‘เอกรินทร์ ต่วนศิริ’ เปิดบันทึกชีวิต 'มะรอโซ จันทราวดี' 1 ใน 16 ศพ จากเหยื่อตากใบสู่แกนนำ RKK

เอกรินทร์ ต่วนศิริ 16 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 18930 ครั้ง

รายงานที่เกิดขึ้นภายหลังจากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์รอบด้านจากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม RKK ที่นำโดย 'มะรอโซ จันทราวดี' (ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายคดี) กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน ประจำฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลาตี 1 ของวันที่ 13 ก.พ. 2556 และการเดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนรายงานเผยแพร่ในเว็บไซต์ pataniforum เมื่อ 15 ก.พ. 2556 ไว้ดังต่อไปนี้

รายงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์รอบด้านจากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม RKK ที่นำโดยนายมะรอโซ จันทราวดี (ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และ พรก.ฉุกเฉินหลายคดี) กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน  ประจำฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสเมื่อเวลา ตี 1 ของวันที่ 13 ก.พ. 2556 และการเดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

หากผู้อ่านรายงานชิ้นนี้ ที่ไม่รู้จักนายมะรอโซ จันทราวดี ผู้เขียนแนะนำให้ไปค้นหาใน google แล้วพิมพ์ชื่อนี้ลงไป จะพบข่าวการรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเกือบทั้งหมด พร้อมด้วยข่าวการก่อเหตุ ณ ที่ต่าง ๆ ตามด้วยหมายจับจำนวนมาก ล่าสุดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคุณครูชลธี เจริญชล อีกด้วยที่ได้เป็นข่าวในช่วงก่อนหน้านี้

ปฐมเหตุของความคับแค้น

นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ อายุ 53 ปี ผู้เป็นแม่ได้เล่าว่า หลังจากเหตุการณ์ประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ มะรอโซก็เปลี่ยนไปมาก มะรอโซกลับมาเล่าเหตุการณ์ตากใบให้คนที่บ้านฟังว่า วันนั้นตนเองโดนซ้อนทับ โดนถีบ มัดมือ ในรถบรรทุกของทหารที่จับตัวผู้ชุมนุมในคราวนั้น โดยได้ขนผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในขณะที่อยู่บนรถตัวเค้าเองพยายามดิ้นจนเชือกหลุด และได้ช่วยแก้มัดที่ข้อมือให้เพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยู่บนรถคันเดียวกัน โดยตลอดทางเค้าก็โดนถีบโดนเจ้าหน้าที่เอาปืนทุบที่ร่างกายของผู้ชุมนุมที่อยู่บนรถตลอดทาง  มะรอโซได้บอกที่บ้านเสมอว่า เค้ารู้สึกเจ็บปวดและแค้นใจมาก เพราะว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด

“ตอนกลับมาจากที่ชุมนุมใหม่ๆมะรอโซชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้เลย” นางเจ๊ะมะ เจ๊นิ ผู้เป็นแม่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลูกชายของตนเอง

ขณะที่พูดคุยกับแม่ของนายมะรอโซ สังเกตได้ว่า แม่ของนายมะรอโซ ย้ำว่ารู้สึกผิดหวังกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฎิบัติต่อผู้ชุมนุมเหตุการณ์ตากใบในครั้งนั้นเป็นอย่างมากและได้ย้ำตลอดว่า นายมะรอโซเปลี่ยนไป กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยได้คุยอะไรกับเค้า ทั้งที่จริงก่อนหน้านั้นนายมะรอโซ เป็นคนขยันขันแข็ง มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ปลอกมะพร้าวขาย นำเสื้อผ้ามาขาย  ทำเรื่องการค้าขายเก่ง ฯลฯ แต่เหตุการณ์ตากใบได้ทำให้นายมะรอโซกลายเป็นคนละคน

หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดเรื่องใหญ่ในหมู่บ้าน มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ลาดตระเวนในหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตทันที 10-11 คน ด้วยเหตุการณ์ในครั้งนั้น นายมะรอโซถูกศาลออกหมายจับในคดีข้างต้น จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมาชื่อของนายมะรอโซ ก็เป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ ทำให้นายมะรอโซต้องหนีออกจากหมู่บ้านโดยทันที ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของอำเภอบาเจาะ ชื่อของนายมะรอโซได้ถูกระบุชื่อเกือบทุกครั้งว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกกรณี ไม่ว่าในฐานะผู้ปฎิบัติการเองหรือเป็นผู้สั่งการ

เพื่อไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจการกระทำของผู้ใช้ความรุนแรง ‪เพื่อจะเข้าใจวงจรการแก้แค้นและแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการรับมือ รวมทั้งตั้งคำถามว่า ยุทธการจิตวิทยาของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีช่องว่างอย่างไร ‪ หากจะตอบด้วยกรณีของนายมะรอโซ ช่องว่างที่ว่านี้ น่าจะเป็นเรื่องการไม่ทำความเข้าใจ ความรู้สึกถึงการไม่ได้รับความยุติธรรม และเป็นเงื่อนไขที่มีนักรบรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ หากแค่เพียงในรอบทศวรรษกลุ่มขบวนการสามารถผลิตผู้ใช้ความรุนแรงได้เป็นจำนวนมาก และมีประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งในเชิงการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐ

ทั้งนี้น่าสนใจว่าหากเป็นประสบการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมทางการเมืองและเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการประท้วง ชุมนุม กดดันผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับผลของการสลายชุมนุมเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตากใบ ความรู้สึกคับข้องใจ โกรธแค้น และความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมจะมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร มีข้อถกเถียงอย่างไร และจะสามารถนำไปสู่การสร้างแนวทางในการจัดการกับความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร

ครอบครัวมะรอโซ

การตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ ก็ได้ทำให้ครอบครัวของมะรอโซ ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามและบุกค้นบ้านอยู่บ่อยครั้ง นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า ตนเองยังเคยโดนจับข้อหามีกระสุนปืนวางอยู่บนกล่องน้ำตาลทรายในบ้าน หลังจากเจ้าหน้ามาค้นบ้านทำให้แม่โดนจับไปที่ค่าย แต่ขังได้ไม่นานก็ปล่อยตัวกลับมา และน้องชายของนายมะรอโซ ก็โดนขังมาแล้ว 21 วัน ในข้อหาขว้างระเบิด แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ ก็ต้องปล่อยตัวออกมา แม่ของนายมะรอโซ วิเคราะห์ให้ฟังว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อครอบครัวก็เพื่อต้องการบีบบังคับให้นายมะรอโซออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับน้องชายของนายมะรอโซ ที่มีใบหน้าเหมือนกับพี่ ก็เคยโดนเจ้าหน้าที่ทหารจับในหมู่บ้านมาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นนายมะรอโซ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้น้องชายหมอบลงกับพื้นและจะลั่นไกยิง แต่ผู้เป็นแม่ตะโกนออกมาว่านั้นคือน้องชายของนายมะรอโซ

ขณะที่ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังและพลางชี้นิ้วไปหาน้องชายของนายมะรอโซ ที่กำลังยืนละหมาดใกล้ ๆ แล้วกล่าวเบาๆว่า  “น้องชายของนายมะรอโซแกสติไม่ค่อยดี” ทำไมต้องมาทำอย่างนี้อีก ส่วนรุสนีผู้เป็นภรรยากล่าวเสริมและย้ำว่า น้องชายหน้าเหมือนพี่ชายจริงๆ สองคนพี่น้องหน้าเหมือนกันมาก

นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังอย่างออกรสว่า ทหารมาค้นที่บ้านบ่อยมาก หลังๆ นี้หากว่าฉันอยู่ ทหารจะไม่ค่อยเข้ามาในบ้าน จะยืนอยู่หน้าบ้าน เพราะฉันจะด่าไม่หยุด จะด่าตลอด ทำไมต้องมาค้นบ้านทุกวันด้วย แต่หากว่าฉันไม่อยู่ทหารก็จะเข้ามาในบ้าน หากพิจารณาประสบการณ์ของครอบครัวนายมะรอโซ ดูเหมือนว่าหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐมาเยี่ยมบ่อยกว่าญาติมิตรซะอีก

สำหรับการเสียชีวิตครั้งนี้ของนายมะรอโซ ผู้เป็นแม่รับได้ ไม่ได้กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นการต่อสู้กันทั้งสองฝ่ายที่มีอาวุธ แต่ก็เชื่อและมั่นใจว่าลูกของตนเองเป็นคนดี แต่เหตุการณ์ตากใบต่างหาก ที่ทำให้ลูกเค้าต้องเปลี่ยนไปจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมวันนั้นมะรอโซแค่เดินทางผ่านไปยังเส้นทาง ที่มีการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

ชีวิตรัก นักรบ

ปี 2548 หลังจากเหตุการณ์ตากใบหนึ่งปีให้หลัง นายมะรอโซ ก็ได้ตัดสินใจแต่งงานกับ รุสนี แมเราะ อายุ 25 ปี  ภรรยาของนายมะรอโซ ได้เล่าว่า ก่อนตัดสินใจแต่งงานกับนายมะรอโซ มะรอโซได้บอกกับตนแล้วว่าชีวิตของเค้าเป็นอย่างไร มะรอโซบอกว่า ตนเองนั้นมีหมายจับอยู่หลายคดี และชีวิตต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ จะยอมแต่งงานกับเค้าไหม ? คำตอบของนางรุสนี ก็คือ ได้ตอบตกลงแต่งงานและครองรัก ไม่ได้ครองเรือน ตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา

การดำเนินชีวิตคู่ของนายมะรอโซ ช่วงแรก ๆ ก็ต้องไปใช้ชีวิตที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ไปได้ไม่นาน ก็กลับมาบ้าน เพราะมาเลเซียก็ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ดีนัก ประกอบกับไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่มาเลเซีย ทำให้ทั้งสองต้องเดินทางกลับมาที่บาเจาะ บ้านเกิดอีกครั้ง แต่สำหรับนายมะรอโซ แน่นอนไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ เพราะมีหน่วยทหารและเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่บ้านเกือบทุกวัน ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่ง เที่ยงคืนของวันที่ 13 กุมพาพันธ์ หลังจากที่มะรอโซเสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังมาบุกค้นบ้านนายมะรอโซ

 “เจ้าหน้าที่จะมาค้นบ้านเสมอและฝากบอกที่บ้านว่าให้บอกนายมะรอโซ ให้มามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ฉันก็เคยพูดกับเค้าว่าจะมอบตัวไหม เค้าก็ตอบว่า เค้ามีหมายจับจำนวนมาก ถึงมอบตัวก็ไม่คุ้มและคงไม่มีโอกาสได้ออกมา” รุสนี แมเราะกล่าวทิ้งท้าย

ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 วัน มีเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คันรถ มาบุกค้นที่บ้านถือว่าเป็นครั้งล่าสุดก่อนที่มะรอโซจะเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากนายมะรอโซโดนเจ้าหน้าที่ตามล่าอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนถึงขั้นกล่าวว่า

 “หากบาเจาะไม่มีมะรอโซ พื้นที่นี้จะสงบสุขทันที”

และตลอดระยะเวลาตามล่าตัว บุกค้นบ้านนายมะรอโซอย่างหนัก รุสนีก็ได้มีพยานรักกับนายมะรอโซ สองคน เด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบ และเด็กผู้ชายอายุ 17 เดือน มะรอโซกลับมาเยี่ยมลูกเดือนละสามครั้ง ครั้งล่าสุดนายมะรอโซได้มาเยี่ยมตอนกลางคืนของวันจันทร์ที่ 11 กุมพาพันธ์ สองคืนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งครั้งนั้นอยู่ได้ไม่นานเท่าไร แต่การติดต่อครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งสุดท้าย การสื่อสารทางเสียงเกิดขึ้น เมื่อคืนวันเกิดเหตุเวลาประมาณสามทุ่ม

อาแบได้โทรมาคุย ฉันก็ถามว่าวันนี้จะกลับมาไหม อาแบบอกว่าคืนนี้มีงานนิดหน่อย และไม่แน่อาจจะกลับมาบ้าน”

ทว่าเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นรุสนีได้ยินเสียงโทรศัพท์ปลายสายจากทหารที่คุ้นเคยกันดี ได้โทรมาบอกว่า นายมะรอโซอาจจะตายแล้ว และจะโทรมาบอกอีกครั้ง หกโมงเช้ารุสนีก็ได้รับโทรศัพท์อีกครั้ง ยืนยันว่านายมะรอโซได้เสียชีวิตแล้ว รุสนีได้เดินทางไปรับศพที่โรงพยาบาล หากแต่ทว่าศพของนายมะรอโซ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับกลับไป เพราะว่ามีผู้ใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องการดูศพจำนวนมาก ทำให้กว่าได้รับศพกลับบ้านก็ตอน 11 โมงแล้ว

สำหรับบรรยากาศพิธีการฝังศพของนายมะรอโซ มีคนจำนวนมากมาร่วมงานศพและกล่าวสรรเสริญ พร้อมทั้งอวยพรให้ศพของนายมะรอโซ แต่ในเย็นวันนั้นหลังจากงานศพของนายมะรอโซ เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านก็โดนเจ้าหน้าที่รัฐจับไป 3 คน หลังจากเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมหมู่บ้านอีกครั้ง

พิธีฝังศพก็เป็นไปในตามแบบฉบับของนักต่อสู้ ก็คือการไม่อาบน้ำศพและไม่ละหมาดศพ ฝังโดยทันที และเป็นไปตามความต้องการของผู้ตายที่ได้กำชับภรรยาใว้ ก่อนหน้านี้ 

รุสนีได้เล่าให้ฟังว่า มะรอโซเป็นคนที่เกรงใจคน ไม่ยอมไปหลบซ่อนหรือขอนอนบ้านชาวบ้าน เพราะเกรงว่าจะทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน มะรอโซก็จะผูกแปลนอนในป่าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวเราก็สงสารเพราะแฟนเหนื่อยมาก ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แฟนทำงานหนักมากและมีความตั้งใจอย่างมาก

มะรอโซเค้ามักย้ำกับภรรยาเสมอว่า อยากให้ลูกสาวเรียนศาสนาเยอะ ๆ หากเป็นไปได้ อยากให้เรียนถึงต่างประเทศ โดยจะให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนามาก ๆ เพราะอยากให้ลูกทั้สองมีการศึกษาและเรียนสูง ๆ เท่าที่ลูกจะเรียนได้

มะรอโซเป็นที่รักครอบครัวมาก อยากให้ครอบครัวสบายและเป็นคนที่ตามใจลูกมากๆ ลูกอยากได้อะไรก็พยายามหามาให้ มะรอโซเป็นคนที่รับผิดชอบสูงมากต่อครอบครัว แม้ว่าชีวิตของเค้าเองจะลำบากก็ตาม เค้าได้วางแผนเรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาของลูกๆ เพราะว่าต้องการให้ลูกเรียนสูงๆ โดยเฉพาะทางด้านศาสนา

หลังจากทราบข่าวจากทหารในพื้นที่ ที่ได้โทรมาบอกตอนเช้าว่า นายมะรอโซ ได้เสียชีวิตแล้ว ก็เหมือนว่าภารกิจของนายมะรอโซ เสร็จสิ้นแล้ว...

รุสนีได้กล่าวว่าเธอภูมิใจกับสามีอย่างมากที่ได้ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวได้ดีเสมอมา และการเสียชีวิตครั้งนี้เธอไม่เสียใจเลย เพราะภรรยาของนายสุไฮดี ตะเห ผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายมะรอโซ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย ก็ไม่เสียใจ

คำถามสุดท้ายจากผู้เขียน "นายมะรอโซทำเพื่ออะไร"?

รุสนี ภรรยานายมะรอโซ ทิ้งท้ายว่า “ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าทำเพื่ออะไร?” พร้อมรอยยิ้มและคว้ามือไปจับตัวเด็กผู้หญิงที่กำลังนั่งเล่นซนอยู่ข้างๆ กับของเล่นชิ้นใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: