‘กำพร้าเทียม’สะท้อนชนบทเปลี่ยนแปลง  สายสัมพันธ์ครอบครัวเปลี่ยนไป

ยุทธนา ลุนสำโรง : TCIJ School รุ่นที่ 2 20 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5656 ครั้ง

จากความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในชนบท  ผลักคนออกจากบ้านแสวงหางานทำและความมั่นคง  ทิ้งลูกทิ้งหลานให้อยู่กับปู่ย่าตายาย ส่งผลต่อสถานการณ์ครัวเรือนไทย ที่ครัวเรือนแหว่งกลางมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ก่อเกิดสภาวะที่เรียกว่า ‘กำพร้าเทียม’ (ที่มาภาพประกอบ: oknation.net)

“ผู้บ่าวผู้สาวหนีเข้ากรุงเทพ เหลือแต่ผู้เฒ่ากับเด็กน้อย”  เป็นคำบอกเล่าที่อธิบายปรากฏการณ์‘กำพร้าเทียม’ ได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุด การที่ผู้บ่าวผู้สาวต้องหนีเข้ากรุงเทพฯ  สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไม่ว่าจะเป็น ความเปลี่ยนแปลงด้านการสูญเสียที่ดินทำกิน  นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านที่มาของรายได้  ความเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ การเปลี่ยนไปของแรงปรารถนาในชีวิต  สถานการณ์ครัวเรือนไทยที่ปรับเปลี่ยนไปด้วยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อการเกิด ‘กำพร้าเทียม’  ที่หมายถึงสภาวะเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด โดยพ่อแม่ไม่ได้เสียชีวิต  เด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตาทวดหรือเครือญาติหรือคนอื่น  ‘กำพร้าเทียม‘ยังถูกใช้ในความหมายที่เด็กถูกทอดทิ้ง  เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้หรือหย่าร้างหรือแม่ท้องไม่พร้อม  ทำให้เด็กเหงา โดดเดี่ยวและเกิดพฤติกรรมเสี่ยง อีกด้วย

สถานการณ์ครัวเรือนไทย

เมื่อย้อนดูจำนวนครัวเรือนไทย พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 19.8 ล้านครัวเรือน ในปี 2552 เป็น 22.6 ล้านครัวเรือนในปี 2556 แบ่งตามลักษณะของครัวเรือนได้ 6 ประเภท คือ

จากการสำรวจยังพบอีกว่า ครัวเรือนที่มีการขยายตัวหรือมีอัตราการเพิ่มต่อปีมากที่สุด คือครัวเรือนคนเดียว / รองลงมา เป็นครัวเรือน 1 รุ่น / ครัวเรือนแหว่งกลาง / ครัวเรือนอยู่กับเพื่อน-ญาติ / ครัวเรือน 3 รุ่น / และครัวเรือน 2 รุ่นตามลำดับ   จากจุดนี้  จะสังเกตได้ว่าสัดส่วนครัวเรือน 2 รุ่นและครัวเรือน 3รุ่ นมีแนวโน้มลดลง  ในขณะที่สัดส่วนครัวเรือนคนเดียวครัวเรือน 1 รุ่นและครัวเรือนแหว่งกลาง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนแหว่งกลางซึ่งเป็นครัวเรือนของการเกิดกำพร้าเทียมมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 7 ต่อปี

กำพร้าเทียม ภาพสะท้อนชนบทเปลี่ยนไป

ปี 2549 มีเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ/แม่ร้อยละ 33 พอถึงปี 2556 ตัวเลขเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ/แม่  เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มากกว่าร้อย 40 เฉพาะในภาคอีสานมีครัวเรือนที่มีเฉพาะเด็กกับคนแก่  เพิ่มจากร้อยละ 1.7ในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.6 ในปี 2556

แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ปี 2543 ครัวเรือนที่มีเฉพาะเด็กกับคนแก่ร้อยละ 64 เป็นครัวเรือนยากจนแต่ในปี 2556 ตัวเลขครัวเรือนที่มีเฉพาะเด็กกับคนแก่ที่เป็นครัวเรือนยากจนลดลงกว่าครึ่งเหลือร้อยละ 22.7

สัดส่วนครัวเรื่อนที่มีเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุ : ที่มา จิราภรณ์แผลงประพันธ์ : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด  ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) กล่าวถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ว่า “ปัญหาขาดความอบอุ่นอาจไม่เกิดขึ้น เพราะปู่ย่าตายายรักลูกหลานและให้เวลาได้เยอะ  แต่สิ่งที่น่ากังวล เป็นเรื่องช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้คุยกันไม่รู้เรื่องมากขึ้น ขนาดกับพ่อแม่นี่ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง พอเป็นปู่ย่าตายายก็ยิ่งคุยกันไม่รู้เรื่องเลย”

ขณะที่เด็กกำลังเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้า ไม่คุยกับปู่ย่าตายาย  คนแก่ก็ไม่รู้ว่าเด็กทำอะไรกับเครื่องมือสื่อสารทั้งวัน ทำให้ สายใยในครอบครัวลดลง พอเด็กมีปัญหาหันไปปรึกษาโซเชียลมีเดีย  ไม่มีใครช่วยเลือกเนื้อหาที่เหมาะสม  เพราะคนแก่ขาดความเชื่อมโยงกับโลกสมัยใหม่และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี  เด็กก็ขาดคู่คิดในการตัดสินใจ  อีกประการคือคนแก่ เองก็มีภาระปัญหาอย่างอื่น เช่น สุขภาพ หลายครอบครัว-ลูกหลานต้องรับภาระเลี้ยงดูคนแก่ทั้งที่วัยยังไม่พร้อม ในที่สุด คนแก่ก็เป็นปัญหาของเด็กด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลจากผลสำรวจ “สภาวการณ์เด่นด้านเด็กและเยาวชนในรอบปี 2554-2555 “ ของโครงการ Child  Watch สถาบันรามจิตติ ที่พบว่า  เด็กไทยในปัจจุบันมีสถิติไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ 36 % อยู่กับพ่อแม่ 64 %  โดยเด็กไทยใช้เวลาในชีวิตประจำวันไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ต –ดูโทรทัศน์-คุยหรือแชตโทรศัพท์ รวม 8.40 ชั่วโมงต่อวัน

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์  ยังกล่าวด้วยว่า ในอนาคตครอบครัวลักษณะนี้จะมีแนวโน้มลดลง เพราะการที่สังคมก้าวสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น คนที่แต่งงานจะไม่ยอมมีลูกเพราะความไม่พร้อม และการมีลูกทำให้ไม่สามารถทำงานหาเงินได้ รวมทั้งปู่ย่าตายายจะไม่อยู่เลี้ยงลูกหลานแล้ว

ชนบทเปลี่ยน สายสัมพันธ์ในครัวเรือนเปลี่ยน

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  แบ่งยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงในชนบทไว้ 3 ยุค ได้แก่ ยุคการเผชิญหน้ากับความยากแค้นรอบด้าน , ยุคของการปรับตัวเข้าสู่สังคมชาวนา และยุคของการสิ้นสุดสังคมชาวนาก้าวเข้าสู่ความเป็นเมือง ในยุคที่ 3 นี้เอง  ที่สังคมในชนบทเริ่มขยับตัวจากการทำการ เกษตรในหมู่บ้านออกมาทำงานนอกภาคการเกษตร  ทั้งเข้าสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้าแผงลอย ขับวินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น เหตุผลของการออกจากบ้านเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง เพราะรายได้จากการผลิตในภาคการเกษตร การทำนาตามฤดูการไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และเหตุผลของความปรารถนาที่อยากจะหลุดพ้นจากความยากจนเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น ส่งผลให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนตามไปด้วย

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์  อธิบายว่า “ความสัมพันธ์ภายในชุมชนชนบทแบบสังคมชาวนาเริ่มอ่อนแรงลง เพราะอนาคตของผู้คนในชนบทไม่ได้อยู่ในชุมชนเกษตรอีกต่อไป หากแต่อยู่ที่ภาคการผลิตนอกภาคเกษตรเป็นหลัก จึงทำให้เกิดสายสัมพันธ์ในลักษณะกลุ่มทำงานนอกภาคเกษตรมากกว่ากลุ่มแบบเดิมในภาคเกษตรกรรม”

นางสุกัญญา(ไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 25 ปี เป็นคนจังหวัดขอนแก่น ก่อนหน้านี้อยู่บ้านทำนาทำไร่ เธอเพิ่งเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งย่านรังสิตได้ 3 ปี เธอมีลูกสาว 2 คน แต่หลังจากที่หย่าร้างกับสามีและลูกเติบโตขึ้นทุกวัน รายจ่ายในครอบครัวสูงขึ้น ขณะที่การทำนาขายข้าวไม่พอสำหรับการดูแลลูก เธอจึงต้องออกจากบ้านมาโดยทิ้งลูกไว้ให้ตากับยายดูแล

นอกจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจแล้วเธอยังบอกอีกว่า ตัวเองมีโอกาสเรียนหนังสือจบเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงอยากให้ลูกได้เรียนสูงๆจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนตัวเอง ถามว่าคิดถึงลูกไหม เธอตอบว่าคิดถึงมากจะกลับบ้านแทบทุกช่วงวันหยุดและเทศกาลสำคัญๆ

“หวังว่าสักวันหนึ่งร่ำรวยคงได้กลับไปอยู่ที่บ้าน  อีกอย่างสองตายายก็แก่มากไม่รู้จะอยู่เลี้ยงหลานได้นานแค่ไหน ตอนนี้เลยเร่งทำงานเพื่อเก็บเงินให้ได้เยอะๆ”

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่มาของรายได้ในปัจจุบันพบว่า รายได้หลักในครัวเรือนไม่ได้มาจากอาชีพทางการเกษตรอีกต่อไป รายได้จากภาคการเกษตรในครัวเรือนจากปี พ.ศ.2529 ที่ร้อยละ 19 ลดลงเป็นร้อยละ13.5 ในปี พ.ศ.2552 คนที่ทำงานหารายได้ในภาคการเกษตรมีอัตราลดลงจาก 2.3 ล้านคน ในปี พ.ศ.2544 เป็น 1.7 ล้านคน ในปี พ.ศ.2552

ข้อมูลมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังพบด้วยว่า รายได้หลักมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักถึงร้อยละ 39 แต่มาจากภาคเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้น จากข้อมูลข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่า  สังคมไทยไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมที่ทำพอเลี้ยงชีพเช่นเดิมอีกแล้ว  แต่เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจกรรมตามกลไกลตลาด

ด้านอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจากการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะพ.ศ.2553 พบว่าประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตเทศบาลและเขตเมืองจาก 19.0 ล้านคน (ร้อยละ 33.1 ของประชากรทั้งหมด) ในปี พ.ศ.2543 เป็น 28.9 ล้านคน (ร้อยละ 44.1 ของประชากรทั้งหมด) รวมถึงประชากรที่ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม การบริการต่างๆ ผู้ประกอบการรายย่อย ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ฯลฯ ซึ่งโดยมากอาศัยในเขตเมืองแทบทั้งสิ้น อัตราความหนาแน่นในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 118.7 คน/ตารางกิโลเมตร ในปี 2543 เป็น 128.6 คน/ตารางกิโลเมตร เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีความหนาแน่นของประชากรถึง 5,294.3 คน/ตารางกิโลเมตร และคนอีกจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในบางช่วงฤดูกาล โดยคนเหล่านี้จะกลับไปทำไร่ทำนาเมื่อถึงฤดูกาล

หรือวันนี้ ชนบทกำลังจะหายไป ?

จากความเปลี่ยนแปลงหลายทศวรรษในพื้นที่ชนบท  ส่งผลให้อุดมคติของการมีชีวิตที่ดีและความปรารถนาต่างๆปรับเปลี่ยนตาม หากถามคนสมัยก่อน แรงปรารถนาอยู่ที่ต้องการให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์  มีข้าวเต็มยุ้งฉาง วัวควายเต็มคอก แต่ปัจจุบันแรงปรารถนา คืออยากให้ค่าแรงในโรงงานเพิ่มมากขึ้น ขายข้าวขายของได้กำไรเยอะๆ พ่อแม่ที่เคยทำนาการศึกษาชั้นประถม 4 เป็นอย่างมาก ก็พยายามผลักให้ลูกหลานเรียนจบปริญญาตรี เป็นเจ้าเป็นนายไม่ลำบาก เป็นต้น  แรงปรารถนาที่เปลี่ยนไปนี้ผลักให้ผู้บ่าวผู้สาวต้องเข้ากรุงเทพ เพื่อแสวงหาความมั่งคั่งในเมืองใหญ่ ออกไปขายแรงงาน ขายอาหารรถเข็น ขับแท็กซี่ฯ

ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไตรมาส 2/2557  ระบุว่า จากการประเมินโดยใช้เส้นความยากจนในปี พ.ศ.2554 เป็นฐานในการคำนวณ  และได้คำนวณเส้นความยากจนย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ.2531 เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบได้ พบว่า สัดส่วนคนจนได้ลดลงจากร้อยละ 65.2 ในปี พ.ศ.2531 เหลือร้อยละ38.6 ในปี พ.ศ.2541 และเหลือร้อยละ 20.4 และ 12.6 ในปี พ.ศ.2551 และปี พ.ศ.2555 ตามลำดับ

รายงานวิจัยชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา  ก็ดูจะชี้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า สัดส่วนของประชากรที่จบ การศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพการเกษตรมีแนวโน้มลดลง  ขณะที่กลุ่มที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกภาคการผลิตซึ่ งหากพิจารณาภาคเกษตรกรรมและภาค  อุตสาหกรรม หากไม่นับการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าแล้ว  พบว่ามีสัดส่วนคนไทยที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นในทุกระดับเมื่อเปรียบเทียบปีพ.ศ.2544 และปีพ.ศ.2552

แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในภาคบริการกลับมีสัดส่วนการจบการศึกษาในระดับที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาน้อยลงอย่างชัดเจน ทั้งในกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี จำนวนปีการศึกษาของคนอายุ 15–60 ปี จาก 7.2 ปีใน พ.ศ.2543 เพิ่มขึ้นเป็น 9.2 ปีใน พ.ศ.2556 เฉพาะในพื้นที่ชนบทเพิ่มขึ้นจาก 6.1 ปีใน พ.ศ.2543 เพิ่มขึ้นเป็น 8.1  ปีใน พ.ศ.2556

เมื่อหวลดูความหมายของคำว่า ‘ชนบท’ ตามที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า ส่วนที่อยู่นอกเขตเมืองหรือเขตเทศบาล เป็นเขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป มีประชากรที่เลี้ยงชีพด้วยการเกษตรกรรมเป็นสำคัญ มีระเบียบสังคมที่สอดคล้องกับลักษณะชุมชนแบบหมู่บ้าน ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มก้อน หรือกระจัดกระจายตามลักษณะภูมิประเทศหรือตามประเพณีนิยม

เราคงตอบคำถามที่สำคัญได้ว่า  ชนบทไทยในความหมายแบบเดิมนี้ยังมีอยู่หรือไม่ ?  หรือเป็นเพียงจินตนาการแช่แข็งที่เอาไว้ประโลมใจรัฐไทยและคนไทยโลกสวย ในกระแสความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากนี้

อ่าน 'จับตา': “สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5744

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: