ฤา 'เวียงหนองหล่ม' รอวันล่มสลาย นาปรังรุก-นายทุนกว้านซื้อที่ดิน ปิดตำนานที่เลี้ยงควายภาคเหนือ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 4229 ครั้ง

บ่ายแก่ๆ ของทุกวัน ณ บริเวณ พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “เวียงหนองหล่ม” ใน พื้นที่ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ภาพฝูงควายจำนวนมาก กำลังพากันเดินขึ้นจากหนอง เรียงแถวกันกลับเข้าคอกที่คนเลี้ยงเปิดรอไว้ โดยไม่ต้องตามไล่ต้อน กลายเป็นภาพชินตา จนดูจะไม่มีอะไรแตกต่างจากวิถีชีวิต ของคนหลายตำบลที่อาศัยหนองน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ เป็นแหล่งทำมาหากินตลอดหลายช่วงอายุคน เพราะนอกจากจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงควายแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ทั้งชนิดพันธุ์พืช และสัตว์น้ำจำนวนมากที่กระจายอยู่ในหนองน้ำแห่งนี้ ยังทำให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย โดยไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเข้ามาหากินในเมืองใหญ่ เหมือนกับชุมชนชนบทอื่นๆ หลายแห่งใน จ.เชียงรายอีกด้วย

เวียงหนองหล่ม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่จัน อยู่แนวเขตเดียวกับหนองบงกายและทะเลสาบเชียงแสน มีพื้นที่ครอบคลุม 7 ตำบล ของ อ.จันจว้า จ.เชียงราย โดยพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ได้รับอิทธิพลน้ำจากหนองบงกายที่ไหลซึมลงมายังพื้นที่กว้างใหญ่ที่มีสภาพต่ำกว่า ฤดูฝนน้ำจะไหลจากเทือกเขาลงมาสะสมทำให้มีสภาพพื้นที่กลายเป็นหนองน้ำสลับกับที่ดอน มีพันธุ์พืชน้ำขึ้นปกคลุม เช่น ต้นไคร้ ต้นอั้นและพืชน้ำอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการพึ่งพาอาศัยและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ แต่ในยามหน้าแล้งเมื่อน้ำลดลง จะทำให้เกิดหนองน้ำน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก

และด้วยสภาพเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์นี่เอง ชาวบ้านในพื้นที่รอบ ๆ เวียงหนองหล่ม จึงอาศัยเป็นพื้นที่ในการเลี้ยงควาย ทำการเกษตร หาปลาจับสัตว์น้ำซึ่งพบว่ามี พันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมาก เพราะพื้นที่เวียงหนองหล่มมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำและพันธุ์ปลาในแม่น้ำกก ในช่วงฤดูฝนน้ำแม่ลัวเป็นเส้นทางเชื่อมกับแม่น้ำกก ฤดูฝนเป็นช่วงที่ปลาอพยพขึ้นวางไข่ตามน้ำสาขา ปลาแม่น้ำโขงอพยพเข้ามาวางไข่ตามน้ำสาขาในแม่น้ำกก และส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาเวียงหนองหล่มโดยผ่านทางแม่น้ำลัว เวียงหนองหล่มจึงเปรียบได้กับมดลูกของลุ่มแม่น้ำกก จากสภาพระบบนิเวศน์ที่หลากหลายจึงเหมาะสำหรับการแพร่ขยายพันธุ์ของปลา

พื้นที่หนองหล่มแบ่งย่อยระบบนิเวศน์และการใช้ประโยชน์ได้หลากรูปแบบ คือ 1.หนอง เป็นระบบนิเวศน์ย่อยของหนองหล่ม ในฤดูฝน หรือช่วงน้ำท่วม จะเป็นผืนเดียวกันกับหนอง มีความสำคัญคือ เป็นพื้นที่ขยายพันธุ์และที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำ ทำให้หนองเป็นพื้นที่หาปลาหรือจับสัตว์น้ำที่สำคัญของชุมชน และพื้นที่โดยรอบหนองจะมีพืชน้ำขึ้น จึงเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควายที่สำคัญในฤดูแล้ง

2.เกาะและดอน มีลักษณะเป็นพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ สร้างปางวัวปางควาย ดอนที่มีขนาดใหญ่ จะมีต้นไม้ขึ้นปกคลุ่ม เช่น ไม้ถ่อน ขี้เหล็ก ไม้สัก ไม้ประดู่ ไผ่บง ฯ เป็นป่าไม้ใช้สอยหน้าหมู่ และบางส่วนนำมาเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก เช่นพืชไร่ หรือไม้ยืนต้น 3.ตาน้ำซับและจำ เป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี ในฤดูแล้งจะมีน้ำซึมออกมาและพื้นที่รอบจำและตาน้ำซับจะมีหญ้าขึ้นปกคลุม จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์ และหาปลา โดยเฉพาะ ปลาไหลนา เป็นต้น

4.โป่งน้ำ มีลักษณะเป็น จุดที่น้ำผุดออกมาจากใต้ดิน เนื่องจากพื้นที่หนองหล่มตั้งอยู่บนรอยเลื่อนเปลือกโลก โป่งน้ำจะเป็นแหล่งน้ำสำคัญในฤดูแล้ง ในปี พ.ศ.2553 หนองหล่มวิกฤติน้ำแห้งแต่น้ำในโป่งยังมีน้ำอยู่ และโดยรอบโป่งจะมีพื้นที่ขนาดกว้างและมีพืชน้ำขึ้นรอบโป่ง จึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเลี้ยงควายในหน้าแล้ง และ 5.ปึ๋มีลักษณะเป็นผืนแผ่นหญ้าที่ขึ้นปกคลุมบนผิวน้ำผิวโคลนอย่างหนาแน่น สามารถเดินเหยียบบนผืนหญ้าได้และกระเพื่อมตามแรงกด ปึ่งแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ชั้นแรก คือ ส่วนบนสุดเป็นผืนหญ้าที่ขึ้นหนาแน่นสานกันเหมือนพรมปูพื้น ส่วนที่สองเป็นน้ำที่ทำให้หญ้าลอยตัวขึ้น มีเฉพาะในฤดูฝน ส่วนที่สาม คือ ดินโคลน มีความลึกประมาณ 30-120 เซนติเมตร มักพบปึ่งขึ้นตามริมหนอง จำและโป่งน้ำ ปึ่งเป็นที่อาศัยหลบภัยและเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ เช่นปลาไหลนา ปลากระดี่ เป็นต้น

จากความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์จึงชี้ให้เห็นว่าหนองหล่มมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง จาการสำรวจของสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ในปีพ.ศ.2547 พบพันธุ์พืช 286 ชนิด นก 96 ชนิด ปลา 22 ชนิด

ความอุดมสมบูรณ์ของหนองน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า หนองหล่ม แห่งนี้ อาจจะยังหล่อเลี้ยงชีวิตของคนจำนวนมากใน ต.จันจว้า นี้ได้อีกนาน หากไม่มีปัจจัยที่เกิดจากการพัฒนาเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลงเสียก่อน จนกลายเป็นที่กังวลของชาวบ้าน เมื่อพบว่าพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่กำลังหายไป นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 เป็นต้นมาที่วิถีคนเวียงหนองเริ่มเปลี่ยนไปจากระบบการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อการค้า บทบาทการไถนาด้วยควายเปลี่ยนเป็นรถไถนาแทน ราคาข้าวสูงขึ้นเริ่มมีการขยายพื้นที่ทำ กระทั่งเริ่มมีการเบิกที่ไร่รอบเวียงหนองเพื่อปลูกพืชไร่ เช่น ไร่ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ก่อนที่จะเริ่มทำสวนสัปปะรด ยางพารา ปาล์มและอื่น ๆ รวมถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เวียงหนองหล่มได้เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดในระยะหลายปีหลังนี้

ในปี 2552 เวียงหนองหล่ม ในส่วนของพื้นที่ บ้านแม่ลัว ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย   เกิดปรากฎการณ์น้ำในเวียงหนองหล่มแห้งแบบที่สามารถปั่นจักรยานข้ามหนอง หรือแม้แต่ขับรถยนต์ข้ามผ่านกลางหนองได้นั้น  ได้สร้างความตื่นตกใจ และเสียใจให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการทำนาเมื่อไม่มีน้ำ ชาวบ้านก็ทำนาไม่ได้

ย้อนไปในอดีต การทำนาในหนองหล่มแห่งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้วิธีทำนาโดยการพึ่งพาธรรมชาติ ใช้ควายในการไถนา ไม่มีสารเคมีใช้ แต่ปัจจุบันมีการทำนาปีละสองครั้ง ทั้ง นาปี และนาปรัง กลายเป็นวิถีการผลิตแบบเชิงพาณิชย์ ใช้รถไถแทนควาย และใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น กระทั่งที่สุดเริ่มมีการทำนาในหนอง เบิกที่หนองเป็นแปลงนา ในฤดูแล้ง ระหว่างเดือน พ.ย.-เม.ย. การใช้พันธุ์เข้าที่มีอายุสั้นทนต่อโรค มีการใช้ปุ๋ย ยาสารเคมีมากกว่าการทำนาปี ใช้น้ำจากการสูบน้ำในหนองหล่อเลี้ยงต้นข้าว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำในหนองหล่มแห้งขอด เกิดภาวะขาดน้ำ หนองที่เคยเป็นที่ชุ่มน้ำตลอดทั้งปีก็ค่อย ๆ แห้งขอดจนเหลือแต่พื้นดินแตกระแหงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การทำนาปรังที่มากขึ้นของชาวบ้าน ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้หนองหล่ม กลายเป็นหนองน้ำที่แห้งขอดไม่มีน้ำนี่เอง ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญแห่งนี้ การทำนาปรังยังขัดแย้งกับวิถีการเลี้ยงควายแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่อาศัยพื้นที่โดยรอบและหนองหล่มเป็นพื้นที่ในการทำมาหากิน หาปู หาปลา กุ้ง หอย ล่าสัตว์ ทำนา และเลี้ยงวัวควายในพื้นที่หนอง โดยรวมกลุ่มแต่ละชุมชนตั้งเป็นปางควาย เช่น ที่บ้านห้วยน้ำราก บ้านต้นยางและบ้านป่าสักหลวง โดยเลี้ยงแบบปล่อย หากินหญ้าพืชน้ำที่ขึ้นปกคลุ่มตามริมหนอง ดอน ปึ่ง โป่งน้ำ จำ ตามฤดูกาล ระหว่างเลี้ยงควายได้หาปลา กุ้ง หอยและเก็บผักมาเป็นอาหาร เมื่อถึงฤดูทำนา น้ำเจิ่งนองพื้นที่เลี้ยงควายได้ลดลง ควายบางส่วนถูกนำไปใช้ไถนา คนที่ไม่มีนาก็ปล่อยให้เช่าควาย ควายมีความผูกพันกับวิถีชีวิต และเป็นปัจจัยการผลิตในการทำนา เป็นแหล่งได้รายได้หลักจากการขายควาย เมื่อเสร็จฤดูกาลทำนาเจ้าของควายจะทำพิธีสู่ขวัญควาย แล้วนำไปปล่อยตามดอนบริเวณหนองหล่ม

ชาวบ้านเล่าว่า ในอดีตหลายหมู่บ้านในพื้นที่รอบ ๆ เวียงหนองหล่ม มีควายที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงในปางควายต่าง ๆ รวมแล้วมากกว่า 7,000 ตัว แต่หลังจากปัญหาการเกิดนาปรังมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาที่กำลังขยายตัวเข้าในหลายพื้นที่ ของ จ.เชียงราย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเส้นทางการค้าสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ดินหลายแห่งมีราคาสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ในหมู่บ้านรอบ ๆ เวียงหนองหล่ม มีนายทุนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านไว้เก็งกำไรมากขึ้น ถึงขนาดขึ้นเครื่องบินเลือกซื้อกันเป็นว่าเล่น  พร้อมกับล้อมรั้วห้ามชาวบ้านนำควายเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ที่ซื้อไว้โดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ในที่สุดเมื่อไม่มีที่เลี้ยงควาย การตัดสินใจขายควายเข้าโรงเชือด แล้วไปหาอาชีพใหมในเมืองจึงเป็นทางเลือกของคนเลี้ยงควายหลายครอบครัว ปัจจุบันจำนวนควายในเวียงหนองหล่ม จึงลดจำนวนลงฮวบฮาบ ปัจจุบันเหลือเพียง ประมาณ 1,300 ตัว เท่านั้น

“อีกหน่อยก็คงหมดไปเรื่อย ๆ เพราะควายไม่มีที่กินอาหาร เพราะหนองหล่มแห้งแล้ง พอเข้าไปที่ของนายทุนเขาก็ไล่ออกมาแล้ว แล้วยังต้องเสียค่าปรับอีก ใครจะทนเลี้ยงไหว เขาก็ขายกันหมดไปทำงานในเมืองกันเกือบหมดหมู่บ้านแล้ว” ชายเลี้ยงควายคนหนึ่งกล่าวระหว่างเปิดคอกควายรอควายเขาคอกในปางควายที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก

แม้จะมีความพยายามของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ที่มองเห็นว่าปัญหา ทั้งจากการทำนาปรัง ปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก อย่าง ยางพารา ไร่สับปะรด จนทำให้เวียงหนองหล่มเสี่ยงต่อสภาพความแห้งแล้ง ด้วยการพยายามหาแนวทางการจัดระบบด้วยตัวเอง รวมกลุ่มกันจัดทำคันกั้นน้ำ พร้อมตั้งกฎเกณฑ์อนุรักษ์ และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะจัดทำได้เฉพาะในบางหมู่บ้าน พื้นที่เล็ก ๆ เท่านั้น เพราะในพื้นที่กว้างใหญ่ของเวียงหนองหล่ม ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมาก รวมทั้งนายทุนบางคน ที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุมน้ำสำคัญแห่งนี้ ในขณะที่ความหวังจากการบริหารจัดการของหน่วยงานทางภาครัฐก็ดูจะริบหรี่เต็มที่

“ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของอาชีพเลี้ยงควาย ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่หรอก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือทำไมเขาถึงไม่เห็นความสำคัญของระบบนิเวศของหนองหล่ม ที่มีความสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย แต่กลับปล่อยให้มีการบุกรุกพื้นที่อย่างกว้างขวาง หรือบางครั้งดูเหมือนมีการสนับสนุนให้มีการซื้อขายที่ดินกันด้วย” ดุษิต จิตรสุข ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมกลุ่มแม่น้ำกก กล่าวในตอนท้าย

และหากสภาพการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ หลายคนเชื่อว่า เวียงหนองหล่ม อาจจะล่มสลาย  ไม่เหลือแหล่งชุ่มน้ำที่มีระบบนิเวศอันหลากหลายไว้เป็นแหล่งหากินของชาว ต.จันจว้า แห่งนี้อีกต่อไป และคงจะต้องจบตำนาน “เวียงหนองหล่ม” แหล่งเลี้ยงควายมากที่สุดในภาคเหนือในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน

ข้อมูลประชากรควาย  ตำบลจันจว้า

ชื่อปางควาย

จำนวน / ควาย

จำนวนหลังคาเรือน

พื้นที่เลี้ยงควาย

ห้วยน้ำราก

499

9

เวียงหนองล่ม

ต้นยาง

379

6

เวียงหนองล่ม

ป่าสักหลวง

360

6

เวียงหนองล่ม

บ้านดง

75

1

เวียงหนองล่ม

รวม

1,313

22

 

สถานการณ์ปางควายในปัจจุบัน

ปางควายห้วยน้ำราก ประกอบด้วย 9 หลังคาเรือน 3 กลุ่ม พื้นที่เลี้ยงควายติดต่อกับ ต.โยนก  และต.ท่าข้าวเปลือก พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการเลี้ยงควาย หาปลา เป็นที่อยู่อาศัยของนกหลากหลายชนิด  ปัญหาปางควายห้วยน้ำรากในปัจจุบัน แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้  คือ  1.พื้นที่สาธารณถูกบุกรุกถือครองทำนาปรังประมาณ  300  ไร่   2. พื้นที่บนดอยเป็นเขตต้องห้ามของเอกชน  3 ความแห้งแล้งทำให้หญ้ามีจำนวนจำกัดไม่พอเลี้ยงสัตว์

ปางควายต้นยาง ประกอบด้วย 6 หลังคาเรือน มีการแบ่งกลุ่มกันเอาควายลงหนอง มีพื้นที่ติดต่อกับ ต.ท่าข้าวเปลือก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไม้หนามไมยราบ ไม่มีหญ้าให้ควาย เมื่อก่อนมีพื้นที่หญ้าประมาณ 1,900 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 500 ไร่ แต่เป็นพื้นที่โล่งแห้งแล้งไม่ค่อยมีหญ้า หากินลำบากทั้งคนและควาย อยากให้มีการปราบหญ้าหนามไมยราบ และต้องการเมล็ดพันธ์หญ้าเลี้ยงสัตว์ 

ปางควายป่าสักหลวง ประกอบด้วย 6 หลังคา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม สายตะวันตก และตะวันออก มีพื้นที่ติดต่อกับต.ท่าข้าวเปลือก   พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหนามไมยราบ ไม่ค่อยมีหญ้าให้ควายกิน มีการบุกรุกถือครองพื้นที่สาธารณประโยชน์เวียงหนองล่ม ด้วยการทำนาปรังของเพื่อนบ้าน และการพัฒนาขุดลอกของเทศบาลตำบลจันจว้า การบุกรุกของนายทุน อยากให้มีการแบ่งเขตตำบลจันจว้า และตำบลท่าข้าวเปลือกให้ชัดเจน เพราะเป็นปัญหาต่อการบุกรุกพื้นที่สาธารณ และพื้นที่เลี้ยงควาย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: