สพฐ.เปิด 'เว็บ-เพจเฟซบุ้ก' รับฟังความเห็นกิจกรรมหลังนโยบายลดเวลาเรียน

16 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2174 ครั้ง


	สพฐ.เปิด 'เว็บ-เพจเฟซบุ้ก' รับฟังความเห็นกิจกรรมหลังนโยบายลดเวลาเรียน

สพฐ.เตรียมเวิร์กช็อป ผอ.เขต-ผอ.รร.และศึกษานิเทศก์ โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก่อนอบรมกลุ่ม รร.นำร่องในช่วงต้นตุลาคมนี้ พร้อมทำคู่มือแจก 13 เล่ม เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรม 12 เล่ม และการบริหารจัดการโครงการ 1 เล่ม และเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และแนะนำกิจกรรมผ่านทาง mcmk.obec.go.th และเพจ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทางเฟซบุ้ก

16 ก.ย. 2558 เว็บไซต์ไทยโพสต์รายงานว่านางสุกัญญา งามบรรจง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้เสนอตัวหลักการไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แล้ว ซึ่งแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน 2.กิจกรรมเสรี ให้โรงเรียนจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม 3.กิจกรรมสอนอาชีพ และ 4.กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การติวเด็ก แต่เป็นการดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน และระหว่างนี้ สพฐ.ยังเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และแนะนำกิจกรรมผ่านทาง mcmk.obec.go.th และเพจลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทางเฟซบุ้ก รวมถึงส่งหนังสือเวียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ทั่วประเทศให้สำรวจความคิดเห็นกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะมีแบบสอบถามของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และศึกษานิเทศก์ เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลจัดทำคู่มือที่ลงรายละเอียดในส่วนของกิจกรรม และการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

นางสุกัญญากล่าวต่อว่า เมื่อประมวลข้อมูลแล้วเสร็จจะมีการจัดเวิร์กช็อป ซึ่งจะมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ เข้าร่วม เพื่อระดมความคิดจัดทำคู่มือทั้งหมด 13 เล่ม ประกอบด้วย คู่มือกิจกรรม 4 รูปแบบ แบ่งเป็น 3 ช่วงชั้น ชั้น ป.1-3, ป.4-6 และชั้น ม.1-3 จำนวน 12 เล่ม และคู่มือการบริหารจัดการโครงการอีก 1 เล่ม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มจัดการอบรมครู ผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการภายในต้นเดือนตุลาคม

"สำหรับในส่วนของการเรียนการสอนในช่วงเช้านั้น จะเน้นไปในเชิงวิชาการซึ่งจะครบทุกกลุ่มสาระอย่างแน่นอน และ สพฐ.เองก็มีตัวอย่างตารางสอน รูปแบบต่างๆ ที่สามารถใช้ได้กลับโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนขยายโอกาสด้วย และดิฉันเชื่อว่ากิจกรรมในช่วงบ่ายนั้นสามารถสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้ เพราะทุกกลุ่มสาระอยู่ในวิชาประจำวันของเราอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับครูจะมีการถ่ายทอดไปในลักษณะใด อาทิ การเรียนทำอาหาร ที่มองว่าเป็นเพียงเพื่อดำรงชีวิตหรือเสริมอาชีพเท่านั้น แต่ในการทำอาหารจะมีอัตราส่วนของเครื่องปรุงแต่ละชนิด จะสามารถทำให้เด็กเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อเรียนเรื่องอัตราส่วนในวิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น" ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษากล่าว

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: