‘เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ’ มหาอำนาจในอุตสาหกรรมโรงพยาบาล

ทีมข่าว TCIJ 15 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 13034 ครั้ง


ปัจจุบันมี 40 โรงพยาบาลที่เป็นเจ้าของและบริหารภายใต้ 6 ชื่อ คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช, โรงพยาบาลรอยัลกรุงเทพ (ประเทศกัมพูชา) และโรงพยาบาลที่มีชื่อตามพื้นที่ต่าง ๆ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมีนโยบายมุ่งเน้นไปที่ผู้มีรายได้ปานกลาง ผู้มีฐานะดีจนไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรักษาโรคทั่วไปจนถึงโรคเฉพาะทางระดับหนึ่ง มีการทำเป็นศูนย์กลางการรับรักษาในแต่ละภาคคือที่ จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยา ภูเก็ตและกรุงเทพมหานคร  ทั้งนี้ในปี 2558 ผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (มหาชน) ตั้งเป้าที่จะขยายสาขาของโรงพยาบาลกรุงเทพเพิ่มขึ้นเป็น 50 สาขา แม้ว่าจะเลื่อนประมาณการออกไปเป็นปี 2560 จากในปี 2558 เนื่องจากเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพต้องการเข้าซื้อกิจการนั้นตั้งราคาขายในราคาที่สูงมาก ในปี 2557 เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมีกำไรสุทธิเกือบ 7,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2556 จากรายได้ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2556 จากรายได้ค่ารักษาพยาบาล 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11

ที่ผ่านมาเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท ดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้มีการขยายขนาดอย่างรวดเร็วผ่านการควบรวมกิจการและการเปิดกิจการในเครือ จากที่มีโรงพยาบาลในเครือ 16 แห่งทั่วประเทศในปี 2552 เพิ่มเป็น 27 แห่งทั่วประเทศในปี 2555 การควบรวมกิจการครั้งสำคัญของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 เมื่อทางบริษัทได้ควบรวมกิจการกับบริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท เฮลท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจเป็นเครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเมโมเรียลทั้งหมด นอกจากการเข้าควบรวมกิจการแล้ว ที่ผ่านมาบริษัทดุสิตเวชการ ยังได้ซื้อหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่งเพื่อลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ

ในด้านการควบรวมกิจการของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ พบว่าระหว่างปี 2552 - 2555 เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในเครือ (รวมไปถึงโรงพยาบาลที่ถือหุ้น) จาก 10 แห่งเป็น 16 แห่งในกรุงเทพมหานคร และจาก 20 แห่งเป็น 32 แห่งทั่วประเทศ เมื่อพิจารณาถึงเครือโรงพยาบาลใหญ่อื่น ๆ ในประเทศ ยังไม่พบว่ามีเครือโรงพยาบาลใดที่มีการขยายขนาดอย่างรวดเร็วเช่นในกรณีของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ การควบรวมกิจการของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2552 ที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ได้เริ่มซื้อกิจการของบริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพเขาใหญ่ จำกัด จังหวัดนครราสีมา เป็นเงินจำนวน 70 ล้านบาท และซื้อหุ้นของบริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจเป็นเครือโรงพยาบาลพญาไทเพิ่ม จากร้อยละ 16.31 เป็นร้อยละ 19.47 หลังจากนั้นในปี 2553 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการได้ซื้อกิจการโรงพยาบาลวัฒโนสถ (กรุงเทพ) และโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน (อ.หัวหิน จ.เพชรบุรี) โดยโรงพยาบาลวัฒโนสถเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางทางด้านโรคมะเร็ง และโลหิตวิทยา และโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหินเป็นโรงพยาบาลที่รองรับประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอหัวหิน นอกจากนี้ ยังได้มีการซื้อหุ้นของบริษัท โรงพยาบาลกรุงธน จำกัด (มหาชน) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.01

นอกเหนือจากการซื้อกิจการโรงพยาบาลแล้ว ในปีเดียวกัน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ยังได้ซื้อกิจการของ บริษัทเอ็น.บี.ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด (ANB) ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายยาและวัสดุภัณฑ์ทางการแพทย์ และเป็นผู้ผลิตนํ้าเกลือรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศอีกทั้งยังได้ทำการพัฒนาบริษัท กรีนไลท์ซินเนอร์จี้ ซึ่งเป็นบริษัทด้านระบบสารสนเทศให้บริการเครือข่ายทั้งหมดให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในปี 2554 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ได้ทำการควบรวมกิจการกับบริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท เฮลท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจเป็นเครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเมโมเรียล เป็นผลให้บริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมดภายหลังการควบรวม เพิ่มขึ้นจากเดิม 19 แห่ง เป็น 27 แห่ง นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ยังได้ซื้อหุ้นร้อยละ 14.22 ของบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) และจากการซื้อหุ้นโดยตรงและทางอ้อมผ่านโรงพยาบาลในเครือยังทำให้บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ถือหุ้นร้อยละ 28.17 ในบริษัท อุดรพัฒนา (1994) จำกัด (โรงพยาบาลเอกอุดร) นอกจากนี้ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพยังได้เข้าถือหุ้นในธุรกิจโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกหลายแห่ง โดยจากรายงาน 56-1 ของบริษัทเมื่อสิ้นปี 2555 ระบุว่า บริษัทได้ถือหุ้นร้อยละ 38.20 ของโรงพยาบาลรามคำแหง ถือหุ้นร้อยละ 20.10 ของโรงพยาบาลกรุงธน และถือหุ้นร้อยละ 23.94 ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  และแม้ว่าเครือโรงพยาบาลกรุงเทพจะยังไม่มีส่วนร่วมในการเข้าบริหารโรงพยาบาลเหล่านี้ แต่จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา พบว่าเครือโรงพยาบาลกรุงเทพมักใช้วิธีการเข้าถือหุ้นบางส่วนของโรงพยาบาลที่เป็นเป้าหมาย ก่อนจะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือเข้าซื้อกิจการ (Take Over) ในเวลาต่อมา ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะได้เห็นเครือโรงพยาบาลกรุงเทพขยายกิจการด้วยการเข้าซื้อโรงพยาบาลอื่นอีกในอนาคต

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (ที่มาภาพ: mcot.net)

นิตยสาร ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ ได้จัดอันดับ 50 อันดับมหาเศรษฐีของประเทศไทยประจำปี 2558 ซึ่งมีชื่อของ 'นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ' ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ก่อนหน้านี้เขายังติดอันดับที่ 825 ของโลกของการจัดอันดับโดยนิตยสาร ฟอร์บส์ ด้วยเช่นกัน มีการประเมินว่าเขามีสินทรัพย์รวม 1,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 55,500 ล้านบาท นอกจากนี้เขายังเคยถูกจัดให้เป็นเศรษฐีที่รวยหุ้น อันดับ 1 ของประเทศไทยในปี 2556 ในมูลค่า 36,596.20 ล้านบาท จากการถือครองหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพในนามของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

รายได้ยักษ์ใหญ่โรงพยาบาลเอกชน

 

 

ที่มาข้อมูล :

งานวิจัยการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในประเทศไทย รายงานการวิเคราะห์สภาพการแข่งขัน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และ อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล และ ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์

จุลสารมองโลกแข่งขัน ฉบับที่ 13 เดือนมกราคม 2557 ของสำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์

เปิดขุมข่ายธุรกิจ"หมอเสริฐ" ยกชั้นบริการสุขภาพ-การบินสู่ระดับสากล (ไทยรัฐ, 13 ต.ค. 2557)

เปิดขุมทรัพย์ "โรงพยาบาลเอกชน" (โพสต์ทูเดย์, 31 พ.ค. 2558)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: