คปก.เบรคร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธ หนุนแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์

14 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2444 ครั้ง


	คปก.เบรคร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธ หนุนแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์

คปก.ชี้ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาพุทธศาสนาในสังคมไทย พร้อมแนะให้มีการปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายคณะสงฆ์-ลดบทบาทอำนาจรัฐ (ที่มาภาพ: uasean.com)

14 พ.ค. 2558 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ....” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 โดยคปก.มีความเห็นว่า มาตรา 4 แห่งร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่กำหนดว่า “ให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาในแนวทางดังต่อไปนี้ ...” นั้นจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐศาสนา และทำให้หลักธรรมของพุทธศาสนากลายเป็นอุดมการณ์หนึ่งของรัฐ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาเปลี่ยนแปลงไป อันอาจก่อให้เกิดผลเสียหายในระยะยาวเนื่องจากสังคมประเทศไทยมีความเป็นพหุเชื้อชาติมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา 

นอกจากนี้ คปก.มีความเห็นว่า การที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและกลไกต่างๆ ในการกำกับดูแลกิจการของศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา เนื่องจากรัฐจะสามารถเข้ามาเป็นผู้ควบคุมการตีความเรื่องศาสนา ทำให้เรื่องศาสนาจะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายหรือแนวทางของรัฐอันอาจทำให้กลุ่มชาวพุทธที่มีแนวทางแตกต่างไปจากรัฐรวมถึงกลุ่มศาสนาอื่นๆ ไม่ได้รับการอุปถัมภ์และคุ้มครองจากรัฐ ตลอดจนอาจถูกกีดกัดหรือจำกัดเสรีภาพในทางศาสนา และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐสามารถใช้กลไกการควบคุมดังกล่าวในการแทรกแซงกิจการศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้ทั้งนี้ คปก.เห็นว่า การปกครองคณะสงฆ์ต้องให้คณะสงฆ์เป็นผู้ปกครองดูแลกันเอง 

สำหรับบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ.... ที่กำหนดให้มีพระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดูแลกิจการของพุทธศาสนา โดยให้พระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อันจะส่งผลให้พระภิกษุจำนวนหนึ่งกลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น คปก.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดเจตนารมณ์ของการบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาอย่างมาก เนื่องจากบทบาทในการตีความและควบคุมการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยควรเป็นบทบาทขององค์กรทางศาสนา 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: