สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 11 - 17 พ.ค. 2558

17 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1852 ครั้ง


	สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 11 - 17 พ.ค. 2558

ฟิลิปปินส์

อัตราการอดอยากของชาวฟิลิปปินส์ลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี / สำนักนายกรัฐมนตรีฟิลิปปินส์แถลงตัวเลขจากการสำรวจโดยสถาบันวิจัย Social Weather Stations (SWS) พบว่าอัตราการอดอยากในไตรมาสแรกของปี 2015 ลดลงเป็นร้อยละ 13.5 (ประมาณ 3 ล้านครอบครัว) จากอัตราของช่วงท้ายปี 2014 คือร้อยละ 17.2 (ประมาณ 3.8 ล้านครอบครัว) นอกจากนี้การสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 11.1 (ประมาณ 2.5 ล้านครอบครัว) ต้องเผชิญความอดอยากในระดับปานกลาง และร้อยละ 2.4 (ประมาณ 522,000 ครอบครัว)ต้องเผชิญกับความอดอยากอย่างหนัก SWS เผยอีกว่าตัวเลขร้อยละ 3.7 ที่ลดลงนั้นถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดย Edwin Lacierda โฆษกรัฐบาลเผยว่า อัตราการอดอยากที่ลดลงครั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการการแจกเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ การขยายหลักประกันสุขภาพ (PhilHealth) และการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลิงค์ข่าว

พม่า

เกษตรรัฐว้าทรุดหนักหลังราคายางพาราร่วงตอเนื่อง / เกษตรกรในรัฐว้า (Wa State) ประเทศพม่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคายางพาราโลกที่ลดลง ขณะนี้เกษตรกรมีรายได้ 16 เซนต์ต่อ 1 กิโลกรัมลดลงจาก 1.28 ดอลลาร์เมื่อสองปีก่อน โดยปัจจุบันพื้นที่กว่า 81,000 เฮคเตอร์ในเมืองว้าเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ผู้ผลิตต้องเผชิญคือ การขออนุญาตจากรัฐบาลก่อนส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่นำเข้ายางพารามากที่สุด Tax Sam Ka ชาวว้าจากบริษัทยางพารา Teng Long เผยว่าว่าการขออนุญาตใช้เวลานานเกินไป ทำให้ราคายางพาราเปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเกษตรกรจำเป็นต้องขายในราคาที่ต่ำลงเสมอ ทำให้ราคาลดหนักกว่าเดิมลงไปอีก จากที่ราคากลางแย่มากพออยู่แล้ว ลิงค์ข่าว

อินโดนีเซีย

กู้ภัยอินโดนีเซียเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญา หลังพบหลายร้อยคนในเรือผู้อพยพที่อาเจะห์ UNHCR เผยตัวเลขผู้อพยพมากขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว / สำนักข่าว The Guardian รายงานว่าผู้อพยพกว่า 600 คนลอยอยู่ในเรือไม้ที่เชื้อเพลิงหมด ซึ่งคาดว่าเป็นโรฮิงญาจากประเทศพม่า ได้รับการช่วยเหลือใกล้กับจังหวัดอาเจะห์ ทางตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยทางการให้ข้อมูลว่า ชาวประมงลากได้ช่วยลากเรือดังกล่าวมาเข้าฝั่ง หลังเห็นเรือนั้นแออัดและมีเด็กอยู่ด้วย Mohammed Arif Mutaqin โฆษกหน่วยกู้ภัยจังหวัดอาเจะห์ เผยว่าคนบนเรือเป็นมุสลิมจากพม่าและเป็นโรฮิงญา พวกเขาออกจากประเทศไทยมาเมื่อเจ็ดวันก่อนและมีคนตายระหว่างเดินทาง ขณะนี้ได้ส่งผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 50 คนไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ปัญหาคือการขาดอาหารและส่วนมากอยู่ในสภาพที่ผอมมาก ขณะที่ UNHCR เผยในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้มีชาวโรฮิงญาและเบงกาลีกว่า 25,000 คนที่ลักลอบเข้าประเทศอินโดนีเซียมาทางเรือ ซึ่งเป็นเกือบสองเท่าของช่วงเวลาเดียวกัน ปี 2014 และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คนกลางทะเลในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ เนื่องด้วยการขาดแคลนอาหาร ขาดน้ำและความรุนแรงจากคนในเรือด้วยกันเอง ลิงค์ข่าว

บริษัทใหญ่บุกป่าสงวนปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย / ชาวบ้านในจังหวัดเรียว (Riau) ภาคตะวันออกของเกาะสุมาตรา เข้าสำรวจพื้นที่ป่าสงวน พบว่าเกิดการทำลายป่าชายเลนเพื่อเตรียมที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ขนาดกว้าง ทั้งที่เป็นเขตป่าสงวน และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์ โดยเหตุการณ์นี้เกิดต่อเนื่องจากการประท้วงหลายเดือนก่อน ที่ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 21 คนถูกจับในข้อหาทำลายทรัพย์สินของบริษัทปาล์มน้ำมัน Setia Agrindo Lestari (SAL) ซึ่งเข้าไปยึดครองพื้นที่กว่า 17,000 เฮคเตอร์ ขณะที่ชาวบ้านชี้แจงว่าเป็นที่สงวน แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นบทลงโทษที่ชัดเจนจากรัฐบาล นอกจากนี้ ชาวบ้านยังพบว่าบริษัทดังกล่าวขุดคลองเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นป่าชายเลน ทำให้คลองเดิมที่ชาวบ้านใช้อยู่ได้รับผลกระทบ โดยที่ SAL ยังเดินหน้าปรับพื้นที่เพื่อการปลูกปาล์ม แม้รัฐบาลจะมีคำสั่งให้หยุดดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนก็ตาม ลิงค์ข่าว

นักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียคุ้มครองป่า / โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นชอบที่จะขยายเวลาการแบน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ได้รับใบอนุญาตใหม่ในการเข้าใช้พื้นที่ป่าดั้งเดิมและป่าชายแดน แต่การแบนครั้งนี้มีผลเพียงบางพื้นที่และยังอนุญาตให้บริษัทที่มีใบอนุญาตแล้วใช้พื้นที่ต่อไปได้ ด้านนักวิจัยป่าย้ำว่าต้องมีการปรับปรุงมากกว่านี้ เพราะการสั่งหยุดการทำลายป่าครอบคลุมพื้นที่เพียง 43 ล้านเฮคเตอร์ของป่าดั้งเดิมและป่าชายเลน ที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียเคยพักใบอนุญาตครั้งแรกเมื่อปี 2011 เป็นผลจากข้อตกลงมูลค่าพันล้านดอลลาร์ กับนอร์เวย์ ที่มุ่งให้ลดการทำลายป่าและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การตกลงดังกล่าวเสมือนเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลปรับปรุงกฏเกณฑ์ในการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร โดยให้ทำลายป่าน้อยที่สุด แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้แก้ไขอะไรและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขจุดนี้ก่อนที่ป่าในอินโดนีเซียจะถูกใช้เพื่ออุตสาหกกรมไปมากกว่านี้ ลิงค์ข่าว

อินโดนีเซียเล็งอนุมัติต่างชาติชื้อบ้าน หวังกระตุ้นอสังหาฯ / สำนักข่าวท้องถิ่นอินโดนีเซียรายงาน โฆษกกระทรวงการคลังอินโดนีเซียเผยว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้ชาวต่างชาติซื้อคอนโด โดยผู้ซื้อต้องจ่ายภาษีร้อยละ 5 แต่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีรายได้ การใช้มาตรการดังกล่าวก็เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอินโดนีเซีย ด้านนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ของอินโดนีเซียเผยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียไม่มีกฏหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้าน จนทำให้ชาวต่างชาติจำนวนมากต้องซื้อบ้านโดยวิธีการใช้ชื่อของคนท้องถิ่น โดยนโยบายล่าสุดจะถูกประกาศใช้โดยเร็วที่สุด และหวังว่าจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มาตรฐานและกระตุ้นเศรษฐกิจให้พัฒนาเร็วยิ่งขึ้น ลิงค์ข่าว

เวียดนาม

เวียดนามปรับลดค่าเงินด่องเพื่อกู้เศรษฐกิจ / สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐของเงินด่องเวียดนามให้ต่ำลง 1% โดย 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกเปลี่ยน 21,673 ด่อง นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางเวียดนามเจตนาปรับลดค่าเงินด่อง แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นการส่งออกและผ่อนคลายแรงกดดันที่เศรษฐกิจชะลอการเติบโตได้หรือไม่ ที่ผ่านมาธนาคารเวียดนามเคยใช้มาตรการปรับลดค่าเงินด่องหลายครั้ง แต่ความเร็วของการลดค่าเงินด่องครั้งที่ผ่านๆ มายังไม่ถึงขั้นพอใจของธนาคารเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศของยุโรปและญี่ปุ่นปรับค่าเงินตนเองต่ำลงอย่างขนานใหญ่ ส่วนเกาหลีใต้ ไทย อินเดียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเจริญใหม่ทยอยกันใช้นโยบายผ่อนคลายเงินตรา ภายในอาเซียน เวียดนามก็เสียเปรียบด้านการส่งออก แหล่งข่าวเผยว่า ในปี 2015 อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 1.5 ขณะที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งของเวียดนาม ปรับลดค่าเงินตนเองร้อยละ 5.3 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ ทำให้ใบสั่งซื้อจากทวีปยุโรปและญี่ปุ่นที่เวียดนามได้รับลดน้อยลงอย่างชัดเจน ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามแถลงข้อมูลล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนว่า อัตราการเติบโตของการค้ากับต่างชาติของเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2015 ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา โดยยอดการส่งออกเป็น 50,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดการนำเข้าเป็น 53,100 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า สภาพการขาดดุลการค้าของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้สูงถึง 3,000 ล้านหยวน มองในแง่นี้ สาเหตุที่ปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามเป็นครั้งที่ 2 นี้ คือ กระตุ้นการส่งออกเป็นหลัก และรักษาศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนาม ลิงค์ข่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: