ประวัติของแฮชแท็กโดยสังเขป
ความจริงสัญลักษณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเป็นที่นิยมในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค หากจะพูดถึงประวัติและที่มาที่ไปของแฮชแท็กต้องย้อนกลับไปไกลตั้งแต่ยุคเริ่มต้นและบุกเบิกของเครื่องคอมพิวเตอร์ ประมาณปี ค.ศ. 1970 เพราะแฮชแท็กถูกใช้ในการพัฒนาโปรแกรมหรือเขียนโปรแกรมในภาษาแอสเซมบลี ในเวลาต่อมาถูกใช้ในภาษาซีและจาวา
ต่อมาในยุค 90′ แฮชแท็กเริ่มเข้ามามีส่วนช่วยโปรแกรมแชทที่เรียกว่า IRC ซึ่งย่อมาจากคำว่า Internet Relay Chat มันถูกใช้เพื่อที่จะบ่งบอกความเป็นช่องหรือกรุ๊ปที่ใช้ในการพูดคุย ปัจจุบันนี้ก็คล้ายกับห้องแชทแบบกรุ๊ปในแอพไลน์ หรือแม้แต่ หัวข้อสนทนาต่างๆ นั่นเอง
จนกระทั่งถึงยุคสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นที่นิยมประมาณปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ซึ่งยุคนั้นมีบริการโซเชียลเกิดขึ้นมามากมายเป็นสิบๆ แบรนด์
สำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์คเจ้าแรก ที่เริ่มใช้แฮชแท็กอย่างจริงจังเห็นจะเป็นทวิตเตอร์นั่นเอง จากนั้นไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และกูเกิลพลัสต่างก็เล่นกับฟีเจอร์นี้ได้ทั้งหมด
แฮชแท็กคืออะไรในโซเชียลเน็ตเวิร์ค?
แฮชแท็กเปรียบเสมือนช่องของคลื่นวิทยุสื่อสาร หากใช้คนละชื่อก็ยากที่จะหากันเจอและสื่อสารกันได้ แม้จะกล่าวถึงงานเดียวกันและอยู่สถานที่เดียวกันก็ตามถ้าใช้แฮชแท็กคนละชื่อ
สมมุติว่าคุณอยู่ที่งานแต่งงานของเพื่อนชื่อป้อมและจอย หากคนหนึ่งใช้แฮชแท็กว่า #pomjoywedding และเพื่อนอีกคนหนึ่งใช้ว่า #pomjoywd แบบนี้ก็ถือว่าเป็นคนละคลื่นคนละช่องกันแล้ว ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย เหมือนมาคนละงาน และยากที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องย้อนหลังได้ ดังนั้นควรจะมีการตกลงในการใช้ชื่อกันเสียก่อน
แฮชแท็กมีวิธีใช้อย่างไร?
ในความเห็นของผู้เขียน หากจะพูดถึงระดับความนิยมของโซเชียลเน็ตเวิร์คที่นิยมใช้แฮชแท็กมากที่สุดของคนไทย เห็นจะเป็นอินสตาแกรม -> ทวิตเตอร์ -> เฟสบุ๊ค -> กูเกิลพลัส ตามลำดับ ทั้งที่ทวิตเตอร์นั้นมีให้บริการมานานแล้วแต่ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา กลับนิยมใช้แฮชแท็กในเหล่าบรรดาผู้เล่นอินสตาแกรมเป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งก็ใช้แบบไม่เกิดประโยชน์
ซึ่งจะว่าไป การใช้แฮชแท็กนั้นมันไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ใช้มันได้อย่างชนิดที่เรียกว่าเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ใช้ขายของ ขายสินค้าได้ แถมบางทีอาจจะได้เพิ่มผู้ติดตาม (Follower) ได้เป็นจำนวนมากได้โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
คำแนะนำวิธีการใช้แฮชแท็ก
แฮชแท็กเปรียบเสมือนเป็นคำค้นหาหลัก หรือที่เรียกกันว่าคีย์เวิร์ดที่ใช้เพื่อค้นหากลุ่มคน กลุ่มเพื่อนที่ต่างมีความสนใจเหมือนกัน เรื่องเดียวกัน ด้านเดียวกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน อารมณ์เดียวกัน อยู่สถานที่เดียวกัน ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ใช้บริการที่เดียวกัน และอื่นๆ อีกมากมาย เกินกว่าจะบรรยาย จะสังเกตได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลยคือจะลงท้ายด้วยคำว่า 'เดียวกัน' ดังนั้นการใช้ควรจะเป็นคีย์เวิร์ดและมีความสั้น กระชับ อ่านแล้วได้ใจความ โดยขอสรุปการใช้สัก 3-4 ข้อดังต่อไปนี้
1. อย่าใช้มันแบบสิ้นเปลือง: เห็นบางคนใช้กันทุกวลี ทุกคำพูดที่พิมพ์ เว้นวรรคทีก็คั่นด้วยแฮชแท็กสักทีหนึ่ง ซึ่งเกินความจำเป็นจนเกินไป เพราะคนอื่นจะเห็นว่ามันเป็นสแปมได้ ขอให้ใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่า
เช่น #เย้ๆ #วันนี้ #วิชา #Database #อาจารย์ #แคนเซิลคลาส #ไปไหนต่อดิ #อิอิ #ไม่มีที่ไป #ชิล์
จากที่เห็นข้อความด้านบน เชื่อว่าผู้เล่นอินสตราแกรมคงจะเคยเห็นข้อความในลักษณะแบบนี้กันมาบ้าง ตัวอย่างนี้ถือเป็นการใช้แฮชแท็กอย่างสิ้นเปลืองและไม่มีประโยชน์ การใช้แฮชแท็กที่ดีนั้นไม่ใช่แค่ช่วยผู้ที่ตามคุณเท่านั้น แต่มันยังสามารถใช้เพื่อช่วยผู้ที่ค้นหาเกี่ยวกับเรื่องหรือสิ่งนั้นๆ ได้อีกด้วย คำแนะนำของการใช้แฮชแท็กในกรณีด้านบนให้มีประโยชน์คือ
เย้ๆ วันนี้ วิชา Database อาจารย์ แคนเซิลคลาส ไปไหนต่อดิ อิอิ ไม่มีที่ไป ชิล์ #ABAC #BIS3635 #ABACBangna
จะสังเกตเห็นว่าใช้แฮชแท็กแค่ 2 ตัวอันดับแรกคือเพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นมหาลัยอะไร ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ อันดับที่สองเพื่อให้รู้ว่าวิชาอะไรโดยใช้รหัสวิชา เพื่อทำให้เพื่อนร่วมห้องร่วมวิชาเดียวกับเรา แม้จะไม่รู้จักกันก็จะได้ทราบว่าวันนี้ไม่มีเรียน อาจารย์ไม่มาสอนเช่นกัน
สาเหตุที่ทำไมไม่ได้ใส่เครื่องหมายแฮชแท็กที่คำว่า Database เพราะว่าคนที่ใช้คำนี้มีทั่วโลก มันไม่มีประโยชน์เลยที่เขาจะต้องมารับรู้เรื่องราวของคุณว่าคลาสของคุณไม่มีเรียนวันนี้
2. ตั้งแฮชแท็กใหม่เองได้: บางเหตุการณ์คุณสามารถคิดแฮชแท็กมันขึ้นมาเองได้เลย เช่น หากคุณต้องการที่จะกรุ๊ปเรื่องๆ เดียวกันเอาไว้ แต่การพิมพ์ข้อความครั้งเดียวอาจจะมีพื้นที่ไม่พอ จึงต้องใช้แฮชแท็กในการช่วยรวมเรื่องเอาไว้ เวลาอ่านย้อนหลัง จะได้ค้นหาได้ง่ายๆ อย่างเช่นคุณไปเที่ยวฮ่องกง ก็อาจจะใช้ #ninghk หรือ เที่ยวอเมริกา #ningusa (คำว่า ning จริงๆ คือชื่อของผู้เขียน ขอให้สมมุติว่าเป็นชื่อของคุณ ไปเลย)
แต่การที่จะตั้งแฮชแท็กใหม่ขึ้นมาแบบนี้ ต้องแน่ใจเสียก่อนว่าข้อความที่จะโพสหรือทวีตออกไปต้องมีมากกว่า 1 ข้อความ (ทวีต) เพราะหากมีแค่ข้อความเดียวแล้วจบ ไม่มีเรื่องราว เรื่องเดียวต่อกันไปอีก ก็จะไม่รู้ว่าจะใช้ไปเพื่ออะไร
3. งานอีเว้นท์ประกาศแฮชแท็กให้คนรู้ไปเลย: หากคุณมีงานอีเว้นท์ เช่นงานแต่งงาน งานเปิดตัวสินค้า อย่างเช่น #ninglingwedding พอใครหลายๆ คนมาร่วมงานเห็นในป้ายโปสเตอร์ ป้ายก่อนเข้างาน หรือในการ์ดเชิญ เขาจะได้ใช้แท็กตัวนี้ร่วมกัน เผื่อใครอยากมาอ่านเหตุการณ์ ดูรูปย้อนหลัง ก็สามารถค้นหาได้จากตรงจุดนี้
มีบริการปริ้นต์รูปที่ใช้แฮชแท็กที่ต้องการในงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน โดยจะต้องใช้แอพอินสตราแกรมแล้วอัพโหลดรูป ผ่านมือถือของเรา ซึ่งจะต้องมีแฮชแท็กที่เขากำหนดไว้ เมื่อใช้เสร็จก็จะมาโผล่อยู่บนหน้าจอ สามารถกดพิมพ์ออกมาในรูปแบบรูปถ่าย โปสการ์ด เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกได้เลย
ตัวอย่างการใช้แฮชแท็กกับโซเชียลมีเดีย
ทวิตเตอร์
เรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับการใช้แฮชแท็กบนสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คเลยก็ว่าได้ เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ก็ได้มีการเริ่มใช้มันตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
การใช้แฮชแท็กสำหรับทวิตเตอร์นั้นค่อนข้างจะเป็นไปได้ดีและไม่ค่อยฟุ่มเฟือย สาเหตุเนื่องมาจากทวิตเตอร์ได้จำกัดข้อความที่ถูกทวีตเอาไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 160 ตัวอักษร (Characters) ต่อ 1 ทวีต หรือการส่งข้อความออกไป 1 ครั้งนั่นเอง
จากที่เล่นทวิตเตอร์มา สังเกตเห็นว่าลักษณะการใช้แฮชแท็กของผู้ใช้งานทวีตเตอร์จริงๆ นั้น จะใช้กล่าวถึงงา อีเว้นต์ เหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงชื่อเฉพาะ ชื่อสินค้า ชื่อสถานที่ มากกว่าที่จะใช้แฮชแท็กบ่งบอกหรือแสดงถึงความรู้สึกทั่วๆ ไป
เช่น #ShutdownBKK #ม็อบ #ปิดกรุงเทพ #McotXpress #NationTV #sutheptourliveinbkk2014
แต่ก็มีแฮชแท็กแปลกๆ ยาวๆ ที่เข้ามาติดโผกับเค้าเหมือนกัน
เช่น #มหกรรมเล่นมือถืออยู่ดีๆน้ำตาก็ไหล หรือแม้แต่ #โลกหมุนเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย
http://www.lab.in.th/thaitrend/hashtag.php
เฟสบุ๊ค
เฟสบุ๊คเพิ่งมาใช้เจ้าตัวแฮชแท็กกันไม่นาน ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถใส่แฮชแท็กตามด้วยคีย์เวิร์ดหรือคำค้นที่ต้องการใส่เข้าไปได้ หากข้อความนั้นถูกตั้งไว้ว่าเปิดให้ใครดูก็ได้ (Public) ก็จะถูกรวมตัวเอาไว้ที่หน้านี้ ใครที่ใช้คำนี้ก็จะสามารถเข้าไปกรุ๊ปหรือรวมอยู่ได้จากทั่วโลก
https://www.facebook.com/hashtag/xxxxx
โดย xxxxx แสดงถึงคำแฮชแท็ก ที่ใส่เข้าไป ยกตัวอย่างด้านล่าง
การใช้แบบนี้คำที่มีประโยชน์คือ #Breakfast แต่คำว่า #จัดแต่เช้า #ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร ซึ่งหากเรานำไปค้นหาดูจริงๆ บนเฟสบุ๊ค ก็จะพบว่ามีผลลัพธ์การค้นหาจริงๆ แค่แท็กเดียวนั่นคือคำว่า Breakfast นั่นเอง
https://www.facebook.com/hashtag/Breakfast
ในส่วนของคำว่า #จัดแต่เช้า และ คำว่า #ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร จากที่ค้นดูจะไม่พบผลลัพธ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องเลย
https://www.facebook.com/hashtag/จัดแต่เช้า
https://www.facebook.com/hashtag/ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร
หมายเหตุ : การใช้งานของแฮชแท็กในเฟสบุ๊คนั้น หากเรากดเข้าไปดูแล้วจะสามารถเห็นคนที่ใช้แท็กเดียวกันทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าของข้อความนั้นต้องตั้งค่าข้อความนั้นให้เป็นการแสดงแบบสาธารณะ (Public) เท่านั้น แต่ถ้าเลือกแค่เฉพาะเพื่อนเท่านั้น (Friend Only) ก็จะเห็นได้กับเฉพาะเพื่อนของเราหรือผู้ที่ตาม (Follower) ของเราเท่านั้น คนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อน ไม่ได้ตามก็จะไม่เห็น
อินสตราแกรม
หลักการเหมือนกับที่กล่าวมาด้านบน แต่จากที่เห็นพบว่าบริการอินสตราแกรมนี้คนนิยมใช้แฮชแท็กมากที่สุดและใช้แบบสิ้นเปลืองมากที่สุดเช่นกัน เช่น อัพโหลดรูป โพสรูป ที่ตัวเองถ่ายกับแมวขึ้นไปรูปหนึ่งก็ใส่ข้อความ
เช่น #cat #lovecat #miss #funny #lady #joopjoop
จากตัวอย่างไม่มีคำไหนที่ไม่มีแท็กเลย ซึ่งก็จะดูรก และสามารถกดคลิกลิงค์เข้าไปได้ทุกอัน แต่มีบางอันที่ดูแล้วไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ เช่น #miss #joopjoop และ #lady เป็นต้น
การใช้แฮชแท็กเยอะๆ มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร?
ข้อดี
- คนอื่นที่เขามีความสนใจในเรื่องเดียวกัน จะได้มีโอกาสเข้าถึงเราได้มากขึ้น
- มีโอกาสที่จำนวนผู้ตามเพิ่มมากขึ้น มากกว่าการที่ไม่ใช้แท็กอะไรเลย
- สำหรับผู้ที่ขายสินค้า หากสินค้าของคุณน่าสนใจพอ จะสามารถช่วยสร้างโอกาสทำการตลาดหรือขายสินค้าชิ้นนั้นได้ง่ายขึ้น เช่น การขายกระเป๋าแบรนด์เนม อย่าลืมใส่แฮชแท็กยี่ห้อ รุ่น ลงไปด้วย จะมีโอกาสขายได้ง่ายๆ เลยละ แม้คุณจะมีจำนวนผู้ตามน้อยก็ตาม
- การใช้แฮชแท็กในเครือข่ายอินสตราแกรมนั้นจะทำให้มีคนติดตามมากขึ้น แต่ไม่ใช่การติดตาม เพียงแต่จะช่วยให้จำนวนคนที่กดไลค์รูปมีจำนวนมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าบางคนไม่ได้ตามเรา แต่อาจจะติดตามเฉพาะจากแฮชแท็กเรื่องที่สนใจก็ได้ เช่น มีชาวต่างชาติที่สนใจการทำอาหารไทยเป็นจำนวนมาก ติดตามแท็กชื่อ #thaifood ถึงแม้จะไม่ได้ติดตามกับเป็นการส่วนตัว แต่ติดตามเฉพาะแท็กได้ด้วยเช่นกัน
ข้อเสีย
- จะดูเยอะ รก จนเกินไป บางครั้งมีคำที่ไม่เกี่ยวข้อง
- สิ้นเปลืองจำนวนตัวอักษรโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ ที่จำกัดตัวอักษรเอาไว้ ต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
สุดท้ายนี้อยากบอกว่าการใช้เจ้าเครื่องหมายสี่เหลี่ยมๆ แฮชแท็กตัวนี้ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด มันอยู่ที่ว่าจะนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์กับเรามากน้อยเพียงใด บางทีการใช้แฮชแท็กที่ถูกทีถูกเวลาสามารถนำพาให้เราดังเป็นพลุแตกหรือขายของออนไลน์ได้ถล่มทลายก็เป็นได้ ส่วนการใช้แฮชแท็กที่มากเกินไป ถึงแม้มันก็ไม่ได้ผิดกฏอะไรแต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเท่านั้นเอง ขอให้โชคดีทุกๆ ท่าน
ข้อมูลอ้างอิงส่วนหนึ่งนำมาจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Hashtag
ขอบคุณ @yokekung สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ที่มา
บทความ 'Hashtag คืออะไร และ วิธีการใช้ #Hashtag ที่เหมาะสม' เขียนโดยธรรณพ สมประสงค์ เผยแพร่ใน http://www.thanop.com/
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.hots.co/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ