องทำพร้อมๆ กัน เพื่อร่นระยะเวลา เนื่องจากเด็กบางคนอาจจะร่วมงานกับโมเดลลิ่ง 3-4 เจ้า เวลาส่งรูปไปก็อาจเกิดความซ้ำซ้อนกันบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงมีกฎที่ยอมรับกันกลายๆ ว่าถ้าเจ้าไหนส่งรูปก่อน ติดต่อก่อน หากลูกค้าเลือกเด็กคนนั้น โมเดลลิ่งเจ้านั้นก็จะได้งานไป ทว่า หลักนี้ก็ไม่ได้ตายตัว เพราะสุดท้ายการตัดสินใจก็ยังเป็นเรื่องของผู้ปกครองอยู่ดี

ส่วนรายได้ของโมเดลลิ่งมาจากการหักเปอร์เซ็นต์ตามอัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้อยละ 30 ของค่าตัวที่นักแสดงได้รับ โดยถือเป็นค่าดำเนินการ เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับการคัดเลือก โมเดลลิ่งเองก็ไม่ได้รายได้เลย บวกกับระยะเวลาของการจ่ายเงินระหว่างลูกค้ากับโมเดลลิ่ง บางครั้งต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งก็โดนลูกค้าเบี้ยว จึงเป็นหน้าที่โมเดลลิ่งที่ต้องสำรองเงินจ่ายค่าตัวไปก่อน แต่ถ้างานประเภทไหนที่เงินออกเร็ว เช่น งานภาพยนตร์ก็อาจจะหักประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น

เส้นทาง...ดาราเด็ก

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่างานของดาราเด็กมีหลากหลาย ซึ่งแต่ละประเภทใช้ระยะเวลาต่างกันออกไป อย่างภาพนิ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน โฆษณาใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ส่วนละครหรือภาพยนตร์ก็ใช้เวลา 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ซึ่งเส้นทางหลักที่ดาราเด็กมักถูกปั้น คืองานโฆษณาที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง เพราะเป็นงานที่มีการคัดเลือกตลอดทั้งปี ที่สำคัญคืองานโฆษณาเป็นช่องทางสำคัญที่จะผลักดันให้เด็กก้าวไปสู่งานประเภทอื่นๆ

“งานพวกละครหรือภาพยนตร์อย่างน้อยๆ ต้องเป็นเด็กที่ผ่านโฆษณามาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะจะเริ่มสั่งอะไรแล้วเล่นได้ รู้เรื่องว่าต้องทำอย่างไร ส่วนพวกเด็กพากย์เสียงก็จะผ่านจากโฆษณาเหมือนกัน คือเด็กคนนี้เสียงใช้ได้ อยากใช้เสียงน้องคนนี้อีก ซึ่งค่าขนมก็ถือว่าพอใช้ได้ แถมยังใช้เวลาน้อยอีกด้วย”

องค์ประกอบสำคัญของเด็กที่จะก้าวมาสู่จุดนี้ได้คือความน่ารักสดใสและความพร้อมของร่างกาย โดยเฉพาะเรื่อง ‘ฟัน’ ถือว่าสำคัญมาก เพราะโฆษณาส่วนใหญ่ที่ใช้เด็กแสดงจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว  เช่น ขนม นม อาหาร ส่วนคุณสมบัติที่รองลงมาจะเป็นเรื่องความกล้าแสดงออก  ขณะที่ความสามารถพิเศษอย่างการเล่นเปียโน  เล่น  เทควันโดได้ถือเป็นส่วนเสริมที่มีก็ดี

ส่วนแนวโน้มความนิยมของดาราเด็กทุกวันนี้มักจะเป็นเด็กลูกครึ่งนิดๆ ยิ่งเป็นลูกครึ่งฝรั่งจะมีตลาดที่กว้างมาก เพราะมีลักษณะที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูกว่าปกติ  ขณะที่เด็กลูกครึ่งเอเชียก็มีตลาดรองรับเหมือนกัน แต่มีโอกาสได้งานน้อยกว่า ส่วนลูกครึ่งผิวดำจะมีลักษณะเฉพาะกลุ่มลงไป โดยส่วนใหญ่เน้นงานที่ไปขายตลาดต่างประเทศ เช่น ไนจีเรีย เพราะทุกวันนี้หลายประเทศชอบใช้เด็กไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย หรือสิงคโปร์

สำหรับรายได้จะแตกต่างกันตามลักษณะงาน ถ้าเป็นเด็กที่มาจากสายโมเดลลิ่งแท้ๆ ส่วนใหญ่ค่าตัวจะน้อยกว่านักแสดงผู้ใหญ่เล็กน้อย หากเป็นงานโฆษณาขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท แต่ถ้าเป็นภาพนิ่งก็ต้องดูว่านำไปใช้กับสื่ออะไรต่อไปบ้าง ถ้าใช้เยอะราคาก็เพิ่มขึ้น ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น ถ้าเป็นงานภาพยนตร์ ละคร หรือโฆษณาที่ฉายต่าง ประเทศ อาจจะมีค่าตัวถึงหลักแสนเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าฉากที่ได้ออกมีมากแค่ไหน

ขณะที่เด็กที่มีพ่อแม่เป็นดาราอยู่แล้ว ครั้งหนึ่ง Super บันเทิง เคยเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ว่า ส่วนใหญ่มักจะออกงานพร้อมกับผู้ปกครองเลย โดยค่าตัวขึ้นกับความดังของพ่อแม่และความเก่งกล้าของตัวเด็กเอง เช่น น้องณดา ลูกสาวของกบ สุวนันท์ หากสุวนันท์ออกงานคนเดียว ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่องาน แต่ถ้ามีน้องไปด้วยจะขยับเป็น 150,000 บาท ส่วนน้องไลลา ลูกสาวพอลล่า เทเลอร์ หากออกงานพร้อมคุณแม่ค่าตัวจะสูงถึง 70,000 บาทต่องาน หรือน้องทิกเกอร์ หากคุณแม่ นิโคล เทริโอ้ ควงออกงานค่าตัวก็สูงถึง 50,000 บาท

แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ถึงจะมีงานจำนวนมาก แต่อายุการทำงานของดาราเด็กก็ยังจำกัดอยู่ ตัวแทนจากโมเดลลิ่งเล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่งานจะชุกในช่วง 3-7 ขวบ หลังจากนั้นงานจะเริ่มน้อยลง เพราะเป็นช่วงที่ฟันน้ำนมเริ่มเปลี่ยนเป็นฟันแท้  จึงมีผลต่อโครงสร้างของใบหน้า ความน่ารักก็อาจจะลดน้อยถอยลงและอาจต้องรอเวลาอีกสักระยะเพื่อให้หน้าตาเข้าที่ เพราะฉะนั้นเด็กโตตั้งแต่อายุ 7 ขวบเป็นต้นไป จากเดิมที่กระจุกอยู่ในงานโฆษณาจะเริ่มถูกผลักไปที่งานละครหรือภาพยนตร์ ซึ่งใช้ทักษะมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นยังมีบทรองรับน้อยอยู่ดี โดยเฉพาะช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน

ด้วยเหตุนี้ ดาราเด็กที่อยู่ในวงการบันเทิงแบบยืนระยะได้ จึงต้องมีความมุ่งมั่นระดับหนึ่ง และที่สำคัญคือต้องมีความรับผิดชอบและหาโอกาสในการพัฒนาฝีมืออยู่ตลอด เพราะการปฏิบัติตัวในอดีตจะสะท้อนถึงโอกาสของงานในอนาคตว่าเป็นอย่างไร

ต้นทุน...สู่ดวงดาว

จากค่าตัวที่สูงและชื่อเสียงที่ได้รับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไมใครหลายคนใฝ่ฝันจะให้ลูกหลานของตัวเองก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง แต่การทำงานของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกัน เพราะบางครั้งเด็กไม่ได้มองเรื่องเงินหรือชื่อเสียงสำคัญที่สุด การปั้นเด็กสู่ตลาดบันเทิงจึงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะความร่วมมือกันทั้งผู้ปกครอง เด็ก โมเดลลิ่ง โรงเรียน และผู้จัดที่ตัดสินใจเลือกเด็กไปร่วมแสดง

กระบวนการทำงานของโมเดลลิ่งอาจจะสำคัญ แต่กระบวนการเตรียมตัวเด็กสำคัญยิ่งกว่า เด็กที่เข้ามาทำงานในวงการบันเทิงมีสาเหตุที่ต่างกันออกไป บางคนก็เป็นความฝันของพ่อแม่ บางคนก็เป็นความต้องการของตัวเอง ซึ่งกระบวนการปั้นที่ได้ผลที่สุดต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองและเด็ก

สมรนนท์ องค์ศรีตระกูล คุณแม่ดาราเด็ก ‘ยูเค’ ณัฐธยาน์ องค์ศรีตระกูล นักแสดงนำจากภาพยนตร์ 'The One Ticket ตัวพ่อเรียกพ่อ’  อธิบายถึงการเข้าวงการของลูกสาวว่า ช่วงแรกเป็นความต้องการของตัวเอง แต่เมื่อไปแคสต์งาน ปรากฏว่าน้องเล่นไม่ได้ จนกระทั่งช่วงที่น้องอายุได้ 4 ขวบ แล้วเห็น ‘ญาญ่า’ อุรัสยา เสปอร์บันด์ บนหน้าจอโทรทัศน์ จึงเกิดความประทับใจ อยากเป็นแบบนางเอกสาวบ้าง คุณแม่เลยพาไปคัดเลือกอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้สามารถเล่นได้

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานจึงอยู่ที่ตัวเด็กว่ามีความชอบหรือรู้สึกสนุกแค่ไหน  เพราะนั่นหมายถึงความร่วมมือที่เด็กจะให้กับทีมงานตามมา ขณะเดียวกันผู้ปกครองต้องมีบทบาทในการดูแลอารมณ์ของเด็กให้สามารถทำงานได้จนเสร็จ รวมไปถึงการอธิบายบท เพราะพ่อแม่ย่อมจะมีความเข้าใจลูกมากที่สุด

“น้องยังอ่านไม่เก่ง เราเลยใช้วิธีท่องฉากต่อฉาก หรือบางทีก็คุยกันว่าเขาต้องเล่นเป็นใคร พ่อแม่เป็นแบบไหน ซึ่งสาเหตุที่เราต้องบรีฟบทให้ เพราะบางทีคนอื่นก็ไม่เข้าใจสไตล์ว่าลูกเราเป็นแบบไหน บางคนอ่านตามสคริปต์เป๊ะๆ แต่ถ้าเป็นเราจะมีเปลี่ยนคำให้ลูกพูดง่ายๆ เช่นเพื่อนชื่อนี้อยู่ประถม 2 ห้อง 4 เราก็จะตัดเป็น ป.2/4 เขาจะเข้าใจง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เรื่องการเรียนก็เป็นอีกส่วนที่ผู้ปกครองต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยผู้ปกครองหรืออาจจะรวมโมเดลลิงด้วย มีหน้าที่ประสานงานรวมไปถึงทำความเข้าใจกับโรงเรียน เพราะการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยย่อมมีผลกระทบแน่นอน แม้จะไม่มาก เพราะดาราเด็กส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กเล็กซึ่งอยู่ในชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น ดังนั้นผู้ปกครองอาจจะต้องกวดขันให้ลูกอ่านหนังสือทำการบ้านในกองถ่ายระหว่างพักหรือขอมาสอบย้อนหลัง

“งานส่วนใหญ่เราพยายามจะจัดเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ แต่บางทีมันก็ไม่พอ เราก็เลยขอเป็นช่วงหลังบ่าย 3 วันธรรมดา เพราะน้องจะไม่มีคะแนนมาสาย และหยุดกี่ครั้งก็ได้ แต่ปัญหาคือน้องจะเรียนไม่ทัน อย่างช่วงที่ถ่ายภาพยนตร์จะเรียนสัปดาห์ละ 2 วัน ครูก็จะไลน์การบ้านมาให้ตลอด น้องก็จะนั่งทำ พออีกอาทิตย์หนึ่งเขาสามารถตามเพื่อนได้ทัน ผลการเรียนก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ถ้าน้องขึ้น ป.4 ก็อาจจะต้องมาดูอีกที เพราะมีการสอบกลางภาค สอบเก็บคะแนนแล้ว”

นอกจากการจัดสรรชีวิตให้ลงตัวแล้ว เด็กเองก็ต้องมีการพัฒนาศักยภาพและทักษะการแสดงขึ้นมาด้วย ตั้งแต่การไปคัดเลือกงานบ่อยๆ หลายๆ ที่ เพราะแต่ละงานจะมีโจทย์ที่แตกต่างกัน เด็กก็จะได้รับประสบการณ์ตรงที่หลากหลายไปเองโดยอัตโนมัติ โดยงานส่วนใหญ่จะมาในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงปิดเทอม  หรือบางคนก็ใช้วิธีส่งลูกเข้าไปเรียนในหลักสูตรสอนการแสดงต่างๆ โดยโรงเรียนบางแห่งใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการไปแจกใบแนะนำตัวตามกองถ่ายโฆษณาต่างๆ โดยค่าเรียนก็จะแตกต่างกันออกไป บางแห่งคิดครั้งเรียนเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละพันกว่าบาท บางแห่งคิดค่าเรียนเป็นเทอม เทอมหนึ่งก็หลายหมื่นเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องตัดสินใจว่าจะส่งลูกเข้าไปเรียนหรือไม่ เพราะบางครั้งการเรียนแบบนี้อาจจะไม่ช่วยสักเท่าไหร่  ดังเช่นประสบการณ์ของสมรนนท์ที่บอกว่า บางแห่งก็สอนจริงจังเกินไป พอเด็กเข้าไปเรียนจึงรู้สึกว่าไม่สนุกและน่าเบื่อ ขณะที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็มองว่าการเข้าเรียนนี้จะเป็นสะพานไปสู่ดวงดาวได้เร็วขึ้น เพราะครูพวกนี้มักจะรู้จักคนในวงการบันเทิง โอกาสที่เด็กที่เรียนจะได้รับการแนะนำหรือป้อนงานก็มีสูง

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นการประทับตราว่าการเรียนการแสดงจะไม่ดีเสมอ เพราะของแบบนี้ขึ้นกับครูเป็นหลัก ถ้าครูมีความเข้าใจและปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับเด็ก การเรียนการแสดงก็จะมีประโยชน์มาก อย่างที่ ‘ครูโอ๋’ เบญญาภา บุญพรรคนาวิน วิทยากรประจำ Stock2morrow ซึ่งมีประสบการณ์การสอนการแสดงมานานกว่า 20 ปี และเคยทำคอร์สสำหรับสอนการแสดงเด็กด้วย อธิบายให้ฟังว่า ถ้าเป็นเด็กเล็กจะไม่เน้นสอนทักษะการแสดงเลย แต่สอนในสิ่งที่เกี่ยวพันกับพัฒนาการเช่น สอนเรื่องจินตนาการ สอนเรื่องความมั่นใจในตัวเอง สอนการอยู่ร่วมกับคนอื่น โดยมีแบบฝึกหัดสนุกๆ ให้เด็กลองทำ เพราะข้อดีของการเรียนการแสดง ไม่ใช่เพื่อไปแสดง แต่เป็นเพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจการแสดงอารมณ์ เข้าใจความรู้สึกของเพื่อน และมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ดังนั้นเด็กที่ครูโอ๋สอนจึงต้องอายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป ที่สำคัญการเรียนแบบนี้ไม่ใช่เพื่อเด็กเท่านั้น  แต่ทำให้พ่อแม่เห็นด้วยว่าลูกเรียนไปแล้วได้อะไร

โปรดระวังของปลอม!

เพราะทุกวันนี้โมเดลลิ่งเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดและมีเด็กอีกจำนวนมหาศาลที่อยากเข้าวงการบันเทิง จึงกลายเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพจะใช้หลอกล่อเด็กและผู้ปกครองเหล่านี้ เช่น หลอกให้จ่ายค่าสมัครบ้าง ทำงานไปแล้วไม่ได้เงินบ้าง และเมื่อติดต่อกลับไปก็ติดต่อไม่ได้  ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ก่อนที่จะร่วมงานกับโมเดลลิ่งเจ้าใด ควรเช็คประวัติให้ละเอียด เช่น ที่ตั้งของโมเดลลิ่งอยู่ที่ไหน มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องเงิน โมเดลลิ่งเจ้าใหญ่ๆ มักจะไม่มีการเก็บค่าสมัครใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าได้เงินจากเปอร์เซ็นต์ค่าตัวของเด็กอยู่แล้ว ที่สำคัญคือต้องพร้อมออกเอกสารให้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาหรือข้อตกลงใด หากผู้ปกครองของเด็กร้องขอ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการจ่ายเงินกันจริง

ที่สำคัญคือเสียงจากคนรอบข้างถือว่าจำเป็นมาก สมรนนท์เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ใน Facebook มีการรวมกลุ่มของแม่ของดาราเด็ก เพราะมักจะเจอกันอยู่บ่อยครั้งเวลาไปคัดเลือกนักแสดง ทำให้ค่อนข้างสนิทกันและจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเสมอ เช่น ถ้ามีงานหนึ่งโผล่ขึ้นมาบน Facebook มาบอกว่ามีค่าตัวให้ 200,000 บาท พ่อแม่แต่ละคนก็จะส่งข้อความถึงกันแล้วว่า รู้จักโมเดลลิ่งนี้หรือไม่ เชื่อถือได้แค่ไหน และไม่ใช่เพียงแค่เป็นการตรวจสอบว่าเป็นโมเดลลิ่งจริงหรือปลอมเท่านั้น แต่ยังเป็นการตรวจสอบข้อมูลของโมเดลลิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วยว่า ให้ผลประโยชน์ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากโมเดลลิ่งไหนให้เงินน้อยกว่าที่อื่น ก็จะได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้ปกครองลดลงไปโดยปริยาย

เหรียญสองด้านแห่งวงการบันเทิง

ทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีทั้งแง่บวกและลบ วงการบันเทิงก็เช่นกัน แน่นอนว่าประเด็นหนึ่งที่หลายคนเป็นห่วงมากเป็นพิเศษก็คือ เรื่องการเรียนและการต้องทำงานควบคู่ไปด้วยจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กอย่างไรบ้าง

จากการวิเคราะห์ของ พ.ต.ท. พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือหมอแอร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่าพฤติกรรมของเด็กมักจะให้ความสนใจกับความพอใจของคนรอบข้าง เพราะความจริงแล้วส่วนใหญ่เด็กยังไม่รู้หรอกว่าอาชีพดารานักแสดงเป็นอย่างไร ถ้าคนรอบข้างพอใจกับสิ่งเขาทำ เขาก็จะยิ่งมีความสนใจมากยิ่งขึ้น  เพราะฉะนั้นปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีผลกระทบจึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นสำคัญ เพราะเด็กบางคนอาจจะอยู่ในสภาวะกดดันเพราะถูกกดดันจากผู้ปกครองที่กลัวว่าลูกจะเป็นตัวถ่วงของทีมงาน ทั้งที่ความจริงแล้ว คนที่เลือกเด็กมาร่วมงานต่างก็ต้องทำใจไว้ในระดับหนึ่งว่า เด็กอาจจะใช้เวลานานกว่านักแสดงทั่วไปสักหน่อย หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังแบกความคาดหวังของคนรอบข้าง แม้ผู้ใหญ่จะไม่พูดออกมาก็ตาม

ดังนั้น ผู้ปกครองจะต้องจัดสมดุลให้ดี ให้เวลากับเด็กได้ใช้ชีวิตได้เล่น ได้พักผ่อน ซึ่งถ้าทำได้จะพบว่านอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้น เด็กก็จะพร้อมเปิดรับสิ่งดีๆ อื่นๆ เช่น เรื่องความรับผิดชอบที่ต้องมากขึ้น เพราะจากการพูดคุยกับผู้ปกครองและดาราเด็ก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่า ดาราเด็กมักจะโตเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าเด็กที่ไม่เคยทำงานเลย ไม่เพียงเท่านั้น เขาจะเริ่มเข้าใจคุณค่าของเงินมากขึ้น  ขณะเดียวกัน นี่ยังเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้เรื่องการปรับตัว สมรนนท์ยอมรับว่า ช่วงแรกลูกสาวก็มีมีปัญหากับเรื่องการจัดการความมีชื่อเสียงเหมือนกัน เพราะไม่มีวุฒิภาวะที่เพียงพอ เวลาถูกคนแปลกหน้าเข้ามาทักบ่อยๆ จึงเมินเฉยหรือเดินหนี และนำมาสู่ปัญหาการครหานินทา เช่นเป็นเด็กหยิ่ง ทั้งความจริงแล้วเด็กไม่ได้คิดอะไรมาก ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเธอที่จะต้องอบรมสั่งสอน เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าพฤติกรรมนี้ไม่เหมาะสม

ส่วนข้อเสียก็ต้องมีแน่นอน โดยเฉพาะการที่ต้องสูญเสียวัยเด็กไป เพราะไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนเด็กคนอื่น หรือเวลาเทศกาลต่างๆ เช่นวันเด็ก วันลอยกระทงก็จะไม่มีเวลาส่วนตัว เพราะต้องไปทำงาน ออกสื่อต่างๆ แต่ทั้งนี้ปัญหากับเพื่อนอาจจะไม่มีมาก ซึ่งอาจเพราะเป็นเด็กเล็กด้วย แต่ถ้าเด็กโตขึ้น เจอความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนก็อาจจะมีผลขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองว่าจะทำเช่นใดเพื่อให้ลูกใช้ชีวิตวัยเด็กได้สมบูรณ์

การที่เด็กพาเหรดเข้าสู่วงการนี้ มองในแง่หนึ่งก็อาจจะนำไปสู่ประสบการณ์ซึ่งหาค่าไม่ได้ และนำรายได้มาให้มหาศาล แต่หากจัดการไม่ดี ก็อาจจะนำไปสู่ผลเสียที่เกินคาดคะเน ซึ่งแน่นอนว่า พ่อแม่ผู้ปกครองนั่นแหละที่จะต้องตัดสินใจให้ดีว่า สุดท้ายแล้วจะให้ลูกแลกกับอะไรแค่ไหน อย่างไร เพื่อไม่ให้ความสุขในวัยเยาว์ของบุตรหลานต้องหายไปโดยสูญเปล่า

อ่าน 'จับตา': “ภาษีดารานักแสดงเด็ก”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5791

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: